ภาพที่ 1อาจจะไม่คุ้นชื่อเท่าไรสำหรับรุ่น Technium ของชิมาโน่ แต่ถ้าหากนักตกปลาท่านใด มีโอกาสได้สัมผัสแล้วคงจะบอกได้ถึงความประณีต และสวยงาม พร้อมประสิทธิภาพการทำงานที่เชื่อถือได้ ของ Shimano Technium
ครั้งแรกที่ได้สัมผัสรอกตัวนี้ ทำให้นึกถึง Biomaster รุ่นปี 2002 Made in Japan ขึ้นมาทีเดียว เพราะระบบคล้ายคลึงกัน ได้แก่ มีระบบกรอสายช้า (Super Slow Oscillation ) และมีช่องหยอดน้ำมันหล่อลื่น (Direct Oil Lubrication Port หรือ Maintenance port) หน้าตาก็ละม้ายคล้ายคลึงกับ Biomaster รุ่นเก่าอีก รอกรุ่นนี้ Made in Malaysia ผลิตในปี 2003 ราคาถูกกว่า Biomaster รุ่น Made in Japan ราวๆ หนึ่งพันบาท
เป็นรอกขนาดเล็ก ออกแบบมาสำหรับการตีเหยื่อปลอมและตกปลาเกล็ด
ตัวเรือน Technium เป็น XT-7 Hybrid น่าจะผสมระหว่างโลหะกับกราไฟต์ ผิวเป็นโลหะ ทำให้ดูสวยงาม-แข็งแรง ส่วนภายในเป็นกราไฟต์ ทนต่อการกัดกร่อนของเกลือทะเล ตัวไลน์โรลเลอร์เป็น Power Roller (ออกแบบให้รับงานหนัก) มาพร้อมกับระบบกันสายตีเกลียว ส่วนเฟืองนั้นเป็นเฟืองที่แข็งแรง (power gear) ถ้าพูดแบบโฆษณาก็บอกว่า ชิมาโน่ทำออกมาให้มีพละกำลังสูงนั่นเอง
แขนหมุนเป็นแขนหมุนกลึง ทรงหุ่นยนต์ (Single Handle) ตัวสปูลเป็นอลูมีเนียม cold forced มีขนาดใหญ่ และน้ำหนักเบา
คุณสมบัติ
1. อัตราทด 5: 1
2. น้ำหนัก 255 กรัม
3. จุสาย 6 ปอนด์ 200 หลา
4. Dyna Balance ระบบควบคุมศูนย์ ไม่ให้แกว่ง
5. ลูกปืน 3 ตลับ ARB + 1 กันตีกลับ
เอาล่ะ คร่าวๆ พอแล้ว มาดูภายในกันค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง
ภาพที่ 2ถอด ฝาเบรกและสปูลออกมาก่อน ในเบื้องต้นจะเห็นหลุมเบรกที่มีขนาดใหญ่ ลึก และดูแข็งแรงดี รอกตัวนี้สปูลมา 2 สปูล ในภาพนี้เป็นสปูลไฮบริด คือ ลูกผสมระหว่างโลหะกับกราไฟต์ แผ่นกราไฟต์อยู่ด้านใต้
ฝาเบรกมีคลิ๊กเสียงกันตกน้ำ
ภาพที่ 3มาถึงขั้นตอนนี้ จะถอดแขนหมุนออกก่อน แล้วก็ชุดเฟืองกรีดเสียง ที่มีเฟืองโลหะและแหวนกราไฟต์ออก
ภาพที่ 4ถอดชุดโรเตอร์ออกก่อน การถอดรอกสปินนิ่ง shimano ตัวนี้ ใช้อุปกรณ์ 2 อย่าง คือ ประแจเบอร์ 12 และไขควงปากแบน 1 ตัว โดยถอดน๊อตคุ้มน๊อตทองเหลืองก่อน
ภาพที่ 5ถอดโรเตอร์ออกมา แล้ววางไว้ให้เป็นระเบียบก่อน มิฉะนั้นอาจจะใส่ไปผิดได้ ชุดโรเตอร์ อาจจะแยกไปวางไว้ต่างหาก เพราะมีงานต้องบำรุงรักษาในส่วนโรเตอร์ เดี๋ยวจะมาถอดดูกันอีกรอบค่ะ ขั้นต่อไป คือ จัดการกับตัวห้องเครื่อง-เฟืองขับ หรือจะจัดการกับชุดลูกปืนกันตีกลับ + เฟืองพินเนี่ยนก่อนก็ได้ค่ะ ทำได้ทั้งสองอย่าง ขอไปจัดการกับห้องเครื่องก่อนแล้วกัน
ภาพที่ 6ถอดฝาข้างห้องเครื่องก่อน งานนี้ขอไขควงปากแบนก็เพียงพอแล้วค่ะ มีน๊อตต้องไขทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน คือ น็อตฝาข้าง
ภาพที่ 7และน๊อตฝาประกบท้าย เหมือนกับรอกสปินนิ่งตัวอื่นๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก ในการถอดฝา
ภาพที่ 8พอถอดฝาประกบท้าย ออกมาแล้ว ก็จะเห็นน๊อตพร้อมแผ่นโลหะอีกชุด ชุดนี้สำหรับปิดเพื่อคุมตัวหนอน (worm shaft) และแกนเหล็กพยุงชุดเกลี่ย แล้วแกนชัก
ภาพที่ 9เผยอให้เห็นห้องเครื่อง ดูสภาพแล้ว ขาดการบำรุงรักษามานานพอสมควร เพราะคราบจารบีเริ่มดำ
ภาพที่ 10ถอดห้องเครื่อง ก็เอาเฟืองขับออกมาได้เลย ที่เฟืองขับมีแหวนทองแดงเล็กๆ 2 อัน ไว้คั่นระหว่างตลับลูกปืนกับผนังเฟือง อีกฝั่งเป็นบูชพลาสติก สิ่งที่หลายๆคนชอบทำกันคือ เปลี่ยนบูชพลาสติกให้เป็นตลับลูกปืน
ภาพที่ 11ภายในห้องเครื่องนั้นไม่สลับซับซ้อน แต่การถอดชิ้นส่วนทั้งหมด อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร แนะนำให้ถอดเฉพาะที่ต้องการทำความสะอาดทุกชิ้นส่วนเท่านั้น ถ้าหากต้องการทำความสะอาดรายเดือน (หรือราย 3 เดือน) อาจจะถอดแค่ฝาห้องเครื่อง เอาเฟืองขับออกมาทำความสะอาด เอาลูกปืนออกมาทำความสะอาด ส่วนเฟืองเทฟลอนสีขาว แกนตัวหนอน ก็ใช้น้ำมันรอนสันฉีดล้างไปโดยไม่ต้องถอดออกมาก็ได้
ทั้งนี้ ก็จะมีการล้างเฟืองพินเนี่ยนอีกตัว ซึ่งไม่ยาก สามารถถอดออกมาอย่างง่ายดาย
สำหรับรอกชิมาโน่ทุกรุ่นและรอกสปินที่ใช้ระบบภายในคล้ายกัน น่าจะใช้วิธีการบำรุงรักษาคล้ายกัน
ภาพที่ 12สำหรับแกนตัวหนอน การถอดก็ใช้แบบเดียวกับรอกเบท บางคนเขาเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า ตัวหนอน พอมีตัวหนอน (หรือบางคนเรียกว่า แกนสับปะรด) ก็ต้องมีตัวคอยขับเคลื่อนตัวหนอน ซึ่งเรียกชื่อง่ายๆ ว่า เขาควาย การถอดก็ต้องถอดเขาควายก่อน (รอกเบท เรียกว่า ชุดเกลี่ยสาย)
ในภาพ จะเริ่มถอดชุดเก็บสายค่ะ มีเขาควายซ่อนในแท่งล๊อคเหล็ก (รูปทรงแตกต่างจากรอกเบท) เริ่มถอดจากน๊อต ก่อน
ภาพที่ 13ขอแสดงภาพเมื่อถอดน๊อตฝาโลหะคุมเขาควายออก ให้เห็นเป็นขั้นๆ ไปค่ะ
ภาพที่ 14พอถอดน๊อตแล้ว เอาแผ่นโลหะออก จะถอดแกนตัวหนอนออกได้ เอาออกมาวางเรียงไว้ เก็บไว้ให้เข้าพวกก็ได้ค่ะ ถ้าหากไม่อยากลืม ตรงนี้จะมีแหวนพลาสติก แล้วก็ฝาปิด
ภาพที่ 15ถอดแกนตัวหนอนออก แกนประคองอีก 2 แกน พวกนี้ไม่ต่องกลัวว่าถอดมาแล้วจะใส่ผิดค่ะ เพราะมี mark ไว้แล้ว ใส่ผิดด้าน หรือผิดอันแล้วไม่ทำงานแน่นอน ดีไม่ดี จะใส่ไม่ได้ด้วย
ภาพที่ 16คราวนี้ชุดเก็บสายที่เป็นแท่งเหลี่ยมจะติดอยู่กับแกนชักสปูล มีน๊อตยึดไว้ 1 ตัว ต้องพลิกขึ้นค่ะ จะมองเห็นน๊อตดังกล่าว ไขน๊อตออก
ภาพที่ 17ถอดออกมาแล้วก็เอามาวางเรียงกันไว้ --- ตรงนี้ วางให้เป็นตามลำดับหรือระเบียบยาก แล้วก็ไม่ต้องกลัวหลง เพราะอุปกรณ์แต่ละชิ้นนั้น ไม่เหมือนกันเลย แต่ต้องระวังว่าจะใส่เข้าไปถูกหรือเปล่า อาจจะลองผิดลองถูกกันสักพักค่ะ แล้วจะเข้าใจ
ภาพที่ 18คราวนี้ มาดูด้านลูกปืนกันตีกลับกันบ้างค่ะ ไม่แตกต่างจาก Ultegra ที่เคยผ่าไปนะคะ แล้วที่สังเกต คือ มีน๊อตเพียง 5 ตัวอีกแล้ว ไม่มีใครใส่มาไม่ครบนะคะ เขาต้องการทำเป็น mark ว่าน๊อต 2 ตัวนี้เป็นของตัวตลับลูกปืน ถ้าใครเผลอถอดออกล่ะก็ ลำบากหน่อยค่ะ ให้ถอดแค่ 3 ตัว นะคะ
ภาพที่ 19มีแผ่นเหล็กปิดตลับลูกปืนให้ด้วย ของแพงน่ะค่ะ ก็ต้องโชว์รายละเอียดในผลิตภัณฑ์ของเขาหน่อย ว่าประณีตในการออกแบบ
ภาพที่ 20ตัวนี้ไม่รู้จะเรียกอะไรดีค่ะ มันเป็นส่วนที่ช่วยในการล็อคเฟืองเทฟลอนสีขาวในห้องเครื่อง แล้วก็จะสำหรับแกนสับปะรดมาสอดไว้ ไหนๆ จะล้างละเอียดแล้ว ก็ถอดออก ถอดไม่ยาก แค่ใช้เล็บจับออกมา
ยังไม่หมดนะคะ ติดตามต่อใน Shimano Technium 2500FA (ปี 2003) ตอนที่ 2 ค่ะ
http://www.siamfishing.com/content/view.php?id=136&cat=inside