สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 28 ธ.ค. 67
TUNA อีกบทหนี่งของ GAME FISH : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 11 - [11 ก.ย. 49, 08:59] ดู: 8,674 - [23 ธ.ค. 67, 21:51] โหวต: 11
TUNA อีกบทหนี่งของ GAME FISH
MrSHARK (332 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
22 ธ.ค. 44, 12:50
1
                                                      TUNA…อีกบทหนึ่งของ GAME FISH

                                                                                                                                      โดย  จิระยุทธ อำนวยผล


ในหมู่นักตกปลาที่ชื่นชอบการตกปลาด้วยการ Trolling แล้ว ส่วนใหญ่ต่างก็เคยประมือกับปลา TUNA มาบ้างแล้ว ไม่ว่าในอ่าวไทยในอดีตหรือทางด้านอันดามันในปัจจุบัน TUNA เป็นปลาที่ได้ชื่อว่ามีน้ำอดน้ำทนสูงพอสมควรแม้จะไม่ถึงขนาดกระโทงหรือฉลาม แต่ก็เป็นเกมที่สนุกเร้าใจไม่แพ้กัน
ชื่อ TUNA, MACKEREL, BONITO
มักใช้เรียกแทนกันไปมาเพื่อสื่อความหมายของปลาประเภทเดียวกันอยู่บ่อย ๆ จึงอาจทำให้เข้าใจไขว้เขวอยู่เสมอ อย่าง BLUEFIN TUNA ในบางท้องที่เรียกกันว่า HORSE - MACKEREL หรือ LITTLE TUNNY ก็รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อของ ATLANTIC BONITO เป็นต้น
สำหรับปลา TUNA ที่ IGFA กำหนดให้เป็นปลาเกมเพื่อการบันทึกสถิตินั้น หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางชีววิทยาแล้วมีทั้งสิ้น 11 ชนิด ส่วน DOGTOOTH TUNA หรือ TUNA น้ำตื้นนั้น แม้ชื่อที่ต่อท้ายเป็น TUNA ก็จริง แต่หากพิจารณาทางด้านชีววิทยาแล้ว จัดอยู่ในปลาจำพวกปลา SARDINI
และนี่คือรูปร่างหน้าตาของ TUNA ทั้ง 12 ชนิด ที่กล่าวถึง
1. โอแถบ (OCEANIC BONITO SKIPJACK TUNA, STRIPED TUNA)
ถิ่นอาศัย
อาศัยอยู่กลางทะเลลึกซึ่งมีกระแสน้ำไหลแรงตามมหาสมุทรทั่ว ๆ ไป ในเขตร้อน อาทิเช่น มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลอันดามัน จัดเป็นปลาฝูงใหญ่
ขนาด มีความยาวสูงสุดประมาณ 90 ซม. น้ำหนักสูงสุดประมาณ 20 กก.
วิธีการตก โอแถบจะกินเหยื่อทุกประเภทที่ใช้ตก TUNA ส่วนมากมักจะฉวยเหยื่อที่ปล่อยลากไว้ใกล้กับใบจักเรือ โอแถบชอบกินเหยื่อที่มีขนาดเล็ก และยิ่งใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กยิ่งเพิ่มรสชาติในการตกมากยิ่งขึ้น
เหยื่อ เหยื่อเป็น เช่น ปลาเล็กพวก ปลากระบอก, สีกุน, ทูลัง, ทูโม่ง, ปลาหมึก หรือจะเป็นเหยื่อชนิดเดียวกันแต่แล่เป็นชิ้นก็ได้ ส่วนเหยื่อปลอมนั้นใช้ “นัคเคิลเฮด” ขนาดเล็ก “บลูเลคเฮด” ใช้สีชมพูเป็นหลัก พวก สปูน ขนาด ¼ - 1 ออนซ์ หรือพวก จิ๊ก สีแดงปนขาวก็ใช้ได้ผลดี
2. โอแถบดำ (BLACK SKIPJACK TUNA)
ถิ่นอาศัย
อาศัยอยู่ในน่านน้ำเขตอบอุ่นและเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออกถึงตอนกลาง ค่อนข้างที่จะพบตัวยากแล้วในปัจจุบัน
ขนาด มีความยาวสูงสุดประมาณ 90 - 100 ซม. และน้ำหนักสูงสุดประมาณ 20 - 25 กก.
วิธีการตก ปลาโอแถบดำเป็นปลาฝูงขนาดใหญ่มักจะโยกย้ายไป - มาในทะเลเปิด ส่วนใหญ่ใช้วิธีตกด้วยการ Trolling โดยการลากเหยื่อธรรมชาติขนาดเล็ก ๆ ทั้งตัวหรือแล่เป็นชิ้น หรือการใช้เหยื่อปลอมขนาดเล็กจำพวก SPOON หรือ PLUG สีเขียวท้องทอง หรือเหยื่อ JIG และขนนก ความเร็วที่ใช้ลากหรือเหยื่อ JIG และขนนก ความเร็วที่ใช้ลากเหยื่อที่ได้ปลาประมาณ 8 - 10 ไมล์ ต่อชั่วโมง
3. โอดำ (LITTLE TUNNY, LITTLE TUNA)
ถิ่นอาศัย
อาศัยอยู่ในน่านน้ำเขตอบอุ่นและเขตร้อนของมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเปิดโดยทั่วไป เป็นปลาฝูงว่ายอยู่ในทะเลเปิด ฝูงใหญ่อาจจะพบว่ามีจำนวนเป็นพัน ๆ ตัว และมักชอบหากินบริเวณใกล้เกาะแก่งและชายฝั่ง เป็นปลาที่ไม่ค่อยชอบอพยพโยกย้ายหากว่าในพื้นที่นั้นยังมีอาหารให้กินอย่างสมบูรณ์
ขนาด มีความยาวสูงสุดประมาณ 60 - 75 ซม. และน้ำหนักสูงสุดประมาณ 15 - 17 กก.
วิธีการตก โอดำมักจะชอบไล่กินปลาเล็กบนผิวน้ำ เมื่อมันเข้าโจมตีฝูงปลาเล็กบนผิวน้ำอาจทำให้น้ำบริเวณนั้นปั่นป่วน การตกใช้การ Trolling หรือลากเหยื่อขนาดเล็กประเภท SPOON, PLUG, JIG และขนนก บางทีอาจตกได้ในบริเวณใกล้ชายฝั่ง เพราะมันมักจะตามฝูงปลาเล็กเข้ามา
4. โอลาย (MACKEREL TUNA, KAWAKAWA, WAVYBACK SKIPJACK)
ถิ่นอาศัย
พบกระจายอยู่ในน่านน้ำเขตอบอุ่นและเขตร้อน ตั้งแต่ทะเลแดง อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นถึงฮาวาย ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเลในทะเลเปิด เป็นฝูงขนาดใหญ่จำนวนนับพัน ๆ ตัว
ขนาด มีความยาวอยู่ในระหว่าง 30 - 50 ซม. น้ำหนักเฉลี่ย 2 - 3 กก.
วิธีการตก เป็นปลาที่กินเหยื่อแทบทุกแบบที่ใช้ตกปลา TUNA ไม่ว่าจะเป็นการ Trolling ด้วยเหยื่อปลอม เหยื่อธรรมชาติหรือเหยื่อตายที่แล่เป็นชิ้นหรือทั้งตัว และตกด้วยวิธีโปรยเหยื่อล่อ โอลายจะฉวยเหยื่อลากด้วยความเร็วสูงหรือความเร็วต่ำ เหยื่อปลาปลอมหรือปลาหมึกปลอมขนาดเล็กจะใช้ได้ผลดีกว่าขนาดใหญ่ สำหรับเหยื่อที่ใช้ได้ผลดีที่สุดว่ากันว่าเป็นเหยื่อประเภทขนนกขนาด ½ ออนซ์ ที่ปล่อยไว้ใกล้ ๆ กับใบจักเรือ ส่วนเหยื่อธรรมชาตินั้นใช้ปลากระบอก, ทูลัง, ปลาหมึกทั้งเป็นและตาย และที่สำคัญการตกปลา TUNA ชนิดนี้ให้ใช้เหยื่อเล็กเอาไว้ก่อน อุปกรณ์ที่ใช้ตก ใช้ได้ตั้งแต่ชุดสปินนิ่ง จนถึงชุดฟลาย
5. โอหม้อ โอดำ หรือ TUNA ครีบดำ (BLACKFINNED ALBACORE, BLACKFIN TUNA)
ถิ่นอาศัย
พบมากในเขตน่านน้ำอบอุ่นและเขตร้อนของมหาสมุทรแอตแลนติกฝั่งตะวันตก บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย และทะเลเปิดในมหาสมุทรทั่วไป อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำและกึ่งกลางระดับความลึกของน้ำ ชอบขึ้นผิวน้ำเพื่อกินเหยื่อ เมื่อตัวยังเล็กอยู่ชอบอาศัยอยู่บริเวณทะเลตื้น ๆ ทั่ว ๆ ไป พอขนาดใหญ่ขึ้นมักออกหากินในบริเวณทะเลลึก
ขนาด มีความยาวตั้งแต่ 30 - 100  ซม. ขึ้นไป มีน้ำหนักตั้งแต่ 3 - 45 กก.
วิธีการตก TUNA ชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง หาอาหารอยู่บริเวณใกล้ผิวน้ำ ฝูงหนึ่ง ๆ อาจมีจำนวนถึงพันตัวขึ้นไป เป็นปลาที่เหมาะสำหรับใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กตกด้วยการ Trolling หรือการลากเหยื่อ ทั้งเหยื่อปลอมและเหยื่อธรรมชาติที่มีขนาดเล็ก โดยการ Trolling ในบริเวณน้ำลึกระยะห่างจากฝั่งประมาณ 1 - 2 ไมล์
6. TUNA ครีบเหลือง (YELLOWFIN TUNA, ALLISON TUNA)
ถิ่นอาศัย
เป็นปลา TUNA ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรหรือท้องทะเลลึกทั่วไปในเขตโซนร้อน ตามบริเวณผิวน้ำซึ่งมีความลึกถึง 200 เมตร หรือมากกว่า และชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำซึ่งมีกระแสไหลวนกลางมหาสมุทร พบมากในมหาสมุทรอินเดีย แอตแลนติก หรือบางครั้งในบริเวณกลางอ่าวไทยก็เคยมีผู้ได้ตัว ชอบอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิระหว่าง 16 - 27 องศาเซลเซียส ปลา TUNA ชนิดนี้ เป็นปลาที่มักอพยพย้ายถิ่นบ้างตามฤดูกาล
ขนาด ปลาที่มีอายุ 4 ปี และกินอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์อาจมีน้ำหนักถึง 70 กก. น้ำหนักสูงสุดที่เคยมีผู้ได้ตัว 150 กก. ความยาวที่พบโดยมากอยู่ระหว่าง 1 - 2.50 เมตร
วิธีการตก ปลา TUNA ชนิดนี้ได้ชื่อว่าเป็นปลาเกมชนิดหนึ่งที่มีการต่อสู้เบ็ดที่รุนแรง อดทน และมีพละกำลังสูงทีเดียว ส่วนใหญ่นิยมตกด้วยการ Trolling เหยื่อปลาเล็ก ปลาหมึก เหยื่อปลอมสำหรับการTrolling และอาจใช้วิธีการอ่อยเหยื่อล่อและตกด้วยเหยื่อธรรมชาติเป็น ๆ



7. TUNA ครีบน้ำเงิน (ATLANTIC BLUEFIN TUNA, BLUEFIN TUNA, TUNNY FISH)
ถิ่นอาศัย
พบในน่านน้ำในเขตกึ่งโซนร้อนและเขตอบอุ่นเช่น ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ มหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลเมดิเตอเรเนียนและทะเลดำ อาศัยอยู่ตามทะเลเปิดทั่วไปและเป็นปลาที่ชอบย้ายถิ่น การย้ายถิ่นของปลาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำเป็นหลัก อุณหภูมิที่มันชอบต้องไม่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส
ขนาด จัดว่าเป็นปลา TUNA ที่มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง มีความยาวเฉลี่ยตั้งแต่ 2 - 2.50 เมตร น้ำหนักสูงสุด 300 - 350 กก.
วิธีการตก ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมตกด้วยการ Trolling โดยใช้เหยื่อ ปลาทูลัง ปลากระบอกและปลาหมึก ทั้งที่ยังเป็นอยู่หรือตายแล้ว หรืออาจใช้เหยื่อปลอมชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ตก TUNA ก็ย่อมได้
8. SOUTHERN BLUEFIN TUNA, JAPANESE CENTRAL PACIFIC BLUEFIN TUNA)
ถิ่นอาศัย
พบมากในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ บริเวณด้านทิศตะวันตกของออสเตรเลีย จะอาศัยอยู่บริเวณกลางน้ำและบริเวณผิวน้ำโดยทั่วไป เป็นปลาที่มักชอบอพยพไป - มา ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและบริเวณตะวันตกของออสเตรเลียเรื่อยไปถึงนิวซีแลนด์ มีลักษณะภายนอกที่ค่อนข้างคล้ายกับ TUNA ครีบน้ำเงิน แต่มีข้อแตกต่างที่สังเกตได้คือ แง่งตรงโคนหางเป็นสีเหลืองสด
ขนาด จัดว่าเป็นปลา TUNA ที่มีขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่ง ความยาวเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 2 - 2.50 เมตรน้ำหนักสูงสุดราว 300 กก.
วิธีการตก ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเช่นเดียวกับการตก TUNA  ครีบน้ำเงิน แต่วิธีที่ใช้ได้ผลและนิยมกันมากก็คือ การลากเหยื่อปลอมด้วยเหยื่อ โคน่าเฮดม นัคเคิลเฮดม สปูน จิ๊กและขนนก สำหรับปลาชนิดนี้เมื่อติดเบ็ดแล้วจะเป็นปลาที่สู้ชนิดบ้าเลือด เพราะเมื่อมันติดเบ็ดแล้วมันจะวิ่งในระดับผิวน้ำด้วยความเร็วก่อนที่จะดำดิ่งชนิดไม่เหลียวหลัง
9. TUNA ครีบยาว (ALBACORE, LONG-FINNED TUNNY, LONGFIN TUNA)
ถิ่นอาศัย
พบในน่านน้ำเขตร้อนและเขตอบอุ่นโดยทั่วไปทั้งในมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก, แอตแลนติก, อาศัยอยู่ตามผิวน้ำจนถึงระดับความลึกประมาณ 200 เมตร มีชุกชุมที่สุดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ส่วนที่ค่อนไปทางอัฟริกา และบริเวณอเมริกากลาง
ขนาด ความยาวเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร น้ำหนักเฉลี่ย 30 กก.
วิธีการตก นิยมตกด้วยการ Trolling เหยื่อปลอมจำพวกขนนก, สปูน, จิ๊ก, นัคเคิลเฮด, โคน่าเฮดและบุลเล็ตเฮด หรือตกด้วยเหยื่อเป็นจำพวกปลากระบอก, ทูโม่ง, สีกุน และปลาหมึก หากว่าตกด้วยเหยื่อเป็นควรให้มีขนาดเล็กกว่าขนาดที่ใช้ตกกระโทงแทง TUNA ชนิดนี้ชอบฉวยเหยื่อที่มีขนาดเล็ก โดยเฉพาะเหยื่อปลอมซึ่งลากด้วยความเร็วของเรือประมาณ 10 น็อต
10. UNA ตาโต (BIGEYE TUNA)
ถิ่นอาศัย
พบในน่านน้ำเขตอบอุ่นทางแถบมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำและตอนกลาง ระดับความลึกประมาณ 200 เมตร มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง
ขนาด จัดได้ว่าเป็น TUNA ขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักเฉลี่ยถึง 200 กก. ขึ้นไป
วิธีการตก จะตกด้วยการ Trolling เหยื่อเป็นหรือเหยื่อตาย ด้วยความเร็วต่ำที่ระดับความลึก 200 - 300 ฟุต หรือการตกด้วยเหยื่อปลอมประเภท ขนนก หรือนัคเคิลเฮด ขนาดเล็ก ที่บริเวณผิวน้ำ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส
11. TUNA หางยาว, โอหม้อหลังยาว (LONGTAIL TUNA, ORIENTAL BONITO)
ถิ่นอาศัย
พบในเขตโซนร้อน และกึ่งโซนร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ตลอดไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอ่าวก็พบกันมากแต่ก็ขนาดไม่ใหญ่นัก ชอบอาศัยอยู่ตามทะเลเปิดทั่วไป จัดว่าเป็นปลา TUNA ที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำตื้นมากที่สุด ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ตามบริเวณผิวน้ำและกลางระดับน้ำ มักชอบกระโดดขึ้นไล่เหยื่อบริเวณผิวน้ำในยามที่อากาศดี
ขนาด ความยาวสูงสุดประมาณ 1 เมตร น้ำหนักสูงสุดประมาณ 30 กก.
วิธีการตก ปลา TUNA จัดว่าเป็นปลากินเหยื่อไม่เลือก กล่าวคืออะไรที่ใกล้ตัวและเคลื่อนไหวจะพุ่งเข้าชาร์จทันที เหยื่อขนนกขนาด 7 กรัม ที่ลากด้วยความเร็วเหนือแหล่งที่อยู่ของมันแทบจะไม่พลาดตัวมันเลย ถ้าจะให้ดีส่วนใหญ่แล้วจะใช้วิธีการอ่อยเหยื่อล่อมันมา เพราะ TUNA ชนิดนี้มักอาศัยอยู่บริเวณร่องลึกระหว่างหน้าผาใต้ทะเลที่มีกระแสน้ำไหลแรง หากเป็นเหยื่อธรรมชาติก็จำพวก ปลาทู, ปลาสีกุน, ปลาหมึก, กุ้ง ส่วนประเภทเหยื่อปลอมก็จำพวกขนนก, สปูน, นัคเคิลเฮด, บลูเฮดหรือปลาหมึกพลาสติกก็ได้ผลทั้งสิ้น
12. TUNA น้ำตื้น (DOGTOOTH TUNA, LIZARD-MOUTH TUNA, WHITE TUNA)
ถิ่นอาศัย
พบในน่านน้ำเขตอบอุ่นของมหาสมุทรอินเดีย ชอบอาศัยอยู่ตามข้างเกาะและบริเวณหน้าผาใต้น้ำ เป็นปลาที่ชอบเคลื่อนย้ายอพยพอยู่เสมอ ไม่ชอบติดอยู่กับที่ บางครั้งจะเข้ามาในแหล่งน้ำตื้นที่ไม่คาดว่าจะได้พบเห็นตัวมัน อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ 4 - 6 ตัว ส่วนที่มีขนาดใหญ่มักชอบหากินตัวเดียว
ขนาด เพราะมีลักษณะที่แตกต่างจาก TUNA ชนิดอื่น คือมีฟันที่แหลมคมเรียงกันเป็นแผงจึงได้ชื่อว่า DOGTOOTH มีขนาดความยาวสูงสุดประมาณ  1.50 เมตร มีน้ำหนักสูงสุดอาจจะถึง 110 กก.
วิธีการตก TUNA ชนิดนี้ได้ชื่อว่าเป็นปลาในพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 120 กก. ที่มีการสู้เบ็ดชนิดหาตัวจับได้ยากทีเดียว จนเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นนักสู้แห่งทะเลลึก โดยปกติจะตกด้วยการ Trolling บางครั้งมันกินเหยื่อสดทั้งตัวและชิ้นปลาที่แล่ออกแล้วโปรยไปในกระแสน้ำสู่บริเวณหน้าผาใต้น้ำ ยิ่งถ้าเป็นหน้าผาที่ชันมากจะพบว่ามีปลา TUNA ชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เหยื่อที่ใช้ตกปลา TUNA ชนิดอื่น ๆ สามารถใช้ได้กับ TUNA ชนิดนี้ได้ทั้งสิ้น ที่สำคัญหากว่ามีสีสันที่แวววาวแล้ว รับรองว่าไม่มีการพลาด
ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเป็น TUNA ทั้งสิ้น 12 ชนิด ที่ IGFA รับรองว่าเป็นปลาเกมส์ และมีการบันทึกสถิติเอาไว้ ซึ่งผู้เขียนเองได้กล่าวแต่เฉพาะในส่วนที่คิดว่าพอที่จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อน ๆ ได้เท่านั้น อาจจะขาดบางส่วนไปบ้าง เช่น ลักษณะความแตกต่างของปลา TUNA แต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่มีแต่รายละเอียดซึ่งไม่อาจชี้ชัดได้ว่าแตกต่างกันอย่างไร หากจะให้ชี้ชัดอาจจำเป็นต้องใช้รูปประกอบซึ่งค่อนข้างหายาก จึงต้องเสนอข้อมูลเท่าที่คิดว่าพอที่จะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจได้ดี เนื่องจากปลา TUNA ที่มีอยู่ในน่านน้ำของไทยก็มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ฉะนั้นจึงถือว่ารู้เอาไว้เพื่อศึกษาหาความรู้เท่านั้น หวังว่าคงเพียงพอ
(ตีพิมพ์ในนิตยสารโลกกว้างกลางแจ้ง ฉบับที่ 25 มิถุนายน 2538 ถ่ายทอดโดย Mr.SHARK)
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=312