สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 22 ธ.ค. 67
“ ความสุขอีกอย่างของ นักตกปลา “ : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 19 - [14 ก.ย. 50, 18:31] ดู: 4,795 - [17 ธ.ค. 67, 20:18] โหวต: 9
“ ความสุขอีกอย่างของ นักตกปลา “
หมีพูห์ (661 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
14 ก.พ. 50, 16:54
1
“ ความสุขอีกอย่างของ นักตกปลา “
ภาพที่ 1
“ ความสุขอีกอย่างของ นักตกปลา “

.....คำว่าความสุข  ใน นัยยะแห่งความรู้สึกของผม คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก  คือ  อะไรก็แล้วแต่ ที่เราได้ สัมผัส ได้ทำ ได้คิด ยึดติด กับมันแล้ว ทำให้เรารู้สึกดี อิ่มเอมใจ ภาคภูมิใจ หรือ รู้สึก ชอบ  นั่นน่าจะเรียกได้ว่า ความสุข  ผมยังคงเป็นคนตกปลาที่แสวงหาความสุขกับการพักผ่อนจากการตกปลา ไม่เคยคิดเอา การตกปลามาเป็นอาชีพ ไม่เคยคิดเอา การตกปลา มาเป็น การสนองความเป็นซาดิสม์ หรือ ไม่ได้ เอาการตกปลามาเป็นข้ออ้างในการ ออกห่างจากภรรยาเพื่อไปหาสาว ๆ  แต่ผมจะเขียนบทความนี้ โดย เรียกรวม ๆ ว่าท่านทั้งหลายที่ชอบตกปลา  ว่าเป็น นักตกปลา ก็แล้วกันนะครับ
.....เมื่อไปตกปลาทุกครั้ง ผมมักจะหอบข้าวของ พะรุงพะรัง เข้าบ่อ จน ใคร ๆ ที่เห็น หรือแม้แต่เจ้าของบ่อ มักแซวเสมอว่า  หอบอะไรนักหนา  กะจะค้างคืนเลยหรือไง  ผมก็ได้แต่ตอบว่า  ผมเป็นคนที่ มักไม่หวังเอาอะไรข้างหน้า เอามาให้พร้อมเลยดีกว่า เกิดอะไรเสียหาย จะได้ไม่ต้องเสียเวลากลับไปเอาที่บ้าน เสียเวลาตกปลา ยิ่งมีเวลา น้อย ๆ อยู่  ด้วยค่าที่ว่า ผมเป็นคนที่มีเวลาได้ออกตกปลาน้อยเต็มที เลยเป็นคนอย่างนี้  มักจะเอา คันเบ็ดไปทีละสี่ห้าคัน ทั้งที่ลงทะเบียน คัน หรือ สองคันเป็นอย่างมาก  ส่วน รอก จะเอาไปครั้งห้าหกตัวเป็นอย่างน้อย  เอาไปเผื่อ ๆ เปลี่ยนเล่น หรือเผื่อ ตัวที่ใช้ประจำชำรุดเสียหาย จะไม่ต้องซ่อมตอนนั้น คือ เปลี่ยนตัวเล่นไปก่อนเลย แล้วเอาตัวที่ชำรุดไปซ่อมที่บ้าน หรือ เผื่อที่ เอ็นขาดไป เหลือน้อย หรือ ฟู่แก้ไม่ออก ก็เปลี่ยนรอกไปเลย ก็เพราะเวลามันน้อย  ข้ออ้างเดิม ๆ อีกนั่นแหล่ะ  ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ต้องพูดถึง มีเพียบจนไม่ต้องซื้ออะไรเพิ่มไปอีกนาน ด้วยความที่คิดว่า เหลือดีกว่าขาด นั่นแหล่ะ เลยเป็น บ้าหอบฟาง ทุกครั้งที่ไปตกปลา บางทีก็อายเค้านะ แต่มันก็คือความสุข จริงไม๊  วันนี้ก็เลยมากล่าวถึง ความสุข อีกอย่างของนักตกปลา  ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ ผมไม่สน  แต่ผมมั่นใจว่า ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ครับ
.....ความสุข ของนักตกปลา แน่นอน ก็คือ การได้ไปตกปลาไงล่ะ หลาย ๆ คนอาจจะบอกเช่นนั้น  ใช่ ถูกต้องอย่างไม่มีข้อโต้เถียงครับ  แล้ว ถ้าหากท่านไม่ได้ไปตกปลาล่ะ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ อย่างเช่น เมียห้าม วันหยุดนี้ เธอต้องอยู่กับฉัน  หรือ  วันหยุดทั้งที มีเวลา แต่ดันตรงกับวันพระ หรือ นัดเพื่อนไว้แล้ว เพื่อนเบี้ยว เลยไม่อยากไป หรือ จะไปตกปลาอยู่แล้ว รถ ดันมาเสีย  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผล ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีใครสามารถรู้ได้ล่วงหน้า หรือถึงรู้ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ดีไปกว่า นั่ง ๆ นอน แกร่วอยู่กับบ้าน หรือ ไปทำอะไรอย่างอื่น  ทีนี้หากท่านนักตกปลาบางคนที่ไม่อยากไปไหน ในวันอย่างนี้ จะทำอะไรดีล่ะครับ  มาเลยผมจะแนะนำให้ครับ...
.....หลาย ๆ ท่าน แค่ที่จะได้ ยืนมอง อุปกรณ์การตกปลา อาทิ รอกนา ๆ ชนิด นา ๆ ยี่ห้อ ที่วางอยู่ในตู้โชว์  คันเบ็ดหลาย ๆ ขนาด ที่วางพิงอยู่ ณ สแตนด์ วางคันเบ็ด ได้หยิบมันเหล่านั้นขึ้นมา ลูบคลำ หรือ เอาคันเบ็ด มา กวัดแกว่งเล่น หรือ เอารอกมาหมุนเล่น ๆ มองดูแล้ว มีความสุข  หรือ หยิบ กล่องอุปกรณ์ มาปัดกวาดเช็ดถู ดูสิ่งละอันพันละน้อยที่มีอยู่ว่า ครบถ้วนหรือไม่ มีอะไรพร่องไปบ้างจะได้ซื้อเพิ่มเติม  ก็ได้ความสุขยามว่าง ๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  และเหล่านั้นก็เป็นวิธีนึงที่จะหาความสุขได้
เกริ่นมาซะนาน  มาถึงสิ่งที่ผมจะแนะนำดีกว่า สิ่งนี้ทำให้เกิดความสุขได้จริง ๆ ผมเชื่อว่า...หากท่าน ลองได้ทำดู แล้วท่านจะมีความสุข แล้วอย่าลืม ขอบคุณ ผมในใจ ก็เพียงพอครับ...
สิ่งที่จะให้ทำก็คือ การ ลองเอา อุปกรณ์ชุดเก่งของคุณ ออกมา ทำความสะอาดอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เช็ดแต่ภายนอกแล้วเก็บใส่ถุงใส่กล่อง เหมือนตอนเลิกตกปลานะครับ เอากันแบบจริง ๆ จัง ๆ หน่อย  มันไม่มีอะไรยากเกินความพยายามหรอกครับ
.....ขั้นแรก เตรียมหาอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ สำหรับ แกะมันซะก่อน  ผมจะแนะนำ อุปกรณ์เครื่องมือ เบื้องต้น ง่าย ๆ กันก่อนนะครับ  เพราะ สิ่งเหล่านี้ มีไว้แล้วได้ใช้ประโยชน์ไปจนรอกพังกันเลยครับ  ก็มี  คีมปากจิ้งจก  ประแจปากตายชุดเล็ก (ขายเป็นชุดมีหลาย ๆ เบอร์) ไขควงชุดขนาดพอประมาณ ไขควงชุดเล็ก  ๆ แบบซ่อมนาฬิกา ปากคีบ น้ำมันจักร จารบี กล่องใส่อะไหล่เล็ก ๆ  คัตเตอร์  ผ้านุ่ม ๆ กระดาษทิชชู่แบบแผ่น ๆ  และ น้ำมันดีเซล หรือ เบนซิน หรือ รอนสัน และ แปรงสีฟัน หนึ่งอัน  อุปกรณ์เหล่านี้ หาได้ไม่ยากเย็นครับ ราคาก็ถูก ๆ ไม่ต้องไปใช้ของดี ๆ แพง ๆ ครับ เพราะ อุปกรณ์รอกตกปลา ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงขนาดนั้น  การแกะรอกไม่ต้องใช้กำลังมากนัก เพราะฉะนั้นใช้เครื่องมือราคาถูก ๆ ประหยัดดีครับ  สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่ หาได้ตามร้านหรือแผงขายเครื่องมือช่างจากจีน ร้านทุกอย่าง 49 บาท ตามตลาดนัดทั่ว ๆ ไป หรือ ตามห้าง
ขั้นต่อมา  เมื่อ เครื่องมือพร้อม ก็มาเริ่มกันเลยครับ  โดยเลือกเอา รอก ตัวที่คุณคิดว่าน่าจะสามารถ ถอดและประกอบง่ายที่สุด หรือไม่ก็ เป็นรอกที่ ราคาถูกที่สุด หรือ คุณคิดว่าเสียดายน้อยที่สุดเสียก่อน  เปล่า มันคงไม่พังคามือคุณหรอก อย่าคิดมาก แต่มันมีผลกับความมั่นใจนะครับ
แล้วก็เริ่มแกะกันเลย  สิ่งที่สำคัญที่สุดระหว่างการถอดก็คือ ความระมัดระวัง ความประณีต และ ความใจเย็นนะครับ  ปกติแล้ว รอกยี่ห้อ แบรนด์เนม ส่วนใหญ่จะมีประแจ เฉพาะของมันมาให้ ก็ให้ใช้ประแจ ของมันก่อนนะครับเพราะ ขนาดของประแจจะพอดีกับ หัวน็อต หากเราใช้ประแจของเราเอง ก็ต้องใช้ขนาดที่พอดีที่สุด ไม่งั้นสิ่งที่ตามมาคือ การรูดของหัวน็อต หรือการที่เราออกกำลังไขแล้ว ไขควงหรือประแจหลุดออกจากหัวน็อต ไปโดนส่วนอื่นเสียหายครับ ที่สำคัญ ขณะแกะรอก ความเอารอกวางบนผ้านุ่ม ๆ ที่เตรียมไว้นะครับ
.....ขั้นต่อมา เมื่อแกะมือหมุนรอกออกแล้ว ไขเปิดฝาด้านมือหมุน  สิ่งที่ต้องเตือนตัวเองเสมอก็คือ  ความจำ ต้องจำวัสดุทุกชิ้นทุกตำแหน่งให้แม่น หรือ หากไม่แน่ใจ ให้หากระดาษมาจดไว้ หรือ เขียนเป็นภาพคร่าว ๆ จะได้จำได้  เพราะใช้วิธีจำ เรายังไม่ชำนาญ  ถอดออกมาเยอะชิ้นเข้า จะเริ่มงงเองครับ  ที่สำคัญมากที่สุดคือ  ตำแหน่งการวางของวัสดุชิ้นนั้น ๆ เช่น สปริง แหวนต่าง ๆ แหวนกดเบรก รอกบางตัว วางประกบกันแบบหนึ่ง อีกยี่ห้อประกบอีกแบบหนึ่ง  ข้อสังเกต แหวนกดเบรก(ไม่ใช่ จานกดเบรกนะครับ) จะอยูนอกห้องเบรกครับ ส่วนใหญ่แหวนจะเป็นรูปแอ่น ๆ นะครับ บางรอกมีแค่สองตัว บางรอกมีสี่ตัวประกบกันอยู่ แบบ คว่ำเข้าหากัน บางรุ่นหงาย ไม่แน่นอนครับ เพราะฉะนั้น ดูให้ละเอียด เวลาประกอบแล้วจะได้ไม่ต้องมานั่งรื้ออีกรอบเพราะประกอบผิด  อะไหล่วัสดุรอกตกปลา มักมีวัสดุ เช่นแหวน แหวนสปริงเกือกม้า หรือ สปริงเล็ก ๆ ซึ่งเหมาะแก่การกระเด็น และหล่นหาย ต้องระวังให้มาก ๆ  และ เมื่อถอดชิ้นส่วนเล็ก  ๆ ออกแล้ว ให้ใส่รวมไว้ในกล่องเล็ก ๆ เพื่อจะได้ไม่หายนะครับ  เมื่อถอดออกแล้ว ให้สำรวจ พวกคราบจารบี คราบน้ำมันหล่อลื่นต่าง ๆ  ทีนี้ก็ใช้กระดาษทิชชู่ที่เตรียมไว้แหล่ะ ค่อย ๆ ซับออกให้หมด  และ แยกส่วนที่ต้องล้างทำความสะอาด กับ ที่ไม่ต้องล้างหรือใช้วิธีเช็ดออก  แยกเอาส่วนที่ต้องล้างออกใส่ภาชนะใหญ่ ๆ แต่ตื้น ๆ เพื่อให้ล้างง่าย ๆ เข้าว่า  แล้วล้างด้วยน้ำมันที่เตรียมไว้ให้สะอาด โดยใช้แปรงสีฟันที่เตรียมไว้ปัดล้างให้สะอาด ปราศจากคราบจารบี  แล้วผึ่งให้แห้ง  ก่อนนำผ้านุ่มมาเช็ดให้สะอาดครับ
ส่วนใดที่ไม่ต้องล้าง แต่ใช้วิธีเช็ดทำความสะอาดได้ก็ทำความสะอาดให้เรียบร้อย  ตรวจสอบผ้าเบรกให้เรียบร้อย สำหรับผ้าเบรก ผมแนะนำว่า หากผ้าเบรกเดิมยังดีอยู่ ก็ให้ล้างด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ หรือ น้ำยาล้างจาน แล้วผึ่งให้แห้ง สำหรับ รอกที่มีแผ่นเบรกชนิดแห้ง  ส่วนแผ่นเบรกชนิดเปียก หากไม่สกปรกก็ไม่ต้องไปยุ่ง หากสกปรก ก็ล้างด้วยน้ำมันเช่นกัน แล้วผึ่งให้หมาด ๆ ก่อนหยดน้ำมันหล่อลื่นสักสองหยดก็ประกอบเข้าไป แต่อย่างให้เปียกชุ่มครับ  แต่หากผ้าเบรกหมดสภาพ สังเกตได้ไม่ยาก อาทิ เปื่อยยุ่ย ฉีกขาด บางลง หรือ ผิดรูปไป ขรุขระ หรือ บิดงอ ให้เปลี่ยนเลยครับ และ แนะนำให้ใช้แผ่นเบรกมาตรฐานของมันเองนะครับ หรือ หากยาก โม ก็เป็นอีกกรณี ต้องถามผู้รู้ล่ะครับ ว่าควรทำอย่างไร ควรใส่อะไรเข้าไปแทน หรือไม่ก็แล้วแต่รสนิยม  ส่วน หลุมเบรกบนเฟือง กับ จานกดเบรก  ขัดด้วย วีนอล หรือ บัซโซ หรือ ยาขัดเงารถ ให้มันวาว ยิ่งวาวเบรกจะยิ่งเนียนครับ  ส่วน โครงสร้างภายนอกหากสกปรกมาก ก็สามารถล้างได้ด้วยน้ำเปล่าเลยครับ หรือหากไม่มาก ก็ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาด  แต่โครงสร้างภายนอกส่วนใหญ่จะสามารถป้องกันการเป็นสนิมได้อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงครับ  มีเรื่องน่าสังเกตอยู่อย่าง บางท่านใช้ โซแน็กซ์ ทำความสะอาดในบริเวณที่เป็นเฟือง หรือ โลหะได้  แต่ไม่ควรนำมาใช้ทำความสะอาด บริเวณที่เป็น กราไฟท์นะครับ บางท่านเคยนำมาใช้มีผลต่อกราไฟท์ครับ  ส่วนที่เป็นกราไฟท์ ใช้น้ำสะอาดล้างได้เลยครับ  เสร็จหมดแล้วมาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ
.....ขั้นตอนการประกอบ สิ่งที่เราจำมาทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ตอนนี้ครับ อย่างที่โบราณว่า สร้างสรรค์ จะยากกว่าทำลายครับ  การแกะออกนั้นไม่ยาก แต่การประกอบนั้นซิ ยากกว่า  ความจำ ความละเอียด ใจเย็น  และ ความประณีตของคุณ จะทำให้ผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ครับ  ค่อย ๆ ประกอบเข้าไปครับ หาก ไม่แน่ใจ ให้นำแผ่น ไดอะแกรม อะไหล่ ที่แถมมาในกล่อง มาดูประกอบ  (แผ่นไดอะแกมนั้นสามารถบอกได้ว่า ชิ้นไหนอยู่ตรงส่วนไหน แต่ การวางชิ้นอะไหล่ ด้านหน้าด้านหลัง มักจะดูไม่รู้เรื่องเพราะภาพมันเล็ก  คุณต้องดูสิ่งที่คุณจดบันทึก หรือ วาดรูปคร่าว ๆ เอาไว้ครับ จะช่วยได้  ตรงส่วนใดที่เป็นเฟืองให้แต้มจารบีบาง ๆ ครับ อย่าใส่มากเกินไป บางทีเลอะเทอะและไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรครับ  ส่วนที่เป็นลูกปืน หรือ ส่วนที่ต้องหยอดน้ำมันให้หยอดแต่เพียงพอดีอย่างให้เยิ้ม เพราะจะทำให้ น้ำมันไหลไปเลอะส่วนอื่นที่เราไม่ต้องการให้มันไปโดน อาทิ ห้องเบรก หากเป็นแบบเบรกแห้งจะทำให้เบรกสะดุดครับ  โดยเฉพาะ เฟืองสับปะรดตัวเกลี่ยสาย ให้หยอดด้วยน้ำมันหล่อลื่นนะครับ อย่าใส่จารบีเด็ดขาด เพราะจะทำให้ฝืดไม่ลื่นเท่าที่ควรครับ  เอาละ เมื่อประกอบเสร็จ ก็ลองเอามาหมุนดูว่าลื่นมือหรือไม่ ปกติแล้ว ล้างรอกแล้ว มันต้องลื่นต้องนุ่มต้องเนียนมือกว่าเดิม  ลอง กดฟรีสปูล แล้วปั่นสปูลดูว่า ลื่นหรือไม่ (ในกรณีที่ปรับตัวปรับหน่วงสปูลเท่าเดิมนะครับ)  หากไม่เหมือนเดิมก่อนล้าง เช่น ฝืดกว่าเดิม หรือ ไม่ลื่นเท่าเดิมก่อนล้าง แสดงว่าอาจจะมีการผิดพลาดอะไรขึ้นล่ะครับ ลองไล่ดู ว่า มีอะไรที่เราไม่ได้ใส่ไปหรือเปล่า มีอะไหล่ตัวไหนเหลืออยู่หรือเปล่า หรือ วางอะไหล่ตัวไหนผิดตำแหน่งผิดด้านหรือเปล่า  สิ่งเหล่านี้ แรก ๆ คุณจะหงุดหงิดครับ ว่าทำไมประกอบเสร็จแล้ว ใช้ไม่ได้วะ ต้องถอดอีกแล้ว  แต่เมื่อคุณทำบ่อย ๆ เข้า คุณจะชำนาญ สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนและประสบการณ์ที่คุณต้องเจอครับ คุณจะชินกับมันเอง ต้องใจเย็น ๆ นะครับ  แต่หากคุณประกอบเสร็จแล้ว มันสามารถใช้ได้  หมุนลื่น นุ่มนิ่มมือ เบรกเนี๊ยนเนียน  แล้ว คุณบอกผมหน่อยซิครับว่า คุณรู้สึกอย่างไร....คุณมีความสุขหรือเปล่าครับ...
ที่เล่าให้ฟังมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ ยุยง ให้ทำกันเองหมดนะครับ เดี๋ยวช่างเค้าจะหากินไมได้ เพียงแต่แนะนำ ให้คุณ ๆ หาความสุขกับอีกด้านหนึ่งของการตกปลา ก็เท่านั้นเอง  หากคุณสามารถ ถอดประกอบ ล้างรอก ซ่อมแซมรอก เปลี่ยนผ้าเบรกรอก เองได้  คุณว่าดีไม๊ล่ะ  ประหยัดค่าใช่จ่ายได้ แถมภาคภูมิใจในตัวเองด้วย ได้ศึกษา  แถมยัง ได้ไกล้ชิดกับ ลูกรัก ก็คือ อุปกรณ์รอก ของคุณมากขึ้นกว่าเดิมใช้หรือเปล่า แต่หากมันเหลือบ่าฝ่าแรงจริง ๆ  หรือ ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ หรือ ไม่อยากเสี่ยง ก็ ให้ช่างเค้าทำเถิดครับ ( แต่ผมเคยเอาไปให้ร้านขายอุปกรณ์ที่บอกว่ามีช่างซ่อมรอก ล้างรอกให้ กลับมาถึงมือเรา มือหมุนรอกเป็นรอยจากการถูกแกะแล้วน่าจะเป็น ไขควงพลาดไปโดนเป็นรอยลึกเลย  เสียรมณ์เป็นบ้า  )  ผมก็ไม่ได้เก่ากาจสามารถมากมายอะไรหรอกครับ ก็พอทำได้บ้าง อย่างเช่น การล้าง การเปลี่ยนอะไหล่ เปลี่ยนผ้าเบรก หรือ แต่ง นิด ๆ หน่อย ๆ และ ทำได้เฉพาะกับ รอกที่ผมเองมีอยู่เท่านั้น ตัวไหน ไม่เคยทำมาก่อน ก็เสี่ยงเหมือนกันครับ อิ อิ  แต่ที่แนะนำให้ ทำเองเป็น ก็เพราะเมื่อเราว่าง ๆ อยากหาความท้าทาย อยากศึกษา กลไกภายใน หรือ อยาก โมฯ รอก ซ่อมแซม ตกแต่ง ของรักของเรา จะได้ทำเองได้ เผื่อวันนึงคุณเก่งขึ้นเรื่อย ๆ คุณก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ สามารถ มอบวิทยาทาน เหล่านั้น ให้กับนักตกปลารุ่นหลัง ๆ ได้ครับ  และ หากตั้งใจ คิดจะทำเองจริง ๆ  ก็เริ่มต้นด้วยการ ลองศึกษาจาการผ่ารอกต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามเวบไซท์ ต่าง ๆ ก็ได้  การทำงานของรอก อะไหล่ และการถอดประกอบ ไม่ค่อยต่างกันมากหรอกครับ  และ เมื่อคุณสามารถ ทำได้ทุกอย่าง ๆ ที่ผมบอกมาแล้ว  เวลาที่คุณว่าง ๆ คุณก็จะสามารถ นำเอาอุปกรณ์แสนรักออกมา ล้างทำความสะอาด ซ่อมแซม ตกแต่ง ได้อย่างที่ต้องการ ไม่ต้องกลัวว่าเอาไปให้ร้านทำแล้วถูกชำ
แหล่ะเปลี่ยนถ่ายอะไหล่ด้วย จริงไม๊ครับ  แล้วผมถามหน่อยเหอะ หากคุณ ทำได้อย่างนี้...............ขอถามสักหน่อย......คุณมีความสุขไม๊ครับ....
......หมีพูห์.....
12 – 02 - 2550

กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=5332