สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 29 ธ.ค. 67
อินทรี ตกยาก...จริงหรือ : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 9 - [10 เม.ย. 60, 22:03] ดู: 23,155 - [28 ธ.ค. 67, 04:14] ติดตาม: 1 โหวต: 4
อินทรี ตกยาก...จริงหรือ
จิระยุทธ อำนวยผล
19 ต.ค. 44, 12:54
1
ในประเภทปลาเกมที่เป็นปลากินด้วย คงไม่มีนักตกปลาหรือนักกินปลาท่านใดกล้าปฏิเสธ ปลาอินทรี ไม่ว่าจะปรุงในรูปแบบใด จะสดหรือแห้ง แกงหรือทอด ปลาอินทรีจัดว่าเป็นปลาเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของปลาทะเลที่ได้รับความนิยมนำมาบริโภคตลอดมา  และสำหรับนักตกปลาแล้ว ปลาอินทรี ถือได้ว่าเป็นปลาครูอีกตัวหนึ่งที่นักตกปลาทะเลทุกคนต้องเคยประมือกับพวกมันมาไม่มากก็น้อย หรือบางคนถึงขั้นขนาดตกปลาอินทรีเป็นประจำทุกปีตามฤดูกาลของมัน หลายคนเคยเขียนบทความในลักษณะของ เทคนิคและกรรมวิธีในการตกปลาอินทรี หรือขนาดที่เรียกเองว่า ศาสตร์แห่งการตกปลาอินทรี ก็สุดแล้วแต่จะเรียกกันไป
เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการตกปลาอินทรีในสไตล์ฝรั่งมังค่าเค้าหรือในต่างประเทศเฉพาะเท่านั้น ข้อมูลและเรื่องบางอย่างอาจจะคล้ายคลึงกับการตกปลาอินทรีในบ้านเราในบางส่วน แต่ผลลัพธ์ที่พวกฝรั่งเขาต้องการคือตัวปลาเท่านั้น อาจจะดูเป็นเรื่องของการเอาเปรียบปลา และกรรมวิธีอาจจะดูโหดร้ายหรือเกินไปสำหรับการตกปลาบ้าง แต่เชื่อเถอะว่าเขามีเหตุผลที่ใช้กรรมวิธีแบบนั้น
การตกปลาอินทรีในเมืองไทยมักจะกระทำกันตามฤดูกาลโดยจะเริ่มกันตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนในบริเวณอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่จังหวัด ตราด ไล่เรื่อยจาก จันทบุรี ระยอง แสมสาร สัตหีบ และเกาะสีชัง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์
ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง จะเริ่มกันตั้งแต่ประมาณปลายเดือนมกราคมที่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา และสุดท้ายที่ปัตตานีประมาณเดือนเมษายน
ด้านทะเลอันดามัน จะเริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ ระนอง และสิ้นสุดประมาณเดือนพฤษภาคมที่ สตูล
ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กล่าวอาจจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สภาพน้ำและแหล่งอาหาร ประกอบกับจำนวนปลาที่อพยพเข้ามาในแต่ละปี เพราะเห็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปลาอินทรีเป็นปลาที่มีแหล่งอาศัยไม่เป็นหลักแหล่งแน่นอน เช่น ปลาตามกองหิน การเคลื่อนย้ายจะเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ จุดประสงค์หลักคือการจับคู่ผสมพันธุ์และเจริญวัยและเดินทางไปตามฤดูกาล
กรรมวิธีในการตกในเมืองไทย
ใน อ่าวไทยตอนบน จะใช้การตกแบบเข้าหาฝูงปลาโดยตรงและปล่อยเหยื่อประเภทลูกปลาเป็น ๆ หรือลูกปลาที่ตายแล้ว เข้าไปล่อปลาอินทรีในฝูง จะมีการลากเหยื่อปลอมหรือเหยื่อจริงบ้างในบางกรณี
ด้าน อ่าวไทยตอนล่าง มักจะใช้การตกแบบลากเหยื่อผ่านฝูงปลาหรือแหล่งหากินแหล่งอาศัยของปลาอินทรี โดยมากมักใช้เหยื่อลูกปลาที่ตายแล้วเป็นหลัก การลากเหยื่อปลอมก็ใช้ได้ผลดีในด้านนี้
สำหรับ ฝั่งอันดามัน การตกปลาอินทรีมักจะเป็นรูปแบบของการลากเหยื่อปลอมมากที่สุด และเท่าที่สังเกต มิได้เจาะจงตกปลาอินทรีโดยเฉพาะ
ปลาอินทรีเป็นปลาที่มีแผงฟันคมเรียงเป็นแถวตลอดทั้งขากรรไกรล่างบน แม้กระทั่งช่องเหงือกของมันยังค่อนข้างอันตรายหากว่ามีนักตกปลาใจถึงท่านใดสอดนิ้วเข้าไปเพื่อโพสท์ท่าถ่ายรูปสวย ๆ หรือชะล่าใจไม่จบชีวิตปลาอินทรีเสียก่อนที่จะทวงเหยื่อตัวเก่งคืนจากปากมัน ก็อาจจะต้องเสียนิ้วเลยก็เป็นไปได้
การตกปลาอินทรีจะใช้ สายลีดเดอร์ ที่เป็นโลหะก็เพราะเหตุผลนี้ มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะใช้สายลีดเดอร์ที่เป็นสายเอ็นธรรมดา แต่เท่าที่เห็นมาก็ยังมีนักตกปลาได้ปลาอินทรีด้วยสายลีดเดอร์ที่เป็นสายเอ็น เหตุเพราะว่าเหยื่อที่นักตกปลาตั้งใจใช้ตกมันเตรียมไว้สำหรับปลาสละหรือปลาชนิดอื่นมากกว่าที่จะหวังได้ปลาอินทรี (เป็นความบังเอิญ) เสียเป็นส่วนใหญ่
การตกปลาอินทรีมักจะใช้ ตัวเบ็ด ประมาณ 1 - 2 ตัว เสียเป็นส่วนมาก และในบางพื้นที่อาจจะใช้มากกว่านี้ เท่าที่เคยพบประมาณ 3 - 5 ตัว ตัวเบ็ดที่นิยมใช้ตกปลาอินทรีจะเป็นตัวเบ็ดสำหรับตกปลาทะเลชนิดก้านยาวหรือที่เรียกว่า ทรง O'shaughnessy ขนาดตั้งแต่ 1/O ถึง 5/O แล้วแต่สถานที่และขนาดของตัวเหยื่อเป็นหลัก เช่น แถบเกาะสีชัง ใช้ขนาด 3/O ถึง 5/O แต่ที่ ตราด กลับใช้ขนาด 1/O ถึง 3/O เท่านั้น ส่วนในทางภาคใต้จะเลือกใช้ขนาด 2/O ถึง 4/O สำหรับจำนวนตัวเบ็ดขึ้นอยู่กับพื้นที่ จำนวนตั้งแต่ 1 - 5 ตัว เป็นต้น
ในปัจจุบันปลาอินทรีจัดเป็นปลาเศรษฐกิจของแหล่งประมงทั่วโลก จึงอาจจะกล่าวได้ว่าปลาอินทรีมิได้ถูกจำกัดว่าเป็นปลาเกมเพื่อการตกของนักตกปลาอีกต่อไป การประมงแบบต่าง ๆ อาทิเช่น อวนลาก อวนลอย ล้วนเป็นตัวแปรในส่วนแบ่งของจำนวนปลาอินทรีที่จะพึงได้ด้วยการตกปลา นับแต่นี้จำนวนปลาอินทรีอาจจะมีจำนวนน้อยกว่าที่เคยมีอันเนื่องจากเหตุผลหลายประการ จำนวนประชากรที่มากขึ้นย่อทำให้มีการบริโภคปลาชนิดนี้มากขึฉน จำนวนปลาอินทรีในแหล่งน้ำค่อนข้างลดลงทำให้เกมการตกปลาอินทรีค่อนข้างพิถีพิถันอยู่แล้ว อาจจะต้องมีกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปเพื่อที่จะได้ปลาอินทรีสักตัว
นักตกปลาในเมืองไทยที่เคยตกปลาอินทรีได้ด้วยเบ็ดตัวเดียวเงี่ยงเดียวอาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้ตัวเบ็ดแบบสามเงี่ยง ทั้งที่จริงแล้วนักตกปลาหลายคนถือว่าค่อนข้างเอาเปรียบปลา แต่เมื่อมองกลับกัน การตกปลาด้วยวิธีอื่น อย่างเช่นการตกด้วยเหยื่อปลอมที่มีตัวเบ็ดสองตัว แต่ละตัวก็เป็นเบ็ดสามเงี่ยงทั้งสิ้น ก็ยังดูไม่น่าเกลียดด้วยซ้ำ ไหนเลยการตกปลาอินทรีด้วยตัวเบ็ดสามเงี่ยงจะเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อการได้มาซึ่งปลาอินทรีสักตัวอาจจะค่อนข้างลำบาก หรือการที่ปลาติดเบ็ดแล้วสะบัดตัวเบ็ดเงี่ยงเดียวหลุดเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าเสียดายมากกว่าน่าเกลียด ท่านก็ลองชั่งใจดู
การตกปลาอินทร•เป็นเกมตกปลาที่ค่อนข้างยุ่งยาก การได้ปลาอินทรีสักตัวจากการตกสักครั้งหนึ่งมูลค่าในตัวมันหากว่ามีน้ำหนักสูง ๆ อาจจะประมาณหนึ่งพันบาทหรือมากกว่า แต่นักตกปลาก็มิได้มองจุดนี้ เรามองกันว่าการติดเบ็ดของปลา สักครั้งในหนึ่งทริพที่เราเตรียมตัวมาเป็นเวลานาน ปลาตัวหนึ่งมีค่ามากกว่าเงิน เพราะนั่นคือความภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดขึ้น
การตกปลาอินทรียุคใหม่
ในต่างประเทศ การตกปลาอินทรีถือได้ว่าค่อนข้างยุ่งยากและอันตรายเป็นอย่างยิ่งไม่แพ้กับการตกปลาฉลาม เพราะแผงฟันอันแหลมคมของปลาอินทรีที่ทำให้นักตกปลาหลายต่อหลายคนต้องเสียนิ้วมือไปเพราะมัน จึงมีการตั้งฉายามันว่ามีปากที่เป็น The Guillotine Jawed หรือปากใบมีดกิโยติน ฉะนั้นนักตกปลาอินทรีในเมืองนอกจึงค่อนข้างรัดกุมในเรื่องการตกปลาชนิดนี้และความแน่นอนในการป้องกันและควบคุมแผงฟันของมัน
อุปกรณ์ที่ใช้ในการตกปลาอินทรีนอกจาก รอก และ คันเบ็ด แล้ว อุปกรณ์ประกอบอื่นแล้วแต่สภาพแวดล้อมและแหล่งปลาอาจจะต้องใช้เครื่องช่วย เช่น อุปกรณ์ถ่วงเหยื่อน้ำลึก (Down Rigger Ball) ถุงมือ (Globe) หนังยาง (Rubber Band) และอื่น ๆ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบชุดปลายสายหลัก ๆ ได้แก่
1. ลวดสเตนเลสชนิดเส้นเดี่ยว (Single-Strand Wire)
2. ตัวเบ็ดชนิด 3 เงี่ยง (Treble Hook) ตัวเบ็ดชนิด Live-Bait Hook
3. ลูกหมุน (Swivel)
4. คีมตัดลวด (Plier)
สำหรับวิธีการประกอบชุดปลายสาย จะได้นำเสนอต่อไปครับ โปรดติดตาม (Mr.SHARK)
ข้อมูลจากนิตยสาร Sport Fishing นิตยสาร Salt Water Sportman และหนังสือ International Game Fish Association (IGFA) 1998 แปลโดย จิระยุทธ อำนวยผล ตีพิมพ์ในนิตยสารโลกกว้างกลางแจ้งฉบับที่ 63 เดือนกันยายน 2541 ถ่ายทอดโดย Mr.SHARK
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=259