(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว)
นายเจริญ อุดมการ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการสำรวจปลาน้ำจืดพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในช่วง 2-3 ปีนี้ พบว่าปลากินพืชที่อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากปลากินเนื้อ อาทิ ปลาช่อนและปลาชะโด ขยายพันธุ์อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีการปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่อ่างเก็บน้ำเหล่านั้นกว่า 20 ล้านตัวต่อปี แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยให้ปลากินพืชเหล่านั้นขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้
โดยขณะนี้พบว่าบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปลาชะโดชุกชุมมากที่สุด เนื่องจากมีป่าปกคลุมอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาชะโดมาก โดยแม่พันธุ์ปลาชะโดจะเลี้ยงลูกจนโตเป็นฝูง ฝูงละ 200-300 ตัว และมีพฤติกรรมดุร้าย ชอบกินปลาทุกชนิดเป็นอาหาร โดยเฉพาะปลากินพืช อาทิ ปลาหมอตาล ปลาตะเพียนขาว ปลาแรด ปลาไน และปลานิล ทำให้ปลากินพืชที่อยู่บริเวณใกล้เคียงลดลงอย่างรวดเร็ว
นายเจริญกล่าวต่อว่า ช่วงนี้เป็นช่วงน้ำขึ้นและเป็นฤดูที่ปลาชะโดกำลังเลี้ยงลูกอ่อนอยู่ จึงขอเตือนเด็กๆ หรือประชาชนที่จะลงไปเล่นน้ำในแหล่งน้ำเหนือเขื่อนต่างๆ เพราะอาจถูกปลาชะโดกัดเอาได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางศูนย์ก็กำลังประสานกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งท้องถิ่นในพื้นที่ อ.ครบุรี หาวิธีลดจำนวนปลาชะโดเหล่านี้อยู่ เบื้องต้นได้มีผู้เสนอให้จัดการแข่งขันตกปลาชะโดชิงเงินรางวัลขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดจำนวนปลาชะโดแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก เว็บไซต์มติชน
Mthai News
แท็ก : นครราชสีมา, ปลาชะโด, เขื่อน, โคราช
ติดต่อทีมข่าว : news@mthai.com