ภาพที่ 1วันนี้วันครอบครัว จะพาลูกสาวไปดูช้างในตัวจังหวัดอยุธยา
จะลองไปดึงช้างดูซิ ว่ามันแรงแค่ไหน
.
ว่าแล้วก็ออกเดินทางทันที...........เย็นนี้จะได้ตกเบ็ดต่อ อิอิ
.
.
ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง
น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า
ช้างมันตัวโตไม่เบา
จมูกยาว ๆ เรียกว่า งวง
สองเขี้ยว ใต้งวง เรียกว่า งา
มีหูมีตา หางยาง
.
การชักลากไม้ด้วยช้างและสัตว์อื่นๆ โดย นายอำนวย คอวนิช
เนื่องจากช้างเป็นสัตว์พื้นบ้านของประเทศไทยและมีอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับช้างเป็นสัตว์ที่ขึ้นเขาได้ดีและนำมาฝึกใช้งานได้ง่าย ดังนั้นช้างส่วนใหญ่ของประเทศไทย จึงถูกนำมาฝึกใช้ในการชักลากไม้ ในการใช้ช้างลากไม้นั้น ผู้ใช้ช้างจะต้องเรียนรู้ถึงธรรมชาติและนิสัยของช้างให้ดีด้วย (ดูเรื่องช้าง) เพื่อมิให้ใช้ช้างจนเกินกำลัง จะทำให้ช้างเจ็บป่วยและล้มตายง่าย โดยปกติช้างทำไม้เชือกหนึ่งๆ จะใช้คนเกี่ยวข้อง ๒ คน คือ ควาญคอ ซึ่งทำหน้าที่ขี่บังคับช้างให้ทำงานคนหนึ่ง และควาญตีน ซึ่งเป็นผู้ช่วยทำหน้าที่ช่วยเหลืออยู่ข้างล่างอีกคนหนึ่ง ควาญตีนนั้น นอกจากมีหน้าที่ช่วยเหลือควาญคอโดยทั่วไปแล้วยังมีหน้าที่ช่วยร้อยโซ่ลากเข้ากับจมูกซุง เพื่อให้ช้างชักลากหรือช่วยแก้โซ่ออกจากซุง เมื่อช้างลากไม้ไปถึงที่หมายแล้ว ในขณะช้างกำลังลากไม้ ควาญตีนจะทำหน้าที่เอาไม้ท่อนเล็กๆ ยาวประมาณ ๑ เมตร วางข้างหน้าไม้ซุงเพื่อให้ช้างชักลากไม้ซุงทับไปบนท่อนไม้เล็กๆ ที่วางไว้ไม้เล็กๆ นี้ เรียกว่า "โกลน" ทำหน้าที่เป็นลูกกลิ้งให้ช้างชักลากไม้ได้เบาแรงขึ้น ไม้ซุงที่ใช้ช้างชักลากจะต้องเจาะจมูกตรงด้านหัว เพื่อใช้สำหรับร้อยโซ่ และที่หน้าตัดของหัวซุงด้านติดกับพื้นดิน จะต้องใช้ขวานฟันให้เป็นรูปมน เรียกว่า "การบืดหัวไม้" มีประโยชน์ คือ กันไม่ให้หัวไม้ซุงครูดกับดินทำให้เบาแรงช้าง ช้างเชือกหนึ่ง สามารถจะลากไม้ซึ่งมีน้ำหนักไม่เกิน ๒ ตัน/๑ เที่ยว เนื่องจากไม้ที่ชักลากมีน้ำหนักมาก ดังนั้นผู้ทำไม้จึงมักจะกำหนดที่รวมไม้ไว้เป็นแห่งๆ แต่ละแห่งมีระยะทางห่างกันไม่เกิน ๕๐๐ เมตร เพื่อให้ช้างได้มีโอกาสพักเหนื่อย ระยะทางชักลากซึ่งกำหนดไว้สำหรับช้างพักเหนื่อยนี้เรียกกันในภาษาทำไม้ว่า "ท้อก" เช่น ระยะทางชักลาก ๑ กิโลเมตร อาจจะมี ๒ ท้อก ถ้าไม้ที่ช้างชักลาก มีขนาดใหญ่เกินกำลังที่ช้างตัวเดียวจะลากได้ อาจใช้ช้างหลายตัวเข้าช่วยกัน ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีเช่น การติดคู่ คือ ใช้ช้าง ๒ เชือก ช่วยกันลากเป็นแถวหน้ากระดาน เหมาะสำหรับภูมิประเทศ ซึ่งเป็นที่ราบกว้างพอที่ช้าง ๒ เชือกจะเดินคู่กันได้ การติดสร้อยคือ การใช้ช้าง ๒ เชือกเรียงตามกัน ตัวหนึ่งอยู่ข้างหน้าอีกตัวหนึ่งอยู่ข้างหลังช่วยกันลากไม้ ซึ่งเหมาะสำหรับการลากไม้ในทางแคบ ๆ การลากไม้วิธีนี้มีกฎอยู่ว่า ช้างเชือกหลังจะต้องไม่ใช้ช้างงา เพราะเกรงว่า งาของช้างตัวหลังจะไปทิ่มแทงช้างตัวหน้าเมื่อโซ่ลากขาดลง การติดเทียม คือ การใช้ช้าง ๒ ตัวช่วยกันลากไม้ท่อนเดียว แต่ตัวหนึ่งลากหัวซุง อีกตัวหนึ่งลากท้ายซุง ไปทางทิศเดียวกัน โดยให้ไม้ซุงอยู่ทางด้านข้างของช้างด้านเดียวกัน วิธีนี้เหมาะสำหรับลากไม้บนไหล่เขา ให้ช้างอยู่ทางด้านชิดเขา ส่วนไม้ซุงอยู่ทางด้านนอก
งานชักลากไม้นี้เป็นงานที่หนักมาก จึงใช้ช้างทำงานเฉพาะตอนเช้าตั้งแต่ ๖.๐๐ น. ถึงเที่ยงวัน ตอนบ่ายหยุดงาน และเมื่อใช้ช้างทำงานติดต่อกัน ๓ วันแล้วจะต้องให้หยุดพักผ่อน ๑ หรือ ๒ วันด้วย นอกจากนั้นในฤดูร้อนช้างจะหยุดทำงานเพื่อพักผ่อนอีกเป็นเวลา ๓ เดือน จะเห็นได้ว่า เวลาทำงานของช้างมีน้อย จึงมีผลงานของช้างแต่ละเชือก จากการชักลากไม้ในป่า ที่มีสภาพยาก ง่าย ปานกลางเพียงปีละประมาณ ๔๕๐ ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งมีผลงานต่ำกว่าการใช้เครื่องจักรกลมาก แต่การทำไม้ด้วยช้างก็ยังเป็นของจำเป็นสำหรับประเทศไทยอยู่ เพราะประเทศเรามีช้างมาก ช้างแต่ละเชือกมีบุคคลเกี่ยวข้องหลายคน เช่น ควาญคอ ควาญตีน และเจ้าของ ฉะนั้นการที่ปล่อยให้ช้างไม่มีงานทำ ก็พลอยทำให้บุคคลเป็นจำนวนมากไม่มีงานทำไปด้วย และจะมีผลเกี่ยวข้องไปถึงเศรษฐกิจของชาติ อีกประการหนึ่ง การทำไม้ด้วยช้างเป็นศิลปะประจำชาติไทย และมีเพียง ๒-๓ ประเทศในเอเชียเท่านั้น ที่ใช้ช้างทำไม้ ดังนั้น จึงควรจะรักษาศิลปะอันนี้ไว้ให้ยืนนานตลอดไป การทำไม้ด้วยช้างมีส่วนดีในข้อที่ว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตัดถนนเข้าไปชักลากไม้ นอกจากนั้น ช้างยังสามารถหลีกเลี่ยงการทำลายต้นไม้เล็ก ๆ ซึ่งจะเติบโตต่อไปภายหน้าได้ดีกว่าการใช้เครื่องจักรกล ประการสำคัญ คือ ไม่มีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเชื้อเพลิงและค่าเครื่องอะไหล่ ส่วนผลเสียก็มีอยู่ว่า ทำไม้ได้น้อย ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงและเคลื่อนที่ได้ช้า ไม่สามารถเร่งงานได้ตามความจำเป็น ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ ถ้ามีการวางแผนการล่วงหน้าไว้อย่างถูกต้อง
ในประเทศไทยการใช้สัตว์อื่นชักลากไม้แทนช้างก็มีบ้าง โดยมากมักจะใช้วัวหรือควายลากไม้ซุงท่อนเล็ก ๆ โดยให้หัวไม้ซุงพาดบน "เลื่อน" ซึ่งทำด้วยไม้แล้วใช้วัวหรือควายลากเลื่อนนั้น ถ้าเป็นไม้ซุงท่อนโตก็ให้วัวหรือควายหลายตัวผูกเรียงตามกันช่วยกันลาก ปกติชาวบ้านมักจะใช้ควายในการลากไม้มากกว่าวัว เพราะควายแข็งแรงกว่า ปัจจุบันนี้การใช้วัวควายลากไม้มีน้อยลงและหาดูได้ยาก