หัวใจจะสูบฉีดเลือด หรือที่เรารู้สึกว่า หัวใจเต้น ได้เป็นปกตินั้น ต้องมีกระแสไฟฟ้ากระตุ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อเป็นทารกอยู่ในท้องแม่
หัวใจได้รับกระแสไฟฟ้ามากระตุ้นที่ส่วนบนแล้วจึงมีการกระจายกระแสไฟฟ้าไปยังส่วนต่างๆ เพื่อหัวใจทั้งสี่ห้องจะได้รับสัญญาณให้กล้ามเนื้อหดตัวและคลายตัวในจังหวะที่ประสานกัน การนำไฟฟ้าของหัวใจที่เกิดขึ้นนี้จะ ผ่านไปตามทางเดินไฟฟ้าซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเฉพาะต่างจากกล้ามเนื้อหัวใจที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือด เนื้อเยื่อเหล่านี้เหมือนกับสายไฟที่เดินอยู่ตามผนังหรือฝ้าเพดานในบ้านนั่นเอง
ประเภทของหัวใจเต้นผิดปกติ
ความปกติเรื่องไฟฟ้า ไฟฟ้าของหัวใจมีหลายแบบ บางครั้งเกิดมีความผิดปรกติของจุดกำเนิดไฟฟ้าหรือการนำไฟฟ้าในหัวใจขึ้น ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ เจ้าของหัวใจจะมีอาการใจเต้น ใจสั่น บางครั้งอาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม และวิงเวียนศีรษะ ผู้ป่วยกลุ่มนี้เรียกว่า พวกหัวใจรวนเร เพราะชีพจรเดี๋ยวเต้นเร็วเดี๋ยวเต้นช้าไม่สม่ำเสมอ
ความผิดปกติของการเดินของไฟฟ้าในหัวใจอีกประเภทหนึ่งซึ่งมักเกิดในคนสูงอายุ คือ เมื่อจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่เป็นแหล่งให้พลังงานไฟฟ้าแก่หัวใจเริ่มอ่อนแรงลง คล้ายๆ กับแบตเตอรี่ประจำตัวที่กำลังจะหมดไฟลง ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีหัวใจเต้นช้าลงๆ เรื่อยๆ ช้าลงมากจนเลือดออกจากหัวใจไม่เพียงพอทำให้สมองขาดเลือดมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หรือบางครั้งถ้ารุนแรงอาจเกิดอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ตามมาก็ได้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เรียกว่า พวกหัวใจอ่อน เพราะชีพจรเต้นช้า
พวกหัวใจรวนเร ความผิดปกติอาจเกิดขึ้นได้จากสองแบบ ลักษณะแรกเกิดจากความไม่สามัคคีกันของจุดกำเนิดไฟฟ้าของหัวใจ แทนที่จะทำงานส่งสัญญาณเพียงที่เดียว กลับมีจุดกำเนิดไฟฟ้าหลายๆแห่งขึ้นในหัวใจ แย่งกันทำงานส่งสัญญาณให้หัวใจทำงานบีบตัวไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอกัน เพราะได้สัญญาณมาจากจุดกำเนิดไฟฟ้าหลายๆ จุดในเวลาใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยแบบนี้นอกจากมีใจรวนเรแล้ว น่าจะเป็นกลุ่มที่เรียกว่า พวกหลายใจ เพราะมีจุดกำเนิดไฟฟ้าของหัวใจหลายๆ แห่ง
พวกใจรวนเรอีกกลุ่มหนึ่ง เกิดจากการลัดวงจรของการนำไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งเหมือนกับการลัดวงจรของไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นภายในบ้าน เมื่อมีการลัดวงจรแล้วแทนที่การนำของกระแสไฟฟ้าจะสม่ำเสมอต่อเนื่องกันไป กระแสไฟฟ้าที่ลัดวงจรนั้นก็จะส่งสัญญาณย้อนทางกลับไปยังจุดกำเนิดไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้จุดกำเนิดไฟฟ้าส่งกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจใหม่เร็วกว่าปกติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเรียกว่า พวกหัวใจซ้ำซ้อน
การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติ
การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติในสมัยก่อนมีแต่เพียงการรักษาด้วยยาเท่านั้น ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยเหล่านี้จะควบคุมอาการไม่ได้ผล 100% แถมส่วนใหญ่มีผลข้างเคียง บางครั้งทำให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดปรกติในลักษณะอื่นๆ ได้อีกด้วย
จนกระทั่งไม่นานมานี้ มีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่สามารถสอดใส่สายสวนหัวใจ ลักษณะเหมือนสายไฟเข้าไปตามหลอดเลือดดำที่บริเวณขาหนีบ (คล้าย ๆ กับการสวนฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ) โดยเมื่อสอดสายนี้ขึ้นไปที่หัวใจตามจุดต่างๆและวัดดูการนำไฟฟ้าภายในหัวใจแล้ว หากพบว่ามีการลัดวงจรหรือจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปรกติในหัวใจ แพทย์โรคหัวใจซึ่งเป็นผู้ชำนาญเรื่องการนำไฟฟ้า จะสามารถให้การรักษาโดยส่งเคลื่อนสัญญาณวิทยุ (radio frequency) ไปตามสาย ดังกล่าว เกิดพลังงานไปตามสาย เพื่อตัดจุดที่มีการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้า หรือ จุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปรกติออกไปได้ (ฟังดูแล้วเหมือนนิยายจีนกำลังภายในเวลาจี้จุด)
การรักษาดังกล่าวเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและทำกันบ่อยในปัจจุบันให้ผลดีกว่าการรักษาด้วยยาในระยะยาว โดยไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยา ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต การเต้นผิดปรกติของหัวใจนี้ ถ้าทิ้งไว้นานๆอาจเกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้มาก เช่น อาจเกิดอัมพาต-อัมพฤกษ์ บางครั้งอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ (เมื่อโชคไม่ดี) ที่หลุดออกจากหัวใจไปอุดตามหลอดเลือดต่างๆ ทำให้หลอดเลือดอุดตันเฉียบพลันได้ หรือถ้าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติอยู่นานๆ ตลอดเวลาก็อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลง เกิดภาวะหัวใจวายได้เหมือนกัน
--------------
อยากถามว่าใครเคยเป็นบ้างครับ พอดีผมประสบปัญหากับโรคนี้มาก หัวใจเต้นเกือบ 300 ครั้ง/นาที