รายละเอียดของช่อนอเมซอน...
ภาพที่ 1อะราไพม่า หรือ พิรารูคู
Arapaima, Pirarucu
ปลา อะราไพม่า เป็นปลาอะโรวาน่าอีกชนิดหนึ่งที่พบอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แถบลุ่มน้ำอะเมซอน แม่น้ำโอริโนโค ประเทศบราซีล เปรู และ โคลัมเบีย ปลาอโรวาน่าชนิดนี้จัดว่าเป็นปลาในตระกูลอะโรวาน่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาดโตเต็มที่ มีความยาวถึง 4.5 เมตร น้ำหนักราว 400 กิโลกรัม!!!
ซึ่งปลาชนิดนี้เป็นปลาที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพื้นเมืองแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ซึ่งคนพื้นเมืองนิยมบริโภคปลาชนิดนี้ เช่นเดียวกับการนิยมบริโภคปลาช่อนในบ้านเรา ชาวเปรูมักเรียกปลาอะราไพม่าว่า Paiche ส่วนชื่อ พิรารูคู เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองในบราซิลใช้เรียกขานกัน
ปลาอะราไพม่าเป็นปลาที่มีรูปร่างผิดแผกแตกต่างไปจากปลาอะโรวาน่าชนิดอื่นๆ โดยสิ้นเชิง จนแทบไม่น่าเชื่อว่าปลาชนิดนี้ จะถูกจัดรวมไว้ในตระกูลเดียวกันกับปลาอะโรวาน่าด้วยซ้ำ เพราะปลาชนิดนี้มีลำตัวค่อนข้างกลมและเรียวยาว ไม่แบนข้างมากเหมือนปลาอะโรวาน่าโดยทั่วไป ลักษณะรูปร่างของปลาชนิดนี้ จะมีลักษณะคล้ายปลาช่อนของบ้านเรามาก เพียงแต่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่ามาก และเกร็ดขนาดใหญ่กว่ามากๆ ส่วนหัวมีลักษณะแข็งมาก ส่วนลำตัวด้านท้ายมีลักษณะแบนกว้าง ในขณะที่ปลายังเล็กพื้นลำตัวจะมีสีเขียวเข้ม และลำตัวส่วนที่ค่อนไปทางหางจะเป็นสีดำ เมื่อปลาโตขึ้นบริเวณลำตัวและส่วนที่ค่อนไปทางหาง ครีบ และหาง จะปรากฏสีชมพูปนแดงหรือสีบานเย็นประแต้มกระจายอยู่ทั่วไปแลดูสวยงามมาก
ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้เป็นปลาที่ไม่มีหนวดเหมือนปลาอะโรวาน่าชนิดอื่น จัดว่าเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดในบรรดาปลาอะโรวาน่าทั้งหมด เฉลี่ยภายในเวลาเพียง 1 ปี ปลาชนิดนี้มีอัตราการเจริญเติบโตโดยถัวเฉลี่ยน้ำหนักเพิ่มขึ้น 3-5 กิโลกรัม!! ภายในที่เลี้ยง...ซึ่งการเจริญเติบโตที่ว่านี้เป็นที่น่ากลัวของนักเลี้ยงปลาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อปลาโตขึ้นแล้ว จะไม่มีสถานที่เลี้ยงต่อไปได้อย่างเหมาะสม
อะราไพม่า นอกจากจะเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างน่ากลัวแล้ว ยังเป็นปลาที่มีอัตราการขยายพันธ์ที่รวดเร็วอีกด้วย แม่ปลา 1 ตัว (อายุ 4 - 5 ปี) สามารถวางไข่ได้ถึง 180,000 ฟอง!! ไข่ของปลาชนิดนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1/8 - 1/4 นิ้ว
อะราไพม่า จัดเป็นปลาที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลกอีกชนิดหนึ่ง จุดเด่นที่ทำให้ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ได้รับความนิยมแพร่หลายคือความใหญ่โตมโหฬารซึ่งสามารถสร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้ได้พบเห็น
ในประเทศญี่ปุ่น ปลาชนิดนี้ได้รับความสนใจมาก ถึงกับเคยมีห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งได้นำปลาชนิดนี้ไปโชว์บนห้างเพื่อเรียกร้องและดึงดูดความสนใจจากประชาชน สำหรับในประเทศไทย ปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมถึงขีดสุดในราวต้นปี พ.ศ. 2530 ขนาดที่สั่งเข้ามา มีความยาวระหว่าง 4 - 6 นิ้ว แต่ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ครั้งแรกในราวปี พ.ศ. 2524 ในประเทศไทยเคยมีผู้พยายามเพาะขยายพันธ์ปลาชนิดนี้หลายครั้งหลายหน ทั้งใช้วิธีผสมพันธ์เลียนแบบธรรมชาติ และวิธีผสมเทียม แต่ก็ยังไม่ประสพผลสำเร็จ
ชีววิทยาและการกระจายพันธุ์
พบอาศัยในแม่น้ำและลำธารที่อยู่ในร่มไม้ของป่าดงดิบ เป็นปลากินเนื้อ กินปลาและสัตว์อื่นที่ขนาดเล็กกว่า ผสมพันธุ์วางไข่โดยตัวผู้ฟักไข่ในปาก แบบเดียวกับปลาตะพัด ครั้งละประมาณ 100-200 ตัว เลี้ยงจนกว่าเป็นตัวเต็มวัย พบในลุ่มแม่น้ำอเมซอน และประเทศกัยยาน่า เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก พบใหญี่สุดถึง 2.5 เมตร พบหลุดหรือถูกปล่อยจากที่เลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยบ่อยครั้ง
สถานภาพ
ถูกคุมคามจากการจับมากเกินขนาด (CITES, 1989) ทั้งตัวโตเพื่อเป็นอาหารและปลาเล็กเพื่อส่งขายเป็นปลาสวยงามลดจำนวนลงมากโดยเฉพาะในประเทศบราซิลยังไม่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในระดับการค้าแต่มีบางรายเพาะได้จำนวนไม่มากนักในการทดลอง อยู่ในบัญชีรายชื่อ CITES Appendix ll
รูปแบบการใช้ประโยชน์ทางการค้า
ใช้เป็นอาหารภายในประเทศที่เป็นถิ่นเดิมและจับลูกปลาเพื่อขายเป็นปลาสวยงาม โดยการฆ่าตัวพ่อแม่ เกล็ดของมันบางครั้งถูกนำมาทำเป็นของที่ระลึก ขนาดที่พบขายในท้องตลาดมีตั้งแต่ 8 เซนติเมตรขึ้นไป ปลาขนาดใหญ่นิยมเลี้ยงในบ่อหรือสระในบ่อตกปลาบางแห่งใช้ปล่อยเพื่อให้ตกเป็นเกม นิยมเลี้ยงมากในประเทศไทยประมาณปี 2536 เป็นต้นมา
เส้นทางการค้าระหว่างประเทศ
ส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้โดยผ่านสหรัฐ พบบ่อยในท้องตลาดของไทย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ การส่งออกต้องมีเอกสารอนุญาตประกอบ
ลักษณะสำคัญที่ใช้ในการตรวจสอบ
รูปร่างคล้ายปลาช่อนแต่มีส่วนหัวเรียวเล็กกว่าและแบนราบเล็กน้อย ลำตัวเรียวยาวกว่า ครีลหลังและครีบก้นสั้นกว่า 1/3 ของความยาวลำตัว ครีบหางเล็กโดยเฉพาะในปลาขนาดใหญ่ ครีบท้องอยู่ค่อนไปด้านกลางลำตัว หัวมีผิวหยาบ มีสีคล้ำหรือเทาอมเขียว ในขนาดใหญี่มีจุดหรือประสีแดงที่ครีบและด้านท้ายลำตัว
ชนิดที่คล้ายกัน
ปลาช่อน Channa striata และชะโด C. micropeltes มีครีบท้องอยู่ค่อนไปด้านหน้า หรือใต้ครีบอก ครีบหลังและครีบก้นยาวเกิน 2 ใน 3 ของความยาวลำตัว ปลาช่อนมีลายคล้ำตามแนวตั้งที่ด้านข้างลำตัว ส่วนปลาชะโดในขนาดเล็กกว่า 30 เซนติเมตร มักมีครีบหางและด้านท้ายลำตัวสีส้ม มีแถบดำ 2 แถบ ตามแนวยาวของตัว ปลาตะพัดอัฟริกา มีลำตัวค่อนข้างแบนข้าง ปากแคบกว่า ขากรรไกรล่างไม่ยื่นเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวน้อยกว่า 35 อัน ปลา Bowfin Amia calva มีครีบหลังยาว ครีบก้นสั้นมาก มีจุดสีดำที่โคนครีบหางด้านบน มักใช้ครีบหลังโบกว่ายน้ำ
อราไพม่า, ช่อนยักษ์อเมซอน Arapaima, Pirarucu
Arapaima gigas (Cuvier)
1. ครีบหลังและครีบก้นสั้นกว่า 1/3 ของความยาวลำตัว
2. ครีบหางเล็ก ในปลาขนาดใหญ่ ครีบท้องอยู่ค่อนไปด้านกลางลำตัว
3. หัวมีผิวหยาบ
ปลา Bowfin Amia calva
มีครีบหลังยาว ครีบก้นสั้น จุดสีดำที่โคนครีบหางด้านบน ใช้ครียหลังโบกว่ายน้ำ
ปลาช่อน Channa spp.
ครีบท้องอยู่ค่อนไปด้านหน้า อยู่ใต้ครีบอก ครีบหลังและครีบก้นยาวเกิน 2 ใน 3 ของความยาวลำตัว