ภาพที่ 1"รอมฎอน"เดือนแห่งความดี
มุสลิมส่วนมากถ้าจะนึกถึงเดือนรอมฎอน ก็จะนึกถึงในเรื่องคุณค่าของการถือศีลอด แต่ในความเป็นจริงนั้นเดือนรอมฎอนยังมีคุณค่าอื่นอีกมากมายที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้ และสิ่งสำคัญนั้นก็คือเรื่องของการละหมาด การอ่านคำภีร์อัลกุรอาน การบริจาค และการขออภัยโทษ
ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งเรื่อง นมาซ ศาสนกิจอิสลาม ซึ่งเขียนโดย อัลลามะฮ์ ซัยยิด สุลัยมาน นัดวี และแปลโดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน ผมจึงถือโอกาสคัดลอกข้อเขียนของท่านบางส่วนนำมาถ่ายทอดให้ท่านได้อ่านในบทความฉบับนี้ อันมีเนื้อหาสาระตรงกับสิ่งที่ผมจะเขียน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประทานความโปรดปรานแด่ท่านทั้งสองด้วยเทอญ
เรื่องของการละหมาดนั้นเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ว่าเจ็บป่วยหรือสุขภาพดี การละหมาดเป็นหน้าที่ที่อิสลามไม่อนุญาตให้มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะละทิ้งไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม ถ้ายืนไม่ได้ก็ให้นั่ง ถ้านั่งไม่ได้ก็ให้นอน ในภาษาอาหรับเรียกละหมาดว่า เศาะลาฮ์ ซึ่งพวกเราได้ยินคำๆ นี้อยู่เป็นประจำจากเสียง อาซาน หรือเสียง บัง เข้าเวลาละหมาด คือ
ฮัยยะอาลัศเศาะลาฮ์ ฮัยยะอาลัศเศาะลาฮ์ จงมาสู่การละหมาดกันเถิด จงมาสู่การละหมาดกันเถิด
การละหมาด คือการแสดงการจงรักภักดีด้วย กาย วาจา ใจ ของสิ่งที่ถูกสร้างที่มีต่อพระผู้สร้าง
เป็นการรำลึกถึงพระผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
เป็นการยอมจำนนต่อพระเจ้าและยอมรับความยิ่งใหญ่ความเป็นหนึ่งของพระองค์
เป็นการติดต่อปฏิสัมพันธ์ของจิตวิญญาณกับพระผู้อภิบาล
เป็นการยอมจำนนโดยสิ้นเชิงทั้งกายและจิตของบ่าวต่อผู้เป็นนาย
เป็นการใกล้ชิดกันระหว่างพระผู้ทรงสร้างกับสิ่งที่ถูกสร้าง
เป็นการเยียวยาหัวใจที่สิ้นหวังและจิตใจที่ไม่สงบ
การละหมาด ได้ถูกกำหนดเป็นหน้าที่ของสิ่งที่ถูกสร้างมาตั้งแต่มนุษย์คนแรกคือ ท่านศาสดา นบีอาดัม อลัยฮิสลาม จนถึงศาสดาองค์สุดท้ายคือ นบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) และบรรดาศาสดาทั้งหลายก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องละหมาดเป็นอย่างมาก ซึ่งรูปแบบของการละหมาดก็มีความแตกต่างกันในแต่ละศาสดา เช่น ในสมัยท่านศาสดานบีอิบรอฮีม อลัยฮิสสลาม (อับบราฮัม) เมื่อท่านได้พาศาสดานบีอิสมาอีล อลัยฮิสสลาม บุตรชายของท่านมาถึงแผ่นดินมักกะฮ์เพื่อที่จะตั้งถิ่นฐานที่นั่น ท่านก็กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา เพื่อพวกเราจะได้ ดำรงละหมาด (กุรอ่าน14:37)
และอีกครั้งหนึ่งนบีอิบรอฮีม อลัยฮิสลาม ได้ขอกับพระเจ้าว่า โอ้พระผู้อภิบาล โปรดทรงช่วยทำให้ฉันเป็นผู้ดำรงละหมาดและลูกหลานของฉันด้วย (กุรอ่าน 14:40)
เช่นเดียวกันในสมัย นบีมูซา (โมเสส) อลัยฮิสลาม พระองค์อัลลอฮ (ซ.บ.) ได้ทรงกล่าวแก่นบีมูซาว่า และจงดำรงละหมาดเพื่อรำลึกถึงฉัน (กุรอ่าน 20:14)
ท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า การเคารพภักดี (อิบาด๊ะฮ) ที่ดีที่สุด ก็คือการวิงวอนขอพร (ดุอา) แล้วท่านก็กล่าวโองการของพระเจ้าที่ว่า จงวิงวอนต่อฉันและฉันจะได้ยินการวิงวอนของสูเจ้า แต่ผู้ใดโอหังต่อการเคารพภักดีฉัน พวกเขาจะได้เข้านรกด้วยความอัปยศ (กุรอ่าน40:60)
วัตถุประสงค์ของการละหมาดได้ถูกกล่าวไว้ด้วยถ้อยคำเพียงคำเดียวคือ การรำลึกถึง อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทรงกล่าวไว้ในกุรอ่านว่า และจงดำรงละหมาดเพื่อรำลึกถึงฉัน (กุรอ่าน 20:14)
และ อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) ได้กล่าวอีกว่า ผู้ประสบความสำเร็จคือผู้ขัดเกลาและรำลึกถึงพระนามของผู้อภิบาลของเขา ดังนั้นจงละหมาด (กุรอ่าน7:14-15)
พวกเราคงทราบแล้วว่าในเดือนรอมฎอนนั้นมีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ก็คือ การละหมาดตะรอวีฮ์ ซึ่งผู้ถือศีลอดจะให้ความสำคัญมาก โดยจะไปละหมาดรวมกันมากมายที่มัสยิด และเราก็จะพบว่ามีมุสลิมหลายคนที่ละหมาดฟัรฎูไม่ครบ 5 เวลา หรือบางคนก็ไม่ได้ละหมาดฟัรฎูเลย หรือละหมาดครบ 5 เวลาแต่ได้ละหมาดคนเดียวอยู่ที่บ้านโดยไม่เคยไปละหมาดรวมกันที่มัสยิด แต่เมื่อถึงเดือนรอมฎอนบุคคลเหล่านั้นได้ถือศีลอดด้วยความศรัทธาตลอดทั้งเดือน พร้อมทั้งไปละหมาดตะรอวีฮ์ที่มัสยิดเป็นประจำทั้งเดือนเช่นกัน
ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้การไปละหมาดตะรอวีฮ์ที่มัสยิดนั้นสามารถฝึกฝนในเรื่องของการละหมาดฟัรฏูได้บ้าง ถ้าเขาตั้งเจตนาให้ดีในการละหมาดตะรอวีฮ์ที่ต้องอดทนกับการละหมาดที่ใช้เวลาของการละหมาดนานมาก เพราะอิหม่ามส่วนมากจะอ่านยาวนานเพื่อเป็นการอ่านกุรอานให้จบทั้งเล่มในเดือนรอมฎอน และทุกคนก็ต้องไปละหมาดรวมกันที่มัสยิดซึ่งเขาไม่เคยปฏิบัติมาก่อนในเดือนอื่นๆ และถ้าพวกเขาพยายามตั้งใจละหมาดตะรอวีฮ์โดยให้มี เอี้ยฮซาน ในเวลาละหมาด เอี้ยฮซาน คือให้เรานึกว่าเราได้เห็นพระองค์อัลเลาะฮ์ ถ้าเราไม่เห็นพระองค์ก็ให้นึกว่าอัลเลาะฮ์เห็นเรา
การละหมาดตะรอวีฮ์ตลอดทั้งเดือนโดยที่มีสมาธินั้นก็จะเป็นการฝึกให้อดทนต่อการที่ไปละหมาดฟัรฎู 5 เวลาร่วมกันที่มัสยิดหลังเดือนรอมฎอนใน 11 เดือนข้างหน้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งบางคนมีบ้านอยู่ใกล้มัสยิด แต่ไม่เคยไปมัสยิดเลย ทั้งๆ ที่อยากจะไปแต่รู้สึกอายเคอะๆ เขินๆ เพราะไม่เคยได้พยายามฝึกฝน แต่ถ้าเขามีความตั้งใจและพยายามเอาละหมาดตะรอวีย์เป็นการฝึกฝน เขาก็สามารถจะไปละหมาดที่มัสยิดได้ นี่ก็เป็นอีกคุณค่าหนึ่งที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน
สำหรับเรื่องการถือศีลอด มุสลิมส่วนมากได้ถือศีลอดเป็นประจำอยู่แล้ว ก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวในเรื่องการให้ถือศีลอด แต่ที่ต้องการจะกล่าวนั้นก็เพื่อให้พวกเรามาทำความเข้าใจกันในเรื่องเป้าหมายของการถือศีลอดว่ามันมีจุดประสงค์อย่างไร และอะไรคือเจตนารมณ์ ซึ่งอัลเลาะฮ์ได้บอกให้พวกเรารู้ว่าการถือศีลอดมีประโยชน์และความดีมากมายสำหรับคนที่ถือศีลอดแต่พวกเขาไม่รู้ อัลเลาะฮ์ได้สื่ออะไรกับเรา
เมื่อเราวิเคราะห์แสวงหาความจริงในความโปรดปรานของพระองค์ พวกเราก็จะพบประโยชน์มากมายในระหว่างการถือศีลอด โดยเราจะพบว่าการถือศีลอดนั้นเป็นการฝึกให้เรา อดทนอดกลั้นต่อสภาวะแวดล้อมที่มีผลกระทบต่ออวัยวะทุกส่วนและจิตใจของเรา และการที่ต้องอดทนจากความหิวโหยโดยการอดกินอดดื่มนั้น ก็เพื่อมนุษย์จะได้เข้าใจในคุณค่าของอาหารที่พระเจ้าทรงประทานให้มาว่ามันมีคุณค่าสักเพียงไร ถ้าเราไม่ได้กินอาหารเราก็หิว เพื่อเราจะได้มีสำนึกในการกินอาหารอย่างมีคุณค่าและรู้จักประหยัดไม่ว่าเราจะมีฐานะอย่างไร ถ้าเราเป็นคนมีฐานะดีเราก็ต้องคิดถึงผู้ยากไร้ผู้ยากจนและผู้ขัดสน หน้าที่ของเราก็คือต้องทำบุญแบ่งปันทรัพย์สินบางส่วนของเราให้เป็นกุศลทานให้บุคคลที่ด้อยโอกาสกว่าเราให้เขามีโอกาสดำรงชีวิตอยู่ได้
และการถือศีลอดนั้นก็ยังเป็นการถนอมร่างกายของเราให้ได้รับการพักผ่อนปีละครั้งเพื่อสุขอนามัยที่ดีของร่างกาย เพราะร่างกายของเราจะได้รับทานอาหารอย่างมากมายมาตลอด 11 เดือน ดังนั้นในเดือนรอมฎอนหนึ่งเดือนเราจะกินอาหารเพียงน้อยนิดแต่จิตวิญญาณของเราจะได้รับอาหารอันเป็นกุศลทานมากมาย
ในความเป็นจริงของสังคมมุสลิมทั่วไปในปัจจุบันนั้น เจตนารมณ์ของผู้ถือศีลอดได้เปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายเดิม เพราะมีมุสลิมจำนวนไม่ใช่น้อยได้ถือศีลอดตามหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ปีละเดือนเพียงประการเดียวโดยมิได้คำนึงถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริง ดังนั้นมุสลิมจำนวนมากที่ถือศีลอดเมื่อมีความหิวจากการถือศีลอดก็จะนึกถึงแต่ตนเอง คือคิดถึงเรื่องอาหารการกิน คิดว่าเวลาละศีลอดวันนี้ตนอยากกินอะไร ผู้ถือศีลอดแต่ละคนจึงต้องแสวงหาอาหารเพื่อกักตุนไว้กินอย่างมากมายเกินความจำเป็นจนเหลือทิ้ง
เราจะพบว่าในช่วงระยะเวลาตลอดทั้งปีในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาจะมีอาหารหลายอย่างที่เราไม่มีโอกาสได้กินในวันปกติเพราะไม่มีผู้ทำมาขาย แต่เมื่อเข้าเดือนรอมฎอนก็จะมีร้านอาหารจำนวนมากมายในทุกพื้นที่ทุกชุมชนเปิดขายอาหารให้บริการแก่ผู้ละศีลอดโดยมีอาหารหลากหลาย จนทำให้ดูเสมือนว่า เดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนแห่งการถือศีลอดได้กลับกลายเป็นเดือน มหกรรมแห่งการกิน หรือ มหกรรมอาหารนานาชนิด เป็นเดือนที่แต่ละครอบครัวจ่ายเงินค่าอาหารมากกว่าเดือนปกติ
บุคคลที่ป่วยเป็นโรคบางโรคที่สามารถจะทุเลาได้ในเดือนรอมฎอนกลับต้องเป็นหนักขึ้น เช่น โรคเบาหวาน เพราะสาเหตุจากการกินขนมหวานมากเกินไป สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นประเพณีที่ทำลายวัฒนธรรมอันดีงามในหลักการอิสลามตามแบบอย่างของท่านศาสดาที่ได้ปฏิบัติ ดังนั้นถ้าเราประหยัดค่าใช้จ่ายในเดือนรอมฎอน เราก็จะเหลือเงินมากมายมาพัฒนาสังคม
ในเดือนธรรมดาวันหนึ่งเรากินอาหารปกติ 3 มื้อโดยประมาณ 100 บาท คือเช้า 30 เที่ยง 40 เย็น 40 แต่ในเดือนรอมฎอนเรากินเพียง 2 มื้อ เช้าและค่ำ เราจึงประหยัดมื้อเที่ยงได้หนึ่งมื้อ คือประหยัดได้วันละ 40 บาท คูณ 29 วัน เท่ากับ 1,160 บาทต่อคน ถ้าหนึ่งหมู่บ้านมีคน 1,000 คน เราก็จะมีเงินคงเหลือในหนึ่งหมู่บ้านประมาณ 1,160,000 บาทที่จะนำมาพัฒนาคนในหมู่บ้านได้อย่างดี วันนี้เรามี 2,000 กว่าหมู่บ้านในสามจังหวัดภาคใต้ เราจะพบว่าในเดือนรอมฎอนเดือนเดียว เราจะมีเงินพัฒนาคนของเราถึง 2-3 พันล้านบาท น่าคิดมากๆ
อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) มีเป้าหมายให้เราได้กินน้อยลงมีความประหยัดและบริจาคทานให้มากขึ้น พระองค์ได้บอกแก่เราว่าการถือศีลอดนั้นมีความดีอยู่มากมายแต่พวกเราไม่รู้
สำหรับเรื่องการอดกลั้นนั้น เป็นการอดกลั้นทั้งกาย วาจา ใจ ไม่พูดมาก และไม่พูดในสิ่งไม่สมควรพูด ไม่นินทาให้ร้าย ไม่มองสิ่งต้องห้าม ไม่ฟังสิ่งไร้สาระ เพื่อเป็นการฝึกเราให้ลดกิเลสตันหาความอยากมี ความอยากได้ ความเป็นเจ้าของให้บรรเทาเบาบางลงไปจากตัวของเรา และเป็นการฝึกความอดทนไม่เป็นคนขี้โมโหง่าย การถือศีลอดเป็นการฝึกให้เราเป็นคนใจดี พูดจาดี ไม่หูเบา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เป็นคนรู้จักให้อภัยคนที่ทำผิดและมอบความไว้วางใจทั้งหมดแด่พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ผู้ที่มีอำนาจและความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง
ความดีในอิสลามมีมากมายที่สามารถเป็นแบบอย่างกับประชาชาติอื่นได้ แต่เมื่อมันไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างแล้ว เราจะบอกกับคนทั่วไปได้อย่างไรว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีแบบอย่างที่ดีสมกับคัมภีร์กุรอานได้กล่าวว่ามุสลิมเป็นประชาชาติที่ดีเลิศ
อีกคุณค่าหนึ่งในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่กุรอานถูกประทานลงมายังฟากฟ้าครั้งเดียวทั้งหมด และพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ให้มาลาอีกะฮที่ชื่อ ญิบรออีล ได้ทยอยนำโองการต่างๆ เหล่านั้นไปแจ้งแก่ นบี มูฮัมมัด เพื่อให้นำมาตักเตือนเผยแพร่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชาติทั้งหลาย เพื่อให้มนุษย์ดำรงไว้ซึ่งความภักดีต่อพระผู้สร้างและให้มนุษย์นั้นมีคุณธรรม เราจึงควรอ่านอัลกุรอานให้มากๆ เพราะการอ่านอัลกุรอานจะเป็นผลบุญแก่เราทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ท่านศาสดาได้กล่าวว่า ผู้ที่ถือศีลอดและอ่านอัลกุรอานในเดือนรอมฎอนนั้น อัลเลาะฮ์ (ซ.บ) จะให้ความอนุเคราะห์แก่เขาในวันสิ้นโลก และเช่นเดียวกันในเดือนรอมฎอนท่านศาสดาเองก็จะอ่านกุรอานทบทวนกับท่านญิบรีน (เทวทูต) และกุรอานจะเป็นเพื่อนของผู้ที่อ่านกุรอานเป็นประจำเมื่อเขาได้ไปจากโลกนี้ไปอยู่ในกุโบร์ (สุสาน)
เมื่อมนุษย์ตาย
ขณะที่พี่น้องยุ่งอยู่กับการเตรียมอุปกรณ์ทำศพ
จะมีชายคนหนึ่งที่สง่างาม
ยืนข้างๆ ศีรษะศพของเขา
และขณะที่ห่อศพนั้น ชายผู้นั้นจะเข้าไปในผ้าห่อ และในใจของศพ
เมื่อฝังศพเสร็จ ผู้คนจะพากันกลับบ้าน มะลาอิกะฮ์ มุงกัร นากีรจะมา
มะลอิกะห์ทั้งสองพยายามที่จะแยกชายที่สง่านั้น ออกจากศพ เพื่อทำการสอบสวนผู้ตายเกี่ยวกับเรื่อง อีหม่าน
แต่ชายที่สง่านั้นตอบว่า
เขาเป็นเพื่อนฉัน.ฉันจะไม่ทิ้งเขา ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ทั้งนั้น
หากพวกท่านถูกมอบหมายให้สอบสวนเขา ก็จงทำไป แต่ฉันไม่สามารถที่จะทิ้งเขา
แล้วชายที่สง่างามนั้นก็เข้าไปใกล้เพื่อนเขาที่เป็นศพแล้วกล่าวว่า
ฉันคือกุรอานที่ท่านนั้นเคยอ่านเสียงดังในบางครั้ง เสียงค่อยในบางครั้ง
ท่านไม่ต้องกลัว หลังจากที่ มุงกัร นากีร สอบสวนแล้ว ท่านจะไม่เสียใจอีกหลังจากนั้น
เดือนรอมฎอนจึงเป็นเดือนที่พระเจ้าต้องการให้มุสลิมขัดเกลาตนเองให้รู้จักการเป็นผู้ให้และรักผู้อื่นเหมือนอย่างกับที่เราต้องการให้พระผู้เป็นเจ้ารักเราและให้ในสิ่งที่เราปรารถนา ดังนั้นขอให้พวกเราทุกคนจงมาเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นมุสลิมที่มีแบบอย่างที่ดีกับศาสนิกอื่นตามเจตนารมณ์ของศาสนาอิสลาม โดยเริ่มจากเดือนรอมฎอนปีนี้ และขออภัยโทษต่อพระองค์ให้มากๆ เพื่อได้รับความเมตตาจากพระองค์
เพราะเป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์ก็คือสวนสวรรค์ของพระองค์ที่มีให้สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงเมตตา...วัสลาม