ภาพที่ 1วิธีการขับรถฝ่าน้ำท่วม
ในช่วงที่ฟ้าระห่ำแบบไม่มีวี่แววว่าจะเลิกง่ายๆ แบบนี้
ผู้ใช้รถ ใช้ถนน ส่วนใหญ่คงต้องขับรถฝ่าฝน ฝ่าน้ำท่วมขังกันบ้าง
ซึ่งถือเป็นการขับรถที่อันตรายมากที่เดียว อันตรายต่อผู้ขับ และอันตรายต่อตัวรถอีกด้วย
มาดูว่าเรามีวิธีอย่างไรในการถนอมรถนะคะ
3 สิ่งไม่ควรทำเมื่อขับรถบนถนนน้ำท่วม
1. เปิดแอร์
ห้ามเปิดแอร์เด็ดขาด!! เพราะเมื่อเปิดแอร์ พัดลมจะทำงาน ชี้ให้มีโอกาสพัดน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่องของรถคุณได้ ซ้ำแล้วอาจจะพัดเอาขยะ เข้ามาติดพัน หรืออาจหักไปเลยก็ได้ เมื่อนั้นก็ถึงคราวเศร้าล่ะค่ะ เพราะจะทำให้เครื่องยนต์ดับ ควานหาไม้พายตอนนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว
2. ใช้เกียร์สูง ขับรถเร็ว
ควรใช้เกียร์ต่ำประมาณเกียร์ 2 สำหรับเกียร์ธรรมดา หรือประมาณเกียร์ L สำหรับออโต้ ถึงตอนนี้ก็อย่าขับเร็วด้วยนะคะ ค่อยเป็นค่อยไปใจเย็นๆ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อคุณเองหรือคนรอบข้างได้ เพื่อป้องกันการเกิดคลื่นน้ำที่ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นบางจังหวะ อาจทำร้ายเครื่องได้ค่ะ
3. เร่งเครื่อง
เพราะจะทำให้รถมีความร้อนสูง จนใบพัดระบายความร้อนเริ่มทำงาน และสิ่งที่จะตามมาก็เหมือนกับข้อ 1 เลยค่ะ นอกจากนั้นควรใช้ความเร็วสม่ำเสมอ อย่าหยุดอย่าเร่งความเร็วขึ้น (ตามกรณีนะคะ ถ้ารถคันหน้าหยุด ก็หยุดเถอะค่ะ)
3 สิ่งควรทำหลังจากลุยน้ำมา
1. สตาร์ทรถทิ้งไว้สักพัก
ไม่ควรดับเครื่องทันที ถึงแม้ถึงจุดหมายก็ตาม เพราะอาจมีน้ำค้างอยู่ในหม้อพักของท่อไอเสีย ควรสตาร์ทรถทิ้งไว้สักพัก อาจจะมีไอออกจากท่อไอเสีย ก็ไม่ต้องตกใจค่ะ เพื่อให้น้ำในหม้อพักมันระเหยออกไป ถ้าไม่ทำอย่างนี้อาจจะผุได้นะคะ
2. สำหรับเกียร์ออโต้
ให้ย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำก่อน เพราะในช่วงแรกๆ หลังจากการลุยน้ำลึกมา มันจะเบรกไม่อยู่ และเป็นอันตรายมาก ถ้าไม่ทำการย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำออกจากระบบเบรก
3. สำหรับเกียร์ธรรมดา
นอกจากย้ำเบรกแล้ว ต้องมีการย้ำคลัชด้วย เพราะหลังการลุยน้ำมา อาจมีปัญหาคลัชลื่น จึงต้องทำทั้งย้ำคลัชและย้ำเบรก
ทราบอย่างนี้แล้ว อย่าลืมที่จะบอกต่อคนที่คุณห่วงใย หรือโทรย้ำเตือนคนข้างๆ คุณด้วยนะคะ
ขับรถปลอดภัยกันทุกคนค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์
ภาพที่ 2ปภ.แนะวิธีปฏิบัติตนช่วงน้ำท่วมอย่างปลอดภัย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำหรือลงเล่นน้ำ ระมัดระวังอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร สัตว์มีพิษ และโรคติดต่อในช่วงน้ำท่วม พร้อมจัดเวรยามเฝ้าระวัง ติดตามการพยากรณ์อากาศ และสังเกตสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ทันที
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สภาพหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนกลางจะเคลื่อนตัวไปทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกและทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยใน 7 จังหวัดภาคใต้ 63 อำเภอ 316 ตำบล ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 970,000 คน ดังนั้น เพื่อให้การดำรงชีวิตท่ามกลางสถานการณ์อุทกภัยเป็นไปอย่างปลอดภัยและป้องกัน อุบัติภัยที่มักเกิดในช่วงน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะนำวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย ดังนี้
หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำในที่น้ำท่วม พายเรือเข้าใกล้เสาไฟฟ้า เพราะอาจเกิดไฟฟ้าดูด
ไม่อยู่ใกล้ทางน้ำไหลหรือร่องน้ำ เพราะอาจเกิดดินถล่ม
ควรย้ายปลั๊กไฟ และสวิตซ์ไฟ ให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำท่วมถึง
ตัดกระแสไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดเสียชีวิต
หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ จับปลาในบริเวณที่น้ำท่วมขังหรือทางน้ำไหลผ่าน เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากอาจพัดจมน้ำเสียชีวิต
บ้านที่มีเด็กเล็กควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ปล่อยให้บุตรหลานไปเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด
ระมัดระวังสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง ที่อาจหนีน้ำขึ้นมาอาศัยอยู่ในบ้านเรือนบริเวณใต้ตู้ รองเท้า เสื่อ ผ้าเช็ดเท้า
จัดเก็บข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษแอบอาศัยอยู่ภายในบ้าน
ควรเพิ่มความระมัดระวังโรคติดต่อที่มักเกิดบ่อยครั้งในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ โรคฉี่หนู อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคตับอักเสบ ตาแดง และไข้เลือดออก
ควรบริโภคน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่สุกและสดใหม่
หากต้องเดินลุยน้ำให้สวมใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษและการถูกตะปูตำ สังกะสีบาด
กรณีที่ต้องเดินลุยน้ำตอนกลางคืน ควรพกไฟฉายติดตัว
ห้ามเดินตามความเคยชินอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้โดยไม่รู้ตัว
ควรดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงและอบอุ่นตลอดเวลาจะช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่าง กายและโรคระบาดต่าง ๆ
ควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ไม่ยืนในน้ำและใช้มือจับสายไฟอย่างเด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรได้ หากไม่มีความรู้ในการซ่อมแซมเครื่องไฟฟ้าห้ามใช้อย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายได้
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนก ปฏิบัติตามคำเตือนของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด สังเกตสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติ หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ระดับน้ำในห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับภูเขา มีเสียงดังผิดปกติมาจากภูเขาหรือลำห้วย สัตว์ป่าแตกตื่น น้ำท่วมและเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้รีบอพยพออกจากพื้นที่ไปยังพื้นที่ปลอดภัยตามเส้นทางที่กำหนดในทันที
ท้ายนี้ หากประชาชนเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติ ด้วยความใส่ใจ และตื่นตัวที่จะรับฟังพยากรณ์อากาศ วางแผนอพยพหนีภัย ร่วมกันกำหนดจุดปลอดภัย ตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ จะช่วยลดความรุนแรง ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติได้ หากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสาย ด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ภาพที่ 3วิธีหุงข้าวสวยให้เก็บไว้ได้หลายวันโดยไม่บูด
ตอนนี้พื้นที่น้ำท่วมเยอะมาก
บางที่ท่วมจนไม่สามารถจะทำอาหารได้ หรือไม่มีอุปกรณ์เพราะน้ำพาไปหมด
ของที่บริจาคช่วยน้ำท่วมที่เราเห็นเยอะคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือข้าวสาร ซึ่งต้องทำให้สุกก่อนทาน
หรือจะเป็นอาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องอย่าง ปลากระป๋องซึ่งทานอย่างเดียวก็ไม่อิ่มท้อง
ข้าวสวยบรรจุกระป๋อง ก็มีราคาแพงและน้อย
ที่บ้านเรา เวลาหุงข้าวสวย จะใส่น้ำส้มสายชูลงไปด้วย
ข้าวสาร 3 กระป๋อง ใช้น้ำส้มสายชูประมาณ 1 ช้อนชา ซึ่งจริงๆก็กะเอาค่ะไม่ได้ตวง
ข้าวสวยที่หุงโดยการเติมน้ำส้มสายชูลงไป สามารถอยู่ได้โดยไม่บูดหลายวัน
เราเคยหุงแล้วตักมาทาน แล้วปิดฝาทิ้งไว้ ลืมไป 4 วัน มาเปิดหม้อดูอีกที ก็ไม่บูดค่ะ ไม่แฉะด้วย
เราทดลองหุงแล้วตักมาทาน แล้วปล่อยทิ้งไว้คาหม้อ 4-5 วัน มาไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งแล้วค่ะ เพื่อพิสูจน์ว่ามันจะไม่บูดจริงๆ โดยเปิดฝาดูทุกวัน
ข้าวที่หุงทิ้งไว้ 4-5วัน เราก็เอามาทานจริงๆ ไม่มีกลิ่นบูด ไม่แฉะ
เราเลยคิดว่า อยากให้หุงข้าวด้วยการเติมน้ำส้มสายชูดังกล่าว
แล้วบรรจุถุงแกง อาจจะรัดด้วยหนังยางหรือซีลด้วยเครื่องซีลถุง
เอาไปบริจาคให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซึ่งไม่สามารถประกอบอาหารได้
ทานข้าวสวยกับปลากระป๋อง อร่อยและอิ่มท้องกว่าทานปลากระป๋องอย่างเดียวค่ะ
ส่วนตัวเราเอง ตอนนี้ทยอยหุงข้าวแล้ว pack ใส่ถุงพลาสติกเก็บไว้เป็นเสบียงแล้วค่ะ
เพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำจะเข้าท่วมในอีก2-3วัน เก็บของเตรียมพร้อมเรียบร้อย
เอกสารสำคัญ ยา อาหาร ของจำเป็นในการดำรงชีวิต พร้อมลุย ไม่ต้องรอถุงยังชีพ
วิธีเตรียมน้ำดื่ม"ปลอดภัย" ในภาวะวิกฤตน้ำท่วม
สิ่งที่ต้องเตรียม
1.ขวดน้ำพลาสติคใส ที่ดื่มน้ำหมดแล้วพร้อมฝาที่ปิดได้แน่นสนิท ขนาดไม่เกินสองลิตร เมื่อวางนอนแล้วความหนาที่แสงอาทิตย์ผ่านไม่เกิน 10 ซม. ขวดยิ่งชลูดยิ่งดี รังสีดวงอาทิตย์จะได้ทะลุทะลวงได้มาก พลาสติคไม่เก่าหรือมีรอยขีดข่วนมากเกินไป เพราะรังสีจะผ่านได้ไม่ดี ภายในขวดสะอาด แกะพลาสติคภายนอกออกหมด
2. แหล่งน้ำสะอาดที่สุดเท่าที่จะหาได้ วิธีนี้ใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ดี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในภาวะปกติ ครัวเรือนที่ดื่มน้ำฝน ถ้าต้องการประหยัดพลังงานและทุกคนในบ้านแข็งแรงดี อาจจะใช้วิธีนี้แทนการต้มก็ได้
3. ถ้าน้ำขุ่นควรมีผ้ากรองตะกอนดิน เช่น ผ้าขาวบาง หรือผ้าขาวม้าสะอาดหลายๆ ชั้น เมื่อกรองได้ที่บรรจุน้ำเต็มขวด เปิดฝาวางทับหนังสือพิมพ์รายวันหน้าแรก ควรจะสามารถมองลงไปก้นขวด อ่านพาดหัวข้อข่าวรองได้ (ตัวอักษรในแนวหลักขนาด 3.5 ซม.)
4. บริเวณที่จะวางขวดตากแดดที่ร้อน โดยเฉพาะถ้ามีโลหะเช่นแผ่นสังกะสีลูกฟูก หรือ อะลูมิเนียมจะดีมาก
วิธีการเตรียม
1.กรองน้ำที่หาได้ กรอกลงขวดให้ได้ประมาณ 3 ใน 4 ขวด
2.เขย่าแรงๆ อย่างน้ำ 20 ครั้ง ให้อากาศ (ออกซิเจน) ผสมกับน้ำให้ทั่ว
3.เติมน้ำให้เต็มขวด ปิดฝาแน่นสนิท
4.วางขวดในแนวนอน ตากแดดตามข้อ 4 ข้างบนทิ้งไว้ อย่าพยายามขยับขวดโดยไม่จำเป็น เพื่อให้ออกซิเจนไม่แยกตัวจากน้ำ ตากแดดโดยใช้เวลา
- 2 ชั่วโมงถ้าแดดจัด พื้นที่วางเป็นโลหะและน้ำค่อนข้างใส
- 6 ชั่วโมงบนพื้นกระเบื้องหรือซีเมนต์
- 2 วันถ้ามีเมฆมาก
ถ้าฝนตกตลอดแดดไม่ออกเลย ให้รองน้ำฝนดื่มแทน
น้ำในขวดดังกล่าวนำไปดื่มได้เลย หรือจะเก็บไว้ดื่มในภายหลังก็ได้ แสงแดด ความร้อน และออกซิเจนจะทำปฏิกิริยากันฆ่าเชื้อโรคทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ 99.9% แต่อาจจะมีสาหร่ายเซลเดียวซึ่งทนรังสียูวีและความร้อนซึ่งอาจจะจับตัวเป็นตะไคร่น้ำในขวดได้ถ้าเก็บขวดไว้นาน แต่น้ำที่มีสาหร่ายเหล่าไม่มีอันตรายต่อผู้ดื่มทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันปกติ
หมายเหตุ
1.เทคโนโลยีง่ายๆ ที่วิจัยและพัฒนาโดยองค์การนานาชาติ www.sodis.ch นี้ ฆ่าเชื้อโรคโดยพลังแสงแดด ซึ่งมี รังสียูวี + รังสีความร้อน + อนุมูลออกซิเจนและโอโซน ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างออกซิเจนที่เราผสมน้ำระหว่างเขย่าขวด เหมือนน้ำบรรจุขวดขายซึ่งผ่านรังยูวี หรือ โอโซน ในระดับที่เข้มข้น
2.ขวดน้ำใส PET หรือ Poly Ethylene Terephthalate (โพลีเอทธิลีนเทเรฟทาเลต) ที่ตากแดดในระดับนี้ ปลดปล่อยสารเคมีน้อยมาก ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่เหมือนวัสดุประเภท PVC ทุกวันนี้เราก็ดื่มน้ำบรรจุขวด PET กันอยู่แล้ว
เรียบเรียงสำหรับชาวบ้านโดย ศ.นพ.ดร.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยา และผู้อำนวยการสถาบันและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จากมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553