ภาพที่ 1เรือขนน้ำตาลทรายล่ม กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงอ.พระนครศรีอยุธยา ล่าสุดยังดำเนินการกู้ไม่ได้ ทำให้ทั้งปลา-กุ้งเริ่มรับผลกระทบ โดยลอยขึ้นมาเหนือน้ำ
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 มิ.ย. มีรายงานความคืบหน้ากรณีเรือน้ำตาลขนาดใหญ่ล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ท้องที่หมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยล่าสุดเรือซึ่งล่มขวางลำน้ำทำให้เกิดการเปลี่ยนเส้นทางเดินของน้ำจนตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาทรุดตัวพังลงยาวประมาณ 7 เมตร ทำให้ นายฮาโรล มาทอง อายุ 57 ปี และนางละออ พันธ์ขำ ซึ่งบ้านอยู่ริมแม่น้ำต้องเร่งอพยพหนีเนื่องจากตลิ่งพัง ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ประกาศเป็นเขตอันตราย
สำหรับการกู้เรือน้ำตาลนั้น ขณะนี้ยังดำเนินการได้ยากเนื่องจากน้ำไหลเข้าท่วมน้ำตาลในเรือทั้งหมดจนส่งกลิ่นเหม็น โดยเจ้าหน้าที่ได้ยกเลิกการกู้เรือน้ำตาลด้วยการใช้เรือแบ๊คโฮตักน้ำตาลออก แต่จะใช้วิธีสูบน้ำและน้ำตาลใส่เรืออีกลำแทน
ขณะเดียวกัน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกเก็บตัวอย่างน้ำในจุดเรือล่ม และจุดท้ายเรือล่ม พบว่าค่าน้ำยังปกติ เพราะยังไม่มีการเปิดผ้าใบปิดเรือออก เนื่องจากเกรงว่าน้ำตาลในเรือจะละลายไปกับกระแสน้ำ จนอาจทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
วันเดียวกัน มีรายงานเพิ่มเติมว่า นายประมวล มีแป้น ประมง จ.พระนครศรีอยุธยา สั่งการไปยังศูนย์ป้องกันและปราบปรามการประมงน้ำจืดภาคกลาง ให้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่หน้าวัดท่าการ้อง ไปจนถึงเขต อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่ามีผู้เลี้ยงสัตว์น้ำเสียหาย พร้อมแจ้งให้ประชาชนเร่งจับสัตว์น้ำขายก่อนกำหนด เนื่องจากเกรงว่าหากการกู้เรือน้ำตาลล่มล่าช้า อาจทำให้เกิดมลพิษทางน้ำส่งผลกับสัตว์น้ำ โดยเฉพาะบริเวณหน้าวัดต่างๆ
อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านใน ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เกือบ 100 คน แตกตื่นนำสวิง ฉมวก และอุปกรณ์จับปลาลงจับปลาจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า ได้รับผลกระทบจนต้องลอยอยู่ข้างตลิ่งและกลางลำคลองบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ บางปะอิน ปรากฏว่ามีทั้งปลาลิ้นหมา ปลากระเบน ปลากด ปลาน้ำเงิน ปลาเนื้ออ่อน และปลาตะเพียน รวมทั้งกุ้งแม่น้ำ
ต่อมา นายนัทธี บ่อสุวรรณ นายอำเภอบางปะอิน พร้อมด้วย นายมนตรี ยมนา นายกเทศมนตรี ต.บ้านเลน ได้เดินทางไปตรวจสอบหลังมีชาวบ้านร่วมจับปลาจำนวนมาก โดยนายนัทธี กล่าวว่า สาเหตุที่ปลาตายและลอยขึ้นมาเหนือน้ำมาจากเรือน้ำบรรทุกน้ำตาลล่มที่เขต อ.พระนครศรีอยุธยา และกระแสน้ำพัดมาถึงอ.บางปะอิน คาดว่าน้ำตาลทรายทำปฏิกิริยาออกซิเจนในน้ำลดลงทำให้ปลาลอยขึ้นมาหาอากาศ ออกซิเจน ซึ่งแนะนำให้ปรุงสุกก่อนรับประทาน.