ภาพที่ 1วันนี้ไปตกปลามาครับ สนุกมากมาย ไม่ได้ปลามาเเม้เเต่ตัวเดียว เอิกๆ
พอกลับมาเลยอยากมาเล่าประสพการณ์ชีวิตสั้นๆๆ ให้อ่านเล่น ๆ กัน ว่า นักตกปลา เราๆ หรือ อย่างผมเนี่ย เเค่วันเดียวก็ ได้กิน แห้ว แล้ว
บางครั้งได้กินแห้วติดต่อกันหลายวัน เเต่หารู้ไม่ว่า เเห้วกว่าจะปลูกได้มันนานเเค่ไหน เเต่นักตกปลาอย่างเราๆเนี่ย เอามาเคี้ยวเล่นอย่างสนุกสนาน รื่นเริง โดย ไม่คำนึง ว่า
เเห้ว กว่าจะได้ มา ต้องเสียเหงือ ไปเท่าไหร่ ต้องเลี้ยงดูฟูมฟัก ให้ ปุ๋ย ให้น้ำ เเละ เก็บเกี่ยว
เเล้วนักตกปลาจะเลิก เอาเเห้ว กลับบ้านกันได้หรือยัง
แต่เเห้วมีประโยชน์ นะ จะบอกให้ ...........................>>>
ภาพที่ 2ประวัติความเป็นมาของแห้วเป็นอย่างไร
แห้วหรือแห้วจีน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า วอเทอร์นัท (waternut) หรือไชนิส วอเทอร์เชสต์นัต (Chinese water chestnut) หรือ มาไต (Matai) แห้วเป็นพืชดั้งเดิมของแถบร้อน ขึ้นเองตามธรรมชาติ ในประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกมีการนำแห้วมาปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศทางแถบอินโดจีน หรือจีนภาคตะวันออกก่อน ปัจจุบันมีการปลูกแห้วเป็นการค้าในประเทศจีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา (รัฐฮาวาย) อินเดีย อเมริกาใต้ และ ประเทศไทย ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการปลูกแห้วเป็นการค้าในประเทศไทยเมื่อใด แต่มีผู้นำแห้วมาปลูกที่จังหวัดเชียงรายนานมาแล้ว และได้นำมาปลูกในเขตอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ปรากฏว่าปลูกได้ผลดี ได้ผลผลิตหัวสดถึงไร่ละ ๔,๐๐๐ กิโลกรัม ราคาในขณะนั้นกิโลกรัมละ ๑๒-๑๕ บาท ทำกำไรมากมายให้แก่ผู้ปลูก จึงมีการปลูกแห้วเพิ่มขึ้นขยายเนื้อที่ออกไป ทำให้ราคาลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือราคากิโลกรัมละ ๒ บาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ การขยายเนื้อที่ปลูกจึงไม่กว้างขวางออกไปมากนักแต่ก็ยังมีผู้นิยมปลูกแห้วกันอยู่มากพอสมควร ปัจจุบันมีการปลูกแห้วมากแถวสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน เขตอำเภอเมือง อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ปลูกประมาณ ๕๐๐-๑,๐๐๐ ไร่
แห้วมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอะไร
ลักษณะทั่วไป
แห้วเป็นพืชปีเดียวขึ้นในน้ำเหมือข้าว ต้นเล็กเรียวคล้ายต้นหอม หรือใบกก หรือใบหญ้าทรงกระเทียม ใบน้อย หัวเป็นประเภทคอร์ม (corm) สีน้ำตาลไหม้ หัวกลมมีลักษณะคล้ายหอมหัวใหญ่แต่ขนาดเล็กกว่ามาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑-๔ เซนติเมตร เนื้อสีขาว
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
แห้วหรือแห้วจีนมาชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เอลิโอชาริสดัลซิส ทริน (Eleocharisdulcis Trin.) มีชื่ออื่นอีก ได้แก่ อี ทูเบอโซา ชุลท์ (E. tuberosa Schult.) หรือ ซีปุส ทูเบอโรซัส รอกซ์บ (Scirpus tuberosus Roxb.) อยู่ในตระกูลไซเปอราซี (Cyperaceae) เป็นกกชนิดหนึ่งคล้ายกับหญ้าทรงกระเทียม แต่เป็นคนละชนิด (speice) กัน แห้วเป็นพืชปีเดียว ลำต้นแข็ง อวบ ลำต้นกลวง ตั้งตรง มีความสูง ๑-๑.๕ เมตร ดอกเกิดที่ยอดของลำต้น ดอกตัวเมียเกิดเมื่อต้นสูง ๑๕ เซนติเมตร เหนือน้ำแล้วจึงเกิดดอกตัวผู้ตามมา เมล็ดมีขนาดเล็ก รากหรือหัวเป็นพวกไรโซม หรือ คอร์ม (rhizomes or corms) มี ๒ ประเภท หัวประเภทแรกเกิดเมื่อต้นแห้วอายุ ๖-๘ สัปดาห์ ทำให้เกิดต้นแห้วขยายเพิ่มขึ้น หัวประเภทที่สองเกิดหลังจากแห้วออกดอกเล็กน้อยโดยทำมุม ๔๕ องศากับระดับดิน หัวแห้วระยะเริ่มแรกเป็นสีขาว ต่อมาเกิดเป็นเกล็ดหุ้มสีน้ำตาลไหม้จนกระทั่งแก่หัวมีขนาดแตกต่างกัน ขนาดที่ส่งตลาด ๒-๓.๕ ซม. ต้นหนึ่ง ๆ แตกหน่อออกไปมากและได้หัวประมาณ ๗-๑๐ หัว
แห้วมีกี่ชนิด
นอกจากแห้วซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ อี ดัลซิส (E. dulcis) แล้ว ยังมีแห้วซึ่งมีรูปร่างคล้าย ๆ กันนี้อีก ๒ ชนิด ชนิดแรกเป็นแห้วป่าขึ้นอยู่ในน้ำนิ่ง หัวเล็กมาก สีเข้มเกือบดำ บางทีเรียกว่า อี พลานทาจินี (E. plantaginea) หรือ อี พลานทาจิโนอิเดส (E. plantaginoides) อีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดที่ต้องปลูก แห้วชนิดนี้มีหัวใหญ่ มีรสหวาน เดิมที่เดียวจัดไว้ต่างชนิดออกไป คือ เรียกว่า อี ทูเบอโรซา (E. tuberosa) ปัจจุบันจัดเป็นชนิดเดียวกัน
แห้วมีวิธีการปลูกอย่างไร
ฤดูปลูก
แห้วเป็นพืชที่ขึ้นในน้ำ ขึ้นได้ดีในแหล่งที่มีการให้น้ำได้ตลอดปี ชอบอากาศอบอุ่นเกือบตลอดปี ในการงอกต้องการอุณหภูมิในดินประมาณ ๑๔-๑๔.๕ องศาเซลเซียส ฤดูปลูกที่เหมาะสมจึงควรเป็นต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ เริ่มเพาะเดือนมีนาคม - เมษายน ย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่ได้ในราวเดือน พฤษภาคม - กรกฎาคม ฤดูเดียวกับการทำนา
การเลือกและการเตรียมที่
แห้วขึ้นได้ในดินเหนียวหรือดินร่วน pH ๖.๙-๗.๓ ขึ้นได้ในที่ราบ จนถึงที่สูงถึง ๑,๒๐๐ เมตร เตรียมดินโดยทำการไถ พรวนให้ดินร่วนดี กำจัดวัชพืชให้หมด เหมือนการเตรียมดินปลูกข้าว
วิธีปลูก
แห้วปลูกโดยใช้หัวเล็กๆ สามารถปลูกได้ ๒ วิธี วิธีหนึ่งเพาะหัวแห้วในแปลงเพาะเสียก่อนคล้ายปลูกหอม แต่ละหัวห่างกัน ๓-๔ ซม. ทำร่มรดน้ำ จนกระทั่งต้นแห้วสูงประมาณ ๒๐-๓๐ ซม. ในราว ๑๕-๒๐ วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลงเพาะปลูกห่างกันราว ๙๐-๑๐๐ ซม. นานราว ๒ เดือน เมื่อแตกหน่อจึงใช้หน่อไปปลูกในแปลงใหญ่ โดยปักดำคล้ายดำนา วิธีนี้ปลูกในเนื้อที่ไม่มาก อีกวิธีหนึ่งปลูกหัวแห้วลงฝนแปลงใหญ่เลย ไม่ต้องเพาะก่อน ถ้าเนื้อที่ไม่มากใช้มือปลูก ปลูกลงในหลุมลึก ๑๐-๑๒ ซม. แต่ในเนื้อที่มาก ๆ เช่น ในต่างประเทศ ปลูกด้วยมือไม่ทันต้องใช้เครื่องปลูกโดยเปิดร่องเสียก่อนแล้วหยอดหัวแห้วลงในร่องให้ห่างกันตามที่ต้องการแล้วกลบ ระยะปลูกที่ใช้กันในสหรัฐอเมริกา ระยะระหว่างแถว ๗๕ ซม. ระหว่างหลุม ๗๕ ซม. ในประเทศจีนปลูกเป็นรูปสามเหลี่ยม ระหว่างต้นห่างกัน ๔๕-๖๐ ซม. สำหรับกสิกรไทยใช้ระยะปลูกห่างกันประมาณ ๑๐๐ ซม.
แห้วมีการทะนุบำรุงอย่างไร
การให้น้ำ
หลังจากปลูกแห้วแล้วทดน้ำเข้าให้ท่วมแปลงเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง แล้วปล่อยให้ระบายออกเมื่อต้นแห้วสูงประมาณ ๒๐-๓๐ ซม. ทดน้ำเข้าให้ระดับน้ำสูงประมาณ ๑๐-๑๕ ซม. เมื่อต้นแห้วสูงขึ้นเพิ่มน้ำขึ้นเรื่อย ๆ จนแห้วสูงประมาณ ๕๐-๖๐ ซม. ให้น้ำ ๒๕-๓๐ ซม. จนตลอดฤดูปลูก
การกำจัดวัชพืช
ถ้าได้เตรียมดินและกำจัดวัชพืชอย่างดีแล้วก่อนปลูกเกือบจะไม่ต้องกำจัดวัชพืช ในต่างประเทศใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช เช่น ๒,๔-D กสิกรไทยยังไม่มีการใช้สารเคมีดังกล่าว จะกำจัดด้วยแรงงานหรือไม่กำจัดเลย
การใส่ปุ๋ย
การปลูกแห้วในต่างประเทศ ใส่ปุ๋ยผสมเกรดสูง ๆ ในอัตรา ๔๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ครึ่งหนึ่งใส่ก่อนปลูก อีกครึ่งหนึ่งหลังปลูก ๘-๑๐ สัปดาห์ วิธีใส่ปุ๋ยครั้งนี้ ใช้วิธีหว่านเหมือนใส่ปุ๋ยในนาข้าว ถ้าปล่อยน้ำให้แห้งก่อนได้ก็ดี หว่านปุ๋ยแล้วปล่อยน้ำเข้า
โรคและแมลง
โรคและแมลงที่ร้ายแรงไม่มี แมลงที่พบเสมอ ได้แก่ ตั๊กแตน เพลี้ยไฟ ถ้าปลูกในดินที่เป็นกรดคือ pH ๕.๕ มักเกิดโรคซึ่งเกิดจากเชื้อรา ศัตรูที่พบนอกจากโรคแมลงได้แก่ ปู และปลากัด กินต้นอ่อน
การเก็บหัวและรักษา
แห้วมีอายุประมาณ ๗-๘ เดือน เมื่อแห้วเริ่มแก่ คือ ใบเหี่ยวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และสีน้ำตาล ผิวนอกของหัวเป็นสีน้ำตาลไหม้ แสดงว่าเริ่มทำการเก็บได้ ประมาณเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ระยะเดียวกันกับเก็บเกี่ยวข้าว เก็บแห้วโดยปล่อยน้ำออกก่อนถึงเวลาเก็บ ๓-๔ สัปดาห์เพื่อให้ดินแห้ง เก็บโดยขุดแล้วล้างหัว ผึ่งให้แห้ง ถ้าปลูกมากอาจเก็บโดยใช้ไถ ไถลึกประมาณ ๑๕ ซม. พลิกหัวขึ้นมาแล้วเลือกหัวแห้วล้างน้ำ สำหรับรายที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ ซึ่งได้แก่ การปลูกในจังหวัดสุพรรณบุรี ต้องเก็บแห้ว โดยการใช้มือลงไปงมขึ้นมาเรียกว่า "งมแห้ว" ในต่างประเทศผลผลิตหัวแห้วสดประมาณ ๓.๒-๖.๔ ตันต่อไร่ สำหรับประเทศไทยผลผลิตประมาณ ๓-๔ ตันต่อไร่ หรือประมาณ ๓๐๐ ถัง ขนาดของหัว ๓-๓.๕ ซม.
หัวแห้วสามารถเก็บรักษาไว้ได้ โดยตากให้แห้งบรรจุในภาชนะที่รักษาความชื้นได้ หรือเก็บในอุณหภูมิ ๑-๔ องศาเซลเซียสได้นานกว่า ๖ เดือนขึ้นไป กสิกรสามารถเก็บรักษาหัวแห้วไว้ได้เองโดยเก็บในภาชนะปิดสนิท เช่น ตุ่ม ลังไม้หรือทรายแห้งสนิท เก็บได้นานประมาร ๖ เดือน ถ้าอยู่ในอุณหภูมิ ๑๔ องศาเซลเซียส หัวแห้วจะงอก
ประโยชน์
หัวแห้วประกอบด้วยส่วนที่กินได้ร้อยละ ๔๖ ส่วนที่เป็นของแข็งประมาณร้อยละ ๒๒ ในจำนวนนี้เป็นโปรตีนร้อยละ ๑.๔ คาร์โบไฮเดรตและเส้นใยต่ำกว่าร้อยละ ๑ จากการวิเคราะห์หัวแห้วสดประกอบด้วย : ความชื้นร้อยละ ๗๗.๙ โปรตีนร้อยละ ๑.๕๓ ไขมันร้อยละ ๐.๑๕ ไนโตรเจนร้อยละ ๑๘.๙ น้ำตาลร้อยละ ๑.๙๔ ซูโครสร้อยละ ๖.๓๕ แป้งร้อยละ ๗.๓๔ เส้นใยร้อยละ ๐.๙๔ เพ้าร้อยละ ๑.๑๙ แคลเซียม ๒-๑๐ มิลลิกรัมต่อ ๑๐๐ กรัม ของส่วนที่กินได้ ฟอสฟอรัส ๕๒.๒-๖๕ มิลลิกรัม เหล็ก ๐.๔๓-๐.๖ มิลลิกรัม ไทอามีน ๐.๒๔ มิลลิกรัม ไรโบฟลาวิน ๐.๐๐๗ มิลลิกรัม ไนอาซิน มิลลิกรัม กรดแดสโคบิก (ascobic acid) ๙.๒ มิลลิกรัม
แป้งที่ให้จากหัว แห้วมีลักษณะคล้ายคลึงกับแป้งจากมันเทศหรือมันสำปะหลัง และมีขนาดใหญ่จนถึง ๒๗ ไมครอน น้ำที่สกัดจากหัวแห้วประกอบด้วยสารปฏิชีวนะ
หัวแห้วที่ซื้อขายได้ ต้องมีขนาดอย่างน้อยประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ ซม. ขึ้นไป เนื้อแห้วสีขาวกรอบ รับประทานสด บรรจุกระป๋อง คั้น น้ำหรือจะต้มทำขนม หรือใช้ประกอบอาหารก็ได้ มักเป็นอาหารจีน นอกจากนี้ยังใช้ทำแป้งได้ด้วย หัวเล็ก ๆ ใช้เลี้ยงเป็ดไก่ได้ดี หัวแห้วบางชนิดใช้ทำยาต้นแห้วใช้เลี้ยงปศุสัตว์ ใช้ในการบรรจุหีบห่อนผลไม้ ใช้ทำตะกร้า ทอเสื้อ เป็นต้น