สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 1 พ.ค. 67
ตกปลาน้ำโจน <ทีมงานส่องโลก | โจ๋ย บางจาก> : Fishing Book
 ห้องรีวิวหนังสือ
ความเห็น: 88 - [27 มิ.ย. 54, 17:38] ดู: 82,479 - [1 พ.ค. 67, 00:27] โหวต: 29
ตกปลาน้ำโจน <ทีมงานส่องโลก | โจ๋ย บางจาก>
ผิวไผ่ (204 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
11 ธ.ค. 46, 09:46
1
ตกปลาน้ำโจน <ทีมงานส่องโลก | โจ๋ย บางจาก>
ภาพที่ 1



ชื่อหนังสือ ตกปลาน้ำโจน
ผู้เขียน/ผู้แต่ง ทีมงานส่องโลก | โจ๋ย บางจาก
สำนักพิมพ์ /ราคา / หน้า พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ เรือนปัญญา , พิมพ์ปี 2544 ราคา 125 บาท 192 หน้า ปกอ่อน ISBN 974-90041-6-7

ประเภท บันทึกเชิงสารคดีการตกปลาน้ำจืด ของ สุธี สุทธิวงศ์ 

ซื้อที่ไหน?? ศูนย์หนังสือจุฬา  ดอกหญ้า.เน็ต สำนักพิมพ์เรือนปัญญา


บันทึก สำหรับคนที่ค่อนข้างจะมุ่งหวังกับการตกปลาให้ได้ตัวปลา หนังสือเล่มนี้จะเป็น “แนวทาง” ให้คุณได้อย่างดี ในแง่ของการศึกษาการตกปลาน้ำจืดชนิดๆต่าง ต่อไปด้วยตัวคุณเอง มันเหมือนกับว่า เขาเล่าให้เราฟังว่า พรานเบ็ดมืออาชีพคนหนึ่ง คุณสุธี สุทธิวงศ์  ว่า เขามีวีธีการเตรียมตัว เรื่องการเข้าหาหมาย การเตรียมอุปกรณ์เพื่อตกปลาน้ำจืดแต่ละอย่างอย่างไร

















<หน้า 133>

“การตกปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากจะเป็นกีฬากลางแจ้งที่สอนให้มนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นบทเรียนสอนให้มนุษย์ได้เรียนรู้การดำรงชีพในยามคับขันได้เป็นอย่างดี

ธรรมชาติจะเป็นครูผู้สอนให้มนุษย์รู้จักการเอาตัวรอด

การล่าเหยื่อเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหาร สำหรับการบริโภค เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีพเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตน มันคือหนึ่งในปัจจัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงไปจากชีวิต ตราบเท่าที่ความหิวโหยยังคงอยู่คู่กับมนุษย์ทุกคน ..



การตกปลาตามเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ถือเป็นการพักผ่อนของคนที่ชอบใช้ชีวิตกลางแจ้งนิยมกันมากอย่างหนึ่ง  สำหรับคนตกปลาอย่างเราๆ ลองสมมุติกันว่า ถ้าหากเรามีเวลาสัก 3 วัน และวางแผนกันว่าจะไปตกปลาเขื่อนกัน เราจะใช้ 3 วันให้คุ้มค่าที่สุดในแง่ของคนบ้าตกปลา เราจะต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรไปบ้าง??

ก่อนอื่น เราจะต้องคิดก่อน หรือถามคนที่เคยไปตกมาก่อนว่า เขาไปตกปลาอะไรกัน ได้ปลาอะไรบ้าง ใช้เทคนิคการตกแบบไหน ตกอย่างไร ช่วงเวลาไหน แล้วก็ค่อยมาวางแผนกันอีกที (วางแผนแบบคนบ้าตกปลา – ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค)  เพื่อการเตรียมตัวที่พร้อมที่สุด

เอาง่ายๆ ลองติดตามในสยามฟิชชิ่งนี่และ เพื่อนๆที่เอาทริพตกปลาจากเขื่อนมาฝาก บางกลุ่มไปตีชะโด บางกลุ่มไปตีกระสูบ  บางกลุ่มไปตกปลาเกล็ดพวกยี่สก ตะเพียน และบางกลุ่มก็ไปตกปลาหนังจำพวก กด กดคัง  กลุ่มปลาแต่ละอย่างที่ผมพูดถึงนั้น ก็อย่างที่พวกเราทราบกัน วิธีการตก มันคนละอย่างกัน  การเตรียมอุปกรณ์แตกต่างกันออกไป หมายตกปลา เหยื่อก็แตกต่างกันออกไป



หน้า 54
“ถึงแม้ท่านอาจคิดว่า ท่านเป็นผู้ที่ใช้อุปกรณ์ตกปลาได้ดีแล้ เคยตกปลาตัวเขื่องในบ่อเลี้ยงมาได้บ้างแล้ว น่าจะเป็นพรานเบ็ดมืออาชีพกับเขาได้แล้วล่ะ ..

นั่นคือ การ “หลงผิด” เพราะเมื่อท่านเดินทางสู่โลกกว้าง-ด้วยการตกปลาตามธรรมชาติ ท่านจะกลายเป็นมืออ่อนหัดในทันที..

เพราะปลาในธรรมชาติ กับปลาที่เลี้ยงตามบ่อตกปลา มี “สัญชาตญาณ” การอยู่รอดที่แตกต่างกัน.. อีกทั้งชนิดของพันธุ์ปลา-ถิ่นฐานที่ปลาอาศัยอยู่ ก็เป็นตัวกำหนดให้ปลาเหล่านั้นมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น เมื่อท่านต้องการก้าวออกสู่โลกกว้าง ต้องการเป็น “พรานปลามือฉมัง” ท่านจำเป็นต้องรู้พฤติกรรมของเหยื่อที่ท่านต้องการ “ล่า” รู้จักอุปนิสัยของเขา รู้จักช่วงเวลาที่เหมาะสม และรู้จักภูมิประเทศที่ท่านออกล่า
สิ่งเหล่านี้ ท่านไม่สามารถค้นหาได้จากที่ไหนได้ นอกจากประสบการณ์ในการเจนศึกของท่านเอง ท่านอาจต้องลองผิด-ลองถูกนับครั้งไม่ถ้วนจึงจะประสบความสำเร็จดังตั้งใจ”



“ตกปลาน้ำโจน” โจ๋ย บางจาก จะมานั่งเล่าให้คุณฟังว่า พ่อมดแห่งเขาลำงู “คุณสุธี สุทธิวงศ์ “ ล่าปลาน้ำจืดอย่างไร  สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มตกปลา หรือกระทั่งคนที่ตกปลามานานแล้ว แต่ยังรู้สึกว่า ยังไม่ฉมัง หรือยังอยากรู้ว่า แล้วคนอื่นเขาตกปลากันอย่างไร หนังสือเล่มนี้คือ “แนวทาง” เล่มหนึ่ง  หนังสือแบ่งออกเป็นตอนๆ เหมือนสารคดีโดยทั่วไปล่ะครับ ประกอบด้วยตอนต่างๆ ดังต่อไปนี้



    • ตอนที่ 1 บันทึกหน้าหนึ่งของนักเดินทาง
    • ตอนที่ 2 ตำนาน “พ่อมด” แห่งลำเขางู (1)
    • ตอนที่ 3 ตำนาน “พ่อมด” แห่งลำเขางู (2)
    • ตอนที่ 4 ตำนาน “ปลาป่า”
    • ตอนที่ 5 กฎ-กติกา – มารยาท
    • ตอนที่ 6 “อาวุธ” ของพรานปลา
    • ตอนที่ 7  พิชิต “จิ้งจอกนักล่าแห่งทะเลสาบใหญ่”
    • ตอนที่ 8 เพชฌฆาตแห่งลำเขางู
    • ตอนที่ 9 การตกปลาหน้าดิน
    • ตอนที่ 10 ฤดูการล่าของ “พรานปลา”
    • ตอนที่ 11 Night Fishing (1)
    • ตอนที่  12 Night Fishing (2)
    • ตอนที่ 13 ตกปลาในแก่งน้ำเชี่ยว
    • ตอนที่  14 จอมตะกละแห่งลุ่มน้ำงู
    • ตอนที่ 15 บันทึกวันสำคัญของพรานเบ็ดน้อย
    • ตอนที่ 16 Rainbow – Runner เกมล่าปลาสายรุ้ง
    • ตอนที่ 17 เรื่องราวของสายน้ำกับ Fly-Fishing
    • ตอนที่ 18 รอยรำลึกที่เขื่อนเชี่ยวหลาน




หนังสือเล่มนี้ไม่เน้นอุปกรณ์ตกปลา แม้ว่าจะกล่าวถึงรายละเอียดด้านเทคนิคของอุปกรณ์ตกปลาพอสมควร แต่ไม่มีภาพประกอบ ส่วนที่หนังสือทำได้ดีคือ การเล่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิคการตกปลาแต่ละประเภท เช่น การตกปลาชะโด  กระสูบ การตกปลาหนัง (ตกกลางคืน) การตกปลาเกล็ด  ถึงแม้คนเรียบเรียงจะบอกว่า ที่เขาเขียนทั้งหมด อาจจะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของรายละเอียดด้านเทคนิคเกี่ยวกับการตกปลา แต่โดยส่วนตัวแล้ว หลังจากอ่านแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้มากทีเดียว

จะว่าไปแล้ว สำหรับคนที่ค่อนข้างจะมุ่งหวังกับการตกปลาให้ได้ตัวปลา หนังสือเล่มนี้จะเป็น “แนวทาง” ให้คุณได้อย่างดี ในแง่ของการศึกษาการตกปลาน้ำจืดชนิดๆต่าง ต่อไปด้วยตัวคุณเอง มันเหมือนกับว่า เขาเล่าให้เราฟังว่า พรานเบ็ดมืออาชีพคนหนึ่ง คุณสุธี สุทธิวงศ์  ว่า เขามีวีธีการเตรียมตัว เรื่องการเข้าหาหมาย การเตรียมอุปกรณ์เพื่อตกปลาน้ำจืดแต่ละอย่างอย่างไร

สิ่งที่อาจจะเป็นข้อตำหนิ หรือข้อกวนใจคือ ความที่เป็นสารคดี ข้อมูลด้านคำศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อปลาหลายชนิดในหนังสือ ก็น่าจะถูกต้อง แต่อย่างว่าครับ คนทำสารคดี อาจจะไม่มีเวลามาตรวจสอบทั้งหมด เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงเห็นได้ทั้งชื่อปลา การเรียกอุปกรณ์ตกปลา ผิดไปจากคำที่ถูกต้อง ถ้าอ่านแล้วแก้ไขด้วยมือเองก็ลดความกวนใจลงได้บ้าง แต่หนังสือก็ทดแทนด้วยรายละเอียดของเทคนิคการตก รายละเอียดถึงวิธีการที่ทีมงานได้ไปล่าปลาแต่ละชนิด อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้แต่หวังว่า ถ้าหนังสือเล่มนี้มีการพิมพ์ครั้งต่อไป จะได้แก้ไขส่วนนี้ด้วย




(หน้า 92)
ดังนั้น – การตกปลาในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ จึงไม่มีกฎเกณฑ์ใดตายตัวเรื่องการใช้เหยื่อล่อเพื่อตกปลาแต่ละชนิด หลายต่อหลายครั้งที่นักตกปลาอาจะได้ปลาต่างชนิดจากที่คาดไว้  แต่สิ่งที่นักตกปลาทุกคนรวมถึงท่านไม่ควรลืมก็คือ หากมีปลาขนาดเล็กมากินเหยื่อโดยที่เราไม่ตั้งใจ นักตกปลาที่ดี ควรปล่อยปลาเล็กหรือลูกปลาที่ตกได้ กลับคืนสู่สายน้ำ ดีกว่าที่จะรั้นนำปลาที่ไม่ได้ขนาดมาปรุงเป็นอาหาร
ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตกปลาเพื่อยังชีพ หรือเพื่อเกมกีฬาก็ตาม นักตกปลาทุกท่านควรสำนึกในกฎแห่งธรรมชาติ อันเป็นกติกาที่ทำให้เกิดความสมดุลย์แก่โลกใบเล็กของเรา
เบ็ดเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถูกคิดค้นขึ้นมาแต่โบราณกาล ควรเป็นสิ่งที่นักเดินทางทุกคนควรมีติดไว้กับเป้ประจำกาย ในยามที่ออกท่องไพร
การเรียนรู้ให้ได้มาซึ่งมังสาหาร ไม่ว่าจะริมคลองหรือท้องไร่ท้องนา สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นบทเรียนชีวิต เป็นจุดกำเนิดของการเป็นปุถุชน ที่เริ่มต้นมาจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น!!



ปล. ทีมงานส่องโลกได้จัดเตรียมไฟล์ PDF ให้ดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบอิเล็คทรอนิคส์ไปอ่าน ดูเพิ่มเติมที่นี่
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024