สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 27 ธ.ค. 67
ปลาบึกแห่งบ้านหาดไคร้ : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 16 - [11 พ.ค. 49, 18:34] ดู: 11,457 - [26 ธ.ค. 67, 22:03] โหวต: 5
ปลาบึกแห่งบ้านหาดไคร้
POMBINTHAI offlineใบเหลือง
22 พ.ค. 46, 14:47
1
    เห็นบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเลยลองเอามาลงให้อ่านเล่นครับ
      3 ปีกว่ามาแล้วที่คนเชียงของ ไม่เคยเห็นแม้แต่เงาปลาบึก มันเกิดจากอะไร...
ประวัติคร่าวๆ ของมัน
      ปลาบึกเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดหรือปลาหนังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบแห่งเดียวแม่น้ำโขง ในตอนวัยอ่อนจะมีฟันอยู่บนขากรรไกร กินไรน้ำ ตัวอ่อน แมลง และลูกปลาขนาดเล็กเป็ยอาหาร เมื่อเติบโตขึ้นฟันจะหลุดออกหายไป จะกินพืชเป็นอาหาร ( ปลาบ่อกินรำ หนมปัง อิๆๆ คนทำให้มันคุ้นเคย ) พืชที่ปลาบึก ( ในธรรมชาติ ) ชอบคือพวกสาหร่าย ในแม่น้ำโขงจะมีสาหร่ายชนิดนี้เยอะมาก ไก คือชื่อของสาหร่ายชนิดนี้ ( ไม่รู้ว่าเพราะสาหร่ายรึเปล่าจึงทำให้มันตัวใหญ่และแข็งแรง ต้องไปหาพวกสไปรูริน่า พวกเกลียวทองกินมั่งซะแล้ว ) ซึ่งมีมากมายในแม่น้ำโขง
      แหล่งที่อยู่อาศัย มันอยู่ในช่วงน้ำวนที่กระแสน้ำไม่ไหลแรงมาก ( วัง หรือ คุ้ง ) ชอบอยู่ตามพื้นน้ำที่ออกเป็นทรายปนกรวด ออกมีเศษดินเลนเล็กน้อย ไม่มีข้อมูลการวางไข่ การผสมพันธ์ในธรรมชาติ เท่าที่ทราบปลาบึกเดินทางไปวางไข่ หรือผสมพันธ์ยังต้นแม่น้ำ ในช่วงผสมพันธุ์ตอนหน้าฝน ( ช่วงระหว่าง เมษา  - ถึงพฤษภา ) ซึ่งจะเป็นฤดูกาลในการจับปลาบึกพอดี ( พรานปลาบึกคงจะรู้ช่วงของมัน จึงค้นคิดวิธีจับในช่วงนี้นี่เอง )  ปัจจุบัน เพาะพันธุ์ได้โดยวิธีผสมเทียมเท่านั้น ( แต่ตามบ่อเลี้ยงปลานี่ สังเกตุจากการเจริญเติบโต เทียบกัน จากการลองสังเกตุ บ่อที่มีพื้นที่มาก และปลาในบ่อไม่หนาแน่น ปลาจะโตเร็ว พละกำลังสูง และมีขนาดใหญ่มาก อิๆๆ ข้อมูลนี้ลองเปรียบเทียบกับ บ่อเฮียชุ้น ( บ่อเบญจฯ ) และ บึงสำราญ เท่าที่ผมเคยลองตกพวกมัน ขนาดและ นน. ที่ไม่ต่างกันมาก บ่อเบญจฯ กินขาด แต่บ่อเบญจฯ นี่ปลาบึกน้อยตัว อาจจะเป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งก็ได้ครับ ที่ทำให้แตกต่างกัน เนื่องจากปลาน้อย อาหารก็ต่างกัน บ่อเฮียชุ้นบางทีก็เป็นข้าวหมู และหนมปัง ส่วนบึงฯ หนมปังอย่างเดียว ) ซึ่งเราก็จะเห็นมีการเพาะขายตามร้านทั่วๆ ไป ( ร้านขายปลาตู้ )
      จากการสำภาษณ์ของ พ่ออุ๊ยซ้อ จินะราช พรานปลาบึก อายุ 76 ปี ( บรรพบุรุษของแกเป็นพรานปลาบึกมานานมาก หลายชั่วอายุ ) ทุกๆ ปีช่วงเดือนเมษาฯ จะเป็นฤดูกาลลอย มอง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการจับปลาบึก ( ลักษณะเหมือนตาข่าย แต่มีขนาดใหญ่ และใช้วิธีวางลงในน้ำ ( ไม่ลอยแบบข่าย ) วางแบบจม ดักทางน้ำ ตามแนวทะแยง โดยวางทีจุดเป็นลักษณะวัง ที่กระแสน้ำแทงเข้า และไหลไม่แรงมาก พ่ออุ๊ยซอ ได้เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเมื่อจับได้จะถูกขายให้คนลาว แต่ในระยะหลังๆ มีการโหมโฆษณาว่า เนื้อมันเป็นยา จึงถูกส่งให้ภัตตาคารใหญ่ๆ เป็นเมนูสุดเด็ด ราคาของเนื้อมันจึงแพงมาก เคยมีรารคที่สูงสุด ( ณ. ที่ๆ จับได้ แล้วบอกขายตรงนั้นเลย ) กก. ละ 340.- ปัจจุบันราคาคงจะหนีไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ซึ่งก็คงจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากพวกมันถูกจับได้ และนำมาแล่ขาย กลายเป็นว่าหากใครได้กิน จะได้ขึ้นสวรรค์อะไรทำนองนั้น
    ในอดีต ลำน้ำโขง จะสามารถพบเห็นปลาบึกได้ตลอดทั้งสายน้ำ ตั้งแต่เชียงแสน จ.เชียงราย จนถึง โขงเจียม จ.อุบลฯ ดังที่เราได้เห็นรูปโบราณ ที่ผาแต้ม แสดงให้เห็นว่า ปลาชนิดนี้มีมานานมากแล้ว และที่ ผาแต้มยังมีหมู่บ้านสำคัญ ที่เกี่ยวกับปลาบึก ชื่อว่าหมูบ้านเวินบึก ( อยู่ช่วงปากแม่น้ำมูลบรรจบกับแม่น้ำโขง ) อีกแห่งหนึ่งก็คือ อ่างปลาบึก จ.หนองคาย และที่ บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ปัจจุบันเหลือที่เดียวคือ หาดไคร้ ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอย คือ ที่หาดไคร้จะเป็นตำนานเล่าขาน แห่งสุดท้ายที่มีการจับปลาบึก ดั่งเช่นที่อื่นๆ ที่ไม่เคยมีการปรากฎตัวของพวกมันอีกเลย น่าเสียดายมากครับ ที่ปลาบึกพวกนี้จะต้องสูญพันธุ์ไปเพราะมนุษย์...!!!!!
    ลุงเรียน จินะราช อดีตประธานชมรมปลาบึก แห่งบ้านหาดไคร้ กล่าวถึงสภาพพื้นที่ที่อยู่ในทำเลที่ดีกว่าที่อื่นว่า เราจับด้วยการไหล มอง ต้องดำไปใต้น้ำ ต้องดำลงไปแถวๆ ที่มีโขดหินเยอะๆ ปลาจะชอบมาวนเวียนหลบกระแสน้ำ ไหลลงไป มอง จะติด ทำให้มีโอกาสได้ตัวสูง ที่นี่มีการจับปลามานานร่วม 100 ปีได้ ลุงเรียนกล่าวให้ฟัง ว่าแถวนี้เป็นแค่ทางผ่านของพวกมันเท่านั้น พูดถึงการลงดำน้ำวาง มอง ทำให้ผมนึกถึงหนัง 15 ค่ำฯ แฮะ การดำลงไปในน้ำขุ่นๆ ลึก เชี่ยว แถมมีหินใต้น้ำ อีก ถ้าไม่เก่ง หรือ ชำนาญจริงๆ เอาชีวิตไปทิ้งแน่ๆ เลยครีบ
    นักวิชาการเชื่อกันว่า พวกมันมากจาก โตนเลสาบ ทะเลสาบน้ำจืดขนาดยักษ์ ในกัมพูชา เมื่ออุณหภูมิของน้ำเปลี่ยน ปลาที่เจริญวัยเต็มที่จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ในทะเลสาบตาลี ที่ยูนนาน ในจีน ซึ่งเป็นระยะทางเกือบ 3000 กม. คิดดูแล้วกันมันจะต้องฝ่าด่าน พรานปลา ( โดยเฉพาะพรานบ้านเรา ) มากี่ด่านถึงจะมาวางไข่ ออกลูกหลานได้ อึดจริงๆ
  ชาวบ้านอีกกลุ่มนึงเชื่อว่า มีวังปลาบึกอยู่ในถ้ำลึกใต้แม่น้ำโขง ในหลวงพระบาง แขวงไซยะบุรี และพอวันสงกรานต์ พวกภูติผีที่ดูแลเฝ้าถ้ำอยู่จะออกมา ปลาบึกก็จะตามออกมาด้วย จึงต้องมีการทำพิธีบวงสรวงไหว้ผี เพื่อขอจับปลากันทุกปี และเมื่อจับได้ก็ต้องทำพิธีขอบคุญอีกเช่นกัน จึงกลายมาเป็นแหล่งทำเงินในด้านการท่องเที่ยว ที่นี่จะมีพิธีกรรม 2 อย่างคือ พิธีแรก จะทำกันในวันมี่ 16 หรือ 17 เมษาฯ เรียกว่าพิธีเลี้ยงลวง คือการไหว้ขอจับปลา ขอให้มีโชคดีในการจับ ขอให้จับได้ว่างั้นเถอะ พิธีที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 18 เมษาฯ เป็นพิธีบวงสรวง ซึ่งพิธีที่ 2 เกิดจาการการบูรณาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นประเพณีสงกรานต์
  ความเชื่อของชาวบ้านกลุ่มนี้ สอดคล้องกันกับข้อเท็จจริงของหลวงพระบางที่มีวังน้ำลึกตั้งแต่ 2 - 3 ม. จนถึงเกือบ 30 ม. เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่แห่งนี้เป็นแหล่งสำคัญ เป็นจุดหลบในช่วงหน้าแล้ง ที่น้ำลดลง หรือแม้กระทั่งช่วงน้ำแรง จุดนี้ก็จะเป็นจุดหลบภัยของพวกมัน ที่ไม่ค่อยจะมีคนรบกวนมากนักด้วย เนื่องจากสภาพใต้น้ำเป็นใจ และเป็นความเชื่อของชาวหลวงพระบางด้วย
  ปัจจุบันการจับปลาบึก ยังคงมีพิธีกรรม แต่ถ้าบวงสรวงกันทุกปี แล้วยังจับปลาไม่ได้ พิธีกรรมเหล่านี้คงจะเลือนหายไปจากบ้านหาดไคร้ ดั่งเช่น  บ้านเวินบึก หรือ บ้านห้วยลึก บรรยากาศแห่งความเฝ้ารอ ความตื่นเต้น จะกลายเป็นอดีต เราคงจะถวิลหาภาพพวกนั้น แน่ๆ ถ้าพิธีกรรมเหล่านี้ถูกยกเลิกไป เพราะเหตุผลการสูญพันธุ์ดังกล่าว
  สาเหตุพวกมันกำลังสูญพันธุ์ มีหลายสาเหตุ เช่น การสร้างเขื่อนในจีน การเดินเรอขนาดใหญ่ ความขุ่นข้นของสายน้ำ การระเบิดแก่งต่างๆ ที่สำคัญคือการล่าพวกมันอย่างรุนแรง เพื่อแลกเป็นเงิน มาเปลี่ยนเป็นการสนองความต้องการ และอีกหลายๆ สาเหตุ
  พวกเรา เคยนึกถึง แต่ความแข็งขืน ดื้อดึง เมื่อมันติดเบ็ดในฟิชชิ่งปาร์ค และรสชาดจากการปรุงของกุ๊กฝีมือเยี่ยมในราคาที่สุดแพง จากห้องอาหาร และภัตตาคารชั้นเลิศ ใครจะนึกถึงความเป็นไปของพวกมัน ว่าอนาคตจะเป็นอยางไร การเพาะพันธุ์พวกมันสามารถทำได้ก็จริง ( ผสมเทียม ) แต่ก็ทำได้ เพียงแค่ให้มันเจริญเติบโตได้เท่านั้น และวงจรชีวิตของพวกมันในธรรมชาติล่ะ จะเป็นยังไง ใครจะทราบบ้าง
  ปลาบึกแห่งลุ่มน้ำโขง หรือ ชื่อที่น่าภูมิใจ นาม แม่โขง ไจแอนท์ แคชฟิช ชื่อที่มีเพียง 1 เดียวในลุ่มน้ำโขง จะคงเป็นเพียงตำนานเล่าขานให้ลูกหลานได้ฟังเท่านั้น เราจะทำอย่างไรดี เพื่อให้พวกมันกลับมามีความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ในความยิ่งใหญ่ที่ชื่อ ว่าเป็นปลาหนัง น้ำจืดที่ใหญที่สุดในโลก
    บทความนี้ เป็นบทความที่ผมคัดลอก และเพิ่มเติมบางส่วน เพื่อเพียงแต่ให้ทราบถึงความเป็นมา และทำให้พวกเราคงจะตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่าง บ้าง ไม่มากก็น้อยครับ
    ขอบคุณทุกท่านที่เสียสละเวลานั่งอ่านนะครับ
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=898