homestay ที่ เกาะเกร็ด นนทบุรี : Fishing Spot
ห้องหมายธรรมชาติ
คห. 2, อ่าน 3,811
homestay ที่ เกาะเกร็ด นนทบุรี
kohang(12 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้)offline
25 ส.ค. 52
homestay ที่ เกาะเกร็ด นนทบุรี
ภาพที่ 1
เส้นทาง
รถยนต์  เดินทางโดยรถยนต์มาที่ห้าแยกปากเกร็ดตรงไปตามถนนแจ้งวัฒนะทางไปเทศบาลปากเกร็ด จากห้าแยกประมาณ 20 เมตร ก่อนถึงโรงหนังเมเจอร์ฮอลลีวู้ด เลี้ยวซ้ายเข้าถนนภูมิเวท ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงวัดสนามเหนือจอดรถทิ้งไว้ที่วัดแล้วนั่งเรือข้ามไปเกาะเกร็ดไปขึ้นเกาะเกร็ดที่วัดปรมัยยิกาวาส หรือไปที่วัดกลางเกร็ด นั่งเรือข้ามฟากไปขึ้นเกาะเกร็ดที่วัดป่าฝ้าย (เรือข้ามฟากบริการเวลา 05.00-21.30 น. ค่าโดยสารคนละ 2 บาท วัดสนามเหนือมีบริการจัดที่จอดรถรถยนต์สำหรับนักท่องเที่ยวค่าจอดรถคันละ 30 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถประจำทางลงที่ป้ายโรงหนังเมเจอร์ฮอลลีวูด แล้วนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างไปที่ท่าเรือวัดสนามเหนือหรือวัดกลางเกร็ด ค่าโดยสารประมาณ 10 บาท) 
        เรือ  เดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือด่วยเจ้าพระยาออกจากท่าวัดสิงขรลงที่ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี ค่าโดยสารคนละ  22 บาท (เรือทัวร์) จากนั้นเช่าเหมาเรือหางยาวที่ท่าน้ำนนทบุรีไปที่เกาะเกร็ด หรือนั่งเรือรถประจำทางจากท่านน้ำนนทบุรีไปที่อำเภอปากเกร็ดแล้วลงเรือที่วัดสนามเหนือหรือวัดกลาง

ปลาที่ตกได้
ทุกชนิดในแม่น้ำเจ้าพระยา

เหยื่อ
ทั่วไปแล้วแต่จะหาได้ในท้องถิ่น

อื่นๆ
เกาะเกร็ด เกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงส่วนที่เป็นแหลม ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2265 เรียกว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” (คลองลัดเกร็ดใหญ่อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ขุดลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนท้ายอำเภอสามโคกมาทางใต้ถึงคลองขวางเชียงราก)
ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้นเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ ชื่อที่เรียกนั้น ชื่อเดิมเรียกว่า เกาะศาลากุน
          เกาะเกร็ดมีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากวัดวาอารามต่าง ๆ บนเกาะส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้ หลังจากกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวมอญบนเกาะเกร็ดนั้นมีทั้งที่เข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ดขึ้นแล้วเกาะศาลากุน จึงมีฐานะเป็นตำบลและเรียกว่าตำบลเกาะเกร็ด เกาะนี้จึงมีชื่อว่า เกาะเกร็ด การคมนาคมบนเกาะจะใช้รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ เดินเท้า และเรือ
          เกาะเกร็ดเป็นหมู่บ้าน OTOP ต้นแบบภาคกลาง เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พร้อมต้อนรับทุกคนเข้าสู่ ศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้านการผลิตสินค้าหัตกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยรามัญที่ได้สืบทอดกันมายาวนานและการทำขนมมงคลอันเป็นสมบัติลำค่าที่ควรอนุรักษ์และถ่ายทอดสู่ลูกหลานสืบไป ชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวไทยรามัญ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานท่องเที่ยวตำบลเกาะเกร็ด โทร. 0 258 7993

สถานที่น่าสนใจบนเกาะ ได้แก่
          วัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว) ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม(โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่  ส่วนพระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบันนี้ ที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย  ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง ด้านหลังพระอุโบสถ มีพระมหารามัญเจดีย์ จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากอง ของพม่า   
          พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดยาว 9.50 เมตร ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี “พระนนทมุนินท์” เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ(จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหารเปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00-16.00 น.
          เอกลักษณ์ของมอญอีกอย่างหนึ่งในวัดนี้คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องจากเจดีย์อยู่ติดแม่น้ำ กระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง ดูแปลกตา นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเกาะเกร็ด   
          พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาสและหอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา จัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง “เหม” ที่ พ.อ. ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้นจนนับว่าเป็นงานศิลป์ ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ล้วนแต่ต้องทำอย่างละเอียด ประณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของเหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้าซึ่งก้นสอบปากบานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระจะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้ วันจันทร์-ศุกร์เปิดเวลา 13.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์เปิดเวลา 9.00-16.30 น. สอบถามรายละเอียดที่พิพิธภัณฑ์ โทร. 0 2584 512
          วัดเสาธงทอง เป็นวัดเก่าเดิมชื่อ “วัดสวนหมาก” นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงมะเฟือง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมากเขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะอาล๊าต”หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงคล้ายมะเฟืองฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น

        วัดไผ่ล้อม สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้”

        วัดฉิมพลีสุทธาวาส มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมากและยังมีสภาพสมบูรณ์แบบดั้งเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา 

        กวานอาม่าน  พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผามอญลายโบราณ การปั้นเครื่องปั้นดินเผานั้นเป็นอาชีพชาวมอญมาตั้งแต่ครั้งตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นับเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ลวดลายประณีตสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และยังเป็นสัญลักษณ์ตราประจำจังหวัดนนทบุรี สองข้างทางเดินบนเกาะมีบางบ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ภาชนะของใช้ ในชีวิตประจำวัน เช่น กระถาง ครก โอ่งน้ำ ฯลฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-17น.  สอบถามรายละเอียดได้ที่  โทร.  0 2584 5086 
        คลองขนมหวาน  บริเวณคลองขนมหวานและคลองอื่นๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองจะทำขนมหวาน จำพวกทองหยิบ ทองหยอด ขายส่งและยังสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมซื้อกลับไปเป็นของฝาก
 
การเดินทาง  ลงเรือข้ามฟากได้สองท่า คือ ท่าเรือวัดสนามเหนือ (ไม่ไกลจากท่าน้ำปากเกร็ด) หรือท่าเรือวัดกลางเกร็ด มีเรือบริการระหว่าง 05.00-21.30 น.


ตัวอย่างรายการท่องเที่ยวบนเกาะเกร็ด

1. ลงเรือข้ามฟากที่วัดสนามเหนือ และมาขึ้นที่ท่าน้ำวัดปรมัยยิกาวาสนมัสการพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี ชมพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 5 (ค่าเข้าชม คนละ 5 บาท)
2. เดินเท้าจากวัดปรมัยยิกาวาสสู่หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 7 ชมและซื้อเครื่องปั้นดินเผาสองข้างทาง ชมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผากวานอาม่าน
3. ลงเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดเสาธงทอง ล่องเรือไปทางท้ายเกาะสู่วัดใหญ่สว่างอารมณ์ ตำบลอ้อมเกร็ด ให้อาหารปลาหน้าวัด ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด รายได้ถวายวัดฯ มีมะพร้าวน้ำหอมจำหน่าย
4. ล่องเรือไปทางใต้เลี้ยวขวาเข้าคลองบางบัวทอง หรือคลองขนมหวาน ชมหมู่บ้านขนมไทยสองฟากฝั่งคลอง และซื้อหาขนมเป็นของฝาก
5. ย้อนกลับออกมาตรงปากคลอง มีปล่องเตาอิฐที่ผลิตอิฐ บ.บ.ท. อิฐทนไฟแห่งแรกของเมืองไทยล่องเรือผ่านบ้านเกร็ดตระการ วิ่งตรงมาขึ้นท่าน้ำหน้าวัดฉิมพลี เลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตร เดินเท้าจากวัดฉิมพลีถึงกลุ่มอาชีพหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ชมการสาธิตการแกะลายเครื่องปั้นดินเผาและซื้อเป็นของฝากของขวัญ ล่องเรือข้ามฟากไปวัดกลางเกร็ด เดินทางกลับ
การนั่งเรือเที่ยวรอบเกาะเกร็ด มีเรือออกทุกหนึ่งชั่วโมงเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น. คนละ 50 บาท หรือหากต้องการเช่าเรือ ราคามีตั้งแต่ 500-4,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและขนาดของเรือ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต.เกาะเกร็ด โทร.  หรือท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาสโทร
บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด จัดนำเที่ยวเกาะเกร็ดในเวลา 1 วัน โดยเรือด่วนทุกวันเสาร์
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024