ปลารากกล้วย เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acantopsis choirorhynchos ในวงศ์ปลาหมู (Cobitidae) มีลำตัวเล็กยาว หัวแหลม ตาเล็ก หางแหลม กลางลำตัวมีเส้นสีเทาจากหัวถึงหางระหว่างเส้นมีจุดสีดำเป็นแนวยาว ครีบหางเว้าตื้น
มีขนาดลำตัวยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร แต่ที่พบโดยทั่วไปจะยาวเพียงแค่ 5-14 เซนติเมตร
มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ในพื้นท้องน้ำที่มีกรวดทรายมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว สามารถมุดทรายได้ดีเวลาตกใจหรือซ่อนตัวจากสัตว์นักล่า จนได้อีกชื่อหนึ่งว่า "ซ่อนทราย" พบครั้งแรกที่แม่น้ำในเมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยพบที่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสาละวิน
นิยมบริโภคด้วยการรับประทานทั้งตัวและก้าง เนื่องจากเป็นปลาขนาดเล็ก โดยนำมาทำเป็นอาหารได้หลายอย่างทั้งการปรุงสดและตากแห้ง โดยเมนูที่ขึ้นชื่อที่สุด คือ ปลารากกล้วยทอดกระเทียม รับประทานกับข้าวต้ม สำหรับการปรุงสดสามารถทำอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ หรือ ต้มโคล้ง หรือ ฉู่ฉี่ ก็ได้
นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามอีก โดยเฉพาะในตู้ไม้น้ำ นิยมเลี้ยงเพราะเป็นปลาที่เก็บเศษอาหารที่ปลาอื่นกินเหลือไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยพรวนทรายให้ร่วนอยู่ตลอดเวลาด้วย จากความสามารถที่สามารถมุดทรายได้เป็นอย่างดี
มีชื่อเรียกในภาษาอีสานว่า "ปลามัน" หรือ "ปลามูด" สำหรับชื่อในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า "ปลาค้อหน้าม้า" (Horseface loach)
อนึ่ง ปลารากกล้วยนั้น จะหมายถึงปลาในวงศ์ปลาหมูที่มีสกุล Acantopsis ซึ่งนอกจากปลาชนิด A. choirorhynchos นี้แล้ว ยังมีปลารากกล้วยชนิดอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกันอีก เช่น A. thiemethdi, A. spectabilis, A. octoactinotos เป็นต้น และยังมีหลายชนิดที่ยังไม่สามารถอนุกรมวิธานได้ จึงใช้ชื่อสายพันธุ์เป็น sp. อยู่