ภาพที่ 1หลักการในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เน้นการ “พึ่งตนเอง” นั้น ดูจะแย้งกับการพัฒนาประเทศของผู้บริหารประเทศที่มุ่งเน้นเห็นการพัฒนาแบบ "ก้าวกระโดด" และรวดเร็ว เพื่อให้ได้เสียงของประชาชนในการเลือกตั้งซะโดยมาก พระเจ้าอยู่หัวให้เบ็ดตกปลา รัฐบาลให้ปลา ก็อยู่ที่ประชาชนจะเลือกแล้วว่าจะชอบแบบไหน
“เบ็ดตกปลา” ใช้เวลานานหน่อย อาจได้ปลาเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่หากฝึกตกทุกๆวันย่อมมีประสบการณ์ รู้ตรงไหนคือที่ที่มีปลาชุก รู้ว่าตอนไหนปลาจะมากินเหยื่อ แบบนี้จะยั่งยืนแต่ต้องรอ
“เนื้อปลา” อันนี้ได้กินทันที จะชิ้นใหญ่ชิ้นเล็กก็อยู่ที่ว่าเขาจะแบ่งมาให้กินกันเท่าไร โชคดีได้ชิ้นใหญ่ รู้จักเอาไปแปรรูปเก็บไว้นานๆก็ดีไป แต่หากแปรรูปไม่เป็นกินวันสองวันหมดก็ไม่มีปลากินอีก ก็ต้องร้องเรียกเนื้อปลากันจนวุ่นวาย
ตอนนี้คนไทยมีทั้ง “เบ็ดตกปลา” และ “เนื้อปลา” อยู่ในบ้าน ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยชอบแบบไหน วันนี้ผมมองว่าคนไทยชื่นชอบเนื้อปลามากกว่าเบ็ดตกปลา หากวันหนึ่งไม่มีเนื้อปลาอีก คนไทยอาจจะหันมามองเบ็ดตกปลาอีกครั้ง แต่คงต้องใช้เวลานานเพราะไม่รู้ว่า “ตกปลาอย่างไร?“
สิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวสอนนั้นต้องใช้เวลาเป็นเครื่องมือพิสูจน์ คำสอนและหลักการของพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้สำเร็จในวันสองวัน สิ่งที่พระองค์ทำตั้งแต่เมื่อหกสิบปีที่แล้วหลายๆโครงการเพิ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืนเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา คำสอนของพระองค์หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงและประสบความสำเร็จได้ สิ่งเหล่านี้ต้องรอเวลาเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์
เมื่อคำสอนของพระเจ้าอยู่หัวไม่ทันใจประชาชนทีต้องการพัฒนาตนเองอย่างรวด เร็วและรัฐบาลที่ต้องการผลงานในการหาเสียงเลือกตั้งในทุกๆ 4 ปี จึงทำให้พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงงานหนักมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน ของพระองค์มากยิ่งขึ้น
วันนี้เราจะไม่ลองหยิบ “เบ็ดตกปลา” ของพระเจ้าอยู่หัวขึ้นมาใช้สักหน่อยหรือครับ อย่างน้อยๆก็ได้เตรียมพร้อมไว้ เผื่อว่าวันหนึ่งไม่มีคนมายืนปลาให้กินอีก เราจะได้ตกปลากินได้ทันที ไม่ต้องไปฝึกให้เสียเวลา!!!