สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 26 เม.ย. 67
++ผลกระทบของการนำสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามา++ : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 15 - [27 พ.ค. 60, 13:11] ดู: 20,563 - [20 เม.ย. 67, 07:26] โหวต: 9
++ผลกระทบของการนำสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามา++
Fly (535 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
23 ก.พ. 46, 22:23
1
ไปเจอบทความนี้จาก NICA เลยเอามาให้อ่านกันครับ
อ่านแล้วทำให้ ต้องระวังการจะปล่อยพันธ์ปลาลงแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้น ผมคิดงั้นนะครับ ลองอ่านดูครับ

ผลกระทบของการนำสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย
( กมลศิริ พันธนียะ เรียบเรียง )


--------------------------------------------------------------------------------
      สัตว์น้ำต่างถิ่น คือสัตว์ที่พบอาศัยในธรรมชาติที่ต่างจากถิ่นการกระจายพันธุ์ดั้งเดิม โดยเกิดจากการกระทำของมนุษย์เป็นส่วนมาก ซึ่งสามารถแบ่งตามลักษณะของประชากรได้ 2 แบบ คือ (1) พบอาศัยแต่ไม่แพร่พันธุ์ และ ( 2 ) สามารถแพร่พันธุ์ได้
    สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันได้มีการนำเข้าพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามาในประเทศมากมายหลายชนิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเพาะเลี้ยงและเพื่อเป็นสัตว์น้ำสวยงาม ซึ่งชนิดของสัตว์น้ำที่นำเข้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเพาะเลี้ยง ที่ประสบความสำเร็จ มีการเพาะเลี้ยงมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กลุ่มปลาจีน ( ปลาเล่ง ปลาซ่ง ปลาเฉา ) ปลาไน ปลายี่สกเทศ ปลานิล ปลาดุกรัสเซีย นอกเหนือจากผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงแล้ว ยังพบว่ากลุ่มปลาดังกล่าวยังมีผลผลิตค่อนข้างสูงในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยจัดอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกที่มีผลผลิตมากที่สุด เป็นการแสดงให้เห็นว่าพันธุ์ปลาต่างถิ่นเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งความสามารถเหล่านี้น่าจะมีผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่า
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น
    1. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจะแย่งใช้พื้นที่และแย่งอาหารของพันธุ์พื้นเมือง โดยจะทำลายโครงสร้างประชากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทำให้ความหลากหลายชนิดของสัตว์น้ำลดลงโดยพันธุ์ต่างถิ่นมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่งการที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้แน่นอนว่าจะต้องมีความสามารถในการแข่งขันสูง และเป็นไปได้ว่าการแข่งขันจะต้องมีการทำลายล้างกัน เช่น ปลาดุกรัสเซีย หอยเชอรี่ และปลากดเกราะ (sucker)
    2. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจะเป็นผู้ล่าหรือตัวห้ำต่อชนิดพันธุ์อื่นๆ เช่นปลากดเกราะจะมีพฤติกรรมชอบกินไข่ปลาซึ่งติดอยู่กับวัตถุ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำ
    3. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอาจจะทำลายหรือทำให้แหล่งอาศัยเสื่อมโทรม เช่นหอยเชอรี่ชอบกินข้าวในช่วงต้นกล้า ทำให้เกิดความเสียหาย และเมื่อใช้สาร Endosulfan ในการกำจัดก็จะทำให้เกิดสารตกค้าง มีผลทำให้กบเขียดในนาลดน้อยลง
    4. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอาจเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อโรคและปรสิตชนิดใหม่ๆ ที่ติดมากับพันธุ์ต่างถิ่น ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลในแหล่งน้ำธรรมชาติ ห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศน์ถูกทำลาย ส่งผลให้ราษฎรเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีพ เพราะปลาเป็นอาหารโปรตีนราคาถูกและหาได้ง่ายต้องตายไปเป็นจำนวนมากด้วยโรคระบาด เป็นพาหะนำโรค เนื่องจากหอยเชอรี่อยู่วงศ์เดียวกับหอยโข่ง จึงอาจเป็นเจ้าบ้าน ตัวกลางของหนอนพยาธิตัวกลม เช่นเดียวกับหอยโข่ง
    5. ชนิดพันธุ์พื้นเมืองที่ถูกทดแทนได้รับความสนใจน้อยลง จนถูกมองข้าม ซึ่งมีผลในการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ เช่นการนำปลาดุกรัสเซียเข้ามาผสมกับปลาดุกอุยทำให้ได้ลูกผสมชื่อ บิ๊กอุย ซึ่งได้รับความนิยมแทนปลาดุกด้าน
    6. เป็นตัวเร่งให้เกิดมลภาวะ ซึ่งเมื่อพันธุ์ต่างถิ่นได้รับความนิยมในการเลี้ยง ก็มีการขยายตัวกันมาก สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ปริมาณอาหารและสิ่งขับถ่ายที่อาจเป็นแหล่งก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงปลานิลในกระชังในหลายพื้นที่

สาเหตุที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาติ
    1. ปล่อยอย่างจงใจ ส่วนมากเกิดจากการเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และเมื่อเกิดความเบื่อก็ปล่อยทิ้งแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือการปล่อยอย่างตั้งใจเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และอีกประเภทหนึ่งคือ การปล่อยโดยหน่วยงานราชการเพื่อการเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำธรรมชาติ
    2. ภัยธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำท่วม ทำให้พันธุ์สัตว์ต่างถิ่นหลุดรอดไปในธรรมชาติ


สัตว์น้ำต่างถิ่นที่นิยมน้ำเข้ามาในประเทศไทย เช่น
    - ปลาประมาณ 1,000 ชนิด
เช่น ปลาไหลญี่ปุ่น , ปลาเรนโบว์เทร้า , ปลาอามาโก้ซัลมอน , ปลาไน , ปลาตะเพียนเทศ , ปลานวลจันทร์เทศ , ปลากดเกราะ , ปลากะโห้เทศ , ปลากดอเมริกัน , ปลากินยุง เป็นต้น
    - สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกประมาณ 50 ชนิด
เช่น กบอเมริกา
    - สัตว์เลื้อยคลานประมาณ 50 ชนิด
เช่น ตะพาบไต้หวัน , จระเข้นิวกินี , จระเข้ไคแมน , เต่าญี่ปุ่น เป็นต้น
    - หอย 3 ชนิด
เช่น หอยเชอรี่
กุ้ง ปู 4 ชนิด
เช่น กุ้งขาวแวนนาไม , เครย์ฟิชออสเตรเลีย , เครย์ฟิชอเมริกา

สัตว์น้ำต่างถิ่นที่หลุดหนีลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเสมอ
    เช่น ปลาดุกรัสเซีย ซึ่งถูกลักลอบน้ำเข้าประเทศไทยทางชายแดน อ.ท่าบ่อ และ อ.ศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และเนื่องจากปลาดุกรัสเซียเป็นปลาที่ล่าเหยื่อได้เก่ง สามารถกินเหยื่อที่มีขนาด 1/4 ของตัวมันเอง จึงเป็นเหตุในการทำลายสายพันธุ์ของปลาไทยในแหล่งน้ำธรรมชาติ
    หอยเชอรี่ ได้นำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2532 เพื่อเป็นอาหารและเลี้ยงประดับในตู้ปลา มีการตั้งฟาร์มเลี้ยงแต่ไม่เป็นที่นิยม จึงทำให้หอยเชอรี่แพร่ลงสู่แหล่งน้ำ สร้างความเสียหายให้แก่พืชต่างๆ โดยเฉพาะต้นข้าว หอยเชอรี่ 10,000-12,000 ตัว สามารถกัดกินต้นข้าว 1 ไร่หมดภายใน 1 คืน เป็นต้น

พื้นที่ล่อแหลมต่อผลกระทบของสัตว์ต่างถิ่น
พื้นที่แหล่งน้ำที่ควรมีการจัดการควบคุมการปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นมักเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง หรือมีผลผลิตทางการประมงเดิมสูงอยู่แล้วและไม่มีความจำเป็นในการปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นเพิ่ม ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อสมดุลนิเวศและผลผลิตการประมงในระยะยาวได้ พื้นที่ดังกล่าวได้แก่
      - พื้นที่ชุ่มน้ำและที่ราบน้ำท่วมถึง ที่มีสังคมพืชน้ำและสัตว์น้ำดั้งเดิมหลากหลายอยู่แล้ว
    - พื้นที่ต้นน้ำลำธาร , น้ำตก แหล่งน้ำในป่า
    - พื้นที่ปากแม่น้ำและป่าชายเลน
    - พื้นที่พรุโดยเฉพาะพรุดั้งเดิมที่มีปลาเฉพาะถิ่น ( Stenotopic species )
    - ระบบแม่น้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง , สงคราม , บางประกง
    - พื้นที่ที่พบพืชน้ำ สัตว์น้ำถิ่นเดียว ( endemism area ) เช่น ลำธารในถ้ำ , พื้นที่ชุ่มน้ำ
สำคัญต่างๆ

ปัจจุบันมีข้อกฎหมายที่ควบคุมการนำเข้ามีดังนี้คือ
    1. พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2525 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2525
    2. พระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำและลักษณะของสัตว์น้ำที่มีอันตรายบางชนิดที่ห้ามมิให้มีไว้ในครอบครอง นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำไปเลี้ยงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2530
    3. พระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2536ห้ามสัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์บางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ธันวาคม 2536
    4. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
    5. ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    6. อนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

สรุป
    1. ควรมีการศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วนด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของสัตว์น้ำที่มีโครงการจะนำเข้ามาใหม่ เพื่อใช้เป็นข้อพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดและความคุ้มครองก่อนที่จะอนุญาตให้เข้ามา หรือเตรียมมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า
    2. ควรมีการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ พันธุกรรมและเศรษฐนิเวศของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่พบอยู่แล้วอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การจัดการแก้ไขผลกระทบที่ถูกต้องต่อไป
    3. มีการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของผลร้ายของสัตว์น้ำต่างถิ่น ถ้ามีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
    4. กรมประมงควรทบทวนนโยบายและวิธีปฏิบัติในการปล่อยสัตว์น้ำในโครงการและพิธีการต่างๆ โดยคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองที่ถูกต้องกับแหล่งที่จะทำการปล่อย ไม่ควรปล่อยสัตว์น้ำชนิดที่ข้ามถิ่นทางภูมิศาสตร์ เพราะอาจก่อผลกระทบเช่นเดียวกับสัตว์ต่างถิ่นต่อแหล่งน้ำเช่นกัน


เอกสารประกอบการเขียน
ชวลิต วิทยานนท์. สัตว์น้ำต่างถิ่นกับความหลากหลายทางชีวภาพของไทย. สถาบันพิพิธภัณฑ์ สัตว์น้ำ กรมประมง.
สุชาติ อิงธรรมจิตร์. Impact of Exotic Species on Soccio - economic aand Aquatic Environment. กองสิ่งกวดล้อมประมง.
สุปราณี ชินบุตร. การนำปลาต่างถิ่นมาเลี้ยงกับการเกิดโรคชนิดใหม่. สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์ น้ำ กรมประมง.



กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024