ภาพที่ 1วันนี้มีความรู้เกี่ยวกับการหาปลามาฝากทุกท่านครับ บทความนี้จะแนะนำการใส่เบ็ดหรือการธงเบ็ดด้วยเหยื่อ ปลาหมึกแห้ง ...ท่านอ่านไม่ผิดครับ ปลาหมึกแห้ง
ผมขออธิบายสรรพคุณ ของเหยื่อปลาหมึกแห้งก่อนนะครับ ตามที่ผมใส่เบ็ด(ใส่เบ็ด เป็นภาษาอีสาน หมายถึงการธงเบ็ด หรือ ปักเบ็ด) เหยื่อแต่ละชนิดจะเหมาะกับปลาต่างกันและเหมาะกับช่วงเวลา ช่วงฤดูต่างกัน อาทิ
ไส้เดือน เหมาะกับฤดูน้ำหลาก ปลาที่กินจะเป็นปลาหมอ ปลาช่อน ปลาดุก และอาจแถมปลาไหล ใส่ได้ทั้งกลางวันกลางคืน ปลาหมอจะชอบกวนเหยื่อใส้เดือนมาก
กบ เขียด เหมาะกับฤดูหนาว น้ำนิ่ง ปลาที่กินจะเป็นปลาช่อน ปลาหมอ ใส่ได้ทั้งกลางวันกลางคืน แต่เหมาะจะเป็นกลางคืนมากกว่า
ปลาเล็ก เหมาะกับทุกฤดู ดีที่สุดช่วงฤดูหนาว ปลาที่กินจะเป็นปลาหมอ ปลาช่อน ปลาดุก ใส่ได้ทั้งกลางวันกลางคืน
ปูนาตัวเล็ก เหมาะกับฤดูแล้ง และฤดูหนาว ปลาที่กินจะเป็นปลาช่อน และส่วนใหญ่จะได้ไซส์เกือบกิโล ให้ดีต้องใส่กลางคืนครับ
สบู่ปลาดุก เหมาะกับฤดูหนาว ปลาที่กินจะเป็นปลาดุก และปลาหมอบ้าง การใส่ต้องกลางคืนเท่านั้น
ภาพที่ 2และพระเอกของเราวันนี้ ปลาหมึกแห้ง เหมาะกับฤดูแล้ง และฤดูหนาว ปลาที่กินจะเป็นปลาช่อน และปลาหมอ แต่ส่วนใหญ่จะได้ปลาช่อน ให้ดีต้องใส่กลางวัน กลางคืนไม่กินครับ
เมื่อรู้สรรพคุณของเหยื่อแล้ว เรามาเน้นหนักที่ พระเอกเรานะครับ ปลาหมึกแห้ง หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วจะเลือกแบบไหน ปลาหมึกแห้งมีหลายชนิด ก็ให้เลือกแบบที่เป็นปลาหมึกเกรดต่ำมีขี้ด้วยนั้นละครับ ราคาขายปลีกก็ประมาณถุงละ 10 บาท ได้ประมาณ ๕ ตัว ใส่เบ็ดได้ประมาณ ๑๐๐ คัน
เริ่มขั้นตอนเลยแล้วกันครับ
ว่าด้วยเรื่องเบ็ดและคันเบ็ด
คันเบ็ดที่ใช้แนะนำว่าเป็นไผ่เหลากลมเรียวปลาย สายเบ็ดยาวประมาณ ๑ ใน ๓ ของคันเบ็ดครับ สายทำจากไนล่อนหรือสายเอ็น ก็ได้ครับ อย่างอื่นไม่แนะนำ ส่วนเบ็ดเอาเบอร์ ๖ ๗ หรือ ๘ แล้วแต่เลือกครับ เบ็ดขอให้คมนะครับ อยากรู้ว่าคมไม่คม เอานิ้วเขี่ยปลายเบ็ดดูครับ ถ้ามันออกแนวจะปักมือแสดงว่าคมใช้ได้ครับ ถ้าไม่ปักก็เปลี่ยนครับเสียดายถ้าปลามากินเหยื่อแล้วไม่เกี่ยวปลา ส่วนจำนวนคันเบ็ดแนะนำว่าสำหรับมือใหม่ เริ่มต้นสัก 50 คัน กำลังดีครับ น้อยกว่านี้โอกาสพลาดสูง มากกว่านี้เหนื่อยก่อนได้ปลา
ภาพที่ 3ว่าด้วยเรื่องเหยื่อปลาหมึกแห้ง
ซื้อมาแล้วก็ ดมดูสักนิดครับ เหม็นใช้ได้ไหมยิ่งเหม็นยิ่งดีครับ ได้มาก็นำมาหั่นเป็นชิ้นครับ ประมาณ 1 คูณ ๑ ซม. ครับ พอเกี่ยวเบ็ดได้นั้นละครับ หันแล้วก็ใส่ถุงพลาสติกมัดด้วยหนังยางดี ๆ นะครับอย่าให้กลิ่นออก
ว่าด้วยการวางเบ็ดหรือใส่เบ็ด
เมื่อเบ็ดพร้อม คนพร้อมเหยื่อพร้อม ก็ลุยครับ การเลือกหมายนั้นควรเป็นหมายที่มีปลาช่อยเยอะ ๆ นะครับ และอย่าลืมต้องเป็นกลางวัน เวลา ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็นครับ แต่ปลาจะไม่ค่อยกินในช่วง ประมาณ ๕ โมงเช้าถึง บ่ายสาม ช่วงเวลานี้ต้องทำใจนิดหนึ่งครับ
การเกี่ยวเหยื่อให้เกี่ยวตัดตรงกลางของชิ้นที่เราตัดปลาหมึกครับ ให้ปลายเบ็ดทะลุ
การปักเบ็ดเลือกจุดที่น้ำไม่ลึกตลิ่งหรือคันนาไม่ชันนะครับ ให้น้ำลึกประมาณไม่เกิน 10 เซน เหมาะเลย (เฉพาะจุดที่ใส่นะครับ ส่วนจุดอื่นจะลึกเท่าไหร่แล้วแต่) เสียบเบ็ดเอาที่คิดว่าเอาปลาให้อยู่ครับ เหยื่อปลาหมึกที่อยู่ในน้ำให้ติดพื้นดิน และข้อควรระวังอย่าพยายามเอามือหรือเท้าลงกวนน้ำตรงที่จะปักเบ็ดนะครับ เอาให้ธรรมชาติที่สุด ถ้าจำเป็นต้องจัดพื้นที่ใส่ก็ให้ใช้ไม้แถวนั้นหรือปลายเบ็ดที่เหลือนั้นละครับกวาดน้ำและวัชพืชออก ป้องกันกลิ่นคนไปกวนกลิ่นเหยื่อปลาหมึก ระยะห่างจากฝั่งของเหยื่อให้ห่างประมาณ 1 ฝ่ามือแนวนอน ใส่หลังแรกแล้วก็ไปอีกสัก 7-8 ก้าวเดิน ก็ปักอีกคันลักษณะเหมือนกันนี้ละครับ แต่มีข้อแม้ถ้าเจอจุดที่สวย ๆ เช่น กอบัว ปากท่อ ใต้ต้นไม้ล้ม กลุ่มต้นธูป หรืออื่น ๆ ก็ให้เพิ่มพิเศษลงอีกสักคันครับจะได้ลุ้นเพิ่มขึ้น ระยะห่างการปักเบ็ดบางครั้งถ้าจำนวนคันเบ็ดมีน้อย แต่ที่ปักเบ็ดเยอะหรือกว้าง ก็ให้เพิ่มระยะห่างได้ครับ เอาแบบให้คลุมพื้นที่ได้ยิ่งดี จะได้รู้ว่าปลาติดโซนไหนเยอะกว่ากัน วันหลังค่อยเอาทัพหลวงมาลงเต็มที่ในโซนนั้น
ภาพที่ 4ว่าด้วยการยามเบ็ด
หลังจากปักเบ็ดแล้วก็ ถึงเวลาลุ้นแล้วครับ เดินกลับเลยครับถ้าเป็นแบบใส่เบ็ดไม่วน เช่น กรณีใส่ที่คันนาก็เดินยามย้อนกลับเลยครับ ถ้าใส่วนเข่น กรณีลำห้วย หรือบ่อ ก็เดินต่อไปยามหลังแรกที่เราปักครับ ถ้าตัวไหนเหยื่อหมดก็เสียบแทนครับ ถ้าปลาติดการเอาปลาขึ้น ให้ดูครับว่าลักษณะการติดของปลานั้น ปลาวิ่งอยู่หรือ มุดน้ำเบ็ดติดสวะแล้ว ถ้าปลาวิ่งอยู่ให้ถอดคันเบ็ดขึ้นก่อนครับ อย่าเพิ่งสู้กับปลานะครับ ทำมืออ่อน ๆ แล้วค่อยลากเข้าหาฝั่ง ถ้าปลายังดิ้นอยู่ก็ปล่อยให้ดึงเบ็ดไป เมื่อหยุดก็ดึงเข้าฝั่งทำอย่างนี้ใจเย็น ๆ ปล่อยเหนื่อยก็ดึงขึ้นครับ แต่ถ้าเรามองเห็นว่าปลากลืนเบ็ดลงลึกก็ดึงตั้งแต่ทีแรกเลยก็ได้ครับ
กรณีที่ปลาติดแล้วมุดน้ำเบ็ดติดสวะแล้ว ให้เราพิจารณาดูดี ๆ ก่อนนะครับว่ามันเป็นปลาหรืองู บางครั้งงูก็มาเจอกันบ่อยครับ ถ้ามั่นใจว่าปลาก็ถอดเบ็ดก่อนครับ แล้วเอามือไล่ตามสายเบ็ดลงไป ช่วงนี้ต้องเบา ๆ ครับ เมื่อสุดสายเบ็ด มือเราจะสัมผัสกับหัวปลา ตอนนี้ละครับจะรู้ว่าตัวใหญ่ตัวเล็ก (หรือว่าเป็นงู) ถ้าสัมผัสแล้วปลาเหนื่อยแล้ว จับได้จับเลยครับ แล้วก็หาทางเอาขึ้นจากน้ำ แต่ถ้าปลายังดิ้นอยู่ให้ถอยก่อนครับ แล้วมาไล่ดูว่าที่ติดสวะนั้น ต้นตอมันอยู่ที่ไหน ให้ไปตัดต้นตอมันครับ ตัดหมดแล้วให้จับคันเบ็ดและสวะเหล่านั้นละครับ ยกพร้อมกันขึ้นจากน้ำเลย รีบเท่าไหร่ได้ยิ่งดี เมื่อยามเบ็ดครบรอบแล้วทิ้งช่วงสัก 20 นาที ค่อยยามใหม่วนไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ครับ
ภาพที่ 5ถ้าทำตามแบบฉบับนี้แล้วรับรองครับ ได้ปลากลับบ้านเป็นตัน 555 ผบ. ยิ้มไม่หุบ ถ้ามีตัวเหยื่อหมึกแห้งนี้ละครับผมการันตรีได้ว่าไม่ทำให้ผิดหวัง ผมเคยปักเบ็ดสู้กับคนทอดแหแล้วครับ ด้วยเหยื่อปลาหมึกแห้ง ผลออกมาคนทอดแหมาขอปลาผมกลับบ้าน (ผลการแข่งขันอ้างอิงเฉพาะครั้งนั้นนะครับ) เหยื่อเบ็ดปักปลาหมึกแห้งผมเรียกใช้บ่อยที่สุดเพราะหาได้ง่ายสะดวก ได้ผลดี ไม่สกปรก เหมาะกับกลางวัน เอาปลาไปทำกับข้าวก็ไม่ระแวงกระเพาะปลา (ไม่เหมือนไส้เดือน)
ข้อควรระวัง เหยื่อปลาหมึกแห้งส่วนใหญ่ จะมีกลิ่นแรง โดยเฉพาะเมื่อถูกน้ำด้วยแล้วกลิ่นจะเหม็นคาว ติดมือและเสื้อผ้าเพราะฉะนั้น ควรระวังเรื่องนี้ด้วย อีกอย่างเหยื่อปลาหมึกแห้งเวลาปลากินจะกลืนลงคอลึกมาก การจะถอดเบ็ดออกได้บากมาก ดังนั้นเวลาไปใส่ต้องมีเบ็ดและสายสำรองไว้ด้วย และเวลานำปลาไปทำอาหารต้องระวังเบ็ดในพุงปลาด้วยครับ
หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่สนใจครับ ผมไม่ใช่เซียนเบ็ดคันยาว แต่ผมพอรู้เรื่องเบ็ดปักคันเล็กครับ ยินดีที่ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ครับ ((ภาพปลาที่ปรากฏนั้นยามรอบแรกนะครับ))
wutnogten@hotmail.com