กระดาน
รีวิว
ตลาด
ประมูล
เปิดท้าย
เรือ
แหล่งตกปลา
ร้านค้า
ค้นหาข้อมูล
Login
สมัคร
23 พ.ย. 67
บันทึกแห่งความตาย: SiamFishing : Thailand Fishing Community
1
2
3
4
>
กระดาน
คห. 88 อ่าน 5,841 โหวต 10
บันทึกแห่งความตาย
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
ตั้ง: 18 มิ.ย. 65, 10:10
“ชีวิต”
กำเนิดเกิดขึ้นมา ดำรงอยู่ตามวิถี และปิดฉากสุดท้ายที่ปลายทางลงด้วย “ความตาย” นั่นคือ
“วัฎสงสาร”
ของการเกิดมีชีวิตที่ได้เรียนรู้มา เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า อันตัวเรานี้หนา ต่างก็เคยสัมผัสรับรู้รสชาติของการเกิด แล้วมีชีวิตอยู่รอดมาจนถึงเวลา ณ วินาที ที่กำลังอ่านตัวอักษรมาจนถึงบรรทัดนี้ ดังนั้น ก็ย่อมรับรู้แล้วว่า “การเดินทาง” ของการเกิดแบบมีชีวิตนั้น มันแปรผันไปตามตัวแปร ที่ผ่านเข้ามาตามกาละ ระหว่างการเดินทางของแต่ละวิถีชีวิต ต่างคน ต่างชีวิต ต่างตัวแปร และก็ต่างความต้องการ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง คละเคล้ากันไป หากจะเลือกให้ชีวิตได้พบเจอแต่ความสุขเพียงอย่างเดียวนั้น ก็เสมือนหนึ่งว่าโลกของเรานี้ มีเพียงแต่เวลากลางวัน ไร้ซึ่งกลางคืน ฝืนธรรมชาติ ตัวแปรที่เข้ามาทำให้ชีวิตผกผัน มักถูกปรุงแต่งรสชาติด้วย
"จิต"
(Souls) ออกฤทธิ์สู่ประตู
“ใจ”
(Mind) เกิดเป็นเวทนา เมื่อได้รับรู้รสสัมผัส (Feel) หากชีวีนั้นมี
“สติ”
ก็จะ “เข้าใจ” การเกิดขึ้นของตัวแปร ที่ดำรงอยู่เพียงแค่ชั่วขณะ แล้วก็ดับสิ้นไป ไม่จีรังยั่งยืน “ความเข้าใจ” เช่นว่านี้ จะทำให้ “จิต” สามารถจูงชีวิตในร่างกาย ให้ก้าวข้ามผ่านพ้นตัวแปรเช่นว่านั้นไปได้ตามวาระของชีวิต จนกระทั่งไปพบเจอกับ
“ความตายตามธรรมชาติ”
ณ ปลายทาง ครบถ้วนกระบวนความตามวัฏจักรของการ “เวียนว่ายตายเกิด” ใน...ภพภูมิมนุษย์
แก้ไข 18 มิ.ย. 65, 12:12
ทุกคห.
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
3
คห.1: 18 มิ.ย. 65, 10:14
ความรู้สึกตอบสนองต่อ
“ความตาย”
นั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่แต่ละชีวิต มีมุมมองต่อความตายนั้นอย่างไร เช่น
“เศร้าโศกเสียใจ”
(เหมือนกับคนปกติทั่วไปที่เขารู้สึกกัน)
“ดีใจ”
(เพราะใครบางคนมันสมควรตาย)
“คิดถึง”
(คนที่เรารักได้พลัดพลากจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมา)
“ไม่รู้สึกรู้สา”
(เพราะ(กู)ก็ไม่ได้รู้จักอะไรกับมัน) หรือ
“ยกย่องสรรเสริญ”
(เพราะรำลึกถึงคุณงามความดีที่ผู้วายชีวีได้สร้างเอาไว้) เป็นต้น “การปรุงแต่งของจิต” ในร่างกายที่มีชีวิตของปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป ได้สร้างรสสัมผัสอันหลากหลาย ให้ตอบสนองต่อความตาย ผู้ที่มีความสุขกับการดำรงอยู่ของชีวิต ก็จะประคับประคองเหนี่ยวรั้งการมีชีวิตให้ยืดยาวออกไป เลื่อนวาระบทสุดท้ายของชีวิตและชลอการมาถึง ซึ่ง...“ความตาย”
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.2: 18 มิ.ย. 65, 10:16
ผม
ไม่ใช่
“ผู้รู้” หรือ “กู(ก็)รู้” (Guru) อะไรในการถ่ายภาพ หรือแตกฉานในวิชาเรื่องความตายแต่อย่างใด (เพราะยังไม่เคยตาย) หรือพยายามที่จะบอกสอนแนวความคิด ความเชื่ออะไร แต่อย่างใด ผมเป็นเพียงแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง มีแค่คำว่า “นาย” นำหน้าชื่อเหมือนชายไทยทั่วไป มีวิถีการดำเนินชีวิตเป็นไปตามกติกาของสัตว์สังคม (ยัง)มีอคติ 4 ที่รู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง เฉกเช่นปุถุชนคนทั่วไป (เพียงแต่ต้องควบคุมให้มันอยู่ในกรอบครรลองแห่งคลองธรรม) มีความคิดอ่านที่เหมือนชาวบ้านก็มากมี คิดคนละอย่างกับชาวบ้านชาวช่อง ก็มากครั้ง ถูกมองว่าเป็นแกะดำในฝูงแกะขาว (Black Sheep) ก็ไม่น้อย (แต่ก็ไม่เคยเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแกะสีขาวซักครั้ง) วันใดที่ผมมีกล้องในมือ มีเวลาเดินหันหลังให้กับที่ทำงาน ผมก็มักออกไปใช้ชีวิตง่าย ๆ ในที่ ๆ ห่างไกลจาก “คน” หากสามารถขาดการติดต่อจากโลกในเมืองได้ ก็ยิ่งดี ทั้งนี้ ก็ตามแต่เวลาจะเอื้ออำนวยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถลาพักร้อนได้วันไหน เวลาใด ครั้นจะพูดถึงแนวทางการถ่ายภาพ ผมมักชอบการถ่ายภาพที่เป็นจริง (Real) ไม่จัดฉาก (ขี้เกียจแบกฉากไปจัด) ชอบแสงธรรมชาติมากกว่าแสงเฟรช (ขี้เกียจจัดแสงวัดแสงอีกนั่นแหละ) เมื่อใดที่ใจสงบ มันก็มักมองเห็นอะไร ๆ ในการเดินทาง และก็พยายามเก็บภาพที่มองเห็นไว้ให้ได้ ชนิดที่ว่า ถ่ายทัน ก็ได้(ภาพ)มา ถ่ายไม่ทัน ก็อดไป มันเป็น
“ความท้าท้าย”
(Challenge) ที่กลายเป็นสไตล์ (Style) ให้ผมกระหายมองหาเหตุการณ์ต่าง ๆ นานา ในการถ่ายภาพของผมอยู่เนือง ๆ (ปัจจุบันนี้ ต้องเพิ่มความระวังเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งด้วย) ดังนั้น “บันทึกแห่งความตาย” ฉบับนี้ จึงเป็นการบอกเล่าสิ่งที่ผมได้เรียนรู้อะไรจากภาพถ่าย อันเป็นปฐมบทแห่ง...
“เจตนา”
แก้ไข 20 มิ.ย. 65, 13:16
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.3: 18 มิ.ย. 65, 10:19
ภาพต่าง ๆ ในกระทู้นี้ ถูกเริ่มต้นถ่ายเก็บสะสมมาตั้งแต่วันใดนั้น ไม่ได้ใส่ใจจดจำ แต่จำได้ว่ามันถูกเก็บเล็กผสมน้อยจากการเดินทางไปโน่นมานี่ แล้วพบเจอกับ “ความตาย” ที่เรียงรายอยู่รอบ ๆ ตัว ระหว่างการเดินทางตามวิถีชีวิตของผม ความอยากรู้อยากเห็น ก่อกำเนิดเกิดเป็นคำถามขึ้นในใจ จึงได้เริ่มศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ สนองความอยากรู้ ให้เข้าใจแก่นแห่ง “ความจริง” (True) ตาม
“วิถีแห่งพุทธ”
ที่ได้กำเนิดเติบโตมา โดยเริ่มจากการฟังธรรมบ้าง(แต่ก็ฟังไม่เข้าใจ เพราะเป็นภาษีบาลี ทำได้แค่สำรวมกิริยาและสงบจิตในเวลาฟังเท่านั้น) อ่านตำราสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ เพื่อกระเทาะเปลือกนอก ให้เข้าใจในแก่นแท้แห่งความเป็นจริง อีกทั้ง ยังได้ถาม ได้ฟังความจากผู้รู้ เพื่อให้ “เห็น” มุมที่ยังไม่เคยมอง หลายก้าวย่างระหว่างการเรียนรู้ ก่อให้เกิด “ความเข้าใจ” และได้สัมผัสกับคำว่า
“วัฎสงสาร”
ด้วยบริบทของคำ ๆ นี้ จึงเป็นที่มาที่ไป ที่ทำให้พฤติกรรมในการถ่ายภาพของผมเปลี่ยนไป นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมจึงเริ่มต้นถ่ายภาพที่เกี่ยวกับการเกิด การแก่เฒ้า การเจ็บป่วยได้ไข้ และความตาย นำเอามาบรรจุไว้ในกระด้างภัณฑ์ (Hard Disk) แต่งเติมรสชาติด้วยละมุนภัณฑ์ (Software) แล้วรอวันที่เสริฟเป็นเมนูตามชื่อบันทึกฉบับนี้ ให้หมู่มวลชนคนทั่วไป...ได้ลองใช้
“ใจ”
รับฟัง
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.4: 18 มิ.ย. 65, 10:21
วิธีการใช้งานกระทู้นี้:
กระทู้นี้ มิได้มุ่งประสงค์ที่จะเผยแพร่แนวความคิดอะไร ให้เกิดความเชื่ออะไร แบบไหน และอย่างไร สิ่งที่พิมพ์บ่นพ่นออกมาเป็นตัวหนังสือ คือ การบอกเล่าถึงสิ่งที่ผมได้เรียนรู้อะไรมาจากภาพถ่ายตามบันทึกฉบับนี้ ปรุงแต่ง เติมเครื่องเคียง ให้เป็นสำเนียงผ่านตัวอักษร ผู้ที่ได้ลิ้มลอง บ้างชิมแล้วก็อาจมีอาการ อาหารเป็นพิษ เพื่อลดการระคายเคืองในประสาทสัมผัส ให้ “ขากคายถุยทิ้งไป” บ้างชิมแล้วยังไม่ถูกปาก ก็เติมพริก น้ำตาล มะนาว เกลือ ก็สุดแท้แต่ว่ามโนคติจะยุติลงที่รสชาติใด บ้างชิมแล้วก็ระลึกถึงสัญญาขันธ์ ว่าวันหนึ่งชีวิตเคยผ่านพบเจอกับอะไรมา เฉกเช่นสำเนียงที่เขียนเป็นตัวหนังสือนี้ ก็อาจจะชอบรสชาติของอาหารจานนี้ก็เป็นได้ ดังนั้น รสชาติของเมนูจานนี้ โปรดพึงสังวรว่า มันไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับจิตของใคร คิดอะไร เคยทำ “กรรม” อะไรมาก่อน หากแม้ว่าคน ๆ นั้นจะเคี้ยว ๆ แล้วขากคายถุยทิ้ง ก็ไม่ถือโทษกล่าวว่ากัน เพราะเข้าใจได้ว่า
“ศีลนั้นไม่จำต้องมีเสมอกัน”
แต่หากผู้หนึ่งผู้ใด รื่นรมย์ในการลิ้มชิมรส ก็หวังว่ารสสัมผัสของภาพถ่ายแห่ง “ความตาย” ที่ได้กลืนกินลงท้องไปนี้ จะทำให้ท่านได้มองในมุมที่อาจจะยังไม่เคย...“เห็น” (ผมไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง ผมแค่ปฏิบัติตามคำสอนแล้ว...ผมเห็น)
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.5: 18 มิ.ย. 65, 10:23
“กฎ” (Rule) ข้อแรกของความตายตามบันทึกฉบับนี้ ขอเริ่มด้วย
“กฎหมาย”
(Rule of Laws) กล่าวคือ
“สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย”
หลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรคแรก การที่จะมีสภาพบุคคลได้นั้น มีองค์ประกอบ 2 ประการ (1) คือ...การคลอด และ (2) แล้วอยู่รอดเป็นทารก (คลอดมาแล้วไม่หายใจ แปลว่า “ตาย” ไม่ถือว่ามี “สภาพบุคคล”) และสภาพของบุคคลย่อมสิ้นสุดลงด้วย “ความตาย” ครบถ้วนสมบรูณ์แบบของการเกิดแล้วอยู่รอดเป็นทารกลงด้วย...ประโยคสุดท้าย
นี่คือ...จุดกำเนิดของการเกิดแบบมีชีวิตที่กฎหมายให้การรับรอง แต่ก็อาจมีอีกหลายปัจเจกชน คนมีปัญญา ให้ความเห็นแตกต่างออกไปว่า อัน “ชีวิต” นั้นหนา หาได้เริ่มแต่เมื่อคลอด หากแต่มันเริ่มตั้งแต่การหล่อหลอมรวมตัวกันระหว่างนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้กับเพศเมีย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาแล้วต่างหาก หรือที่เรียกกันว่า “ปฏิสนธิ” ดังนั้น “จุดกำเนิด” ของการเกิดเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ ก็ได้ถูกมองต่างกันด้วยความคิดที่แตกต่างของมนุษย์ด้วยกันเอง นานาจิตตัง เป็นเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดา แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าเอ็งหรือข้าฯ ไม่ว่าจะตัวผู้หรือตัวเมีย ก็ต้องตกล่องปล่องชิ้น ดำเนินไปตามครรลองของกฎหมายไทยที่ได้ให้การรับรองไว้(ขอกล่าวเฉพาะกฎหมายไทย) ดังนั้น เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของบันทึกแห่งความตามฉบับนี้ ส่วนตัวผมนั้น ก็ขอคิดด้วยคนว่า การกำเนิดเกิดมาแบบมีชีวีนั้น มันก็แค่ “บทเริ่มต้นของความตาย” หากยังไม่หลุดพ้นจาก...วัฎสงสาร
แก้ไข 19 มิ.ย. 65, 08:56
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.6: 18 มิ.ย. 65, 10:25
“การเกิดแบบมีชีวิต”
ตามมาตรา 15 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วต้องอยู่รอดเป็นทารก ยกระดับการเจริญเติบโต ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน พอเริ่มเดินเตาะแตะ แล้ววิ่งได้ ก็ย่างเข้าสู่วัยแห่งการศึกษาเล่าเรียน ถูกจับดินสอยัดใส่มือให้เริ่มหัดขีดเขียน ก. เอ๋ย ก. ไก่ ในวัยอนุบาล ไต่ไล่ระดับขึ้นไปชั้นประถม ต่อด้วยมัธยม และก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เพื่อร่ำเรียนวิชาทำมาหา
“เลี้ยงชีพของตัวเอง”
ครรลองการเดินทางของชีวิต ก็ย่อมมีการเจ็บป่วยได้ไข้ เป็นธรรมดาของสังขาร เมื่อเจ็บป่วยได้ไข้ ก็ให้หมอรักษา หายป่วย ก็กลับเข้าสู่วังวนแห่งการดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพกันต่อไป จนกว่า “กาละ” จะจูงสังขารให้ก้าวเดินผ่านสังคมแห่งการดิ้นรนทำมาหากิน ให้ไปสะดุดหยุดอยู่ ณ วัน “แซยิด” โบกมืออำลาเพื่อนร่วมงาน เดินทางกลับบ้านไปใช้ชีวิตเหลืออยู่ในที่ชอบ ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง นั่งศึกษาตำราบทสุดท้ายอันว่าด้วย “ความตาย” ปิดฉากของการเกิดแบบมีชีวิตไว้ที่ปลายทาง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งที่...
“ไม่แน่นอน แต่แน่นอน”
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
2
คห.7: 18 มิ.ย. 65, 10:27
นับแต่วันแรกของการเกิดแล้วอยู่รอดเป็นทารก ขาก้าวหนึ่งของชีวิต ก็ได้ก้าวย่างเข้าไปสัมผัส “ความตาย” อยู่ทุกขณะของเวลา ดังจะสังเกตได้จากประโยคสุดท้ายของมาตรา 15 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ที่ว่า
“...และสิ้นสุดลงเมื่อตาย”
มันคือ ท่วงทำนองอันงดงามของการเกิด ที่ให้โอกาสกับใครคนใดคนหนึ่ง ได้เกิดแบบมีชีวิต ได้ดื่มด่ำหรือกล้ำกลืนฝืนทนกับการดำรงอยู่ของชีวิต และจบฉากสุดท้ายของชีวิตอย่างบริบรูณ์ด้วย...“ความตาย”
ระหว่างทางที่ชีวิตได้ท่องไปตามวิถี ผมได้มีโอกาสมองเห็นความตาย ภายใต้ครรลองของสัตว์สังคม ได้เรียนรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการตัดสินใจด้วยตัวเอง (the right of self-determination) ว่าจะยินยอมให้หมอทำการรักษาเมื่อยามเจ็บป่วยได้ไข้หรือไม่ หรือจะสงวนการรักษาด้วยเฉพาะวิธีการหนึ่งใดเท่านั้น (เช่น ความเชื่อในบางศาสนาไม่ยินยอมให้รักษาด้วยการให้เลือด เป็นต้น) หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจที่จะมีหรือไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกประการหนึ่งด้วย ด้วยความเคารพ ชีวิตของท่าน ความเชื่อของท่าน การที่ท่านตัดสินใจเลือกเอง จึงเป็นสิทธิที่เหมาะสมแล้วในความคิดเห็นของผม ดังกล่าวมานี้ มันทำให้ผมเข้าใจบทสุดท้ายของมาตรา 15 ได้ซาบซึ้งมากขึ้นกว่าเดิม ความเข้าใจเช่นว่านี้ มันทำให้ผมเลิกคำนึงถึงสิ่งที่เคยเดินผ่านพ้นมันไปแล้วในอดีต และก็มิได้คาดหวังสิ่งใดที่ยังมาไม่ถึง ผมเลือกเป็นตัวของตัวเอง ใช้เวลาของชีวิต
“อยู่กับปัจจุบัน”
เป็นแกะดำในฝูงแกะขาวได้อย่าง...มีความสุข
แก้ไข 20 มิ.ย. 65, 13:29
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.8: 18 มิ.ย. 65, 10:29
จากปฐมบทการเกิดแบบมีชีวิตของปุถุชนคนทั่วไป เมื่อเติบใหญ่ ก็เข้าเรียนเพียรศึกษา เพื่อจะได้ถูกขนานนามว่าเป็น
“ผู้มีวิชา”
แต่ทว่า “ความตาย” นั้น หามีใครผู้ใดรู้จักหัวนอนปลายเท้า(ตีน)ของมันไม่ คงจะไม่มีใครบอกได้ว่ามันเกิดและเติบใหญ่มาจากแห่งหนตำบลใด มันเคยถูกอบรมบ่มนิสัยให้เริ่มหัดเรียนเขียน ก. เอ๋ย ก. ไก่ มาจากสถาบันไหน ไม่มีใครรู้ หากพิจารณาจากพฤติกรรมและมารยาทของมัน น่าจะสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า โอ้เจ้าความตายนั้นหนา มันคง
“ไม่ได้เรียนหนังสือ”
หรือได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาจากที่ใดและอย่างไร มันถึงได้ไร้มารยาท ขาดจิตสำนึก ไม่เคารพลำดับวาระก่อนหลังของเวลา (พูดง่าย ๆ ได้ว่า มันไม่รู้จักการเข้าแถว ต่อคิว วัฏจักรของการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ตามลำดับที่ควรจะเป็นนั่นเอง) และด้วยเหตุนี้ มันจึงมีนิสัยไม่ดี
“เอาแต่ใจตัวเอง”
เสมือนหนึ่งภาพนี้ (ปลาถูกผ่าให้คลอดจากท้องแม่ของมัน) ที่ถูกความตายแซงคิว ไม่เปิดโอกาสให้ร่างกายทั้งหลายเหล่านี้ได้สัมผัสแม้กระทั่งการเกิด...“แบบมีชีวิต”
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.9: 18 มิ.ย. 65, 10:30
การที่ “ความตาย” มันเอาแต่ใจตัวเองนั้น ทำให้มันนึกจะโผล่แทรกแซงคิวไหน ช่วงเวลาใด ในชีวิตใคร ได้ทั้งนั้น ไม่จำต้องมีการบอกกล่าวแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ได้เตรียมเนื้อเตรียมตัว เช่น เกิดมาแล้วตายเลย ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ เป็นต้น (แต่ที่แย่มากกว่า เห็นทีคงจะเป็นการเกิดมาแล้ว ก็เจ็บไข้ได้ป่วยเลย และดันมีอายุไขยาวนานเสียด้วย น่าเห็นใจคนดูแล) และความตายนี้มันก็หาได้สนตะกวดอะไรหรือเกรงใจใครหน้าไหนไม่ มันมักถือวิสาสะ ใช้นิสัยที่เอาแต่ใจ ไร้การอบรม
“พรากเวลา”
ออกไปจากชีวิตของใครได้ทุกขณะและทุกวัย ตามที่ใจมันต้องการ สรุปเอาเองได้ว่า ความตายนั้น มันไม่เคารพลำดับวาระและ...เวลา
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.10: 18 มิ.ย. 65, 10:31
ถึงแม้ว่ามันจะไร้มารยาท แต่ในบางครั้งบางที มันก็ยังแอบมีน้ำใจ ให้ “ของแถม” กับการเกิดแบบมีชีวิต แต่ของแถม มันก็คือของแถม จำนวนหรือปริมาณจึงมีไม่มาก (แต่ก็ยังดีกว่าไม่มี) ของแถมที่ว่านี้ คือ
“น้ำใจ”
ที่ความตายได้หยิบยื่นให้กับชีวิต การแถม “เวลา” ให้กับเจ้าของชีวิตมีโอกาสได้เกิด แล้วอยู่รอดเป็นทารกต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง จากภาพนี้ คาดว่าเจ้านกน้อยมันถูกพ่อแม่กกฟักตัวมันออกมาจากไข่ ประคบประหงมให้ได้รู้จักรสสัมผัสของการเกิด ตามโควต้า “น้ำใจ” ที่เจ้าความตายได้หยิบยื่นให้ มันจึงมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกเพียงชั่วขณะหนึ่ง อาจจะไม่มีโอกาสเรียนรู้การฝึกบินออกจากรังให้ไปใช้ชีวิตเวียนว่ายในสังคม อาจไม่ได้สัมผัสรับรู้รสชาติของการเจ็บป่วยได้ไข้ หรือแม้กระทั่งมีโอกาสได้แก่ตัวลงในอนาคต แต่ก็แอบหวังว่า มันคงได้ใช้เวลาที่ความตายแถมมาให้มันนั้น สัมผัสกับ “ความงดงาม” ของชีวิตได้...
“อย่างคุ้มค่า”
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.11: 18 มิ.ย. 65, 10:33
บันทึกแห่งความตายภาพนี้ เป็นบทลงโทษในสองฐานความผิด ความผิดแรกฐาน
“บุกรุก”
เคหะสถานในเวลากลางคืนก่อนเที่ยง(คืน) แต่ไม่สามารถรวมความผิดฐานที่สอง “ทำให้เสียทรัพย์” จากการกัดแทะทรัพย์สินในบ้านเพิ่มอีกหนึ่งข้อหาได้ เพราะมีแค่ร่องรอยการกัดแทะ แต่ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเจ้าตัวนี้เป็นผู้กระทำการกัดแทะให้ทรัพย์เสียหาย ดังนั้น ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์...จึงตกไป
แก้ไข 18 มิ.ย. 65, 20:34
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.12: 18 มิ.ย. 65, 10:36
บันทึกแห่งความตายภาพนี้ เป็นบทลงโทษสองฐานความผิดเช่นกัน ความผิดฐานแรก คือ
“บุกรุก”
เคหะสถานยามกลางคืนหลังเที่ยง(คืน) และความผิดฐานที่สอง คือ
“ทำให้เจ้าของบ้าน(ผู้หญิง)ตกใจ”
(เพราะเขาเป็นคนที่กลัวหนูมาก) จากการสอบปากคำผู้เสียหาย(คนที่กลัวหนู) ทราบว่า คนร้าย(หนู) ได้โผล่หน้าออกมาให้เขาเห็น ในวันใดนั้นมิอาจทราบได้ รู้แต่เพียงเวลาพลบค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว การสืบเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง เริ่มต้นด้วยการถามคำถามผู้เสียหายฝ่ายที่ตกใจ เมื่อคำถามถูกถามได้เพียงไม่กี่คำ ก็ถูกอำนาจที่เหนือกว่า บีบคั้น กดดัน ทำให้ไม่สามารถสืบเสาะเบาะแสแห่งข้อเท็จจริงไปไกลกว่านี้ได้ จึงจำต้องยุติการสืบเสาะข้อเท็จจริง ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสได้เอ่ยปากถามไถ่ ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องยุติการสืบเสาะข้อเท็จจริงลง ณ กลางคัน แต่เพื่อความสบายหูและสบายใจ จึงต้องรีบออกไปหาซื้อกับดัก(หนู)มาโดยเร็ว บทสรุปจึงมีว่า ในบางครั้ง การดำรงชีวิตให้เกิดความสงบสุขนั้น มันไม่จำเป็นต้อง
“ขวางเรือตอนน้ำเชี่ยว”
เสมอไป (แล้วรีบๆไปซื้อกับดักหนูมาซ่ะ...จบ สงบ สบายหู) ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้
“รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง”
แล้วผันตัวเองให้กลายเป็น...
“สนลู่ลม”
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.13: 18 มิ.ย. 65, 10:36
บันทึกแห่งความตายภาพนี้ เกิดจากการบิน “บุกรุก” เข้ามาเข้ามาในเคหสถาน วันใด เวลาใด ไม่เป็นที่ปรากฎ พบเจอศพอยู่ในลักษณะนอนคว่ำหน้าบนโต๊ะทำงาน บริเวณหน้าคอมพิวเตอร์ ในห้องสมุด สังเกตจากลักษณะภายนอก พบว่ามีฝุ่นเกาะที่ตัวศพ และรอบบริเวณที่พบศพก็ยังเต็มไปด้วยฝุ่น (เพราะคนอยู่บ้านไม่มาทำความสะอาดโต๊ะทำงานให้) สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า “ความตาย” ได้พรากชีวิตออกไปจากร่างกายนี้ มาเป็นเวลาหลายวันแล้ว (เพราะฝุ่นเกาะเต็มตัว) ด้วยความสงสัยในลักษณะการตาย จึงนำไปทำการชันสูตรพลิกศพ ลักษณะของการตาย ไม่พบร่อยรอยการต่อสู้ ไม่ปรากฎบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบหรือขอบไม่เรียบแต่อย่างใดที่ตัวศพ อวัยวะที่ตัวศพก็อยู่ครบถ้วน และสภาพร่างกายของศพอยู่ในสภาพแห้งมาก จึงสันนิษฐานสาเหตุการตายในกรณีนี้ได้ว่า น่าจะเกิดจากการ...ขาดน้ำและอาหาร
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.14: 18 มิ.ย. 65, 10:37
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 395 “บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องจัดการงานไปในทางที่จะให้สมประโยชน์ของตัวการ ตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นความประสงค์ของตัวการ” จากหลักกฎหมายดังกล่าว เมื่อสืบข้อเท็จจริงจากภาพนี้ เป็นที่ปรากฎว่า ณ วันหนึ่ง เวลาใด ไม่เป็นที่ปรากฎ(จำไม่ได้) ได้ยินเสียงกับดักหนูดังขึ้น จึงได้เดินออกจากห้องเพื่อพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของเสียงกับดักหนู ก็พบเจอกับภาพแห่งความตายนี้ปรากฎอยู่ต่อหน้า จึงสันนิฐานมูลเหตุจูงใจอันเป็นที่มาของภาพนี้ได้ว่า เจ้าจิ้งจก(บุคคลใด)ได้เข้าทำกิจการแทนผู้อื่น(หนู) โดยที่เขา(หนู)มิได้ขานวานใช้ให้ทำแต่ประการใด ท่านว่าบุคคลนั้น(จิ้งจก) จะต้องจัดการงานไปในทางที่จะให้สมประโยชน์ของตัวการ(หนู) ดังนั้น ภาพนี้จึงเป็นบทเรียนตามกฎหมาย ว่าด้วยการ
“จัดการงานนอกสั่ง”
(ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ยุ่งไม่เข้าเรื่อง” หรือ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ในคำว่า “ส. ใส่เกือก”) จึงเป็นเหตุทำให้จิ้งจกตัวนี้ ใส่เกือก กระเดือกไปกินอาหารในกับดักหนู ผลลัพธ์ก็ออกมาเป็น...แบบนี้
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.15: 18 มิ.ย. 65, 10:39
บันทึกแห่งความตายภาพนี้ พบเจอที่มุมวงกบด้านบนของประตูหน้าบ้าน สันนิษฐานได้ว่า การที่เจ้ากิ้งกือปีนป่ายจากพื้นดินขึ้นมาที่ตำแหน่งนี้ ย่อมสื่อถึง
“เจตนา”
ของเจ้ากิ้งกือตามมาตรา 59 ของประมวลกฎหมายอาญาได้ว่า มันมีเจตนามุ่ง
“ประสงค์ต่อผล”
ที่จะบุกรุกเข้าไปในเคหะสถาน แต่การลงมือกระทำความผิดฐานบุกรุกนั้น ไม่สำเร็จ (เพราะถูกประตูหนีบตายคาที่เอาเสียก่อน) การลงมือกระทำความผิดของเจ้ากิ้งกือ ไม่สามารถหาหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ลงมือทำในเวลากลางวัน หรือเวลากลางคืน(ซึ่งมีโทษหนักกว่าเวลากลางวัน) พอมาเห็น มันก็แห้งติดอยู่ตรงนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 38 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติไว้ว่า
“โทษให้เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด”
ดังนั้น บันทึกแห่งความตายภาพนี้ จึงไม่มีการกล่าวโทษร้องทุกข์เจ้ากิ้งกือตัวนี้แต่อย่างใด เพราะโทษทางอาญาให้เป็นอันระงับไป ด้วยเหตุแห่ง “ความตาย” ของ...“ผู้กระทำความผิด”
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.16: 18 มิ.ย. 65, 10:40
นอกจากมัน(ความตาย) จะไม่เคารพลำดับวาระของเวลาแล้วนั้น มันยัง
“ไม่เคารพสถานที่”
ด้วยเช่นกัน มันไม่เลือกปฏิบัติว่า เจ้าของบ้านหลังนี้ มีนามสกุลรุนชาติพันธุ์อันแสนดี ถ้าเป็นเช่นนี้ ขอละเว้น ไม่แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนก็แล้วกัน แต่เฮ๊ย! เจ้าของบ้านหลังนี้มันชอบยิงนก ตกปลา ล่าสัตว์ แถมยังโดนเมียบ่นก่นด่าอยู่เกือบทุกวี่วัน หากเป็นเช่นนั้น งั้นกูขอแวะเข้าไปนั่งก๊งเหล้าที่บ้านกับมันเย็นนี้ดีกว่าว่ะ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ความตายนั้น คงจะมีอิสระ อยากเข้าซอยนี้ ออกซอยนั้น ได้อย่างเสรี ด้วยนิสัยเช่นว่านี้ มันจึงเหลิงตัว เข้าออกท่องไปได้ทุกสถานที่ ไม่เว้นแต่แม้กระทั่ง...ตู้กดเงิน
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.17: 18 มิ.ย. 65, 10:42
การตระหนักรับรู้
“คุณค่าของการมีชีวิต”
ก่อให้เกิดความกลัวตายขึ้นในหมู่ผู้คน สาเหตุของความกลัว(ตาย)เช่นว่านี้สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า คงอาจสืบเนื่องมาจากการมีนิสัยที่ติดการ “เสพสุข” เสพความสวยงามตามธรรมชาติของโลกใบนี้ (ถ้าทุกข์มันคงลาโลกไปนานแล้วละ) ด้วยเหตุนี้ คนที่ถูกใครต่อใครขนานนามว่าเป็น “ผู้มีการศึกษา” จึงได้เสาะแสวงหาเคล็ดลับวิชา เอาชนะกติกาของธรรมชาติ ยืดอายุไข ให้ชีวิตได้มี “วันพรุ่งนี้” แม้จะมีเพียงแค่ไม่กี่นาทีก็ตาม ครั้นจะร้องเพลง “อยู่ต่อไปเลยได้ไหม...อย่าปล่อยให้ฉันไป...” เห็นทีคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะ “ความตาย” มันคือ
“กฏธรรมชาติ”
(Natural Law) ข้อที่สองของการ...มีชีวิตอยู่
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.18: 18 มิ.ย. 65, 10:42
แม้ว่า...จะได้เคยอ่าน เคยศึกษาเกี่ยวกับสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ที่จะบอกกล่าวกับหมอว่า ไม่ต้องรักษาตัวเองให้หายจากการเจ็บป่วยได้ไข้ ทั้งนี้ ก็เพราะว่าเจ้าของชีวิตนั้น มีความประสงค์ที่จะลงทะเบียนเรียนวิชา ว่าด้วยบทสุดท้ายของชีวิตแต่เนิ่น ๆ ก็ตาม ทว่า การพิจารณาให้สิทธิดังกล่าวนั้น เช่น ควรจะให้สิทธิกับใคร อายุถึงเกณฑ์อันควรจะลงทะเบียนเข้าเรียนแล้วหรือไม่ อะไรคือหลักคิดพิจารณา ดังกล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นเหตุผลของผู้ที่ยังอยากมีชีวิตอยู่ (แต่คนไข้ที่ตัดสินใจไม่ดำรงชีวิตอีกต่อไป...เขาคงคิดต่าง) ดังนั้น จึงต้องตั้งปุจฉาถามไถ่กันไป ต่าง ๆ นานา เพื่อให้ได้วิสัชนา แต่ “ความตาย” นั้นหนา หาได้สนใจใยดีในปุจฉาหรือวิสัชนาไม่ มันสามารถใช้ “เอกสิทธิ์” (Privilege Rights) ของมัน มอบความตายให้ใครต่อใคร ได้อย่างไม่สนใจอายุไขและลำดับวาระของ...เวลา
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.19: 18 มิ.ย. 65, 10:44
ถึงแม้ว่าภาพนี้ จะไม่ใช่ภาพท่าน้ำ ที่มีสะพานยื่นยาวจากตลิ่งไปสู่คลอง มีหญิงสาวอุ้มกอดลูกไว้ในอ้อมแขน ยืนรอคอยคนรักกลับมาจากแดนไกลที่ปลายสะพาน สื่อถึง
“สัญญาขันธ์”
ฉันท์ภรรยาจะพึงมีต่อสามี แม้ว่าชีวีหาได้มีอยู่ในภพภูมิเดียวกันไม่ โอ้! จันทร์เจ้าขา ในขณะที่เจ้ากำลังจะโผล่พ้นทิวไม้ ลอยสูงขึ้นไปบนเมฆา ความงามของเจ้า ณ ย่ำค่ำคืนนี้ ได้ดลใจให้ข้าฯนึกถึงวลีเด็ดของหนังไทย
“ฉันออกไปรอพี่ ที่ท่าน้ำทุกวัน”
(นึกถึงเสียงผู้หญิง น้ำเสียงเย็นๆ เอ่ยถ้อยคำเนิบๆ ยืนอุ้มลูกอยู่ที่ท่าน้ำยามพลบค่ำ) เมื่อนึกได้เช่นนั้น ผมก็เดินกลับเข้าบ้านไปคว้ากล้องถ่ายรูป เก็บอย่างดีในตู้ควบคุมความชื้น นำเอาออกมาปัดฝุ่น บันทึกเก็บฉากนี้เอาไว้เพื่อนำมาประกอบเป็นเรื่องราวเล่าขานในบันทึกฉบับนี้ (ก่อนจะกลับไปนั่งก๊งเบียร์ต่อกับเพื่อนที่หน้าบ้าน) ตราบใดที่ฉากเด็ดของหนังเรื่องนี้ มีหญิงสาวอุ้มลูกออกไปยืนรอคนรักที่ท่าน้ำทุก ๆ พลบค่ำฉันท์ใด “ความตาย” มันก็มาซุ่มเฝ้ารอดูการดำรงชีวิตของผู้คนอยู่...ฉันท์นั้น
แก้ไข 19 มิ.ย. 65, 00:22
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
3
คห.20: 18 มิ.ย. 65, 10:46
การดำรงชีวิตในรูปแบบมนุษย์เงินเดือน เริ่มต้นจากการใช้วิชาที่ได้ร่ำเรียนมา หาเงินใช้ช่วยเหลือที่บ้านตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา เมื่อได้ใบปริญญามา ก็เอาไปเร่ขายในตลาดแรงงาน บอกกล่าวเล่าขานสรรพคุณอวดอ้างตัวเองว่า อันตัวข้าฯ นั้นหนา มีดีกรีแบบนี้ แสนดีอย่างงั้น ขอขายตัวของฉันในราคาเท่านี้ ใครจะซื้อเอาไปเป็น “เครื่องไม้ - เครื่องมือ” ในการประกอบกิจการบ้างไหม ในวันหนึ่งเมื่อขายออก ก็เอาวิชาที่เรียนมากับเวลาในชีวิต (8 ชั่งโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์) แลกกับค่าตอบแทนเป็นเงินรายเดือน ซื้อข้าว น้ำแข็ง โซดา อีกทั้งกับแกล้มต่าง ๆ นานา ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน แต่งเมีย ซื้อเบ็ดตกปลา กล้องถ่ายรูป และปืนผาหน้าไม้ ฯลฯ ตอบสนองกิเลสแห่งความอยากให้กับตัวเอง ส่วนใครจะอยากได้อะไร ใส่หัวโขนอะไร เล่นบทบาทไหนในสังคม ก็หาซื้อความอยากนั้นมาสนองรสนิยมกันเอาเอง...ก็แล้วกัน
แล้ววันหนึ่ง “กาละ” ก็จูงมือลูกจ้าง ไปแนะนำให้รู้จักกับ
“ความชรา”
ทั้งก่อนวัยอันควรและสมควรแก่วัยก็ตาม ส่วนสาเหตุของความชราก่อนวันนั้น ก็โยนความผิดให้กับ “ความเครียด” ไป (เฉกเช่นเดียวกับกรณีไฟใหม้ ก็มักโยนสาเหตุให้กับ “ไฟฟ้าลัดวงจร” เป็นต้น) ความชราเช่นว่านี้ ถ้าหากเกิดขึ้นกับลูกจ้างที่
“ทน-ทำ-งาน”
มานานแสนนาน จนกระทั่งถึงวันที่มีอายุไขครบ 5 รอบนักษัตร(แซยิด) ถือเป็นเหตุร้ายแรงอย่างหนึ่ง ที่นายจ้างสามารถบอกเลิกการจ้างงานได้ (แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทน/ค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน) พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ คือ
“ไล่ออกจากงาน”
(ภาษาในสัญญาจ้างแรงงานเรียกว่า “ครบกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน” หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันโดยทั่วกันว่า “เกษียณอายุ”) ดังนั้น สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า
“ความแก่”
ตัวลงนั้นเป็นเหตุให้(ลูกจ้าง)ถูก “เลิกจ้าง” ได้...นั่นเอง
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.21: 18 มิ.ย. 65, 10:47
ในบริบทแห่ง “กฎธรรมชาติ” นั้น ปัจฉิมพุทธโอวาท พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า
“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้พร้อมเถิด”
พุทธโอวาทดังกล่าวนี้ คือ ความจริงที่ชีวิตของคนเรานั้น ให้ตระหนักอยู่บนความไม่ประมาท...เสมอ
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
3
คห.22: 18 มิ.ย. 65, 10:49
การเรียนรู้ความผิดพลาดที่ดีนั้น ท่านผู้รู้เคยเอ่ยคำสอนไว้ให้คิดตาม เมื่อสดับรับฟังแล้วก็เข้าใจได้ไว้ว่า การเรียนรู้ที่ดีนั้นหนา
“ให้เรียนรู้ข้อผิดพลาด...ของคนอื่น”
แล้วนำเอากลับมาปรับปรุงตัวเอง ด้วยความเคารพ ท่านผู้รู้ ท่านอาจจะกล่าวได้ไม่จบและครบถ้วนกระบวนความ เพราะตราบใดที่ผมยังคงได้ยินคำคมที่ว่า “เหรียญมันมีสองด้านเสมอ” และฝรั่งก็ยังบอกสอนต่อ ๆ กันมาเอาไว้อีกด้วยว่า
“Everybody Makes Mistake”
นั่นย่อมหมายความว่า ไม่ว่าไอ้อีหน้าไหนนั้นหนา ก็ย่อมทำผิดและพลั้งพลาดกันได้ ดังนั้น การที่ใครคนใดคนหนึ่ง จ้องจะเรียนรู้แต่ความผิดพลาดของคนอื่นเพียงอย่างเดียว อีกทั้ง ยังไม่ฝักใฝ่ใคร่พินิจ แล้วนำเอามาพิจารณา ว่าเท็จจริงที่ได้รับฟังมานั้นหนา วิญญูชนเขาคิดอ่านเช่นไร หากความจริงปรากฎเป็นเช่นนี้แล้วไซร้ ไอ้อีคนเหล่านั้นก็หาได้มีคุณค่า ควรแก่การเอ่ยปากบอกสอนให้ได้สดับรับฟัง คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม สัมผัสกับการ “พลาดพลั้ง” ของตัวมันเองและด้วยตัวของ...มันเอง
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
2
คห.23: 18 มิ.ย. 65, 10:50
ในเมื่อ
“สี่ตีนยังรู้พลาด และนักปราชญ์ก็ยังรู้พลั้ง”
ดังนั้น นับประสาอะไรกับมนุษย์ที่มีเพียงแค่สองตีน จะไม่พลั้งพลาด ณ วันใดวันหนึ่ง ความผิดพลาดพลั้งเผลอที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางของชีวิต มันจึงเป็นเรื่อง...ธรรมดา
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.24: 18 มิ.ย. 65, 10:51
วันหนึ่ง ก็ถึงคราวตัวเอง ณ กลางปี 2558 ในวันที่มนุษย์เงินเดือนขอลางานไป “พักร้อน” ที่บ้านเกิด บรรยากาศของการพักร้อนในวันแรกนั้น ไม่จำต้องใช้โหรมาพยากรดวงชะตาว่า อาหาร น้ำท่า อีกทั้ง กับแกล้ม น้ำแข็ง และโซดา นั้นจะอุดมสมบรูณ์เพียงเท่าใด กลิ่นไอแห่งความสุข ตลบอบอวนในห้องครัวจนดึกดื่น พอย่างเข้าวันที่สอง ณ ยามย่ำค่ำสนธยา ทำไมทรวงอุรามันถึงรู้สึกหนาวสั่นอย่างไม่มีสาเหตุ ด้วยความหวงแหนห้วงเวลาในการ “เสพสุข” ที่มีจำกัด จึงต้องแบกหน้าไปให้บุคคลากรทางการแพทย์ทำการรักษา เมื่อเข็มปักตูด จึงไม่ถูกกักตัว แต่ทว่า หัวค่ำของวันที่สาม อาการหนาวสั่นทรวงอุรา มันยังอุตริหวนคืนกลับมา อย่างไม่ยอมลดลา จำต้องแบกหน้ากลับไปที่โรงหมอ และถูกกักตัว เสียบสายฟ้า เหงยหน้ามองเพดาน ค้างคืนในห้องพักผู้ป่วยที่โรงหมอในคืนนั้น ณ ทันที บทเรียนในครั้งนี้สอนให้รู้ว่า คนอื่นก็เรียนรู้ความผิดพลาดจากตัวเราได้ด้วย...เช่นกัน
ป้อม-ทนายความ
(1975
)
1
คห.25: 18 มิ.ย. 65, 10:51
สิบกว่าขวบปีที่ห่างเหินจากการนอนค้างอ้างแรม ณ โรงหมอ ก็เวียนมาบรรจบครบรอบในครั้งนี้ ทำให้รู้ซึ้งเป็นอย่างดีแล้ว กับคำว่า
“อโรคยา ปรมาลาภา”
ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสิรฐนั้น มันช่างดีแสนดี...เพียงใด
1
2
3
4
>
siamfishing.com © 2024