บอกเล่าเก้าสิบ กับ สบาย สบาย สไตล์ปลาแรด.
ภาพที่ 1สวัสดีน้าๆทุกท่านครับ. เริ่มจากน้องท่านนึงที่โทรมาคุยกับผมเรื่องซื้อขายปลาม้า เริ่มๆก็วนเวียนอยู่กับรายละเอียดของปลานิดหน่อย เลย 5 นาทีไปบทสนทนาก็เริ่มเตลิด จนมาเข้าหัวข้อนี้ ใช่ครับ! จากคำถามของน้องปู (ถ้าจำชื่อไม่ผิดน่ะครับ.) กับ ปลาที่เลี้ยงอยู่และเรื่องราวเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูล ว่าหารายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มปลาแรด บางชนิดรายละเอียดจะค่อนข้างหายาก วันนี้เลยขออนุญาตแต่งแต้ม บทเสริม ของปลาแรดเพิ่มอีกนิดนึงน่ะครับ.
ภาพที่ 2วงศ์ปลาแรด หรือ วงศ์ Osphronemidae หรือ ออส-โฟร-นิ-มี-ดี ปลาแรด พบการกระจายในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียใต้. รวมถึงบางประเทศในแถบเอเชียใต้ด้วยครับ.
ชนิดของปลาแรดที่ถูกบรรยาย ณ. ปัจจุบัน มีทั้งหมด 4 ชนิดคือ.
1) Osphronemus goramy Lacepède 1801 หรือ ปลาแรดดำ การกระจายพบเป็นบริเวณกว้าง นับตั้งแต่ ประเทศในแถบอินโดไชน่า ลงไปบางประเทศในคาบสมุทรมาเลย์ อย่าง มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย นอกจากนี้ ระบุว่าพบในประเทศแถบเอเชียใต้อย่าง อินเดีย และ ปากีสถาน ประเทศที่ระบุลงไปนี้ ทั้งหมดเป็นปลาที่พบตามธรรมชาติ นอกเหนือจากนี้ส่วนใหญ่ถูกนำเสนอในรูปของการนำเข้าเพื่อการเพาะเลี้ยงและบริโภค หรือ มีส่วนในรูปของปลาสวยงาม. จากรายงาน ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ระหว่างเดือน เมษายน พฤษภาคม ปลาตัวผู้จะหาหญ้าน้ำ หรือ กิ่งไม้ เพื่อนำมาสร้างรัง (ตัวเมียสามารถสร้างไข่ประมาณ 2,000 3,000 ฟอง) โดยตัวผู้จะอมไข่ที่ผสมน้ำเชื้อแล้ว พ่นเข้าไปในรัง ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลา 40ชม.หลังจากไข่ฟักออกเป็นตัวแล้ว ตัวผู้จะดูแลไข่ต่อไปอีกราว 2 สัปดาห์ครับผม.
ภาพที่ 32) Osphronemus exodon Roberts 1994 หรือ ปลาแรดเขี้ยว จากรายงานการบรรยาย ระบุว่าปลาแรดชนิดนี้พบแถบลุ่มน้ำโขง จากตอนบนของ หลี่ผี หรือ น้ำตก Khone. ลงใต้ จนถึง สตึงแตรง ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของกัมพูชา จากรายงานของ Prof. T.R.Roberts. ตัวอย่างแรกที่สมบูรณ์แบบและถูกนำมาเขียนประกอบรายงานการบรรยาย ได้จากตลาด สตึงแตรง กัมพูชา นอกจากนี้ตัวอย่างเสริม ก็ได้จากทั้งสตึงแตรง และ หลี่ผี ทางตอนใต้ของลาว.
ปลาแรดเขี้ยวมีลักษณะที่แตกต่างจากปลาแรดชนิดอื่น หลักๆก็คือ ฟันที่มีขนาดใหญ่ที่ยื่นยาวออกมา (พบในปลาขนาดใหญ่) ในช่วงวัยเยาว์จะมีแถบที่ลำตัวราวๆ 6 -7 แถบ มีจุดแต้มดำอยู่เหนือส่วนหลังของครีบก้น นอกจากนี้บริเวณใต้ศีรษะ และ บริเวณส่วนอกจะมี แถบสีส้ม ปนแดง ในวัยเยาว์ เมื่อเติบใหญ่ แถบสีบริเวณนี้ จากรายงานบางตัวอย่าง มีทั้งพบและไม่พบแถบสีนี้.
ภาพที่ 4ส่วนในรายละเอียดข้อแตกต่าง ระหว่างปลาแรดเขี้ยว และ ปลาแรดชนิดอื่นที่เด่นชัดสุด คือ แถบสีส้มแดง บริเวณใต้ศีรษะ กับ บริเวณส่วนอก(ในวัยเยาว์) กับ ฟันที่ยื่นยาวออกมา(ในตัวเต็มวัย) แล้วนั้น รายละเอียดอย่างอื่น เช่น จำนวนก้านครีบแข็ง จำนวนก้านครีบอ่อน ทั้ง ครีบหลัง และครีบก้น ดูจะมีจำนวนที่เหลื่อมหล้ำกันอยู่ หากนำมาเทียบกันจริงๆ เช่น จำนวนก้านครีบแข็งของครีบหลังในแรดเขี้ยว จะไปตรงกับของปลาแรดอินโดนีเซีย อีกชนิด หรือ จำนวนซี่กรองเหงือก ของแรดเขี้ยวก็จะเหลื่อมจำนวนกับของ ปลาแรดแดงอินโดนีเซีย อย่างนี้เป็นต้น.ปลาแรดตัวเมียสามารถผลิตไข่ตั้งแต่ 1,000 ฟองขึ้นไป (ในตลาดสตึงแตรง ปี พ.ศ. 2537 ปลาแรดเขี้ยวตัวเมีย น้ำหนัก 1.24 ก.ก. ไข่น้ำหนักราวๆ 56 กรัม หรือ จำนวนไข่ราวๆ 7,800 ฟอง) จากรายงานของ Prof. T.R.Roberts. ท่านระบุว่าพบลูกปลาวัยอ่อนที่พบใกล้ๆรังในราวๆปลายเดือนเมษายน.ในส่วนของอาหาร ปลาแรดเขี้ยว เป็นปลากินทั้งพืชและสัตว์.
ภาพที่ 53) Osphronemus septemfasciatus Roberts 1992 จากรายระบุว่าปลาแรดชนิดนี้พบในบริเวณ ซาราวัค (บาแรม,ทินจาร์) ในลุ่มน้ำคาเพาว์ส (Kapaus Basin.)ลุ่มน้ำ Mahakam , Kalimantan Timur. ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้ คือ มีแถบข้างลำตัว 6 - 7 แถบ ซึ่งแถบนี้จะติดตัวไปตลอดชีวิต แถบแต่ละแถบจะสมบูรณ์ในวัยเยาว์หากเทียบกับปลาแรดแดงอินโดอีกชนิด Osphronemus laticlavius Roberts 1992 ที่จะมีแถบแค่ 3-5 แถบ(ลักษณะของแถบไม่สมบูรณ์) เมื่อเติบใหญ่ แถบนี้จะยาวเหลือ 2 ใน 3 ส่วนสีสันของปลาชนิดนี้ในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน ส่วนก้านครีบแข็ง และ ก้านครีบอ่อน ของทั้งครีบหลัง และ ครีบก้น หากจะนำมาเทียบคงจะเทียบแค่ แรดแดงอินโด หรือ Osphronemus laticlavius Roberts 1992 มากกว่า เนื่องจากปลาทั้งสองชนิด มาจากอินโดนีเซียด้วยกันทั้งคู่ ที่แตกต่างคือ จำนวนก้านครีบอ่อนของครีบหลัง O. septemfasciatus = 11-12 ใน O. laticlavius = 10 จำนวนซี่กรองเหงือกใน O. septemfasciatus = 11-13 ในขณะที่ O. laticlavius = 8-9 นอกจากที่กล่าวมาในรายงานการบรรยาย ข้อมูลทางจำนวนในก้านครีบอื่นๆ จะ เหลื่อมล้ำกันครับผม.
ภาพที่ 64) Osphronemus laticlavius Roberts 1992 ปลาชนิดนี้ในตลาดปลาสวยงามบ้านเราเรียกว่า ปลาแรดแดงอินโด (ส่วนเรื่องของซุปเปอร์เรด อะไรประมาณนั้นผมไม่ทราบรายละเอียด แต่ที่แน่ๆ สันนิษฐานได้ว่าเป็นชนิดเดียวกันกับแรดแดงอินโด ผมจึงสงสัยว่าจะตั้งทำเขืออะไร ถ้าตั้งแล้วระบุว่าต่างชนิดก็ตั้งไป แต่ตั้งแล้วเป็นชนิดเดียวกัน มีแต่เทพที่เข้าใจ ส่วนตัวผมไม่เข้าใจ.) ปลาแรดชนิดนี้ถูกระบุว่าพบในบริเวณเดียว คือ แถบ ซาห์บา (Sabah.) นอกจากจำนวนแถบที่น้อยกว่า(3-5 แถบไม่สมบูรณ์ และจะหายไปในตัวโตเต็มวัย) จำนวนก้านครีบอ่อนของครีบหลังที่น้อยกว่า จำนวนซี่กรองเหงือกที่น้อยกว่า นอกจากนี้ในส่วนรายงานการบรรยายมีการหยิบยกในเรื่องของการจำแนกเพศ เช่นในตัวผู้จะมีจุดแต้มดำเหนือครีบก้น ในขณะที่ตัวเมียไม่มี เป็นต้น.
สุดท้ายต้องขอขอบคุณน้าๆทุกท่านที่เข้ามา อาจจะไม่สละสลวย หรือ สำคัญอะไรมาก ต้องขอประทานโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วยน่ะครับ คือผมอ่านแบบคร่าวๆและเขียนตามความเข้าใจของตนเองเป็นหลักครับ ถือว่าอ่านเพื่อเป็นบทเสริมของปลาตัวนี้ต่อไปน่ะครับ ส่วนเอกสารที่ผมใช้อ้างอิงประกอบการอ่านก็มี.
1) Osphronemus exodon, a new species of giant gouramy with extraordinary dentition from the Mekong.
2) FAO species identification field guide for fishery purposes. Fishes of the Cambodian Mekong. Rome, FAO.
3) Systematic revision of the southeast Asian anabantoid fish genus Osphronemus, with descriptions of two new species.
4) Freshwater fishes of Western Indonesia and Sulawesi.
5) Inland fishes of India and adjacent countries. In 2 vols.
ขออนุญาตเรียนไว้ก่อนจากน่ะครับ จากมติครั้งที่1/2551 วันที่ 22 พฤศจิกายน มีรายละเอียดดังนี้ครับ.
"ไม่อนุญาตให้นำเข้า Garra rufa โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหตุผลว่า ปลาชนิดนี้นิสัยดุร้าย กินไข่พวกเดียวกันเอง หากหลุดรอดจากที่เลี้ยงจะเป็นอันตรายต่อปลาพื้นเมืองและระบบนิเวศ ให้ใช้ปลาเลียหินแทน." มีน้องที่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับปลาชนิดนี้ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คือ เท่าที่ทราบรายละเอียด หลังจากที่ดำเนินการ จนปลาอยู่นานมากพอ จะมีการผ่องถ่ายปลาเก่า มีเสียงกระซิบแว่วๆมาว่าลงสู่ธรรมชาติ แล้วจึงซื้อใหม่มาใส่ อันนี้จริงเท็จประการใด? ฝากดูแลตรงนี้ไว้ด้วยน่ะครับ ตรงนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงกำหนดแนวทางป้องกันไว้ก่อน เพราะเราไม่เคยคำนึงถึง เวลาที่ผ่านไปและหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรหรือต้องทำอย่างไรต่อไป หากผู้นำเข้ามีข้อโต้แย้งว่าไม่เคยละเมิดและรับทราบเกี่ยวกับมตินี้ นั่นแสดงว่า Garra rufa or not ? จึงฝากให้ผู้ที่ต้องการศึกษาหรือต้องการข้อมูลเพื่อนำไปจัดงานทางวิชาการต่อไปครับผมในการหาข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนตัว บาย ครับ..
ขอบคุณครับ.
จิรชัย.