ภาพที่ 1http://goo.gl/3tHpj
ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นายเจริญ อุดมการ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการสำรวจปลาน้ำจืดพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในช่วง 2-3 ปีล่าสุดนี้ พบว่าปลากินพืชที่อาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อาทิ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำลำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากมีปลากินเนื้อ อาทิ ปลาช่อนและปลาชะโด ขยายพันธุ์อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว ถึงแม้ว่าทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา จะมีการปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่อ่างเก็บน้ำเหล่านั้นกว่า 20 ล้านตัวต่อปี แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยให้ปลากินพืชเหล่านั้นขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้
โดยเฉพาะในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี ขณะนี้พบว่ามีปลาชะโดชุกชุมมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ของอ่าเก็บน้ำลำแชะ มีป่าปกคลุมอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาชะโดมาก โดยแม่พันธุ์ปลาชะโดจะเลี้ยงลูกจนโตขนาดเท่าแขนคนก็ยังรวมกันเป็นฝูง บางฝูงมีจำนวน 200-300 ตัว และมีพฤติกรรมดุร้าย ชอบกินปลาทุกชนิดเป็นอาหาร โดยเฉพาะปลากินพืช อาทิ ปลาหมอตาล ปลาตะเพียนขาว ปลาแรด ปลาไน และปลานิล ดังนั้น เมื่อฝูงปลาชะโดแม่ลูกอ่อนเหล่านั้นออกหาเหยื่อ จะทำให้ปลากินพืชที่อยู่บริเวณใกล้เคียงลดลงอย่างรวดเร็ว
นายเจริญกล่าวว่า สำหรับช่วงนี้เป็นช่วงน้ำขึ้นและเป็นฤดูที่ปลาชะโดกำลังเลี้ยงลูกอ่อนอยู่ จึงขอเตือนเด็กๆ หรือประชาชนที่จะลงไปเล่นน้ำในแหล่งน้ำเหนือเขื่อนต่างๆ ให้ระมัดระวังอาจถูกปลาชะโดทำร้ายได้ ขณะนี้ทางศูนย์ก็กำลังประสานกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งท้องถิ่นในพื้นที่ อ.ครบุรี หาวิธีลดจำนวนปลาชะโดเหล่านี้อยู่
เบื้องต้นได้มีผู้เสนอให้จัดการแข่งขันตกปลาชะโดชิงเงินรางวัลขึ้น โดยท้องถิ่นต่างๆ จะร่วมลงขันเงินรางวัล เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักตกปลาทั่วประเทศเดินทางมาแข่งขันตกปลาชะโด เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยลดจำนวนปลาชะโด ที่กำลังทำลายพันธุ์ปลากินพืชในพื้นที่ของตนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
ที่มา: matichon.co.th