สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 24 พ.ย. 67
เทคนิคการใช้เหยื่อปลอม : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 74 - [17 ส.ค. 60, 19:29] ดู: 64,939 - [23 พ.ย. 67, 19:10] ติดตาม: 5 โหวต: 44
เทคนิคการใช้เหยื่อปลอม
จิระยุทธ อำนวยผล
29 ต.ค. 44, 21:39
1
การตกปลาในบ้านเรา ส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมใช้เหยื่อปลอมในการตกปลาเท่าใดนัก สาเหตุคงอาจจะเป็นเพราะว่า เหยื่อธรรมชาติค่อนข้างหาง่าย และที่สำคัญคือมีราคาถูกกว่า บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียด้วยซ้ำไป
อีกสาเหตุที่ทำให้เหยื่อปลอมไม่ค่อยเป็นที่นิยม อาจเป็นเพราะว่าเพิ่งจะเริ่มมีเข้ามาวางขายกันมากขึ้นก็ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง อีกทั้งราคาของเหยื่อปลอมแต่ละแบบแต่ละชนิดก็ค่อนข้างสูง
และที่สำคัญก็คือเพื่อน ๆ นักตกปลาส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะเลือกซื้อหรือเลือกใช้อย่างไร หรือประเภทใดใช้ตกกับปลาชนิดไหนในสภาพใด เป็นต้น
เพียงเหตุผลแค่นี้ เพื่อน ๆ นักตกปลาหลายต่อหลายคนที่หมายมั่นปั้นมือจะเลือกซื้อเหยื่อปลอมมาลองใช้ซักตัวหนึ่งก็ต้องกลับมานอนคิดอีก 3 ตลบ ผลสรุปก็คือ "อย่าลองเลย ดีไม่ดีจะเสียเงินเปล่า"
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ตกปลามาเป็นเวลานานแล้วและนิยมตกปลาด้วยการ ทรอลลิ่ง (Trolling) คงจะรู้จักเหยื่อปลอมจำพวก ปลั๊ก (Plug) หรือหัวเจ็ท (Jet) กันดี
เพื่อน ๆ ที่นิยมตกปลาตามอ่างเก็บน้ำและตามเขื่อนก็คงจะต้องรู้จักเหยื่อปลอมพวกสปูน (Spoon) หรือสปินเนอร์ (Spinner) เป็นอย่างดี ที่เห็น ๆ กันอยู่ก็คงมีเพียงเท่านี้ ส่วนเหยื่อปลอมชนิดอื่น ๆ นั้น ยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจของเพื่อน ๆ นักตกปลาสักเท่าไร
ในที่นี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงเหยื่อปลอมที่มีลักษณะคล้ายกับปลาตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่หลากหลาย ทั้งรูปแบบและชนิดของการเลือกใช้งานให้เหมาะสมตลอดจนการใช้งานที่ถูกต้อง หรือจะเรียกให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ว่า 'วิธีการใช้เหยื่อปลอมที่ได้ผล และเงื่อนไขในการใช้เหยื่อปลอม'
เหยื่อปลอมมีอยู่ด้วยกันในปัจจุบันหลายยี่ห้อและแบบ แต่ที่จะกล่าวถึงนี้เป็นการใช้เหยื่อปลอมประเภทที่มีรูปร่างคล้ายปลาเป็นหลัก
คงไม่ต้องกล่าวว่าเป็นเหยื่อยี่ห้อซึ่งดังที่สุด เพราะเพื่อน ๆ ที่เป็นนักตกปลาต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เมื่อคิดว่าจะใช้เหยื่อชนิดนี้สำหรับการตกปลาหลาย ๆ พันธุ์ ก็อาจจำเป็นต้องทราบเทคนิคต่าง ๆ ที่จะกล่าวต่อจากนี้ไปเพื่อนำไปทดลองใช้ มากกว่าการที่จะเหวี่ยงเบ็ดออกไปแล้วคอยหมุนรอกกลับมาเท่านั้น
1. การเลียนแบบปลาเล็กที่บาดเจ็บหรือกำลังจะตาย (Dying Minnow)
ไม่มีอะไรที่จะล่อใจปลานักล่าเหยื่อขี้ระแวงให้ตรงเข้าจู่โจมเหยื่อทันทีมากไปกว่าเห็นปลาตัวเล็ก ๆ ที่บาดเจ็บหรือกำลังใกล้จะตายได้ ไม่มีปลานักล่าชนิดใดที่จะมองข้ามเหยื่อที่มันสามารถตะครุบได้อย่างง่ายดาย ถึงแม้ว่ามันจะอิ่มจนอยากจะนอนเสียด้วยซ้ำ
เหยื่อปลอมที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ที่เพื่อนนักตกปลารู้จักกันเป็นอย่างดีเห็นจะหนีไม่พ้นยี่ห้อ RAPALA โดยเฉพาะชนิดลอยน้ำ Original Floating และชนิดที่ค่อย ๆ จมช้า ๆ Countdown เหยื่อทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นเหยื่อขนาดเล็กซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ และมี Actions ในลักษณะเช่นเดียวกับปลาที่กำลังบาดเจ็บหรือกำลังจะตาย
การหวังผลของเหยื่อประเภทนี้
เหยื่อประเภทนี้จะใช้ล่อปลาในตระกูลปลากระพง, ปลาม้า, ปลาจวด, ปลาช่อน, ปลาชะโด รวมทั้งปลาในตระกูล Catfish เช่น ปลากดชนิดต่าง ๆ อีกทั้งปลานักล่าอื่น ๆ หลายชนิด
วิธีใช้:- สามารถใช้เหยื่อชนิดที่ลอยน้ำติดไว้ที่ปลายสายโดยตรงหรือจะต่อผ่าน Snap ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนให้ง่ายขึ้นก็ได้ ให้ทำการเหวี่ยงเหยื่อไปนอกชายฝั่งที่คิดว่าจะมีปลานักล่าซุ่มรออยู่
สถานที่ที่ซุ่มตัวรอของปลานักล่าส่วนใหญ่มักจะเป็นสถานที่ซึ่งมันสามารถกำบังตัวได้ดีจากปลาเหยื่อ เช่น พงหญ้าใต้น้ำ ใต้ใบบัว ก้อนหิน ซอกหิน ต้นไม้ที่ลอยน้ำ ซากไม้ล้ม กลุ่มตอไม้ใต้น้ำ ตามตอหม้อสะพาน บริเวณริมตลิ่งที่น้ำเซาะเว้าลึกเข้าไปและบริเวณที่มืด ๆ
เมื่อได้ที่หมายดังกล่าวหรือตำแหน่งที่ท่านคิดว่าน่าจะมีปลานักล่าซุ่มตัวรออยู่แล้ว ก็จัดการปล่อยเหยื่อปลอมให้มันทำหน้าที่ของมัน ด้วยการตีเหยื่อให้ลงตรงจุดดังกล่าวหรือให้เข้าใกล้เป้าหมายให้มากที่สุด และใช้วิธีกระตุกปลายคันเบ็ดสักนิดให้เป็นจังหวะ ๆ ท่านจะเห็นว่าเหยื่อปลอมดังกล่าวเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระเหมือนกับปลาที่ตายแล้วทั่ว ๆ ไป ปล่อยให้เหยื่ออยู่เช่นนั้นสักครู่ หากไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร ก็เริ่มตีเหยื่อเข้าไปใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงที่คิดว่าน่าจะมีตัว ทำเช่นนี้ประมาณ 5 - 6 ครั้ง หากว่ายังไม่มีผลใด ๆ ก็ให้ลองเปลี่ยนสถานที่แห่งใหม่
การที่เรากระตุกปลายคันจะส่งผลไปยังตัวเหยื่อปลอมให้มีการเคลื่อนไหวและมีลักษณะเหมือนปลาที่กำลังจะตาย ให้กระตุกปลายคันเบ็ดโดยออกแรงให้มากพอที่จะทำให้เหยื่อซึ่งอยู่ใต้ผิวน้ำสั่นเร็ว ๆ หลาย ๆ ครั้ง และปล่อยสายเบ็ดออกไปให้ยาวพอที่ทำให้เหยื่อกลับลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้ด้วย
การกระตุกปลายคันเบ็ดนั้น จะทำให้เหยื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าในอาการที่เหมือนปลากำลังจะตายก็จริงอยู่ แต่ไม่ได้ทำให้มันลอยตัวขึ้นมาด้วย ต้องปล่อยให้เหยื่ออยู่อย่างนั้นประมาณ 10 วินาที
ระหว่างที่ท่านกระตุกปลายคัน ปลานักล่าซึ่งซุ่มตัวดูอยู่อาจให้ความสนใจเหยื่อแต่ยังไม่เข้าเล่นงานเหยื่อ เพราะเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ปลานักล่าส่วนใหญ่มักจะขี้ระแวง
ระหว่างที่ท่านกรอสายลากเหยื่อกลับมา ขอให้ท่านสังเกตด้วยว่ามีปลานักล่าว่ายติดตามเหยื่อของท่านมาหรือเปล่า
หากว่ามี คราวนี้จึงลงมือให้เต็มที่โดยการเลียนแบบปลาที่ยังพอมีกำลังอยู่และกระเสือกกระสนเพื่อจะหนีออกไปจากบริเวณอันตราย
ปล่อยสายเบ็ดออกมาให้ยาว ๆ หันปลายคันชี้ไปที่ตัวเหยื่อและสะบัดปลายคันเบ็ดขึ้นลงเป็นจังหวะยาว ๆ ด้วยวิธีนี้จะทำให้เหยื่อดำดิ่งลงไปอย่างเร็วและมีอาการสั่นมาก ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวนี้จะทำให้เกิดเสียงขึ้นมาด้วย โดยเสียงจะเกิดจากการกระทบกันโดยเร็วระหว่างตัวเบ็ดกับห่วงที่เป็นโลหะ ทำให้เกิดคลื่นเสียงสะท้อนในน้ำซึ่งมีผลต่อการได้ยินเสียงของปลา
หลังจากที่สะบัดปลายคันเบ็ดไปมาแต่ละครั้งแล้ว ก็ปล่อยให้เหยื่อค่อย ๆ ลอยกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ และปล่อยให้ลอยอยู่อย่างนั้นประมาณว่าสัก 10 วินาที หากยังไม่ได้ตัวก็ให้เริ่มทำซ้ำตั้งแต่เริ่มต้นอีกสัก 5 - 6 ครั้ง แล้วเปลี่ยนเป็นที่อื่นบ้าง
หลักการต่าง ๆ ก็คือ ปลาเล็ก ๆ ที่ตายแล้วจะอยู่ทั้งบนผิวน้ำ - จมน้ำ หรืออยู่กลางน้ำเพราะเหตุที่ว่าปลาใหญ่จะไล่กินปลาเล็กโดยมันอ้าปากว่ายพุ่งเข้าไปในฝูง พยายามทำร้ายปลาในฝูงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หลังจากนั้นมันจึงจะหวนกลับมาตามกินปลาเล็กซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ลอยอยู่
ดังนี้ เทคนิคที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมการเข้ากินเหยื่อของปลานักล่าเป็นหลัก
ยังมีพฤติกรรมอีกชนิดหนึ่งที่ใกล้เคียงกับการใช้เหยื่อชนิด Original Floating แต่วิธีนี้เราจะใช้เหยื่อที่ชื่อว่า Countdown เหยื่อชนิดนี้จะค่อยจมลงอย่างช้า ๆ การลอยตัวของเหยื่อชนิดนี้จะค่อยจมลงอย่างช้า ๆ การลอยตัวของเหยื่อจะอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อท่านเหวี่ยงเหยื่อชนิดนี้ออกไป มันจะค่อย ๆ จมลงไปในระดับความลึกระดับหนึ่งซึ่งเหมาะสมกับปลานักล่าบางชนิดที่ชอบกินเหยื่อในสภาพเช่นเดียวกับปลาเล็กบาดเจ็บหรือใกล้จะตายแต่จะอยู่ในลักษณะกึ่งลอยกึ่งจม
วิธีใช้เหยื่อปลอมชนิดนี้ เพื่อน ๆ อาจจะต้องศึกษาวิธีการกินเหยื่อของปลานักล่าที่ต้องการตัวเสียก่อนว่า มีพฤติกรรมการกินเหยื่อในระดับความลึกเท่าใด
โดยทั่วไปเหยื่อ Countdown จะจมลงไปใต้ผิวน้ำในอัตราความเร็ว 1 ฟุต ในระยะเวลา 2 วินาที ให้เพื่อนลองตีเหยื่อไปยังตำแหน่งที่หวังผล ประมาณว่าให้เหยื่อจมลงอยู่ในตำแหน่งประมาณ 1 ฟุต เหนือขึ้นมาจากพื้นแล้วจึงค่อย ๆ กรอสายเบ็ดลากเหยื่อกลับมาโดยให้ปลายคันเบ็ดสะบัดช่วงสั้น ๆ เพื่อทำให้เหยื่ออยุ่ในลักษณะที่พุ่งตัวกระตุกไปข้างหน้าอย่างเต็มที่เหมือนกับปลาที่ได้รับบาดเจ็บและกำลังดิ้นรนเพื่อหนี หากยังไม่ได้ผลก็ขอให้ลองเปลี่ยนเป็นบริเวณที่มีระดับน้ำลึกแตกต่างกันออกไป
2. การเลียนแบบปลาที่ตกใจและวิ่งหนีก่อให้เกิดการสั่นสะเทือน (Jolting)
ในกรณีที่ผิวน้ำเป็นระลอกคลื่นมากเกินไป น้ำมีสีขุ่น การสั่นสะเทือนของเหยื่อเป็นวิธีที่จะล่อปลานักล่าให้ออกมาหาเหยื่อได้ การสั่นสะเทือนของเหยื่อปลอมจะทำให้เกิดเสียงสะท้อนใต้น้ำให้ได้ยินไปถึงประสาทสัมผัสของปลานักล่าได้อย่างมากมีระยะไม่เกิน 75 ฟุต
เหยื่อปลอมชนิดที่ทำให้เกิดอาการสั่นสะเทือนในที่นี้ก็คือ Original, Jointed Rapala
เหวี่ยงเหยื่อดังกล่าวลงไปในบริเวณซึ่งเป็นที่กำบังของปลานักล่าหรือในที่ที่คิดว่ามีปลานักล่าซ่อนตัวอยู่ ค่อย ๆ กระตุกปลายคันเบ็ดในขณะที่กรอสายเบ็ดกลับมาอย่างรวดเร็ว เหยื่อชนิดนี้จะดำดิ่งจากแรงฉุดลากด้วยความเร็ว ตัวกำเนิดเสียงในตัวเหยื่อจะมีแรงกระทบกระแทกในขณะที่อยู่ใต้น้ำจนปลานักล่าที่อยู่ในรัศมีใกล้เคียงก็จะรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนหรือแม้จะอยู่ในระยะไกล ๆ ก็สามารถได้ยินได้
หลาย ๆ ครั้ง ปลานักล่าจะว่ายน้ำเข้ามาดูเหยื่อใกล้ ๆ เมื่อได้ยินเสียงหรือประสาทสัมผัสของมันรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเหยื่อที่มันต้องการก่อนที่มันจะลงมืองับเหยื่อ
วิธีนี้ใช้ได้ดีกับปลานักล่าที่หาอาหารโดยการใช้ประสาทรับความรู้สึกมากกว่าการใช้สายตา ฉะนั้นเพื่อน ๆ ที่จะใช้วิธีนี้ต้องหมั่นทำให้เหยื่อเคลื่อนไหวอยู่เสมอและมีอาการกระทบกระแทกกับน้ำอยู่เรื่อย ๆ
3. การเลียนแบบปลาที่มีสีสันน่าสนใจและบาดเจ็บ (Fat Rapping)
วิธี Fat Rapping ใช้ในการล่าปลาที่เคลื่อนที่ไปมาอย่างรวดเร็วอยู่ตามชายฝั่ง เช่น ตามพงหญ้า กอบัว พืชลอยน้ำชนิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวของเหล่าปลานักล่า
เหยื่อที่ใช้ในการนี้อาจแบ่งแยกได้เป็น 3 ชนิด คือ
3.1 เหยื่อชนิดดำตื้น
ส่วนมากแล้วมักจะใช้ในขณะที่พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน เพราะเหยื่อชนิดนี้จะ เพราะเหยื่อชนิดนี้จะมีสีสันกระจ่างเป็นมันวาว ลองทดสอบดูก่อนว่าบริเวณดังกล่าวที่จะหย่อนเหยื่อมีที่กำบังใต้น้ำชายฝั่งหรือไม่
จากนั้นทำการหย่อนเหยื่อลงไปในทุก ๆ ซอก และทุก ๆ ช่อง ที่คิดว่าอาจจะมีปลานักล่าซ่อนตัวอยู่ ต่อจากนั้นก็กู้สายเบ็ดขึ้นจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่น สาวสายที่มีเหยื่อ Shallow Runner Fat Rap กลับมาหาตัวอย่างรวดเร็ว การกระทำอย่างรวดเร็วเช่นนี้สามารถก่อให้เกิดแสงวาบขึ้นมาทำให้ปลาสนใจ หากว่าพื้นน้ำอยู่ในสภาพเรียบสงบก็จงปล่อยให้เหยื่อลอยอยู่อย่างน้อย 2 - 3 วินาที จึงค่อยกรอสายเบ็ดเข้ามา
3.2 เหยื่อชนิดดำลึก
ส่วนมาแล้วจะใช้เหยื่อชนิดนี้ในเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มขึ้นสูงจากขอบฟ้า เพราะเหยื่อชนิดนี้จะมีสีสันที่ออกจะทึบ เมื่ออยู่ในน้ำจะดูเป็นเงาดำ เหยื่อ Deep Runner Fat Rap จะมีตัวถ่วงในตัวเหยื่อเอง และเหยื่อจะจมลงไปอย่างรวดเร็วได้ 10 - 12 ฟุต
วิธีใช้ก็ควรจะลากเหยื่อให้ช้าลงกว่าแบบแรกโดยการกระตุกสายที่ปลายคันเบ็ดเรื่อย ๆ และพยายามปล่อยสายให้ยาวพอที่เหยื่อจะจมอยู่ในระดับใต้พื้นน้ำ
3.3 เหยื่อชนิดที่มีขนาดจิ๋ว
เหยื่อชนิดนี้ส่วนใหญ่จะมีสีสันลวดลายที่แพรวพราวหรือเรียกอีกอย่างว่าสีสันที่ฉูดฉาดเกินความเป็นจริง แต่ที่สำคัญคือมีขนาดที่เล็กจึงเหมาะสมที่จะใช้อุปกรณ์ขนาดเล็ก สายเบ็ดเล็ก
เป็นเหยื่อที่นักตกปลาส่วนใหญ่จะมีไว้สำรองในกรณีที่เหยื่อที่กล่าวข้างต้นทั้งสองชนิดใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะว่าปลานักล่ามีขนาดเล็กและเหยื่อที่ใช้มีขนาดใหญ่โตจนดูน่ากลัวมากกว่าน่ากิน เหยื่อชนิดนี้จึงเหมาะสมและมีผลเต็มที่เพราะมันมีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกับที่ปลาส่วนมากมักใช้เป็นอาหาร เหยื่อชนิดนี้รู้จักกันในชื่อ Mini Fat Rap
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นตัวอย่างการใช้งานของเหยื่อปลาปลอมในเงื่อนไขต่าง ๆ กัน ส่วนองค์ประกอบในการนำไปใช้งานจริง ๆ นั้น เมื่อเพื่อน ๆ นักตกปลาแต่ละคนได้นำไปใช้แล้วอาจจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปบ้าง
ทั้งนี้และทั้งนั้น การใช้เหยื่อปลอมในบ้านเรายังไม่ค่อยแพร่หลายกันมากมายเช่นกับในต่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องให้เพื่อน ๆ นักตกปลาทุกคนนำไปทดลองและทดสอบด้วยตนเอง และคาดหวังว่าเพื่อน ๆ คงจะประสบผลสำเร็จและหันมาใช้เหยื่อปลอมกันมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็ได้ชะลอการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้หมดช้าลงไป ทั้งนี้ก็เพราะว่า เหยื่อปลอมนั้น สามารถที่จะนำกลับมาใช้ได้อีกไม่มีขีดจำกัด
ดังนั้นหากเพื่อน ๆ นำไปใช้แล้วได้ผลเป็นประการใดหรือมีการทดสอบเหยื่อปลอมประเภทใหม่ ๆ ช่วยบอกต่อ ๆ กันมาด้วย
ข้อมูลจาก OUTDOOR LIFE MAGAZINE และ SPORTS AFIELD MAGAZINE แปลโดย จิระยุทธ อำนวยผล ถ่ายทอดโดย MrSHARK
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=272