สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 3 พ.ค. 67
สายเขาอ้อบ้าง มหาว่านดำ พ่อท่านเอียด : Amulet
 ห้องพระเครื่อง > พระเนื้อผง
ความเห็น: 2 - [2 ต.ค. 57, 14:44] ดู: 8,581 - [2 พ.ค. 67, 09:17] ติดตาม: 1
สายเขาอ้อบ้าง มหาว่านดำ พ่อท่านเอียด
dektupkop (337 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
15 ก.ย. 57, 21:43
1
สายเขาอ้อบ้าง มหาว่านดำ พ่อท่านเอียด
ภาพที่ 1
พระครูสิทธิยาภิรัตน์ มีนามเดิมว่า เอียด ทองโอ่ เกิดที่บ้านดอนนูด ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2425 เป็นบุตรของนายรอด นางพัด มีน้องชายคนหนึ่งชื่อแก้ว เริ่มการศึกษาหลังจากบิดาได้ถึงแก่กรรมแล้ว โดยมารดาได้นำไปฝากพระอาจารย์ทองเฒ่า ที่วัดเขาอ้อ ได้ร่ำเรียนจนรู้หนังสือขอมไทย เมื่ออายุได้ 22 ปี จึงได้อุปสมบทที่วัดเขาอ้อ มีพระอาจารย์ทองเฒ่า เป็นอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า ปทุมสโร ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ไสยศาสตร์ และแพทย์แผนโบราณจากพระอาจารย์ทองเฒ่า ต่อมาทางวัดดอนศาลา ว่างเจ้าอาวาสลง คณะพุทธบริษัทของวัดดอนศาลา ได้พร้อมในกันนิมนต์อาจารย์เอียดมาเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาไม่นานท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนือ และเป็นพระอุปัชฌาย์ตามลำดับในปี 2473 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน ต่อมาในปี 2480 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสิทธิยาภิรัตน์ แต่ชาวบ้านยังนิยมเรียกท่านว่า " พ่อท่านเอียด " หรือ " พ่อท่านดอนศาลา " บางทีก็เรียกว่า " พระครูสิทธิ์ "
พระครูสิทธิยาภิรัตน์ เป็นผู้ที่มีความเมตตา กรุณา ปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเสมอภาค ใครมีความทุกข์ร้อนไปหาท่าน ถ้าท่านช่วยได้ก็จะช่วยทันที เป็นคนที่เคารพในเหตุผล จึงต้องเป็นตุลาการให้คนในหมู่บ้านอยู่เสมอ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป พระครูสิทธิยาภิรัตน์ เป็นผู้นำชาวบ้านดอนศาลาและบริเวณใกล้เคียงพัฒนาท้องถิ่น จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นในวัด และจัดสร้างอาคารเรียนถาวรให้โรงเรียนวัดดอนศาลาเป็นผลสำเร็จ ใช้เป็นที่เรียนของนักเรียนมาจนทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นผู้นำในการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน ตัดถนนจากวัดเชื่อต่อกับถนนสายควนขนุน-ปากคลอง เพื่อให้ประชาชนได้ติดต่อกับตัวอำเภอได้สะดวกยิ่งขึ้น

เมื่อ พ.ศ.2483 เกิดสงครามอินโดจิน ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารไปร่วมรบในสงครามครั้งนี้ด้วย ด้วยเหตุนี้เอง เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจให้แก่ทหารอาสาสมัคร และพลเรือนในยามสงคราม พระครูสิทธิยาภิรัตน์ จึงได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นหลายชนิด เช่น พระเครื่อง ลูกอม ผ้าประเจียด เสื้อยันต์ ผ้ารองหมวก ตะกรุด ปลอกแขน โดยทำพิธีปลุกเสกที่วัดเขาอ้อ วัตถุมงคลเหล่านี้ได้แจกจ่ายให้แก่ ทหารอาสาสมัคร พลเรือน พระเครื่องที่สำคัญที่สร้างขึ้นในครั้งนี้ คือ พระมหายันต์ และพระมหาว่าน ขาว-ดำ การสร้างเครื่องรางของขลังในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างสนองคุณแก่ประเทศชาติ เยี่ยงพระมหาช่วย วัดป่าเลไลย์ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง ที่เคยช่วยเหลือชาติบ้านเมืองมาแล้วในอดีต
พระครูสิทธิยาภิรัตน์ เป็นพระเถระที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น และประเทศชาติเป็นอันมาก ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2491 รวมอายุได้ 66 ปี

พระมหาว่าน พระมหายันต์ เป็นชื่อของพระเครื่องที่พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา เป็นผู้สร้างขึ้นที่วัดเขาอ้อ เมื่อ พ.ศ.2483 เพื่อแจกจ่ายให้แก่ทหารอาสาสมัครไปรบสงครามอินโดจีน


สาเหตุที่เรียกว่า "พระมหาว่าน พระมหายันต์" เนื่องจากการสร้างพระเครื่องทั้ง 2 ชนิดนี้ใช้ว่านกว่า 108 ชนิด และ ลงอักขระเลขยันต์ พระมหาว่านมี 2 ชนิด คือ พระมหาว่านขาว กับ พระมหาว่านดำ มีอยู่หลายพิมพ์ พิมพ์ใหญ่มีขนาดสูง 2.7 เซนติเมตร กว้าง 1.8 เซนติเมตร พิมพ์เล็กขนาดสูงประมาณ 2.1 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.4 เซนติเมตร ลักษณะพิมพ์เป็นรูปกลีบบัว บางคนเรียกว่า "พระกลีบบัววัดเขาอ้อ" องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบบนกลีบบัวหงายแสดงปางสมาธิ ยอดพระเกศาเป็นบัวตูม พระเศียรโต พระพักตร์ยาวรีเป็นรูปไข่ ปีกด้านข้างองค์พระมีรอยขีดรอบองค์ ด้านหลังมีอักขระนูนขึ้นมาเป็นรูปตัว "นะล้อม" และมีอุณาโลม ลักษณะอักขระบางพิมพ์อาจแตกต่างกันบ้าง เดิมพระมหาว่านมีสีเดียวคือสีขาว แต่เมื่อสร้างพระเสร็จนำพระไปรมควันด้วยว่านยาจึงทำให้พระบางส่วนกลายเป็นสีดำ พระมหายันต์เป็นพระเนื้อตะกั่วประสมด้วยเงินยวง มีลักษณะเป็น "พระควัมบดี" มีมือปิดตาคู่หนึ่ง ปิดทวารคู่หนึ่ง มองเห็นนิ้วพระหัตถ์ได้ชัดเจน ด้านหลังไม่มีอักขระใดๆ มีขนาดสูง 1.8 เซนติเมตร กว้างที่ฐาน 1.4 เซนติเมตร พระมหายันต์ได้หล่อขึ้นที่วัดเขาอ้อ โดยใช้เบ้าโลหะแบบขนมทองพับจุ่มลงไปในโลหะที่กำลังเดือดได้ครั้งละ 1 องค์ พระมหายันต์ทุกองค์ จึงไม่มีลักษณะที่แม่พิมพ์เคลื่อนเลย ลักษณะเนื้อพระเป็นสีดำคล้ำ มีเพียงเนื้อเดียว

พระมหาว่าน พระมหายันต์ สร้างขึ้นจำนวนเท่าใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่เข้าใจกันว่าคงจะหลายหมื่นองค์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) ได้ทำพิธีปลุกเสกโดยนำพระมหาว่าน พระมหายันต์ทั้งหมดขึ้นไปทำพิธีบนเขาอ้อ ปลูกปะรำพิธีขึ้นบนเขาที่เรียกว่า "บนบาท" หรือบริเวณซากมณฑปพระพุทธบาทร้าง รอบเชิงเขาอ้อในบริเวณวัดสร้างปะรำพิธี นิมนต์พระอาจารย์ที่มีความชำนาญทางไสยศาสตร์ทั่วจังหวัดพัทลุง นั่งปลุกเสกโดยใช้สายสิญจน์โยงจากปะรำพิธีบนยอดเขามายังเชิงเขา ในตอนเช้าของทุกวันจะมีการสวดชัยมงคลของพระภิกษุ ณ เชิงเขา และมีเทศนา 1 กัณฑ์ พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) ได้ทำพิธีปลุกเสกบนยอดเขาเป็นเวลา 15 วัน 15 คืน ในระหว่างที่ทำพิธีปลุกเสกอยู่นี้ ห้ามทุกคนขึ้นไปบนยอดเขา อนุญาตให้ขึ้นได้เพียง 2 ท่าน คือ พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ (ขณะนั้นเป็นฆราวาส) กับ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เมื่อปลุกเสกครบ 15 วันแล้ว พระครูสิทธิยาภิรัต (เอียด) ได้นำพระเครื่องทั้งหมดเข้าไปปลุกเสกภายในถ้ำฉัททันต์ ณ เชิงเขาอ้ออีก 7 วัน 7 คืน เมื่อครบกำหนดแล้วได้นำพระกลับไปยังวัดดอนศาลา นำเข้าไปปลุกเสกภายในอุโบสถอีก 7 วัน 7 คืน จึงนำออกแจกจ่ายให้แก่ทหารอาสาสมัครไปรบสงครามอินโดจีน


สำนักเขาอ้อแห่งเมืองพัทลุง ถือเป็นสำนักแรกที่ได้มีการสร้างพระเครื่องขึ้นมา เพื่อสนองคุณชาติในยุคสงครามอินโดจีน อันเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมายาวนานร่วมพันปี ใช่ครับ..พระมหาว่านขาว-ดำ ที่สร้างและปลุกเสกโดยท่านอาจารย์เอียด วัดดอนศาลา เพื่อแจกจ่ายให้กับทหารหาญที่เข้าร่วมรบในสมรภูมิสงครามอินโดจีนและบรรดาศานุศิษย์ ถือเป็นสุดยอดพระเครื่องด้วยเจตนาในการสร้างที่ดี พระอาจารย์ผู้สร้างเป็นผู้เก่งกล้าในวิทยาคม มวลสารที่สร้างล้วนแต่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ พีธีการปลุกเสกเข้มขลังและถูกต้องตามตำราโบราณทุกประการ และประวัติการสร้างที่ชัดเจนจึงส่งให้พระรุ่นนี้กลายเป็นสุดยอดพระเครื่อง ที่จะอยู่คู่กับประวัติศาสตร์เมืองพัทลุงและวงการพระเครื่องตลอดไป

ไม่มีหลังให้ดูนะครับ (ตลับหลังปิด ไม่อยากเอาพระออก)
ข้อความ
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024