ภาพที่ 110. ปลากระเบนลายเสือ
ปลากระเบนลายเสือ (อังกฤษ: Marbled whipray) เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura oxyrhynchus อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) รูปร่างเหมือนปลากระเบนชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน หางยาว โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่สามารถงอกใหม่ได้เมื่อหลุดหรือหักไป หางไม่มีริ้วหนัง พื้นลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเหลือง กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ มีจุดดำคล้ายลายของเสือดาวกระจายอยู่ทั่วตัวไปจนปลายหาง อันเป็นที่มาของชื่อ พื้นลำตัวด้านล่างสีขาว หากินตามพื้นท้องน้ำโดยอาหารได้แก่ ปลาขนาดเล็ก, สัตว์หน้าดิน และสัตว์มีเปลือก จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้ง มีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร ปลากระเบนลายเสือเป็นปลาน้ำกร่อยที่พบอาศัยอยู่ค่อนมาทางน้ำจืด เป็นปลาที่พบน้อย พบได้ตามปากแม่น้ำ เช่น ปากแม่น้ำเจ้าพระยา, ปากแม่น้ำโขง, ทะเลสาบเขมร และพบได้ไกลถึงปากแม่น้ำบนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย เป็นต้น แต่มีรายงานทางวิชาการว่าพบครั้งแรกที่ แม่น้ำน่าน เนื่องจากเป็นปลาที่มีลวดลายสวยงามจึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีราคาแพง แต่มักจะเลี้ยงไม่ค่อยรอดเพราะปลามักประสบปัญหาปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดหรือภาวะแวดล้อมในที่เลี้ยงไม่ค่อยได้
ภาพที่ 29. ปลากระแหทอง
ชื่อสามัญ : Schwanenfeld's Tinfoil Barb ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbodes schwanenfeldi ลักษณะทั่วไป :เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัตย์ตาเล็ก ปากเล็กและอยู่ปลายสุด หนวดเล็กและสั้นมี 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบกระโดงหลังสูง และกว้างมีสีแดง ลำตัวเป็นสีขาวเงินและสีเหลืองปนส้ม ด้านหลังสีเทาปนเขียว แก้มสีเหลืองปนแดง ขนาดของลำตัวความยาว 15 - 35 เซนติเมตร นิสัย :รักสงบ อยู่รวมกันเป็นฝูง ปราดเปรียว ว่องไว ไม่อยู่นิ่งชอบว่ายน้ำตลอดเวลา ถิ่นอาศัย :พบทุกภาคในประเทศไทย ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป (ทะเลสาบสงขลาตอนใน) แม่น้ำตาปี ชาวใต้เรียกชื่อปลานี้ว่าปลากระทิงลายดอกไม้ อาหาร : พืชพันธุ์ไม้น้ำ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซากสัตว์และพืชที่เน่าเปื่อย
ภาพที่ 38. ปลาตองลาย
ปลาตองลาย (อังกฤษ: Royal Knifefish) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitala blanci อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีรูปร่างเหมือนปลาทั่วไปในวงศ์นี้ แต่มีส่วนหลังและหน้าผากลาดชันน้อยกว่าปลากราย (C. ornata) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน สีลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ลำตัวด้านท้ายมีลายจุดและขีดจำนวนไม่แน่นอนคาดเฉียงค่อนข้างเป็นระเบียบ มีขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร ใหญ่สุด 1 เมตร เป็นปลาที่พบได้เฉพาะแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาที่ไหลสู่แม่น้ำโขง โดยมีรายงานพบเมื่อปี พ.ศ. 2510 และมีรายงานพบที่แม่น้ำน่านด้วยเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือว่าเป็นมีแค่เพียงสองแหล่งนี้ในโลกเท่านั้น เป็นปลาที่หายากชนิดหนึ่ง โดยมีชื่อติดอยู่ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) เมื่อปี พ.ศ. 2537 ด้วย โดยอยู่ในระดับหายาก (R)[1]แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยการเพาะขยายพันธุ์สำเร็จเป็นครั้งแรกที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาท โดยพ่อแม่ปลาเป็นปลาที่จับมาจากแม่น้ำโขง เมื่ออายุประมาณ 1 ปี น้ำหนักประมาณ 100-120 กรัม ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 ปี ในตู้กระจก จนปลามีความสมบูรณ์เต็มที่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์พบว่าตัวผู้มีน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 2.1 กิโลกรัม โดยตัวผู้มีความยาวครีบท้องมากกว่าตัวเมียถึงสองเท่า
ภาพที่ 47. ปลาทรงเครื่อง
ปลาทรงเครื่อง ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Epalzeorhynchos bicolor อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีรูปร่างคล้ายปลากาดำ (E. chrysophekadion) ซึ่งเป็นปลาในวงศ์และสกุลเดียวกัน แต่มีรูปร่างที่เพรียวยาว มีขนาดเล็กกว่ามาก สีลำตัวสีแดงอ่อน ครีบหางสีแดงเข้ม มีขนาดโตเต็มที่ไม่เกิน 12 เซนติเมตร พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ปัจจุบันเชื่อว่า สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ (Extinct in the Wild) เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกจับไปเป็นปลาสวยงาม ซึ่งปลาที่ขายกันในตลาดปลาสวยงามเป็นปลาที่เกิดจากการผสมเทียมทั้งสิ้น ปลาทรงเครื่อง ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกในวงการปลาสวยงาม เช่น "ฉลามทรงเครื่อง" หรือ "หมูทรงเครื่อง" เป็นต้น
ภาพที่ 56. ปลากระทิงไฟ
ปลากระทิงไฟ (อังกฤษ: Fire spiny eel) ปลาน้ำจืดพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mastacembelus erythrotaenia อยู่ในวงศ์ปลากระทิง (Mastacembelidae) มีรูปร่างเหมือนปลาในวงศ์นี้ทั่วไป กล่าวคือ รูปร่างยาวคล้ายงูหรือปลาไหล แต่ท้ายลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางหางจะมีลักษณะแบนข้าง และส่วนหัวหรือปลายปากจะยื่นยาวและแหลม จะงอยปากล่างจะยื่นยาวกว่าจะงอยปากบน ตามีขนาดเล็ก ครีบหลัง ครีบทวาร และหางจะเชื่อมต่อติดกันเป็นครีบเดียว โดยครีบหลังตอนหน้าจะมีขนาดเล็กมากและลักษณะเป็นหยักคล้ายกับฟันเลื่อย หากไม่สังเกตจะมองไม่เห็น โดยปลายหางมีลักษณะมนโค้ง ปลายค่อนข้างแหลม ไม่มีหนามใต้ตาเช่นปลากระทิงชนิดอื่น ๆ มีหนามแหลมขนาดเล็กตลอดทั้งความยาวลำตัวช่วงบนไว้เพื่อป้องกันตัว ปลากระทิงไฟจะมีรูปร่างป้อมแต่มีขนาดยาวกว่าปลากระทิง (M. armatus) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน มีขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 60 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุดถึง 1 เมตร พบได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศจนถึงอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยพบได้ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคกลางและภาคใต้
ภาพที่ 65. ปลาฉลามหางไหม้
ปลาฉลามหางไหม้ หรือ ปลาหางไหม้ (อังกฤษ: Bala shark) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Balantiocheilus ambusticauda ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae - Systomini มีรูปร่างคล้ายปลาตามิน (Amblyrhynchichthys truncatus) มีรูปร่างและทรวดทรงที่เพรียวยาว ตาโต ปากเล็ก ขยับปากอยู่ตลอดเวลา ใต้คางมีแผ่นหนังเป็นถุงเปิดออกด้านท้าย ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็กสัดส่วนของครีบทุกครีบเหมาะสมกับลำตัว โดยเฉพาะครีบหางซึ่งเว้าเป็นแฉกลึก สีของลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ด้านหลังสีเขียวปนเทา ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหาง สีส้มแดงและขอบเป็นแถบดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ว่ายน้ำได้ปราดเปรียวมาก และกระโดดขึ้นได้สูงจากน้ำมาก มีขนาดโตเต็มที่ไม่เกิน 20 เซนติเมตร นิยมอยู่เป็นฝูง หากินตามใต้พื้นน้ำ ในอดีตพบชุกชุมในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ที่เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย (ปลาที่พบในอินโดนีเซียสีของครีบหางจะออกเหลืองสดกว่า) แต่สถานภาพในปัจจุบัน ในประเทศไทยได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ ในอินโดนีเซียก็ใกล้จะสูญพันธุ์เช่นกัน
ภาพที่ 74. ปลากระดี่มุก
ปลากระดี่มุก ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster leeri ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ (T. trichopterus) ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกัน แต่กระดี่มุกมีลำตัวกว้างกว่าเล็กน้อย ครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นมีขนาดใหญ่และมีก้านครีบอ่อนยาวเป็นเส้นริ้ว ลำตัวสีเงินจาง มีแถบสีดำจางพาดยาวไปถึงโคนครีบหาง ท้องมีสีส้มหรือสีจาง และมีจุดกลมสีเงินมุกหรือสีฟ้าเหลือบกระจายไปทั่ว อันเป็นที่มาของชื่อ "กระดี่มุก" ครีบท้องเป็นสีส้มสดหรือสีเหลือง มีความยาวเต็มที่เฉลี่ย 10-12 เซนติเมตร มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่เป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ ในแหล่งน้ำที่มีค่าของน้ำมีความเป็นกรดต่ำกว่าค่าของน้ำปกติ (ต่ำกว่า 7.0) เช่น ในป่าพรุ เป็นต้น เป็นปลาจำพวกปลากระดี่ที่พบในธรรมชาติได้น้อยที่สุดในประเทศไทย โดยจะพบในเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น นิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม โดยเฉพาะในตู้ไม้น้ำ
ภาพที่ 83. ปลากัดไทย
ปลากัดภาคกลาง หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens อยู่ในวงศ์ Macropodinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae มีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวมีขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม มีอวัยวะช่วยหายใจบนผิวน้ำได้โดยใช้ปากฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากเป็นแบบ Ctenoid ปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 6 เซนติเมตร พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งที่มีขนาดตื้นพื้นที่เล็กทั้งในภาคกลางและภาคเหนือในประเทศไทยเท่านั้น สถานะปัจจุบันในธรรมชาติถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและสารเคมีที่ตกค้าง มีพฤติกรรมชอบอยู่ตัวเดียวในอาณาบริเวณแคบ ๆ เพราะดุร้ายก้าวร้าวมากในปลาชนิดเดียวกัน ตัวผู้เมื่อพบกันจะพองตัว พองเหงือก เบ่งสีเข้ากัดกัน ซึ่งในบางครั้งอาจกัดได้จนถึงตาย เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายก่อหวอดติดกับวัสดุต่าง ๆ เหนือผิวน้ำ ไข่ใช้เวลาฟัก 2 วัน โดยที่ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่และตัวอ่อนเอง โดยไม่ให้ปลาตัวเมียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ภาพที่ 92. ปลาเสือตอ
ปลาเสือตอลายใหญ่ (อังกฤษ: Siamese tigerfish) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Datnioides pulcher เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาเสือตอ (Datnioididae) มีรูปร่างแบนข้าง ปากยาวสามารถยืดได้ ครีบก้นเล็กมีก้านครีบแข็ง 3 ชิ้น ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นก้านครีบแข็งมีเงี่ยง 13 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน พื้นลำตัวสีเหลืองน้ำตาลจนถึงสีส้มอมดำ มีแถบสีดำคาดขวางลำตัวในแนวเฉียงรวมทั้งสิ้นประมาณ 5-6 แถบ หรือ 7 แถบ ส่วนหัวมีลักษณะลาดเอียงมาก เกล็ดเป็นแบบสาก (Ctenoid) มีลักษณะนิสัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ใต้น้ำ โดยมักจะอาศัยบริเวณใกล้ตอไม้หรือโพรงหินด้วยการอยู่ลอยตัวอยู่นิ่งๆ หัวทิ่มลงเล็กน้อย หากินในเวลากลางคืน โดยกินอาหารแบบฉกงับ อาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กและแมลงต่างๆ มีขนาดลำตัวโตสุดประมาณ 40 เซนติเมตร หนักถึง 7 กิโลกรัม อาศัยอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำท่าจีน ในภาคอีสานเช่น แม่น้ำโขงและสาขา ต่างประเทศพบที่กัมพูชาและเวียดนาม โดยเฉพาะทื่บึงบอระเพ็ดเป็นที่ขึ้นชื่อมากเพราะมีรสชาติอร่อย กล่าวกันว่า ใครไปถึงบึงบอระเพ็ดแล้ว ไม่ได้กินเสือตอ ถือว่าไปไม่ถึง แต่ปัจจุบัน ไม่มีรายงานการพบมานานแล้ว จนเชื่อว่าสูญพันธุ์จากธรรมชาติแล้วในประเทศไทย
ภาพที่ 101. ปลาตะพัด
ปลาตะพัด หรือที่นิยมเรียกว่า อะโรวาน่า เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่มีการสืบสายพันธุ์มาจากปลาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Arowana (อะโรวาน่า) หรือ Arawana (อะราวาน่า) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scleropages formosus อยู่ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae) นับว่าเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นปลาที่สืบพันธุ์ยาก ประกอบกับแหล่งที่อยู่ถูกทำลายไปได้รับความนิยมอย่างสูงของนักเลี้ยงปลาตู้ ในฐานะของปลาสวยงาม ราคาแพง สำหรับชื่อ "ตะพัด" เป็นชื่อที่เรียกกันในภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีและตราด ในภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "หางเข้" ถูกค้นพบเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2474 ตามรายงานของสมิธที่ลำน้ำเขาสมิง จังหวัดตราด โดยระบุว่าในขณะนั้น ปลาตะพัดเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลำคลองในภาคตะวันออก ไข่มีลักษณะสีส้มลูกกลมใหญ่ ฟักไข่ในปาก เนื้อมีรสชาติอร่อย นิยมใช้ทำเป็นอาหาร ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย เชื่อว่าเหลือเพียงบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำตาปี และบริเวณแม่น้ำ ที่อำเภอละงู จังหวัดสตูลเท่านั้น ส่วนทางภาคตะวันออกที่เคยชุกชุมในอดีต ไม่มีรายงานการพบอีกเลย อีกที่หนึ่งที่ได้เคยได้ชื่อว่ามีปลาตะพัดชุกชุมคือ บึงน้ำใส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในอดีตเป็นแหล่งจับปลาตะพัดที่มีชื่อเสียงมาก จนมีชื่อปรากฏในคำขวัญประจำอำเภอ โดยชาวบ้านจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า "กรือซอ" แต่จากการจับอย่างมากในอดีต ทำให้ในปัจจุบัน ปริมาณปลาตะพัดลดน้อยลงจนแทบจะสูญพันธุ์
ที่มา: http://www.toptenthailand.com