ภาพที่ 1ดูรูปเหยื่อมาเยอะแล้ว เที่ยวนี้ผมขอเปลี่ยนเป็นเสนอวิธีทำลวดลายบนตัวเหยื่อซึ่งมีหลายวิธีแต่วันนี้ผมขอเสนอแบบง่ายๆ ก่อนละกันครับ หลายท่านอาจจะรู้แล้วก็อย่าว่าผมเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนเลย นึกว่าให้น้าๆ ท่านอื่นๆ ที่ยังไม่เคยทำได้ลองอ่านดูละกันครับ รูปที่ผมนำมาประกอบ อาจไม่ละเอียดเท่าไหร่ เพราะตอนทำลืมถ่ายรูป เลยต้องเอาของที่ทำค้างไว้มาถ่ายประกอบแทน แต่ผมจะพยายามอธิบายให้ละเอียดละกัน
เริ่มต้นตามรูปที่ 1 เลยคือเอากระดาษกาวย่นมาตัดให้ยาวกว่าตัวเหยื่อเล็กน้อย 2 แผ่น คือ แผ่นละด้านของเหยื่อ ขอแนะนำให้ใช้กระดาษกาวรุ่นดีหน่อยเช่นของ Nitto หรืออะไรก็ได้ที่คุณภาพดี เพราะจากประสบการณ์เคยใช้กระดาษกาวถูกๆ จากคลองถมม้วนละ 10 บาท ปรากฏว่าตอนลอกออกกาวติดที่ตัวเหยื่อเต็มไปหมด กว่าจะทำความสะอาดได้หมดเล่นเอาเสียเวลาไปแยะ มีเคล็ดลับนิดคือ ถ้ากาวจากกระดาษกาวเลอะติดที่ตัวเหยื่อ ให้ใช้กระดาษกาวอีกแผ่นติดลงไปตรงตำแหน่งที่เลอะแล้วลอกออก แค่เอาไปแตะๆแล้วลอกออก ทำหลายๆเที่ยว กาวที่เลอะก็จะหลุดออกหมดโดยไม่ต้องเช็ดให้เหยื่อสกปรก บางครั้งเช็ดจนสีเหยื่อที่ทำไว้หมองไปเลย แต่ต้องทำหลังจากสีที่เราพ่นไว้แห้งดีแล้ว
ภาพที่ 2วาดลวดลายที่เราต้องการทำสีบนกระดาษกาว โดยคำนึงถึงความเป็นจริงเมื่อนำกระดาษที่เราทำลายไปติดบนชิ้นงาน(เหยื่อปลอม)คือ ควรจะมีลายทั้ง 2 ข้างเหมือนกัน และขนาดลายต้องไม่ใหญ่ไปกว่าตัวปลา ก่อนวาดลาย ควรนำตัวเหยื่อไปทาบบนกระดาษแล้วร่างรูปทรงเหยื่อไว้ทั้ง 2 ด้าน แล้วค่อยออกแบบลายตามจินตนาการของเราใส่ลงไป
หลังจากร่างลวดลายเสร็จให้ใช้คัทเตอร์คมๆ กรีดฉลุลายตามแบบพร้อมทั้งลอกส่วนที่เราต้องการให้ติดสีออกไป ตามรูป(ในรูปคือกระดาษที่ผมทำลวดลายไปพ่นสีมาแล้ว พอดีตอนก่อนพ่นผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เลยต้องเอาที่ใช้แล้วมาถ่ายให้ดู)
ภาพที่ 3ค่อยๆ ลอกลายที่ได้ไปติดบนตัวปลาที่ทำสีพื้นไว้แล้ว โดยเวลาติดต้องพยายามให้ได้ใกล้เคียงกันที่สุดทั้ง 2 ด้าน บริเวณที่ต้องพ่นสีลงไปต้องติดกระดาษกาวให้สนิทกับตัวเหยื่อจริงๆ อย่าให้เผยอหรือหลุดออกขณะพ่นสี ขณะเดียวกันบริเวณที่เราไม่ต้องการให้เลอะสีก็ต้องหากระดาษจะใช้กระดาษกาวก็ได้มาห่อไว้เพื่อป้องกันสีและละอองสีไปเลอะเข้า อย่าประมาทเพราะบางครั้งเราคิดว่าพ่นด้านนี้คงไม่เลอะไปถึงอีกด้านแต่ปรากฏว่าละอองสีกลับสามารถอ้อมไปติดได้ โดยเฉพาะเหยื่อที่ทำมีสีพื้นอ่อนๆและเราเอาสีเข้มๆ ไปทำลาย เวลาติดละอองจะเห็นชัดเจนมากจนทำใจไม่ได้ ทุกอย่างเรียบร้อยก็นำไปพ่นสีได้เลย คราวนี้มาพูดถึงเคล็ดลับการพ่นซึ่งสำคัญมากทีเดียว คือ อย่าพ่นแบบกะว่าทีเดียวจบ เพราะจะจบจริงๆ คือเละ ถ้าพ่นที่เดียวหนาๆ พอกระดาษกาวเปียกสีสีจะค่อยๆซึมเข้าไปตามรอยต่อระหว่างกระดาษกับพื้นผิวตัวเหยื่อ พอเราลอกออกมาสีจะไม่ติดแค่ที่เรากำหนดไว้แต่จะเลอะเข้าไปใต้กระดาษด้วย สรุปคือเสียต้องเริ่มทำใหม่หมด คือต้องขัดทำสีรองพื้นใหม่อีก ที่ถูก(ตามประสบการณ์ของผมเอง อาจจะไม่เหมือนของท่านอื่น)คือ ต้องพ่นบางๆ ไว้ก่อนทั้ง 2 ด้านและทิ้งไว้จนแห้งหมาดๆ ซักประมาณ 15 นาที แล้วพ่นครั้งที่ 2 และ 3 หลังจากนั้นสัก 30 นาที ก็ลอกกระดาษกาวออกได้ โดยใช้วิธีค่อยๆลอกออกช้าๆ พยายามอย่าให้กระดาษกาวขาด อย่าทิ้งไว้นานเกินไปแล้วค่อยลอกเพราะว่าบางครั้งเราอาจทำสีหนาเกินไป เมื่อสีแห้งสนิทมากๆแล้วสีจะแข็ง เมือเราลอกกระดาษกาวออกมา กระดาษกาวอาจลอกสีออกจากเหยื่อมาด้วย ทำให้เราได้ลายเหยื่อที่ไม่สมบุรณ์ แต่ถ้าเราลอกในขณะที่สียังนิ่มอยู่สีบนตัวเหยื่อก็จะไม่ลอกตามออกมา แต่อย่าลอกกระดาษกาวในขณะที่สีไม่แห้งเด็ดขาดเพราะสีจะเลอะส่วนอื่นได้เช่นเดียวกัน
ภาพที่ 4เมื่อลอกกระดาษกาวออกก็จะได้ลวดลายตามที่ต้องการครับ ตามรูป ถ้ามีคราบกาวจากกระดาษกาวหลงเหลือก็ให้ใช้กระดาษกาวใหม่ค่อยๆ แตะลอกออกจนหมด แต่ต้องทำตอนที่สีแห้งสนิทดีแล้วเท่านั้น เราสามารถทำลวดลายอื่นสีอื่นไปทับลายเดิมก็ได้ แล้วแต่จินตนาการของแต่ละท่าน แถมอีกนิด ก่อนนำไปทำสีเคลือบ ควรใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดมากๆ เช่น 600-800 ค่อยลูบบนลายเพื่อลบรอยต่อขอสี หรือขัดให้สีเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน(ค่อยๆลบ ระวังถ้าลบมากๆ จะทะลุลงไปที่สีพื้นเหยื่อแทน ทำบ่อยก็จะชำนาญไปเองครับ) ตอนขัดไม่ต้องตกใจว่าสีที่เราขัดกลายเป็นด้านหมด เพราะเวลาไปเคลือบจริงงานจะออกมาเงางามและเนียนมากๆเลย
จบตอน.......มีอะไรไม่เข้าใจก็โพสต์ถามได้ครับ