คันทะเล (Saltwater rod)
คันเบ็ดสำหรับตกปลาทะเลโดยเฉพาะ ถ้าจะแยกประเภทใหญ่ๆ ก็จะมีอยู่เพียง 3 ประเภทคือ
1.คันโบ้ท (Boat rod) เป็นคันเบ็ดสำหรับตกปลาบนเรือที่ต้องการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหวตลอดเวลา
2.คันสแตนด์-อัพ (Stand-up rod) เป็นคันเบ็ดสำหรับการตกปลา หรือยืนสู้ปลาบนเรือ
3.คันทรอลลิ่ง (Trolling rod) เป็นคันเบ็ดสำหรับงานลากเหยื่อ
1.คันโบ้ท (Boat rod)
เป็นคันเบ็ดสำหรับตกปลาบนเรือที่ต้องการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหวตลอดเวลา ลักษณะทั่วๆ ไปเหมือนกับคันเบทคาสติ้ง เพราะเป็นคันเบ็ดที่นักตกปลา เรียกว่าคันที่ใช้กับรอกขวาง ซึ่งมักนิยมใช้คู่กับรอกเบทคาสติ้งขนาดใหญ่ หรือแม้นใช้กับรอกทรอลลิ่ง นักตกปลาบางรายนำคันโบ้ทมาใช้ลากเหยื่อ หรือการทรอลลิ่ง เป็นการแก้ขัดก็ย่อมได้ แต่มีผลเสียที่การเสียดสีของสายเบ็ดกับไกด์ และทำให้สายเอ็นแบนได้ง่าย นอกจากนี้อาจทำเกิดการสูญเสียโอกาสสำคัญได้หากว่าโดนปลาเข้าชาร์ทเหยื่ออย่างรวดเร็วและรุนแรง เพราะคันโบ้ทไม่ได้ออกแบบมาใช้กับงานลากเหยื่อคือไม่ทนต่อแรงฮุคกระชากเท่ากับ คันทรอลลิ่ง คันโบ้ทมักใช้ถือตกจึงเป็นคันที่เบาและเล็กกว่าคันทรอลลิ่ง ด้ามทำด้วยยาง ฐานรอกเป็นกราไฟท์ ก็เพียงพอ วัสดุที่ใช้ทำคันโบ้ทก็เหมือนๆ กับที่ใช้ทำคันสปินนิ่ง หรือเบทคาสติ้ง แต่โดยปกติคันโบ้ทจะสั้นกว่า คือมีความยาวอยู่ในช่วง 5-5.5 ฟุต มักจะเป็นคันท่อนเดียวแอ็คชั่นของคันใกล้เคียงกับคันทรอลลิ่ง คันโบ้ท พอจะแยกตามขนาดได้คร่าวๆ ได้ดังนี้
- ขนาดเบามาก หรือ 2/O - - 12 ปอนด์
- ขนาดเบา หรือ 3/O - - 20 ปอนด์
- ขนาดกลาง หรือ 4/O - - 30 ปอนด์
- ขนาดมาตรฐาน หรือ 5/O - - 50 ปอนด์
- ขนาดใหญ่ หรือ 6/O - - 60 ปอนด์
คันโบ้ทส่วนใหญ่จะใช้ไกด์บนคันเป็นไกด์วงแหวนกลม และมีขนาดเล็ก แต่มีจำนวนหลายตัวเช่นเดียวกับคันเบทคาสติ้ง นักตกปลาทั่วไปนิยมใช้ตกปลาเกมหน้าดิน และปลาเกมกลางน้ำ หรือผิวน้ำ คันโบ้ทขนาดตั้งแต่ 3/O ขึ้นไป จะทำเป็นแฉกที่ส่วนโคนของด้ามจับ (Gimball) สำหรับใส่กับเข็ดขัดสู้ปลา และบางรุ่น หรือบางยี่ห้อสามารถถอดด้ามจับออกได้เพื่อสะดวกต่อการพกพา
2.คันสแตนด์-อัพ (Stand-up rod)
บางคนเรียกว่า คันทรอลลิ่งด้ามสั้น เป็นคันเบ็ดที่ออกแบบมาเพื่อใช้ตกบนเรือเช่นกัน ถ้าดูตามชื่อคันเบ็ดชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อให้ยืนสู้กับปลา คุณสมบัติพิเศษของคันประเภทนี้ คือมีพลังในการอัดปลา หรือการดีดตัวกลับของคันสูงกว่าคันทรอลลิ่งทั่วไปอยู่ประมาณ 25-30% ไกด์ของคันชนิดนี้มีทั้งแบบลูกล้อ (Roller guide) และไกด์ลูกล้อผสมไกด์วงแหวน ที่ว่า ผสมคือไกด์ปลายสุด (Tip Top) และไกด์หน้ารอกจะเป็นแบบลูกล้อ ส่วนไกด์ตรงกลางๆ จะเป็นแบบวงแหวน แต่ถ้าเป็นไกด์ชนิดลูกล้อทั้งหมดจะได้รับความนิยมกว่า คันสแตนด์-อัพ มีลักษณะคล้ายคลึงกับคันทรอลลิ่งมาก จุดที่พอสังเกตุได้คือคันสแตนด์-อัพ ด้ามคันสั้นมาก แต่ตัวมือจับด้านบน (Fore grip) กลับยาวมาก คือยาวกว่าด้ามคันเบ็ดถึง 2 เท่าก็มี ทำให้นักตกปลาได้เปรียบในการเลื่อนมือไปจับด้ามเบ็ดตรงจุดใดก็ได้ยิ่งช่วงอัดกับปลาอยู่นั้นสามารถเลื่อนมือไปเกือบสุดมือจับเลยทีเดียว แต่กรณีนี้หากใช้เข็มขัดสู้ปลาแบบคาดเอว การเลื่อนมือไปไกลสุดจะทำได้ยากและเมื่อยล้าเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นเขาจึงเลื่อนเข็มขัดสู้ปลาให้ตัวรองรับปลายด้ามคันเบ็ดไปอยู่แถวๆ หน้าขาของผู้ใช้
3.คันทรอลลิ่ง (Trolling rod) หรือคันลากเหยื่อ
เป็นคันคล้ายๆ กับคันสแตนด์-อัพ แต่แอ็คชั่นมีความกระด้างกว่า มีเอกลักษณ์ประจำตัวโดดเด่นจากคันเบ็ดประเภทอื่นๆ เช่น ตัวคันเบ็ดสั้นประมาณ 5-7 ฟุต เป็นหลัก แต่ขนาดของคันค่อนข้างใหญ่ และแข็งแรง ตัวไกด์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบลูกล้อ (Rooler guide) อาจมีไกด์วงแหวน (Ring guide) ใช้บ้างในคันทรอลลิ่งขนาดเล็กถึงปานกลางเพื่อความประหยัดตัวด้ามคันเบ็ดส่วนมากทำด้วยโลหะประเภทอะลูมินั่ม ส่วนชนิดที่ทำด้วยยางสังเคราะห์จะใช้กับคันราคาปานกลาง และคันสแตนด์-อัพ แต่มีสิ่งหนึ่งที่คันทรอลลิ่งไม่ว่าราคาถูกหรือแพงต้องมีเหมือนๆ กัน นั่นคือโคนด้ามเบ็ดจะต้องเป็นแฉก 4 แฉก หรือ ที่เรียกว่า Gimbal ปลายแฉกที่ว่านี้เป็นโครงสร้างท้ายสุดของโคนคันเบ็ด ซึ่งมักจะถูกห่อหุ้มด้วยปลอกพลาสติก (Butt cap) อีกทีหนึ่ง (กันการกระแทกขณะนำพา) จุดประสงค์เพื่อให้ลงล็อคกับล็อคในกระบอกพักคัน หรือเบ้าของเข็มขัดสู้ปลา (ซึ่งก็เรียก Gimbal เหมือนกัน) และเก้าอี้สู้ปลา คันทรอลลิ่งที่ใช้กับเก้าอี้สู้ปลาโดยเฉพาะ จะมีส่วนด้ามคันโค้งประมาณ 40-50 องศา เรียกว่า เคอร์ฟ บัทท์ (Curved butt) เพื่อช่วยเพิ่มมุมในการโยกคันเบ็ดให้กว้างขึ้นกว่าด้ามตรง
ขอขอบคุณเจ้าของข้อมูลครับ
เครดิด ammareen