ภาพที่ 1 'ปลา'เป็นสัตว์เลือดเย็น(poikilothermal animals) คือ อุณหภูมิของเลือดเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ไม่คงที่ โดยทั่วไปอุณหภูมิในตัวปลาจะต่างจากน้ำรอบตัว 0.5 - 1 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ได้จัดองค์ความรู้เรื่องปลาไว้ในหมวดวิชา มีนวิทยา (ichthyology) คำว่า ichthyo มาจากภาษากรีกว่า ichthys แปลว่า ปลา ตรงกับคำว่า มีน ส่วน logy แปลว่า การเรียน วิชาหรือวิทยา
ปลาอาศัยอยู่ในน้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม หายใจด้วยเหงือก เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง ผสมพันธุ์ได้ทั้งภายในและภายนอก แบ่งเป็นแบบมีเกล็ดและไม่มีเกล็ด เคลื่อนไหวด้วยครีบและกล้ามเนื้อลำตัว มีหัวใจสองห้องและมีขากรรไกร(ยกเว้นปลาจำพวกปลาฉลาม) มีสมมาตรด้านข้าง มีช่องตัวอย่างแท้จริง ระบบต่างๆพัฒนาสูงสุด
ปลา เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใน อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia)ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata) อยู่ในซับไฟลัมเวอร์ทีบราตา (Vertebrata) แบ่งเป็น 3 คราส คือ
1. คราสแอ็กนาทา (Agnatha) ได้แก่ ปลาปากกลม (cyclostome) เป็นปลาที่ไม่มีขากรรไกร ลำตัวยาวคล้ายปลาไหล ขอบบนของปากและปลาลิ้นมีฟันเล็ก ๆ แหลมคมเป็นจำนวนมาก ลำตัวนิ่ม ไม่มีเกล็ด ไม่มีครีบคู่เหมือนปลาทั่วไป เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีโนโตคอร์ดปรากฏอยู่ตลอดแม้ในระยะตัวเต็มวัย มีช่องเหงือก 7 คู่ สำหรับหายใจ
2. คราสคอนดริกไทอีส (Chondrichthyes) ได้แก่ ปลากระดูกอ่อน เช่น ปลาฉลาม ปลาฉนาก ปลากระเบน สัตว์ในคลาสนี้มีโครงสร้างเป็นกระดูกอ่อนทั้งหมด มีทั้งครีบคู่และครีบเดี่ยว หนังหนามีเกล็ดขนาดเล็กและขนาดใหญ่คล้ายจานยื่นออกมา ไม่มีกระเพาะลม ปากอยู่ด้านล่าง ภายในปากมีฟันคมเป็นซี่เล็กๆ มีการปฎิสนธิภายใน ปลาพวกนี้มีช่องเหงือกเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก
3. คราสออสทีอิกไทอีส (Osteichthyes) ได้แก่ ปลากระดูกแข็ง เช่น ปลากะพง ปลาช่อน ปลาหมอเทศ ปลาดุก ปลาทู ปลาตะเพียน อาศัยอยู่ในนํ้าจืดและนํ้าเค็มมีลักษณะสำคัญ ผิวหนังมีเกล็ดซ้อนกัีนบางๆ คล้ายกระเบื้องมุงหลังคา บางพวกไม่มีเกล็ด กระดูกภายในเป็นกระดูกแข็ง มีครีบ 2 คู่ใช้ในการเคลื่อนที่และทรงตัว หายใจด้วยเหงือก มีแผ่นแก้มปิดช่องเหงือกเอาไว้ คือ ฝาปิดเหงือก เีรียกว่า โอเพอคิวลัม (operculum) ทำให้มองไม่เห็นช่องเหงือก มีถุงลม ปากอยู่ปลายสุดทางหัว ส่วนใหญ่ปฏิสนธิภายนอกร่างกาย มีหัวใจ 2 ห้อง มีเส้นประสาทสมอง 10 คู่มีอวัยวะ สั่นสะเทือนอยู่ข้างลำตัว ลักษณะเป็นเส้น เรียกว่า เส้นข้างลำตัว (lateral line) มีรูจมูกเล็ก 1 คู่ ทำหน้าที่ดมกลิ่น บางชนิดเหงือกอุ้มน้ำได้ดีจึงสามารถอยู่บนบกได้ในเวลาช่วงสั้นๆ เช่น ปลาตีนและปลาหมอ เป็นต้น
รูปร่างและลักษณะของปลา
ปลาเป็นสัตว์ที่มีสมมาตรด้านข้าง คือ ลักษณะด้านซีกซ้ายของลำตัวเหมือนกับทางซีกขวา เรียกว่า bilaterally symmetrical shape มีขนาดและรูปร่างต่างกัน ปลาส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นแบบกระสวย (fusiform) เช่น ปลาทู ปลาโอ หรือปลาทูนา บางชนิดกลมเหมือนลูกโลก (globiform) เช่น ปลาปักเป้า บางชนิดมีรูปร่างคล้ายงู (anguilliform) เช่น ปลาไหลทะเล (Muraensox spp.) หรือปลาไหลน้ำจืด (Fluta alba) บางชนิดอาจมีรูปร่างแบนลง เช่น ปลากระเบน บางชนิดมองด้านข้างจะแบน (depressed form) เช่น ปลาจะละเม็ด หรือบางชนิดอาจแบนมากจนดูคล้ายแถบผ้า (compressed form) เช่น ปลาดาบเงิน (Trichiurus lepturus)
ปลาที่มีขนาดเล็กที่สุด ได้แก่ ปลามิสติคธีสลูซอเนนซิส (Mistichthys luzonensis) ในประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดเพียง 1.2 เซนติเมตร ส่วนปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) ซึ่งอาจมีความยาวถึง 22 เมตร และหนักประมาณ 25 ตัน
ผิวหนังและเกล็ด
ปลาส่วนใหญ่มีเกล็ดปกคลุมทั่วตัว เกล็ดของปลามีหลายแบบด้วยกัน ปลามีผิวหนังเรียบอ่อนนุ่มคลุมตลอดลำตัว และมีต่อมขับเมือก ที่ช่วยลดการเสียดสีขณะที่ว่ายน้ำ ปลาที่ไม่มีเกล็ดปกคลุมจะมีเมือกมาก
สีบนตัวปลา
โดยทั่วไปปลามักมีสีเงินและสีฟ้าหรือน้ำเงิน บางครั้งก็เป็นสีเขียว สีเทาหรือสีน้ำตาล ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการพรางตัวและสืบพันธุ์
การเคลื่อนไหวของปลา
ปลาอาศัยครีบ หาง และกล้ามเนื้อลำตัวในการว่ายและดำน้ำ ครีบนั้นมีหน้าที่รักษาการทรงตัวของปลา มี 2 คู่ คือ ครีบอก (pectoral fins) และครีบท้อง (pelvic หรือ abdominal fins)
การหายใจของปลา
ปกติปลาหายใจด้วยเหงือก (gills) ที่อยู่ท้ายหัว สองข้างของตัวปลา มีเหงือกที่ลักษณะเป็นเส้นคล้ายขนนกหรือหวีเรียงกันเป็นแผง น้ำจะถูกเหงือกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดและเลือดที่มีออกซิเจนนี้จะไหลผ่านออกจากเหงือกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ของเสีย เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะถูกขับถ่ายออกจากเหงือกบริเวณเดียวกัน เนื่องจากปอดของปลาไม่เหมือนกับปอดของสัตว์บก หากเรานำปลาขึ้นมาจากน้ำ ไม่นานนักปลาจะตาย เพราะปลาไม่สามารถใช้ออกซิเจนจากอากาศได้
อาหารของปลา
อาหารที่ปลาแต่ละชนิดต้องการนั้นแตกต่างกัน โดยทั่วไป ลูกปลาที่เพิ่งฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะได้อาหารจากถุงไข่แดงซึ่งมีจำนวนไม่มานัก ปลาบางชนิดกินพืชน้ำเป็นอาหาร บางชนิดกิน แพลงก์ตอน (plankton) คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ลอยมากับกระแสน้ำ บางชนิดกินหอย ปู กุ้ง เป็นอาหาร ส่วนปลาบางชนิดที่มีขนาดใหญ่จะกินปลาด้วยกันเป็นอาหาร
การสืบพันธุ์ของปลา
ปลามีระบบการสืบพันธุ์ โดยตัวผู้จะมีถุงน้ำเชื้อ (testes) ปลาตัวเมียมีรังไข่ (ovary) ปกติปลาแต่ละตัวมีอวัยวะเพศเพศเดียว แต่บางชนิดอาจมีอวัยวะเพศผู้และเพศเมียในตัวเดียวกัน ซึ่งระยะแรกจะเป็นเพศผู้ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเพศเมีย ปลาบางชนิดอาจออกลูกได้โดยไม่มีการผสมระหว่างน้ำเชื้อและไข่ อย่างไรก็ตามการสืบพันธุ์ของปลาดังกล่าวต้องมีปลาเพศผู้ปล่อยน้ำอสุจิเพื่อกระตุ้นให้ไข่เจริญเติบโตด้วย ลูกปลาทั้งหมดจึงเป็นเพศเมีย
การรับความรู้สึกของปลา
1. จมูก ปลามีจมูกในการรับกลิ่นแต่ไม่ได้ใช้ในการหายใจ จมูกของปลาจึงไม่มีท่อต่อกับคอหอย
2. ตา เลนส์ของตาปลากลมกว่าตาของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังประเภทอื่น ๆ ผนังภายนอกแบนกว่า เวลามองจะใช้วิธีเลือนเข้า-ออกจนชัด ปลาส่วนใหญ่นั้นมีสายตาสั้น
3. หู ปลามีเพียงหูส่วนในที่ใช้เป็นอวัยวะช่วยการทรงตัว มีกระดูกเล็กๆ เชื่อมส่วนหูกับกระเพาะลมซึ่งทำให้ปลาประเภทนี้รับความสั่นสะเทือนในน้ำได้ดี นอกจากนี้ปลาส่วนใหญ่ยังมีเส้นข้างตัว (lateral line system) ที่สามารถรับความสั่นสะเทือนในน้ำได้
4. ปลาหลายชนิดมีปุ่มรับรส (taste bud) อยู่บนหนวด (barbels) หรือบนหัวและตัวปลา
5. อวัยวะรับสัมผัสของปลาอยู่บนส่วนต่าง ๆ ของตัวปลา เช่น ผิวหนัง ผิวของหนวด (barbels of feelers) หรือครีบ สำหรับปลาที่หากินบนพื้นท้องน้ำใช้อวัยวะดังกล่าวคลำหาอาหาร
รายชื่อปลา
ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์
ปลากระสูบขีด Hampala macrolepidota
ปลากระแหทอง (ปลากระแห หรือ ปลาตะเพียนหางแดง) Barbus schwanenfeldii
ปลากะโห้ Catlocarpio siamensis
ปลากราย (ปลาหางแพน หรือ ปลาตองกราย) Notopterus chitala
ปลากา (ปลาเพี้ย) Morulius chrysophekadion
ปลาก้าง Channa gachua
ปลาแก้มช้ำ Barbus orphoides
ปลาคู้แดง (ปลาพาคู) Serrasalmus spp
ปลาเค้า Wallago attu
ปลาชะโด Channa micropeltes
ปลาตองลาย Chitara blanci
ปลาตะพัด Scleropages formosus
ปลาตะเพียนขาว (ปลาตะเพียน) Barbus gonionotus
ปลาตะเพียนทอง Barbus altus
ปลาตูหนา (ปลาไหลหูดำ หรือ ปลาสะแงะ) Anguilla bornecsis
ปลาเทพา (ปลาเลิม) Pangasius sanitwongsei
ปลาเทโพ (ปลาหูหมาด) Pangasius larnaudii
ปลาเทวดา Pterophy um spp.
ปลานวลจันทร์ Cirrhina microlepis
ปลานิล Oreochromis niloticus
ปลาบ้า (ปลาพวง) Leptobarbus hoevenii
ปลาบึก Pangasianodon gigas
ปลาปิรันยา Serrasalmus spp
ปลาพลวง (พลวงหิน หรือ ปลามุง) Tor soro
ปลายี่สกไทย Probarbus jullieni
ปลาแรด Osphronemus goramy
ปลาแรดเผือก Osphronenus goramy
ปลาลิ่น Hypophthalmichthys molittrix
ปลาเวียน Tor tambroides
ปลาสร้อยขาว (ปลาสร้อย หรือ ปลาสร้อยหัวกลม) Henicorhynchus siamensis
ปลาสลาด (ปลาฉลาด, ปลาตอง, ปลาหางแพน, ปลาวาง) Notopterus notopterus
ปลาสลิด (ปลาใบไม้) Trichogaster pectoralis
ปลาสวาย Pangasius sutchi
ปลาสวายเผือก Pangasius larnaudi
ปลาสายยู Pangasius conchophilus
ปลาหมอตาล (ปลาอีตาล ปลาใบตาล หรือ ปลาวี) Helostma temmickii
ปลาหมอไทย (ปลาหมอสะเด็ด หรือ ปลาเข็ง) Anabas testudineus
ปลาหางไหม้ Balantiocheilos melanopterus
ปลาออสก้า Astronotus ocellatus
ขอขอบพระคุณเจ้าของบทความครับ