สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 11 ม.ค. 68
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1) : Fishing Reel Inside
 ห้องผ่ารอก > วิธีผ่า/ล้าง/ซ่อม
ความเห็น: 9 - [7 ก.ย. 55, 22:45] ดู: 28,544 - [9 ม.ค. 68, 22:36] ติดตาม: 2 โหวต: 4
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
เสือนอนกิน offline
18 ก.พ. 51, 18:47
1
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 1
Shimano Torium 16 เป็นรอกทรงขวาง (เบทคาสติ้ง) แบบไม่มีตัวเกลี่ยสาย ที่ออกแบบให้มีลักษณะการทำงาน เรียกว่า conventional คือ หลากหลายการใช้งาน หมายถึง จะเอาไว้เหวี่ยงเหยื่อตกปลาบึกก็ได้ หรือจะเอาไปตกปลาทะเลแบบลากเหยื่อทรอลลิ่ง หรือจะตกปลาหน้าดินแบบที่เราเรียกว่า จิ๊กกิ้งกันก็ได้  เสือนอนกินพาไปออกทริปทะเลมาค่ะ ฝั่งอ่าวไทย สบายๆ

เบอร์ 16 เป็นเบอร์ขนาดเล็ก (เล็กสุดคือ 14 ) แต่ที่ว่าเล็กนี่ก็ไม่เล็กเหมือนกัน เพราะจุสายได้ 20 ปอนด์ ถึง 320 หลา และมีน้ำหนักราวๆ 620 กรัม ตัวเฟรมรอกเป็นอลูมิเนียม แขนหมุน ฝาข้างเป็นอลูมิเนียม เพื่อให้ได้รอกที่มีน้ำหนักเบา รอกตัวนี้มาพร้อมกับลูกปืน A-RB 3 ตลับ และลูกปืนกันตีกลับ 1 ตลับ แขนหมุนแบบ Power ที่สามารถปรับเปลี่ยนความยาวได้ 2 ตำแหน่ง

จุดเด่นของรอกตัวนี้ คือ เป็นรอกหน้าแคบ  แต่มีห้องเครื่องขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพราะรอกตัวขนาดนี้กับอัตราทด 6.2 : 1 คงต้องมีเฟืองขับขนาดใหญ่พอสมควร  ดูรูปร่างแล้วสัมผัสได้ถึงความบึกบึน

ถ้าเทียบกับรอกรุ่นก่อนๆวัสดุทำเรือนรอก ฝาข้างเป็นกราไฟต์  Torium จะสวยกว่า แต่ก็ต้องการการดูแลมากกว่าสักหน่อย ก่อนออกทะเล เสือนอนกินเอาน้ำยา CRC ไล่ฉีดตามมุมที่น่าป้องกันไว้รอบหนึ่งก่อน เช่น ตามมุมปรับเบรก คลิกเสียง ปุ่มเม็ดหน่วง พอกลับมาจากทริปก็ล้างน้ำสะอาดให้มั่นใจล้าง ไอเกลือถูกล้างทิ้งไป
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 2
ก่อนจะไปดูว่าข้างใน Torium มีอะไรบ้าง ขอแนะนำเพื่อนคู่แข่งของ Torium กันหน่อยค่ะ นั่นก็คือ Daiwa Saltist 30TH นั่นเองค่ะ  เอาวางเปรียบเทียบกันแล้ว มองเผินๆ คล้ายกันมาก อดไม่ได้ต้องนำมาเปรียบเทียบกันค่ะ นี่เรียกว่า คู่แข่งรุ่นเดียวกันอย่างแท้จริงเลย

ในบ้านเราเอง ทั้งคู่ได้รับการยอมรับจากนักตกปลาพอๆกัน หุ่นทรงคล้ายกัน สเปกยังไม่หนีกันด้วย คือ Saltist 30th มีอัตราทด 6.4 : 1  รอกทั้งตัวมีส่วนประกอบโครงสร้างเป็นโลหะ น้ำหนัก 630 กรัม มีลูกปืน 4 ตลับ และกันตีกลับ 1 ตลับ แขนหมุน power จุสาย 20 ปอนด์ 300 หลา เรียกว่า แข่งขันเห็นๆ เอาเป็นว่า รักใครชอบใครก็เลือกใช้กันตามสบาย

ก่อนจะลงรายละเอียดของ Torium  16 อาจจะขอเปรียบเทียบภาพของคู่นี้สัก 2-3 ภาพ
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 3
ดูส่วนของ Star Drag และแขนหมุนเปรียบเทียบกันค่ะ  บึกบึน มีน้ำหนักเหมือนกัน แถมรูปทรงของแขนก็ยังคล้ายกันอีก เลือกปรับใช้ความยาวได้ 2 ระยะเหมือนกัน
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 4
ส่วนฝั่งคลิกเสียง  Torium บอกว่า คลิกเสียงขนาดใหญ่ (Oversized) ของ Salsting ก็ขนาดไม่แตกต่างกัน สงสัยจะทำการตลาดมาเหมือนกัน เลยแข่งกันน่าดู
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 5
Daiwa Saltist เองก็ขนาดไม่แพ้กัน พลิกดูไดอะแกรมของรอกทั้งคู่แล้ว ยิ่งพบว่าช่างแข่งกันจริงๆ กลไกภายในก็แทบจะเหมือนกันทุกอย่าง  ถ้าจะบอกว่า แล้วจากสเปก ตัวไหนเด่นกว่า ต้องบอกว่าเด่นคนละอย่าง  ของ Saltist มีลูกปืน 4 ตลับ และมีเม็ดหน่วงหนีศูนย์กลาง แต่ของ Torium มีหัวนกกระจอกเพื่อป้องกันการตีกลับเพิ่มจากตลับลูกปืนกันตีกลับ เพิ่มความมั่นใจให้กับการใช้งาน ว่าไม่มีพลาดแน่ ของ Saltist มีจำนวนแผ่นเบรกรวมๆแล้วกว่า 9 แผ่น ของ Torium มี 7 แผ่น  แต่ตัว washer เป็นวัสดุ Dartanium ที่ Shimano บอกว่าให้ประสิทธิภาพเรื่องน้ำหนักเบรกและการถ่ายเทความร้อนเป็นเยี่ยม

คงไม่เปรียบเทียบมากไปกว่านี้แล้วนะค่ะ เดี๋ยวจะไม่ใช่ผ่ารอกค่ะ กลายเป็นการรีวิวเปรียบเทียบไปเสีย
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 6
เริ่มดีกว่าค่ะ ไม่ต้องเตรียมเครื่องมืออะไรเลยสำหรับการถอดรอกตัวนี้ ถ้าหากมีประแจของ Torium อยู่ เพราะ  Shimano ออกแบบมาทั้งเป็นประแจและไขควงในตัว  มีเท่านี้ก็จัดการถอดส่วนประกอบได้เลย
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 7
ไขน๊อตตัวเล็กที่คุมแผงปิดฝาแกนรอกออกก่อน แล้วก็เอาประแจถอดน๊อต 6 เหลี่ยมตัวใหญ่ออก จะเอาตัวแขนหมุน และตัวปรับเบรกออกมาได้ ระหว่างแขนหมุนกับตัวปรับเบรก จะมีแหวนรอง 1 อัน
รอกตัวนี้มีคลิกเสียงเวลาปรับเบรกด้วย กลไกสร้างเสียงเป็นเม็ดเดือยเล็กๆ กับสปริง  ต้องระวังหายทั้งคู่
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 8
ค่อยๆ ถอดมาค่ะ จะมีแหวนคล้ายกราไฟต์ผสม 1 อัน แล้วก็จะมีแหวนประกบเป็นฝาหอยอีก 1  คู่  นี่ค่ะ แต่ที่ต้องระวังมากๆ คือ ชุดสร้างเสียงเวลาหมุนรอก
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 9
นี่ค่ะ ชุดสร้างเสียงเวลาปรับเบรก ขอเรียกว่าหมุดเสียงแล้วกัน เพราะลักษณะคล้ายๆหัวเข็มหมุด  ยังมีสปริงเล็กๆ ในแกน shaft อีกตัวค่ะ ที่ไม่ได้ถอดออกมาให้ดู ต้องระวัง อย่าให้กระเด็นหายเป็นอันขาด  ถ้าหายไป ไม่มีผลต่อการใช้งาน แต่ว่าเวลาหมุนปรับเบรก ก็จะไม่มีเสียง ติ๊กๆๆ อีกต่อไป
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 10
นี่ค่ะ ถอดออกมาแล้ว ก็จะเห็นด้านตัวเรือนรอกเป็นแบบนี้ ทีแรกคิดว่าจะถอดน๊อตใหญ่ 4 ตัว ออกก่อน แต่เอาเข้าจริง การถอดต้องถอดน๊อตทั้งหมด 8 ตัว และไม่ต้องทำการมาร์คตำแหน่งแต่อย่างใด เพราะน๊อตมันเป็นชุดค่ะ

ในภาพนี้หมุนเอาฝาเม็ดหน่วงออกไปแล้วด้วยค่ะ สังเกตอะไรมั้ยค่ะ ไม่มีลูกปืนภายในฝาหน่วงสปูลตรงนี้เลยค่ะ ปกติแล้ว ในรอกเบท เราจะเห็นผู้ผลิตเพิ่มลูกปืน เพื่อให้แกนสปูลหมุนลื่นๆ แต่ตรงนี้ไม่มีค่ะ  มีลูกปืนน้อย ยิ่งบำรุงรักษาง่าย ก็ดีไปอย่าง

ที่แกน shaft สังเกตเห็น มีรูที่หัวแกน และมีรูข้างๆแกน รูข้างแกนสำหรับใส่หมุดสร้างเสียง  ถ้ามองดีๆ จะเห็นมีสปริงด้านในค่ะ ถอดออกมาได้  ส่วนรูที่หัวแกนนี่เอาไว้ทำอะไร?  เบื้องต้นคาดว่าเอาไว้หยอดน้ำมันหล่อลื่น แต่พอประกอบกับแล้ว พบว่า หมุดสร้างเสียงนี่ตัวแสบเลยค่ะ ใส่แล้วต้องกดให้จมแกน ไม่เช่นนั้นใส่ตัวปรับเบรกไม่ได้ แต่ตัวปรับเบรกเองก็มีบ่าคุมไปถึงตัวเรือนรอก แล้วจะทำอย่างไร? ใช้ไม้จิ้มฟันดันไปกดสปริงที่หัวแกนนี่ค่ะ เฮ้อ
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 11
ฝาปิดหน่วงสปูลค่ะ ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของ shimano คือ ทำเป็นลายๆ บางคนเรียก ลายตาสัปปะรด เวลาปรับ แม้ว่ามือจะเปียกก็ไม่ลื่น แถมยังสวยงามอีก
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 12
เปิดฝาห้องเครื่อง ดูภายในกันค่ะ จะเห็นว่าเฟืองขับนั้นมีขนาดใหญ่ทีเดียว มิน่า ถึงต้องออกแบบห้องเครื่องให้ดูใหญ่เกินขนาดและเทอะทะ  รอกตัวนี้ ตั้งแต่ได้มา ยังไม่เคยถอดล้างเลย แต่ว่าที่ถ่ายภาพมาให้ดู เพื่อให้เห็นว่า ถอดครั้งแรก จะเป็นแบบไหน ถอดมาก็จะเจอเศษดำๆ เต็มไปหมด เอ๊ะ เศษดำๆมันเป็นอะไร ทำไมมากขนาดนี้ อีกอย่าง รอกที่นำมาผ่านก็ไม่ได้ใช้งานมากอะไรนะคะ ไม่น่าจะมีอะไรมากแบบนี้  จารบีสีดำเปื้อนมือไปหมด

ดูภาพนี้แล้ว จะเห็นว่า ภายในก็เหมือนรอกเบททั่วๆไป จะเห็นเฟืองขับ พินเนียนเกียร์ และชุดยกฟรีสปูลเท่านั้นเอง
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 13
ดูขนาดเฟืองขับและเฟืองพินเนียนค่ะ
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 14
เฟืองขับและเฟืองพินเนียน สีออกเหลืองๆ ถ้าหากเป็นสมัยก่อน ต้องบอกว่าเป็นทองเหลือง แต่สมัยนี้ เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ไปไกลมาก  shimano เองก็ขึ้นชื่อในเรื่องเฟืองอยู่แล้ว ภาพนี้เอาแกน shaft เฟืองทั้งสอง และที่ปรับเบรก มาวางถ่ายภาพร่วมกันค่ะ ความรู้สึกที่ได้สัมผัส คือ เป็นชุดที่มีขนาดใหญ่กว่ารอกที่ใช้งานประจำ คือ พวกตระกูล 6500 ของ Abu  นั้นแตกต่างกันไปเลย
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 15
ความหนาของเฟืองขับค่ะ แม้ว่าจะไม่ถือว่าหนาจนแปลกหูแปลกตา แต่ว่าก็ลองคิดค่ะ ว่าเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 5 ซม และความหนาเกือบครึ่ง ซม
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 16
เผยให้เห็นชุดยกฟรีสปูล เฟืองพินเนียน และเฟืองขับอีกด้านหนึ่ง โดยกลไกแล้ว รอก Torium เป็นรอกที่มีกลไกไม่ซับซ้อนค่ะ การถอดประกอบก็น่าจะทำได้ไม่ยาก แม้ว่าในคู่มือเอง จะบอกว่าเลยว่า รอกออกแบบมาให้ทำงานได้เป็นปีๆ โดยไม่ต้องถอดมาทำความสะอาด แต่นี่ดูสิคะ รอกใหม่แท้ๆ ออกไม่กี่ทริปเลย ภายในเลอะเทอะมากๆ  ยังงัย เพื่อยืดอายุการทำงานของอุปกรณ์ ก็ควรหมั่นตรวจสอบค่ะ
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 17
หันกลับมาที่ส่วนประกอบของลูกปืนกันตีกลับก่อนค่ะ ติดอยู่กับฝาห้องเครื่อง ยังแงะไม่ออก ไม่เป็นไร แค่ทำความสะอาดได้ก็พอแล้วล่ะ
ในภาพจะเห็นปลอกสวมแกน shaft ตำแหน่งที่มาสัมผัสกับลูกปืนกันตีกลับ แล้วก็มีลูกปืนหล่อลื่นแกน shaft ตัวนี้เป็นลูกปืน A-RB  ตลับ แล้วก็มีแหวน washer
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 18
ให้ดูภาพห้องเครื่องกันเต็มๆอีกภาพค่ะ  การถอดชิ้นส่วนออกทำความสะอาด ไม่ต้องพิถิพิถันหรือระวังมากแบบรอกหยดน้ำตีเหยื่อปลอมค่ะ เพราะชิ้นส่วนโดยมากก็ชิ้นใหญ่ๆ การวาง ตำแหน่ง ไม่ซับซ้อน
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 19
ฝาข้างรอกฝั่งห้องเครื่อง จะเห็นชุดดันฟรีสปูล และลูกปืนกันตีกลับ ในการทำความสะอาด อาจจะไม่จำเป็นต้องถอดมาทำความสะอาดก็ได้ค่ะ 
ผ่ารอก Shimano Torium 16 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 20
ชุดดันฟรีสปูล ทำง่ายๆเลยค่ะ คือ เป็นแป้นมีก้านไปดันชุดยกสปูลขึ้น

ติดตามต่อ (ตอนที่ 2) ค่ะ

http://www.siamfishing.com/content/view.php?id=154&cat=inside
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2025
siamfishing.com/content/view.php?cat=inside&id=153