สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 22 ธ.ค. 67
การตีเหยื่อด้วยรอก เบทคาสติ้ง : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 104 - [1 มี.ค. 63, 01:38] ดู: 59,649 - [22 ธ.ค. 67, 08:11] ติดตาม: 4 โหวต: 51
การตีเหยื่อด้วยรอก เบทคาสติ้ง
KR (52 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
6 ธ.ค. 44, 12:05
1
        ตอบคำถามของคุณ พาณุ ในห้อง  ถาม - ตอบ

        ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวเสียก่อนว่า  ผมมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้รอกคาสติ้ง และการตกปลาแต่เพียงอย่างใด แต่ที่อาจหาญมาให้คำตอบแก่คุณก็ใช้ประสบการณ์ของผมเองโดยมืได้อ้างอิงทางวิชาการใดๆทั้งสิ้น  แม้แต่การใช้คำพูด (พิมพ์) ก็ใช้คำพูดแบบพื้นๆที่ใช้กันทั่วไปในวงการ  ดังนั้นหากไม่ตรงกับการปฏิบัติของหลายๆท่าน  ก็โปรดให้อภัยด้วย  และกรุณาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้เสียก่อน ว่าควรจะเชื่อหรือไม่
        การใช้รอกเบทคาสติ้งนั้น จะว่าง่ายก็ง่าย  จะว่ายากก็ยาก  แต่ไม่ว่าจะเป็นรอกชนิดใดหากต้องการเรียนรู้ และมีเวลาฝึกฝนเพียงพอ ก็คงไม่พ้นความสามารถของคนเราไปได้หรอกครับ
        วิธีการของผมอาจแตกต่างไปจากคนอื่น  คำอธิบายจากนี้ไปเป็นประสบการณ์ที่ผมเจอด้วยตนเอง  ด้วยการตีเหยื่อเพียง 2-3 ครั้งสายก็หมดหลอด (เพราะสายมันฟู่)  แต่ผมก็พยายามเรียนรู้ด้วยตนเอง ทดลองกันหลายแบบหลายวิธี จนสามารถควบคุมการตีสายไม่ให้ฟู่ได้เป็นผลสำเร็จ 
        แล้วคุณล่ะ พร้อมที่จะสูญเสียสายเบ็ด และพร้อมที่จะรับฟังหรือยังครับ
        ก่อนอื่น ผมต้องขอเข้าใจเอาเองว่า คุณได้ประกอบรอกเข้ากับคันเบ็ด พร้อมกับสอดสายเอ็นเข้าในไกด์ไว้เรียบร้อย และยืนอยู่ข้างๆบึง หรือบ่อที่คุณจะใช้เป็นสนามฝึกหัดแล้วนะครับ
        ลำดับแรก ให้คุณลากปลายสายเอ็นออกมาให้ยาวมากหน่อย  แล้วหาลูกตุ้มตะกั่ว (ทุ่น) ลูกโตประมาณปลายนิ้วก้อย และยาวราวๆสองข้อนิ้วก้อย  ผูกติดกับปลายสายให้แน่น (ควรเป็นสายขนาด 12-15 ปอนด์) 
        ขั้นที่สอง  กรอสายให้ตะกั่วขึ้นไปเกือบติดปลายคันเบ็ด  ปรับปุ่มหน่วงสปูลให้ค่อนข้างแน่น  จากนั้นก็ใช้นิ้วโป้งกดลงบนสายที่อยู่ในสปูล  กดปุ่มฟรีสปูล  ตั้งคันเบ็ดให้ปลายคันชี้ขึ้นทำมุมราวๆ 45-50 องศา โดยให้ตัวรอกอยู่ด้านบน  แลัวปล่อยนิ้วโป้งที่กดอยู่บนสายเอ็นในสปูลให้ตะกั่วเลื่อนลงสู่พื้น  ให้สังเกตว่าเมื่อตะกั่วตกถึงพื้น  สปูลต้องหยุดหมุนทันที  จึงจะใช้ได้  (เป็นการปรับในขั้นแรก)  หากเมื่อปล่อยนิ้วจากที่กดบนสปูลแล้‡แต่ทว่าตะกั่วยังไม่ยอมลง  ก็แสดงว่าปรับตัวหน่วงสปูลไว้แน่นเกินไป  หรือตะกั่วเลื่อนลงแต่พอตกถึงพื้นแล้วสปูลยังคงหมุนจี๋อยู่ อย่างนี้แสดงว่าปรับตัวหน่วงสปูลไว้หลวมเกินไป นับว่าเป็นการปรับที่ยังไม่ถูกต้อง จงพยายามปรับต่อไปอีกจนกว่าจะได้ผลตามที่ต้องการ
        ขั้นต่อไป  มาถึงตอน ได้เสียกันหละ  คือการ ตีเหยื่อ,  ตีสาย,  ส่งเหยื่อ,  เหวี่ยงเบ็ด,  เขวี้ยงเบ็ด,  (เอ๊ะ มันเกี่ยวกันมั้ยเนี๊ยะ) หรือะไรก็ได้ตามที่เขาใช้เรียกกัน
        การเหวี่ยงเบ็ดมีวิธีเหวี่ยงกันหลายแบบ  สำหรับตัวผมเองถนัดและชอบวิธีเหวี่ยงข้ามศีรษะ เพราะสามารถควบคุมทิศทางของเหยื่อได้ค่อนข้างแม่นยำ  (ผมว่าของผมเองนะครับ)  การเหวี่ยงข้ามศีรษะก็เหมือนกับถือไม้รวกยาวๆสักหนึ่งลำ  จับยกขึ้นให้ปลายไม้เอนไปทางด้านหลังจนสุดเหยียด  แล้วฟาดลงไปตรงๆทางด้านหน้า  ซึ่งเป็นวืธีเดียวกันกับการเหวี่ยงเบ็ดโดยวิธีเหวี่ยงข้ามศีรษะ นั่นแหละครับ
        จงยืนในท่าที่คุณถนัด  จับคันเบ็ดให้ปลายคันชี้ไปด้านหน้า  หย่อนตะกั่วให้ห่างจากปลายคันพอสมควร (ให้สั้นไว้ก่อนดีกว่า  เมื่อชำนาญแล้วจะหย่อนให้ยาวเท่าใดก็ได้)  ใช้มือขวาจับคันเบ็ดตรงช่วงรีลซีทให้ชิดกับตัวรอก ใช้นิ้วโป้งกดลงบนกึ่งกลางของสปูล (เพื่อไม่ให้ตะกั่วตกลงไปซะก่อน)  กดปุ่มฟรีสปูล  ยกมือขวาที่กำคันเบ็ดอยู่ให้สูงขึ้นจนเสมอระดับใบหู  มือซ้ายจับที่ปลายด้ามและยกให้สูงขึ้นระดับเดียวกับมือขวาโดยนิ้วโป้งยังกดอยู่บนสปูล  แล้วทำการฟาดปลายคันเบ็ดไปทางด้านหน้าโดยแรงและรวดเร็ว
        ขั้นตอนต่อไปนี้  คุณต้องใช้ความสังเกตให้ดีและจดจำขั้นตอนต่างๆให้แม่นยำ  คือเมื่อฟาดปลายคันเบ็ดไปทางเบื้องหน้า  คะเนว่าเมื่อปลายคันเบ็ดถูกฟาดมาถึงที่ 11-12 น.  ก็ให้ปล่อยนิ้วโป้งที่กดอยู่บนสปูลออก  พร้อมกับลดระดับปลายคันลงชี้ไปยังเป้าหมายเบื้องหน้า 
        คราวนี้ถึงตอนสำคัญละนะ สายเบ็ดจะฟู่หรือไม่ก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ  คุณจงคอยสังเกตการตกของตะกั่วให้ดี  ทันทีที่ตะกั่วตกลงถึงผิวน้ำ คุณต้องรีบใช้นิ้วโป้งกดลงบนสปูลทันที อย่าชักช้า  หากคุณกดสปูลให้หยุดได้ทันก็ชัวร์ได้ว่า โอกาสที่สายเบ็ดจะฟู่เกิดขึ้นน้อยมาก
        การปล่อยมือจากการกดสปูลในช่วงที่ฟาดคันนั้น  ให้สังเกตดังนี้
        หากหลังจากคุณปล่อยนิ้วโป้งแล้ว  ตะกั่วตกลงน้ำทันทีในระยะที่ไม่เกิน 2 - 4 เมตรเบื้องหน้าคุณ  แสดงว่าคุณปล่อยนิ้วจากการกดสปูล ช้าเกินไป  ตะกั่วเลยตกลงน้ำทันทีใกล้ๆกับที่คุณยืนอยู่  ในทำนองกลับกัน  หลังจากคุณปล่อยมือแล้ว เว้นระยะไปชั่วครู่ตะกั่วจึงตกลงบนผิวน้ำในระยะที่ไม่ห่างจากคุณมากนัก  ก็แสดงว่าคุณปล่อยนิ้วจากการกดสปูลรวดเร็วเกินไป  ตะกั่วจึงพุ่งโด่งขึ้นสูฟ้าแล้วก็ตกลงมาใกล้ๆคุณ  ดังนั้นแทนที่จะได้ระทางที่ไกลๆก็กลับไปได้ระยะทางในทางแนวดิ่ง ทั้งสองกรณีนี้ คุณต้องแก้ไขด้วยวิธีการเพิ่มหรือลดระดับปลายคันก่อนที่จะปล่อยนิ้วโป้งจากการกดสปูล
        จงพยายามฝึกบ่อยๆเพื่อให้เกิดความเคยชิน  ระยะแรกคุณอาจเหวี่ยงเหยื่อได้ไม่ไกลมากนัก  แต่เมื่อฝึกฝนจนมีความชำนาญแล้วจึงค่อยคลายตัวหน่วงออก ให้สปูลหมุนลื่นขึ้น  ก็จะได้ระยะทางที่เพิ่มไกลมากขึ้นกว่าเดิมในที่สุด  และจำไว้ว่า ทุกครั้งที่น้ำหนักของเหยื่อเปลี่ยนไปจากเดิม  คุณก็ต้องปรับการเหวี่ยงของคุณให้มีความสมดุลกับน้ำหนักเหยื่อที่เพิ่มขึ้น  และที่สำคัญมากๆคือ  คุณต้องรักษาระดับของการออกแรงเหวี่ยงให้ใกล้เคียงกันทุกครั้ง
        ผมขอจบวิธีใช้รอกเบทคาสติ้ง ตามแบบฉบับของผมไว้เพียงเท่านี้  หวังว่าคุณคงใช้ประโยชน์จากบทความนี้ได้อย่างเต็มที่  ขออวยพรให้คุณประสพความสำเร็จ  พร้อมกับได้รับความสนุกสนานในการตกปลาด้วยรอกเบทคาสติ้ง และอย่าลืมบอกบรรดาเพื่อนๆให้ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมด้วย...
        ต้องขอภัย ที่ไม่สามารถใส่ภาพประกอบมาได้ทัน  หากหาภาพที่เหมาะสมได้จะนำมาลงให้ดูภายหลัง
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=303