สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 28 เม.ย. 67
ปลามองเห็นเหยื่ออย่างไร? โดย...พันศึก สู้ปันสิน : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 33 - [23 ต.ค. 48, 20:25] ดู: 10,937 - [27 เม.ย. 67, 22:38] โหวต: 22
ปลามองเห็นเหยื่ออย่างไร? โดย...พันศึก สู้ปันสิน
ธยุทธ ชาญเสถียร (119 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
16 พ.ค. 48, 00:38
1
           
          นักตกปลาหลายคนถือว่า  การใช้เหยื่อปลอมนั้นท้าทายมากกว่าเหยื่อจริง  บางคนก็บ่นว่ามันแพงเกินไป  และส่วนใหญ่ที่สุดแล้วก็ใช้เหยื่อทั้งสองประเภทสลับกัน
          ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม  เหยื่อปลอมนับเป็นอุปกรณ์ตกปลาอย่างหนึ่งที่เราคงปฏิเสธได้ยาก  อย่างน้อยที่สุดมันก็สะดวกในการพกพา  ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามันอาจมีประสิทธิภาพเหนือกว่าเหยื่อสดหรือเหยื่อหมักในบางสถานการณ์
          ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือนักตกปลาน้อยคนนักจะมีหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อเหยื่อปลอมอย่างแท้จริง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักเกณฑ์ในการเลือกสีสันของเหยื่อ  ไม่ว่าจะเป็นปลั๊ก  สปูน  สปินเนอร์  จิ๊ก  หรือพวกเหยื่อยาง  ส่วนมากแล้วจะซื้อตามใจชอบ  หรือไม่ก็ว่าตามกันไป  หากสีไหนได้ผลขึ้นมาก็จะมีการเลื่องลือกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  จนทำให้เหยื่อแบบนั้นสีนั้น  ขาดตลาดอยู่เนืองๆ
          อันที่จริงการปรากฏของสีของเหยื่อที่อยู่ใต้น้ำ  แตกต่างจากสีที่เราเห็นบนบกมาก  น้ำเป็นตัวกรองแสงที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม  และคลื่นแสงของดวงอาทิตย์จะเจาะทะลุทะลวงน้ำได้ไม่เท่ากัน  แสงอาทิตย์ประกอบด้วยสี 7สีอย่างที่รู้กันคือ ม่วง  คราม  น้ำเงิน  เขียว  เหลือง  แสด  แดง  ในบรรดาคลื่นแสงเหล่านี้สีแดงเจาะทะลุน้ำได้น้อยที่สุดไม่ว่าน้ำจืดหรือน้ำเค็ม  และในความลึกเกินร้อยฟุตลงไปก็จะมีเพียงคลื่นแสงสีน้ำเงินกับเขียวเท่านั้นที่ลงไปถึง  สภาพดังกล่าว  มีผลต่อสีของวัตถุใต้น้ำมาก  สีของเหยื่อปลอมจะไม่เหมือนสีที่เราเห็นในร้านขายอุปกรณ์ตกปลาเมื่อมันอยู่ในน้ำ
          นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า  สีแดงนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในความลึกแค่สิบฟุตอันเป็นความลึกที่เหยื่อตกปลาน้ำเค็มเกือบทุกชนิดร่อนลงถึง  ฉะนั้นถ้าใครคิดว่าเหยื่อของตนเย้ายวนใจปลาเพราะมันมีหัวแดงโร่  ก็ต้องปรับความเข้าใจเสียใหม่  ในระดับ ยี่สิบฟุตนั้น สีแดงกลายเป็นสีดำสนิทไปเลย  ในขณะที่สีส้มกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม  เป็นที่แจ่มชัดว่าจิ๊กสีจัดจ้านทั้งปวงไม่มีความหมายในความลึกระดับนี้
          เลยระดับหกสิบฟุตไปแล้ว  แม้แต่สีส้มก็กลายเป็นสีดำ  สีเหลืองกลายเป็นสีขาว  ส่วนสีน้ำเงินและเขียวจะเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อย
          บริษัทผลิตเหยื่อรู้เรื่องนี้มานานหลายปีแล้ว  จึงหันมาใช้สีสะท้อนแสงหรือที่เรียกว่าฟลูออเรสเซนต์มาทาเหยื่อบางรุ่นจากนั้นก็ขายให้นักตกปลาในราคาที่แพงกว่าเหยื่อที่ทาสีธรรมดา
          สีฟลูออเรสเซนต์นั้นสามารถคงสีเดิมได้ถึงในระดับความลึก 150ฟุต  อย่างน้อยนักวิทยาศาสตร์ก็ลงไปพิสูจน์มาแล้วด้วยตาตัวเอง
          การใช้เหยื่อฟลูออเรสเซนต์นั้นทำให้ปลาเห็นเหยื่อง่ายขึ้นอย่างแน่นอน  แต่ต้องอยู่ในระยะที่ไม่ไกลเกินไปนัก  นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอีกว่าน้ำนั้นไม่ได้กรองแสงในแนวดิ่งอย่างเดียว  แม้แต่ในแนวราบก็กรองแสงและลบสีชนิดต่างๆทิ้งไปด้วย  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ  ยิ่งเหยื่ออยู่ไกลสายตาเท่าใด  สีของมันก็ยิ่งถูกบิดเบือนเท่าน้น  ข้อนี้บริษัทผลิตเหยื่อไม่เคยเอ่ยถึง
          มีการทดลองในเรื่องนี้กับเหยื่อปลอมสีส้มสะท้อนแสง  ซึ่งเป็นสีที่นิยมกันมากสีหนึ่ง  เมื่อมองจากระยะประมาณ 50ฟุต  สีของมันกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มแบบช็อกโกแลต  ใกล้เข้ามาในระยะ15-20ฟุตเหยื่อจึงเปลี่ยนเป็นสีส้มตามเดิม  และสว่างขึ้นเรื่อยๆเมื่อใกล้เข้าไปอีก  สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในความลึกทุกระดับและเหมือนกันทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม
          หลายคนคงเคยพบสภาพที่ปลาตามเหยื่อมาจากมุมไหนก็ไม่รู้  แต่พอเข้ามาถึงระยะ 4-5 ฟุต  ก็แฉลบหนีออกไปทันทีเป็นไปได้ไหมว่าตอนที่ปลาเห็นเหยื่อครั้งแรกจากที่ไกลนั้น  มันเห็นเป็นสีดำหรือน้ำตาล  พอไล่กวดมาจะทันดันกลายเป็นสีแสดส้มสว่างโร่  จึงตกใจเผ่นหนีเกือบไม่ทัน
          ในทางตรงกันข้าม  ลักษณะเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับเหยื่อสีคล้ำๆธรรมดา  หรือเหยื่อที่ไม่สะท้อนแสงทั้งหลาย  แม้ว่าในระดับความลึกเกิน10 ฟุตไปแล้วสีของมันจะเปลี่ยนไป  แต่ไม่ว่าปลาจะอยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ก็จะเห็นเหยื่อเป็นสีเดิม
          ครั้งต่อไปลองใช้เหยื่อขี้เหล่ดูบ้างสิครับ  ท่านอาจจะตกใจและแปลกใจตัวเอง  ที่ไม่เคยนึกชอบมันมาก่อนเลย  แต่มันเวิร์คอย่างไม่คาดติด  (
          ที่โพสต์มาทั้งหมดนี้คัดลอกมาจาก นิตยสาร "ตกปลา"  ปีที่ 16 ฉบับที่ 53 เดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2545. เขียนโดย...พันศึก  สู้ปันสิน  ถ้าข้อความข้างต้นทั้งหมดนี้มีส่วนดีที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม  ผมผู้โพสต์ขอมอบสิ่งที่ดีเหล่านั้นให้กับท่านผู้เขียนและหนังสือที่ตีพิมพ์  แต่ถ้าบทความข้างต้นมีข้อผิดพลาดประการใดผมผู้โพสต์ขอน้อมรับและขออภัยมา ณ.ที่นี้ด้วยครับ.
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024