คู่มือตกปลาล่าเหยื่อ (ทีมงาน หมายธรรมชาติ /ฟิชชิ่ง
17 พ.ย. 46, 18:35
1
ภาพที่ 1
|
ชื่อหนังสือ คู่มือตกปลาล่าเหยื่อ (คู่มือตกปลาน้ำจืด)
ผู้เขียน/ผู้แต่ง ทีมงาน หมายธรรมชาติ - ฟิชชิ่ง ทริป
สำนักพิมพ์ /ราคา / หน้า พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ GUN Magazine Group พฤศจิกายน 2543 ราคา 100 บาท 160 หน้า ปกอ่อน
ประเภท งานเขียนกึ่งสารคดี วิธีการตกปลาน้ำจืด ประเภท ปลาล่าเหยื่อน้ำจืด ทั้งหลายที่มีในเมืองไทย
บันทึก เป็นหนังสือที่รวบรวมกลวิธีในการตกปลาล่าเหยื่อไว้ละเอียดมากที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่ผมเคยผ่านตามาเลยทีเดียวครับ หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มือการตกปลาน้ำจืด : ประเภทปลาล่าเหยื่อ หนังสือจะบอกถึงนิสัยของปลาแต่ละชนิด เหยื่อที่ปลาแต่ละชนิดชอบ (ถูกปาก) ทั้งที่เป็นเหยื่อสด-เหยื่อเป็น และเหยื่อปลอม วิธีการตกปลาแต่ละชนิด รวมไปถึงแนะนำเทคนิคที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย (ส่วนหนึ่ง) เป็นหนังสือในระดับใช้อ้างอิงในการตกปลาล่าเหยื่อได้ หนังสือเล่มนี้ไม่เน้นเรื่องอุปกรณ์นัก มุ่งเน้นด้านการแนะนำการล่าปลาล่าเหยื่อแต่ละชนิด
ซื้อที่ไหน?? เล่มนี้ ในร้านหนังสือใหม่ๆ คงหาซื้อยากแล้วครับ อาจจะต้องหาตามร้านหนังสือเก่า เท่าที่ค้นหาข้อมูลในปัจจุบัน ยังไม่พบว่ามีร้านไหนจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ หรือมีการตีพิมพ์ขึ้นมาใหม่
|
ในบรรดาคนตกปลาอย่างพวกเรา การแบ่งปลาน้ำจืด โดยมาก ถ้าเป็นการตกตามบ่อตกปลา บางทีก็เห็นว่าเขาแบ่งออกเป็น ปลาหนังกับปลาเกล็ด บางทีสังเกตว่าปลาหนังและปลาเกล็ดในบ่อ บางทีก็กินอาหารประเภทเดียวกัน เพราะเจ้าของบ่อเขาบังคับให้มันกิน มันก็ต้องกิน แต่ถ้าการตกปลาธรรมชาติ บางที เราก็แยกออกว่า เป็นปลากินพืช ตะไคร่น้ำ กับปลาล่าเหยื่อ โดยไม่สนใจว่ามันมีหนังหรือมีเกล็ด เพราะกระสูบมีเกล็ดแต่กินลูกปลา ส่วนตะโกกกินตะใคร่น้ำ ทำนองนั้น
อย่างไรก็ตาม มันมีปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ (ล่าเหยื่อ) เหมือนกัน เช่น ปลาดุก บางทีตกได้ด้วยเหยื่อหนมปัง แต่โดยส่วนใหญ่มันจะโปรดใส้เดือนมากกว่า
เป็นเรื่องของคนตกปลาแต่ละคนที่จะต้องศึกษากันเอง ว่าปลาไหน ชอบเหยื่ออะไร ปลาเดียวกัน แต่ต่างท้องถิ่นกัน อาจจะกินแตกต่างกันไปบ้าง เช่น เบ็ดธง ละแวกบ้านผม (ระยอง) ใช้ทากเกี่ยวเบ็ด (เรียก ชื่อไม่ถูกเหมือนกัน แต่ทากคนละแบบกับทากในป่าใหญ่) การถามนักตกปลาท้องถิ่นจะได้ข้อมูลแม่นยำกว่า ว่า ปลาแถวนั้นกินอะไรกัน หรือเขาตกอย่างไรได้ตัว
วิถีการล่าปลาของบ้านเรา ดูเหมือนจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่คอยมีใครเขียนออกมาเป็นหนังสือ ยกเว้นในเว็บ อย่างพี่เล็กแปดริ้ว เคยถ่ายทอดการหยกปลาช่อนออกมาเป็นภาพประกอบ-ตัวหนังสือบรรยายแบบนั้น เหตุที่ไม่ค่อยมีใครเขียนกัน อาจจะเพราะมันธรรมดามากเกินไป เช่น เด็กแปดเก้าขวบ ก็รู้แล้ว่ว่า จะตกปลาช่อนได้อย่างไร ยายผมเองเล่าว่า สมัยที่แกยังเด็ก ปลาชะโอนในคลองมีเยอะ การตกมัน ต้องเลือกเวลากลางคืน แล้วก็เอาเขียดเกี่ยวเอว หยกเบ็ดที่น้ำไหล คืนหนึ่งได้หลายตัว แต่เดี๋ยวนี้หาตัวยากยิ่งนัก
หนังสือ คู่มือตกปลาล่าเหยื่อ เป็นหนังสือเชิงกึ่งวิชาการ กึ่งบันทึกตามประสบการณ์ของผู้เขียน โดยส่วนตัวแล้ว ผมว่า เอาไว้ศึกษา หรืออ้างอิงได้เลยทีเดียว คือ เนื้อหาไม่ฉาบฉวยจนเกินไป แต่ก็ไม่ใช่แน่นปึ้ก เก็บข้อมูลมาล้วนๆ แบบนั้นครับ แต่สำหรับใครก็ตามที่ชอบตกปลาล่าเหยื่อเป็นชีวิตจิตใจ ผมว่ามีไว้ก็ไม่เสียหลายนะครับ
หนังสือ เขียนเป็นบทๆ หนึ่งบทก็หนึ่งปลา ประกอบด้วยเนื้อหาว่าด้วยการล่าปลา ชะโด ช่อน กระสง ช่อนงูเห่า กระสูบ ปลาม้า ปลากราย ปลาเค้า ปลากด ปลาเปคู ปลากระทิง ปลาฉลาด เสือตอ กระพงขาว ปลาหมอไทย ลงท้าย วิธีเกี่ยวเหยื่อเป็น แนะนำเหยื่อปลอมต่างๆ เช่น สปูน สปินเนอร์เบท สปินเนอร์ ปลั๊ก ใบพัด เหยื่อฟลาย เหยื่อยาง
แต่ละบทจะบอกว่า ปลาชนิดนั้น ชอบอาศัยในแม่น้ำแบบไหน แหล่งที่อยู่อาศัยเป็นอย่างไร การล่าเท่าที่ตกตัวได้ เขาใช้เทคนิคไหนกันบ้าง ตรงนี้หนังสือจะกล่าวถึงนิสัยของปลาแต่ละชนิด ค่อนข้างละเอียด และท้ายบทแต่ละบท จะมีข้อมูลจำเพราะของปลานั้น มีความละเอียดดีเช่นกัน แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงอุปกรณ์อย่างละเอียด ไม่ได้แนะนำวิธีการใช้งานอุปกรณ์ ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อด้อย เพราะหนังสือเขาบอกแล้วว่าเป็นคู่มือการตกปลาล่าเหยื่อ
หลายๆครั้ง ที่ผมไปตกปลาล่าเหยื่อ ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ก่อน แล้วก็ไปทดลองปฎิบัติจริงๆ เพราะว่า แถวๆละแวกนั้น ไม่มีมือล่าปลาให้คำปรึกษา หรือกระทั่งบางครั้ง ก็อยากใช้วิธีที่ผิดแปลกไปจากภูมิปัญญาชาวบ้านเขาบ้าง เหมือนเวลาเห็นเขาตกปลากะพงด้วยกุ้งเป็น แล้วเรานึกอยากเอาปลั๊กไปเหวี่ยงดู หรือกระทั่ง แทนที่จะไปหาเขียดหรือปลาหมอมาหยกปลาช่อน หรือเกี่ยวเบ็ดธง เราก็อาจจะลองใช้กระดี่เหล็กหรือหนอนยางไปหลอกล่อมันบ้าง แบบนั้นเลย