เก๋าถ่าน.. กับเรื่องราวของมัน
ภาพที่ 1เก๋าถ่าน.. ปลาเก๋าน้ำลึก ปลาที่เมื่อหลายปีก่อนนักตกปลาน้อยคนนักที่จะรู้จักมัน จะมาเริ่มรู้จักหน้าตามันอย่างแพร่หลายก็เมื่อตอนมีทัวร์ตกปลาในทะเลพม่านั่นเอง
นักตกปลาหลายคนพากันแปลกใจ เมื่อรู้ว่าในระดับน้ำที่ลึกถึงร้อยกว่าเมตรขึ้นไปยังมีปลาเก๋าอาศัยอยู่ แต่.. นักตกปลามืออาชีพโดยใช้สายมือเค้าเคยได้ไอ้ปลาชนิดนี้กันมาตั้งนานแล้ว รวมทั้งเรือยนต์ขนาดเล็กจากอินโดที่แอบมาตกปลาจากเมืองไทยไปขาย ก็มาเอากันไปนักต่อนักแล้ว
สมัยก่อนเก๋าถ่านยังมีราคาขายที่ค่อนข้างจะถูก ด้วยหน้าตาที่ค่อนข้างอัปลักษณ์ เกล็ดที่ปูดโปนจากการเสียดสีกับหินในระหว่างที่มันมุดหนีเข้ารู ทำให้หน้าตาและเนื้อตัวดูแล้วไม่ชวนที่จะรับทาน ใครๆเลยไม่ค่อยอยากจะซื้อเก๋าถ่านไปประกอบอาหารที่บ้าน
จนบรรดานักตกปลาที่ผ่านทะเลพม่าได้นำกลับมากิน จึงได้รู้ว่ารสชาดของเก๋าถ่าน ถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆของปลากินชนิดหนึ่งเลยทีเดียว ผู้คนจึงเริ่มเสาะหามัน.. จากทริปตกปลาที่ทะเลพม่า
เมื่อเวลาผ่านไป.. อยู่มาวันหนึ่ง เรือทัวร์ตกปลาแถบสิมิลันกำลังลอยลำตกปลาสีทองกันอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อเรือหลุดขอบระดับความลึกของเส้นแบ่งน้ำลงไป เมื่อนักตกปลาลองหย่อนปลายสายลงไปให้ถึงพื้นทะเล ทันใดนั้นเองปลายคันเบ็ดเกือบทุกคันงองุ้มเหมือนว่ากำลังเกี่ยวติดหินที่พื้นทะเล
เมื่อพยายามอัดปั๊มคันขึ้นมาด้วยความยากลำบาก ก็มีปลาชนิดหนึ่งติดเบ็ดอยู่ที่ปลายสาย และลอยตามขึ้นมาที่ผิวน้ำข้างบน
ในตอนนั้นเองนักตกปลาบนเรือลำนั้นจึงได้รู้ว่า.. ทะเลอันดามันฝั่งตะวันตกของประเทศไทยก็มี.. เก๋าถ่าน
หมายเหตุ: ต้องขออภัย.. ผมขอใช้เวลาเรียบเรียงบทความสักหลายวันหน่อย และอาจจะมีการแก้ไขข้อความบางส่วน บทความนี้อ้างอิงจากความรู้และประสบการณ์จากหลายๆท่าน จะเชื่อหรือไม่เชื่อ.. โปรดใช้วิจารณญานของตัวท่านเอง.. และจงระวังว่าจะโดนหลอกให้อ่าน!!
ภาพที่ 2ทีนี้มาพูดถึงเรื่องของเก๋าถ่านในอดีต.. พวกนักตกปลาขายมืออาชีพเค้าได้ตัวมันมายังใง?? จากอุปกรณ์แค่เพียงสายมือ และพวกเค้าได้มาจากที่ใหน??
นักตกปลามืออาชีพจะใช้เรือยนต์ขนาดไม่ใหญ่มากมายนัก ลงหุ้นอาหาร+น้ำมัน+เหยื่อและอื่นๆ จากนั้นจึงมุ่งตรงไปทางตะวันตกของอันดามัน ออกไปไกลจนข้ามดอนสุดท้ายที่มีอยู่ แล้วจึงลงมือตกปลากันที่ขอบตีนดอนนั่นเอง.. ปลาที่ได้ก็จะเป็นพวกตะมะจัมโบ้ หัวเสี้ยม เก๋าลิง เก๋าลูกหมู แดงเขี้ยว อะไรจำพวกนี้ซึ่งจะเป็นปลาที่มีราคาดีและผู้คนนิยมซื้อหากัน
แต่ก็มีบ้างที่บางครั้งเรือปัดเลยขอบเหว และในระหว่างที่รอเรือปัดกลับถ้าลองหย่อนสายลงไปก็จะได้ปลาเก๋าที่มีหน้าตาน่าเกลียดนี้ขึ้นมา แต่.. ในตอนนั้นมันมีค่าตัวต่อกิโลถูกกว่าปลาทูตัวใหญ่ๆเสียด้วยซ้ำไป จึงไม่มีใครนิยมที่จะตกมันขึ้นมา จะมีก็แต่เรือจากอินโดที่แอบเข้ามาตกปลากลับไปขายเท่านั้นที่จะเอาปลาทุกชนิดกลับไป
เรือเบ็ดของไทยจะใช้สายมือโดยที่กราบเรือจะมีท่อพีวีซีติดเอาไว้เพื่อกันสายบาดกับกราบเรือขาดในระหว่างสาว และจะใช้ตะกั่วหนักประมาณ1-3กิโลกรัม ในขณะที่เรือเบ็ดอินโดซึ่งใช้สายมือเหมือนกัน แต่กราบเรือจะติดลูกรอกขนาดใหญ่เอาไว้เพื่อรองรับสายเอ็น และใช้ตะกั่วที่หนักถึง6-7กิโลก็มี
ปัจจุบันเท่าที่ทราบเรือตกปลาน้ำลึกมืออาชีพแทบจะไม่มีเหลือแล้ว เนื่องจากน้ำมันและค่าโสหุ้ยแพงเกินไป บวกกับสภาพอากาศที่คาดคะเนไม่ได้เหมือนสมัยก่อน เรือเหล่านั้นจึงหันไปวางอวนลอยและอวนถ่วงกันแทน
อย่างที่บอกเอาไว้.. สมัยนั้นเก๋าถ่านมันยังไม่มีราคา จึงไม่ใช่เป้าหมายของเรือตกปลาอาชีพเหล่านั้น แต่ณ.ตอนนี้เก๋าถ่านมีค่าตัวขั้นต่ำถึง125บาทต่อกิโลกรัม เราอาจจะได้เห็นเรือเบ็ดน้ำลึกฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในเร็วๆนี้..
ภาพที่ 3ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่องการหาแหล่งหรือหาหมายของเก๋าถ่าน.. หมายที่ว่ากันว่าหายากหาเย็นจนไต๋เรือต้องเล่นซ่อนแอบกันกลางทะเล เนื่องจากกลัวไต๋เรือลำอื่นมาแอบเอาหมายทำมาหากินของตนเองไปครอบครอง.. หมายมันหายากขนาดนั้นเชียวหรือ??
ตามหลักของการวิ่งเรือเพื่อหาหมายตกปลาน้ำลึก จริงๆแล้วมันไม่มีเรื่องราวอะไรที่ลึกลับซับซ้อนเลย เพียงแค่อาศัยซาวเดอร์ดีๆสักตัวบวกกับจีพีเอสที่มีเส้นแบ่งระดับความลึกของน้ำก็หาหมายได้แล้ว.. หากันได้ง่ายๆแบบนี้เลยรึ?? โม้ล่ะมั้ง!!
อ๊ะๆ.. ถ้าไต๋มืออาชีพเข้ามาอ่านอย่ามาด่ากันล่ะ ถึงผมไม่ใช่ไต๋มืออาชีพแต่ก็พอจะรู้วิธี หึ หึ.. และไต๋สมัครเล่นคนนี้กำลังจะแฉให้คนที่ไม่รู้ได้รู้กันเสียที
การหาหมายเก๋าถ่าน ต้องดูเส้นแบ่งความลึกของพื้นทะเล ดูในแผนที่ทะเลนั่นแหล่ะ.. เปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำแล้วนั่งกระดิกตรีนหาหมายเอาคร่าวๆจากที่บ้านได้เลย หากันง่ายๆแบบนี้แหล่ะ เริ่มจากดูแนวเส้นแบ่งระดับความลึกของน้ำในแผนที่ทะเล อ้ายเก๋าถ่านนี่มันจะชอบอยู่ที่ความลึกระดับเกือบๆ200เมตรขึ้นไป หรืออย่างน้อยก็160++ จากนั้นจงดูระดับความลึกในแผนที่ว่าความลึกขนาดที่ต้องการอยู่ที่ตำแหน่งใหน?? ให้อิงเส้นแบ่งระดับน้ำเอาไว้ก่อนเช่น.. เส้นแบ่งแนว150เมตรกับ250เมตร หมายความว่าถ้าหลุดแนวของเส้นนี้ออกไป ระดับน้ำจาก150ก็จะลึกเป็น250 แล้วมารค์แลตลองเอาไว้ตามแนวเส้นตำแหน่งที่หาไว้คร่าวๆ แล้วค่อยออกเรือไปหาของจริงในภายหลัง
บริเวณแนวเส้นแบ่งน้ำนั้นมักจะเป็นริมขอบผา และเมื่อหลุดระดับความลึกลงไปก็จะเจออ้ายที่ไต๋มืออาชีพเค้าเรียกๆกันว่หลุมนั่นแหล่ะ แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่หลุม
เรื่องราวง่ายๆ ที่มาทำกันให้ขลังด้วยการเรียกว่าหมายลับ.. เดี๋ยวผมจะแฉให้ฟังอย่างละเอียด ขอเวลาไปหาภาพประกอบ และนอนกระดิกตรีนหาหมายในห้องแอร์ก่อน..
ภาพที่ 4เอาล่ะ.. หลังจากนอนกระดิกตรีนหาแนวหมายจากแผนที่ได้เรียบร้อยแล้ว คราวนี้เราจะออกเรือไปสำรวจหมายจริงกันอย่างละเอียดอีกครั้ง แล้วค่อยลองตกปลากันดูว่ามันจะตัวจริงๆหรือไม่??
วิ่งเรือออกจากฝั่งมุ่งไปยังแนวหมายที่จดแลตลองคร่าวๆเอาไว้แล้ว ไต่ระดับความลึกของน้ำไปเรื่อยๆ จนห่างจากจุดที่มารค์มาจากแผนที่สัก2-3ไมล์ ดูซาวน์เช๊คระดับความลึกไว้ตลอดเวลา เมื่อเรือเดินทางมาถึงแนวเส้นแบ่งน้ำ ตัวเลขความลึกจะค่อยๆมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือเรามาถึงขอบเหวใต้น้ำแล้ว.. คราวนี้ก็จะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ล้วนๆว่า ของเรือลำใดดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ก็จะหาหมายและหาปลาได้ง่ายกว่า
ในแนวหน้าผานั้นมักจะเป็นหินค่อนข้างรกและมีความชันมากพอสมควร เมื่อเรือวิ่งผ่านไปก็จะใช้วิธีมองตัวเลขความลึกที่ต้องการจะตกปลา มองจอซาวน์ที่ขยายหน้าดินว่าพื้นล่างมีลักษณะแบบใด?? ตรงนี้เองที่ถ้าซาวเดอร์ไม่ดีพอ จะไม่สามารถจับรายละเอียดของพื้นหินข้างล่างได้อย่างปรุโปร่ง และดูไม่ออกว่ามีซอกหลืบหรือโพรงหินอย่างไร?? โปรดอย่าลืมว่าปลาเก๋าไม่ได้ชอบอาศัยอยู่บริเวณหินดานเรียบๆ แต่มันชอบอยู่ตามหลืบหิน โพรง ถ้ำ หรือแม้กระทั่งในซากเรือจม แต่ในแนวหินที่มีความหยาบและไม่มีโพรงมันก็อาศัยอยู่บ้างเช่นกัน
จากนั้นต้องคอยมองหาเชื้อปลาหน้าดินว่ามีบ้างมั้ย?? ในระหว่างกระบวนการหาหมายทั้งหมดนี้ จะต้องเปิดลายน้ำของเรือในจีพีเอสไว้ตลอดเวลา เพื่อเช๊คระยะทางว่าในแนวน้ำระดับนี้มีความกว้างยาวเท่าใด?? และวิ่งเรือสวนน้ำหรือลมเพื่อที่จะไปยังจุดสุดขอบหมาย เพื่อที่จะปล่อยให้เรือลอยตามน้ำหรือลมผ่านหมายตกปลา
สมมุติว่าหาหมายเจอแล้วลึก220เมตร หาเชื้อปลาหน้าดินเจอแล้ว เช๊คความยาวแล้วว่าความลึก220เมตรยาวประมาณ1กิโลเมตร แต่ถ้าเลย1กิโลเมตรไปแล้วก็จะลึกกว่าหรือตื้นกว่านั้น.. ถ้าวนดูโดยรอบหมายอย่างละเอียด จะเห็นว่าหมายส่วนมากมันไม่ใช่ลักษณะของหลุม ลองนึกไปถึงหน้าผาหินยาวๆใหญ่ๆ ที่มีบางจุดเว้าๆแหว่งๆ มีความโค้ง มีการไต่ระดับ.. อืมมมมมมม อธิบายด้วยการพิมพ์นี่ยากค่อดๆเลยวุ้ย!! สงสัยขั้นตอนใหนก็ถามมาละกัน
ภาพที่ 5คราวนี้มาลองดูรายละเอียดของซาวเดอร์ดีๆกันบ้าง จากในภาพจะเห็นว่าสามารถจับรายละเอียดของหลืบหินและสภาพผิวพื้นได้ค่อนข้างดีมากๆ และแน่นอนว่าถ้าจะหาอุปกรณ์ดีๆแบบนี้ ไปใช้กับระดับความลึกที่200++เมตร คุณจะต้องแลกกับเงินเรือนแสน
อย่า.. อย่าเพิ่งบอกว่าอ้ายเรือทัวร์ตกปลาทุกวันนี้น่ะ เค้าใช้แค่ซาวจอตู้ธรรมดาๆก็หาปลาได้!! ลองถามไต๋ที่กล้าพูดตรงๆดูซิว่า.. อ้ายเครื่องมือดีๆแบบนี้น่ะ มันหาหินหาปลาในระดับความลึกขนาดนี้ได้ง่ายกว่าจอตู้นั่นมั้ย??
อืออออออออ.. เริ่มจะมีการเสียดสีไต๋บ้างแร่ะ เข้าเรื่องดีฝ่า
ลองมองดูจอด้านซ้ายจะเป็นจอที่ซูมหน้าดิน อ้ายเก๋าถ่านมันมักจะอยู่ตามหินที่เป็นซอกหลืบแบบนี้แหล่ะ ถ้าน้ำลึกสัก200++เมตร จับซาวหล่นจากหน้าผาลงมาเจอเสาหินแบบนี้ คุณจะตกได้ปลาเพียงแค่4-5ชนิดเท่านั้น.. เช่นเก๋าถ่าน ไอ้เหลือง ปลาหางกุ้ง ฉลามโดเรม่อน และอาจจะมีสีทองมาแจมบ้างแต่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมากๆ
หาหมายเก๋าถ่านให้หาตรงระดับความลึกที่แตกต่างหรือลาดชันมากๆ พูดง่ายๆก็คือจงตกปลาตรงจุดที่หล่นจากหน้าผาลงไปนั่นเอง..
เดี๋ยวจะมาต่อให้ว่า.. ทำไม?? เค้าถึงพูดกันว่าหาหมายตกเก๋าถ่านนี่ยากมากๆ ใหนๆก็ใหนๆ.. แฉมันซะให้หมด!!
ภาพที่ 6เพิ่งได้รูปมา.. เส้นแบ่งระดับความลึกของน้ำก็คือไอ้เส้นยาวๆในแผนที่ทะเล ที่คดเคี้ยวไปมาตามลักษณะของหน้าผาของพื้นทะเล และจะมีตัวเลขความลึกกำกับเอาไว้ว่าบริเวณนั้นลึกเท่าไร??
เอาเป็นว่า.. ถ้าอยากรู้ว่าพื้นทะเลตรงใหนลดระดับลงมากๆ อาจจะเรียกกันว่าหน้าผาหรือหลุมอะไรนั่น ก็ให้วิ่งเรือตามแนวเส้นแบ่งน้ำแป๊บเดียวก็เจอ
จากภาพนี้ให้ดูกันดีๆ ด้านบนของภาพ ใกล้ๆตัวเลข183ที่เส้นแบ่งน้ำทางทิศใต้ของสิมิลัน.. นั่นแหล่ะหมายที่เค้าตกเก๋าถ่านกัน บอกคร่าวๆไว้แค่นี้ก่อนสักหมายนึง
ภาพที่ 7ยิ่งถ้าใครกล้าลงทุนซื้ออุปกรณ์ระดับนี้ละก็.. ไอ้ที่บอกว่าหาหมายยากน่ะลืมไปได้เลย เพราะอุปกรณ์ระดับนี้มีรายละเอียดค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ใช้สามารถประเมินสภาพหมายและปลาใต้น้ำได้อย่างแม่นยำกว่า
สำหรับในตอนนี้อุปกรณ์เหล่านี้อาจจะดูว่าเกินความจำเป็นที่จะใช้งาน แต่ลองนึกดูดีๆว่าตอนนี้เริ่มตกปลากันที่ความลึก200++ปลายๆกันแล้ว อีกไม่นานก็ต้องขยับลงไปที่ความลึก300ต้นๆ
และสำหรับไอ้เจ้าเก๋าถ่านนี่น่ะ.. มีวิธีเดียวที่จะเอาตัวมันขึ้นมาได้คือต้องใช้วิธีการตกมันขึ้นมา
เมื่อ20ปีก่อน.. ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเราจะต้องมาใช้รอกไฟฟ้าตกปลากันที่ความลึกขนาดนี้.. วันนี้มันเป็นไปแล้ว
ณ.วันนี้.. เรายังพูดกันว่าถ้าใช้เบ็ดตกปลากันอย่างเดียว ปลาจะไม่หมดไป.. เก๋าถ่าน จะเป็นตัวพิสูจน์ทฤษฎีของนักตกปลาอย่างพวกเรา
ภาพที่ 8แล้วก็มาถึงเรื่องสำคัญ.. สำคัญขนาดที่เรือทัวร์ตกปลาต้องพากันเล่นซ่อนแอบ หรืออาจจะถึงขนาดเล่นไล่จับกันกลางทะเล..
ทะเลเป็นของคุณหรือ??
อยากได้หมายเค้านักหรือ??
หมายลับนักหรือ??
ไม่มีหมายหรือ??
คำตอบคือ.. ผิดทุกข้อ ไม่ใช่เหตุผลหลักๆทุกข้อ เพราะไอ้เบอร์หมายต่างๆเหล่านี้มันก็มีกระจายกันไปเกือบทุกลำนั่นแหล่ะ ถึงจะผิดเหลี่ยมผิดมุมไปบ้าง มันก็ยังเป็นหมายหรือหลุมเดียวกัน ลอยลำตกปลาผ่านสักเที่ยวสองเที่ยวเดี๋ยวก็รู้ผลแล้ว"ถ้ามีปลา"
อย่างที่บอกไว้ตอนต้นๆเรื่อง การหาหมายเก๋าถ่านไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร แต่.. การที่จะรู้หรือไม่รู้ว่าหมายที่เรามาตกปลาอยู่นี้ มีใครมากวาดเอาปลาไปหรือยังนี่สิที่ยากกว่า จึงเป็นที่มาของการเสาะหาและปิดบังตำแหน่งของหมายที่ยังไม่โดนนักตกปลามาถล่มไปแล้ว และเป็นที่มาของการปิดบังว่าไปได้ปลามาจากหลุมใหน?? แบบใครมาก่อนได้ก่อน ใครมาช้าหมด อดแหลก!! ต้องไปวนหาหมายกันใหม่
เก๋าถ่านเป็นปลาประจำถิ่น อยู่กับเหย้าเฝ้าแต่เรือน ไม่ใช่ปลาจรถิ่นเหมือนปลาชนิดอื่น.. หากว่าหมายนี้มีเก๋าถ่าน100ตัว ถ้าตกขึ้นมาสัก90ตัว มันก็เหลือแค่เพียง10ตัวเท่านั้น.. เลขคณิตคิดในใจง่ายๆ ไม่ต้องวิเคราะห์ วิแคะ อะไรให้ยุ่งยาก.. คิดกันง่ายๆแบบนี้ล่ะ บวก-ลบกันด้วยวิธีกานนับนิ้วมือนิ้วตรีนนี่แหล่ะ ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์
หมายใต้ดอนใหม่ในระยะแค่ปีสองปี จากที่เคยได้ปลาขนาดใหญ่ถึงสี่สิบกว่ากิโล รวมปลาที่ได้จากการประเมินคร่าวๆ หมายนี้หมายเดียวเอาขึ้นมาร่วมสิบตัน!! ตอนนี้ถ้าจะออกไปตกเก๋าถ่าน เรือตกปลาทุกลำไม่เคยมาแวะจอดที่หมายนี้อีกเลย
ด้วยอุปกรณ์ตกปลาที่ทันสมัย การตกเก๋าถ่านจึงสามารถเอาตัวขึ้นมาได้ในปริมาณที่มากมายมหาศาล ประกอบกับเก๋าถ่านเป็นปลาที่ตะกละตะกลามอย่างที่สุด มันจึงกินเหยื่อแทบทุกชิ้นที่มันพบเจอ การตกปลาในลักษณะที่หย่อนถึงพื้นเป็นได้ตัวจึงเกิดขึ้นบ่อยๆ ถ้า.. หมายนั้น เหลี่ยมนั้น แนวที่เรือลอยผ่านนั้น ยังไม่มีใครมาตกพวกมัน
เวลานี้ ณ.วันนี้ เท่าที่ทราบมาจากข้อมูลวงใน มีเรือยนต์ขนาดใหญ่อย่างน้อย2ลำที่มีหมายเก๋าถ่านกำอยู่ในมือมานานแล้ว กำลังตระเตรียมเรือและจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการตกเก๋าถ่านกันอย่างปรานีต บรรจง เต็มบรรทัด.. เราจะได้เห็นอุปกรณ์ตกปลาขนาดใหญ่ รอกระดับ8Xขึ้นไปวางเรียงรายอยู่เต็มกระบอกพักคันข้างกราบเรือ.. เราจะได้เห็นภาพการตกปลาเก๋าถ่านมาราธอนชนิดว่าสิบห้าวันกลับฝั่งกันทีนึง ไม่ต้องสงสัยว่าเค้าจะเอาอะไรใส่ปลาที่ได้ พวกเค้ามีเรือมารับปลากลางทะเลพร้อมทั้งส่งเสบียงให้เสร็จเรียบร้อย.. พวกเค้าจะตกปลาเก๋าถ่านเพื่อนำไปขาย โดยใช้อุปกรณ์แบบที่พวกเราใช้กันนี่แหล่ะ ใช้ตาเบ็ดครั้งละไม่กี่ตาแบบที่เราตกปลานี่แหล่ะ เพียงแค่อุปกรณ์ของพวกเค้าเป็นอาวุธหนักทั้งนั้น รอกไฟฟ้าระดับ8Xนี่ถือว่าเล็กที่สุดแล้วในเรือของพวกเค้า
ถ้าจะด่าพวกเค้า ลองกลับไปย้อนอ่านข้างบนดูให้ดีๆ "เค้าตกปลาโดยใช้อุปกรณ์แบบที่เราใช้ตกปลา เค้าผูกเบ็ดเหมือนและจำนวนเท่ากับที่เราใช้ตกปลา" ถ้าด่าพวกเค้าก็เหมือนเรากำลังด่าตัวเอง.. และที่นำมาเล่าให้ฟังก็เพื่อที่จะให้รู้กันไว้ และเตรียมตัวรับสภาพการวิ่งเรือที่ใช้เวลายาวนานมากขึ้น ถ้าจะไปเข้าหมายตกเก๋าถ่าน
ไอ้หมดน่ะมันไม่หมดหรอกกับอีแค่ตกปลา แต่จะหาตัวยากยิ่งขึ้นก็เท่านั้นเอง.. นี่ยังมีเรือเบ็ดราวน้ำลึกที่กำลังจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก ไม่อยากจะนึกภาพเลยจริงๆ
ไม่ได้มาเล่าเรื่องเพื่อให้ใครด่าใคร..
ไม่ได้มาอวดเก่ง ทำเฒ่าว่ากูรู้ กูเก่ง..
ไม่ได้เอาเครื่องมือทำกินของใครมาทำลาย..
ไม่ได้.. ไม่ได้.. ไม่ได้.. ยังไม่เคยตกได้เก๋าถ่านสักทีเลยตัวกรู!!