ภาพที่ 1ทช.ระบุพบวาฬบรูด้าใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะห่างฝั่งเพียง 5 กม. อีกทั้งจากการสำรวจยังพบมีจำนวนมากขึ้น เตือนชาวประมง ระมัดระวัง พร้อมแจ้งพิกัด
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ดำเนินการสำรวจการแพร่กระจายของวาฬบรูด้า บริเวณอ่าวไทยตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบวาฬบรูด้าหากินอยู่ในอ่าวไทยตลอดทั้งปี โดยระยะเวลาที่พบจำนวนมากที่สุด อยู่ระหว่างเดือน เม.ย. ถึง ต.ค.ของทุกปี วาฬบรูด้าแม้จะตัวใหญ่มากมีความยาวลำตัวประมาณ 14-15 เมตรและน้ำหนักตัว 20 ตัน ปกติจะกินอยู่ใกล้ชายฝั่งอยู่ห่างฝั่งประมาณ 4-20 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 4-10 เมตร อาหารสำคัญของปลาวาฬบรูด้า คือ ปลากะตัก
อธิบดี ทช.กล่าวต่อว่า ในปี 2555 นี้ ทช. ได้สำรวจพบวาฬบรูด้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และพบวาฬบรูด้าจำนวนมากที่สุด จากการสำรวจระหว่างวันที่ 8-13 ก.ค. 2555 บริเวณอ่าวไทยตอนใน การสำรวจประชากรและศึกษาพฤติกรรมโดยวิธี Photo-ID ใช้ตำหนิต่างๆ บนลำตัว หัว และในปาก โดยเฉพาะตำหนิสำคัญที่ครีบหลังในการจำแนกความแตกต่าง และระบุอัตลักษณ์ของแต่ละตัว ในเดือนกรกฎาคมนี้ พบวาฬบรูด้าทั้งหมดจำนวน 30 ตัว เป็นตัวที่เคยพบและตั้งชื่อให้แล้ว 20 ตัว และตัวใหม่อีก 10 ตัว วาฬหลายตัวในจำนวนนี้หากินประจำถิ่นในอ่าวไทยมานานอย่างน้อย 4-5 ปีแล้ว บางตัวพบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551
นายบุญชอบ กล่าวอีกว่า ในครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างมากที่พบฝูงวาฬบรูด้าหากินอยู่ใกล้ชายฝั่ง ของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะห่างฝั่งเพียง 5 กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมีการพัฒนาชายฝั่งไปอย่างมาก และมีกิจกรรมต่างๆ มากมายตลอดเวลาก็ตาม ทั้งการประมงและการคมนาคม ขนส่งทางทะเล แต่บริเวณดังกล่าวก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และอาหารของวาฬบรูด้า ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมชนิด สำคัญของอ่าวไทยตอนใน ได้แก่ วาฬบรูด้า และโลมาอิรวดี อย่างไรก็ตาม ทช.ขอความร่วมมือมายังพี่น้องชายฝั่งทะเล ชาวประมง รวมทั้งผู้เดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สัญจรไป-มาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดให้ความระมัดระวังฝูงวาฬบรูด้า ที่กำลังหากินอยู่ในขณะนี้ และสามารถแจ้งพิกัดการพบเห็นวาฬได้โดยตรงกับ ทช.