สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 7 ม.ค. 68
การตกปลา เกมอันสุนทรีย์ : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 6 - [8 ม.ค. 60, 09:46] ดู: 4,536 - [4 ม.ค. 68, 07:40] โหวต: 4
การตกปลา เกมอันสุนทรีย์
SPORT FISHING MAGAZINE
13 ต.ค. 44, 13:02
1
การตกปลาในอดีตมักจำกัดความหมายอยู่ที่ว่า "ตกเพื่อเป็นอาหารหรือเพื่อยังชีพ" เท่านั้น เพิ่งจะเริ่มเรียกว่าเป็นกีฬาอย่างแท้จริงเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง
กีฬาตกปลามีอะไรที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในตัวมันเองมากมาย ในช่วงเวลาที่เฝ้ารอคอยปลาเข้ามาติดเบ็ด นักคิด นักเขียนและผู้คนอีกจำนวนมากจะใช้เวลาที่ดูเหมือนจะว่างเปล่าเหล่านั้น จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมาแล้วมากมาย
การตกปลาที่เป็นกีฬาอย่างแท้จริงนั้น นอกเหนือจากการล่าเพื่อเป็นผู้ชนะเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังอาจหมายถึงการใช้ การเรียนรู้ ปกป้อง และชดใช้ต่อธรรมชาติ พื้นน้ำ ท้องทะเล
กีฬาตกปลาดูเหมือนว่าจะเริ่มกันในช่วงก่อนหน้าปี ค.ศ. 1885 เพราะได้มีการนำเอาเครื่องมือที่มีกลไกแบบง่าย ๆ มาใช้ ซึ่งต่อมาได้เป็นต้นแบบของอุปกรณ์ตกปลาอันทันสมัย
แม้ในปัจจุบันเครื่องมือตกปลาที่ว่ากันว่าทันสมัยที่สุดก็ยังรักษาหลักการทำงานต่าง ๆ เดิม ๆ เอาไว้ จะมีเพียงวัสดุอุปกรณ์เท่านั้นที่มีการนำวัสดุที่มีประสิทธิภาพมากกว่ามาใช้ทดแทนกัน ประกอบกับประสบการณ์ของนักตกปลารุ่นก่อน ๆ ทำให้การตกปลาในปัจจุบันมีขีดความสามารถที่จะตกปลาใหญ่ได้อย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ดี เกมการตกปลาที่ว่านี้จะสุนทรีย์หรือไม่นั้นแท้ที่จริงแล้วมิได้อยู่ที่ว่าจะต้องได้ตัวบิ๊ก ๆ หรือต้องได้ตัวมากเป็นสำคัญ แต่ความสุนทรีย์ที่ได้จากการตกปลาของนักตกปลาแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป อย่างเช่น ขอให้มีปลากินเหยื่อที่เตรียมมาก็พอแล้วแม้ว่าจะไม่ได้ตัว หรือได้ประลองกำลังกันสักตั้ง หรือดูเพื่อนนักตกปลาที่นั่งข้าง ๆ ตกปลาได้ตัวตลอดเวลา หรืออย่างน้อยได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ถือว่าได้รับความสุนทรีย์กันแล้ว
แต่ก็อีกนั่นแหละ ต่างคนต่างความคิด แต่ในส่วนลึก ๆ ข้างในแล้วเมื่อขึ้นชื่อว่า "นักตกปลา" ถ้าตกปลาแล้วไม่ได้ปลาจะเป็นนักตกปลาได้อย่างไร
เอาเป็นว่ามีข้อควรจำอยู่ 8 ข้อ สำหรับเพื่อน ๆ นักตกปลาที่ต้องการความสุนทรีย์ในเกมการตกปลา
อย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยให้เพื่อน ๆ มีความมั่นใจในการออกทริพตกปลาทริพนั้น ๆ ได้อย่างมั่นใจ และหากว่าได้ปฏิบัติแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จก็ให้ถือเสียว่าวันนี้ไม่มีโชคหรือไม่มีดวงที่จะได้ตกปลาก็แล้วกัน เอาไว้คราวหน้าค่อยว่ากันใหม่
มีข้อสังเกตว่าข้อปลีกย่อยเล็กน้อยที่เพื่อน ๆ นักตกปลาคาดไม่ถึงหรือไม่ได้เอาใจใส่ อาจเป็นผลให้เพื่อน ๆ พลาดโอกาสดี ๆ ที่จะได้ตัวปลา ยกตัวอย่างเช่น ระดับน้ำ สภาพน้ำ การขึ้นลงของน้ำ เพียงแค่นี้อาจจะทำให้เพื่อน ๆ เสียเวลาเปล่า ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงสภาพทางธรรมชาติ ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เพื่อน ๆ จะต้องให้ความสนใจเอาใจใส่ดูแลก่อนที่จะเริ่มเกมนั้น ๆ การเตรียมตัวที่ดีดูแล้วอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มีความสำคัญยิ่ง อย่างน้อยก็ได้ความมัจนใจ
ทีนี้มาดูหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 8 หัวข้อ ว่ามีอะไรบ้าง
1. การเรียงตัวของสายในรอก อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง
ฟังดูแล้วอาจจะเข้าใจยาก ในที่นี้จะขอกล่าวเกี่ยวกับรอกตกปลาชนิด Trolling เท่านั้น รอกชนิดนี้จะมีด้วยกันหลายประเภท หลายขนาด แต่อาจแบ่งได้ว่าเป็นชนิดที่มีตัวเกลี่ยสาย (Level-wind) หรือไม่มีตัวเกลี่ยสาย
ในชนิดที่มีตัวเกลี่ยสาย เวลาใช้งานครั้งแรกอาจจะไม่สร้างความยุ่งยากเท่าใดนัก ต่อเมื่อไม่ได้ใช้งานแล้วเพื่อน ๆ มักจะไม่ให้ความสนใจเกี่ยวกับปลายสาย จุดสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ เพราะหากว่าการเก็บสายไม่ตรงกับแนวเรียงสาย หรือตัวเกลี่ยสายไม่ตรงกับแนวเรียงสาย เมื่อนำรอกตัวนี้ไปใช้งานครั้งต่อไป ความยุ่งยากจะเกิดขึ้นทันที เพราะในขณะที่ปลาพาสายออกจากตัวรอกจะเกิดแรงเสียดสีที่ตัวเกลี่ยสาย ถ้าหาว่าตัวเกลี่ยสายอยู่ในแนวที่ตรงกับการเรียงตัวของสายก็ไม่มีปัญหา หากว่าไม่ตรงกันก็เท่ากับว่าเพิ่มการเสียดสีขึ้น 2 จุด คือ ที่ตัวเกลี่ยสายและที่แนวเรียงสาย เมื่อเกิดมีแรงกระชากในขณะสู้ปลา สายจะขาดได้ในทันที
ฉะนั้น เพื่อน ๆ ที่นิยมใช้รอกชนิดที่มีตัวเกลี่ยสายพึงระลึกไว้เสมอว่า หากท่านไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญ โปรดตรวจสอบรอกของท่านด้วยว่าหลังจากการใช้งานแล้วท่านเก็บปลายสายไว้อย่างถูกต้องหรือไม่ อาจกระทำได้โดยการผูกลูกปัดหรือลูกหมุนไว้ที่ปลายสายเพื่อป้องกันมิให้สายหลุดผ่านตัวเกลี่ยสายเข้าไปอยู่ในรอกแล้วเปิดคลิกเสียงไว้
สำหรับในรอกที่ไม่มีตัวเกลี่ยสายนั้น ส่วนใหญ่แล้วปัญหาไม่ค่อยมี เพราะในขณะที่ใช้งานเพื่อน ๆ จะต้องใช้นิ้วมือด้านซ้ายเป็นเครื่องช่วยในการเรียงสายอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีปัญหาเท่ากับรอกชนิดที่มีตัวเกลี่ยสาย
2. เงื่อนต่าง ๆ และจุดต่อเชื่อมบนสาย
ว่ากันว่าเงื่อนที่ผูกได้ถูกต้องและแน่นหนาหรือไม่นั้น เพียงแค่มองก็สามารถรู้ได้ว่าไปรอดหรือเปล่า ที่กล่าวมามิใช่เรื่องตลกดังที่บริษัทผู้ผลิตสายเบ็ดนิยมโฆษณาถึงคุณสมบัติของสายเบ็ดเบื้องต้นว่า สายเบ็ดของตัวเองมีคุณสมบัติดีกว่าของบริษัทอื่น ๆ ก็มักจะอ้างถึง เปอร์เซ็นต์การสูญเสีย การยืดตัว การคลายตัว
เหล่านี้เป็นข้ออ้างในการค้าทั้งสิ้น เพราะสายเบ็ดแทบจะทุกบริษัทมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน จะแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญจะขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานและการดูแลรักษาตลอดจนถึงการผูกเงื่อนที่ถูกต้อง หากว่าเพื่อน ๆ เป็นคนที่ชอบผูกเงื่อนหรือต่อสายเบ็ดกับอุปกรณ์ปลายสายเอาไว้ล่วงหน้า อย่างน้อยก็ควรมีการตรวจสอบกันเสียก่อนจะนำไปใช้ รวมไปถึงการผูกลีดเดอร์ต่าง ๆ เช่น ลีดเดอร์ลวดถักหุ้มไนล่อน หรือลีดเดอร์ลวด
ในกรณีที่กลับจากการออกทริพตกปลานั้น ๆ แล้ว ทางที่ดีควรนำมาล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วผึ่งลมให้แห้ง หากว่าเพื่อน ๆ คิดว่าจะนำกลับมาใช้งานใหม่และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
3. ตัวเบ็ดและความคม
ตัวเบ็ดที่ดีที่สุดในบางกรณี คมขนาดเกาะติดบนเล็บมืได้ก็ยังไม่พอ อาจจะเป็นคำกล่าวที่ฟังดูเกินเหตุไปหรือเปล่านั้น เพื่อน ๆ ที่เคยตกปลาประเภทปากแข็งหรือปลาในตระกูลกระโทงทั้งหลายย่อมรู้ดีว่า เบ็ดที่ว่าคม ๆ บางครั้งก็ดูเหมือนหมดท่าเพราะปลาฉวยเหยื่อ 10 ครั้ง อาจไม่ติดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ฉะนั้นเพื่อน ๆ ที่รักการตกปลาทั้งหลายโปรดอย่ามองข้ามจุดนี้ เพราะการที่เบ็ดไม่คมหรือมีความคมไม่เพียงพอนั้นโอกาสที่จะได้ปลานั้นดูเหมือนว่ามีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นลองตรวจสอบดูตัวเบ็ดทุกตัวที่อยู่ในกล่องอุปกรณ์ของเพื่อน ๆ ไม่ว่าจะที่ตัวเหยื่อปลอมหรือในแพ็คที่เตรียมมาว่าคมหรือไม่ หากว่ายังไม่คมพอลองหาหินลับมีดขนาดเล็ก ๆ หรือเป็นหินน้ำมันที่ใช้สำหรับลับคมเบ็ดโดยเฉพาะ (ที่มีร่องเป็นรูปตัว V ตรงกลาง) มาใส่ไว้ในกล่องอุปกรณ์อีกสักชิ้นหนึ่ง คิดว่ามันคงไม่เพิ่มน้ำหนักให้เพื่อนในการนำไปไหนมาไหนด้วยมากนัก
4. การตั้งเบรคและทดสอบเบรค
ในปัจจุบันรอกที่ใช้กับงานประเภท Trolling จะมีระบบเบรคอยู่ 2 ชนิด คือ ระบบ Lever-Drag และ Star-Drag
รอกในระบบ Star-Drag การตั้งเบรคส่วนใหญ่จะใช้การตั้งโดยการออกแรงดึงของนักตกปลาเอง เพื่อดูความหนืดของสายว่าเพียงพอสำหรับการที่ปลาจะดึงสายออกไปหรือไม่ก็แล้วแต่ประสบการณ์และความต้องการของนักตกปลาเป็นหลัก เช่นว่า ใช้คันที่มีแอคชั่นขนาดนี้ ควรตั้งเบรคให้มีน้ำหนักขนาดนี้ เมื่อปลากินเหยื่อและพาสายออกวิ่ง ความหนืดของรอกจะช่วยให้เบ็ดเซ็ท (Set-Hook) เอง โดยไม่ต้องออกแรงวัดคันเบ็ดซ้ำ ปลาก็ติดเบ็ด เป็นต้น
ส่วนรอกในระบบ Lever-Drag จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วย คือต้อมีตาชั่งสปริงเพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการพรีเซ็ทเบรค เพราะรอกชนิดนี้สามารถตั้งน้ำหนักเบรคไว้ล่วงหน้าได้ จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วย ส่วนใหญ่แล้วนิยมเซ็ทเบรคไว้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของขนาดสายที่จุดสไตรค์ เช่น หากใช้สายที่มีแรงดึง 30 ปอนด์ จะตั้งเบรคที่จุดสไตรค์ไว้ที่น้ำหนัก 10 ปอนด์ เป็นต้น
ก่อนออกทริพตกปลาครั้งต่อไป ลองตรวจสอบการตั้งน้ำหนักเบรค และทดสอบว่าระบบเบรคอยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานหรือไม่ เพื่อประโยชน์ของเพื่อน ๆ เอง
5. สายเบ็ดและสภาพของสายลีดเดอร์
สายเบ็ดที่ว่าดีที่สุดและแพงที่สุดหากว่าใช้งานแล้วไม่รู้จักดูแลและรักษาก็ไม่พ้นการเสื่อมสภาพเช่นเดียวกัน เพราะน้ำเค็มจะเป็นตัวเร่งให้สายเบ็ดเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ หากมีการดูแลรักษาหลังจากการใช้งานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานกว่า
สายเบ็ดเมื่อใช้งานต้องมีการตรวจสอบสภาพ หากว่ามีรอยขูดขีด รอยขีด สายบิดเป็นเกลียว หรือหักงอ ถ้าหากว่ามีระยะไม่มากนักก็ให้ตัดทิ้งเสีย หรือหากมันมากมายเกินกว่าจะตัดทิ้งและสามารถซื้อสายม้วนใหม่มาเปลี่ยนได้ก็จะดี เพราะไม่แน่ว่าเพื่อน ๆ อาจจะพลาดโอกาสเพราะจุดนี้ก็ได้
สายลีดเดอร์ก็เช่นกัน ถ้าอยู่ในสภาพที่ขึ้นสนิม หรือสายบิดงอ หรือเกลียวที่บิดเอาไว้เบียดชิดกันจนเกินไปก็ให้ทิ้งเสีย อย่าเสียดาย ผูกสายใหม่หรืษพันสายใหม่จะดีกว่า
6. อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ที่จำเป็น
อุปกรณ์ที่ว่านี้มีอยู่ด้วยกันหลายอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในขณะที่ออกทริพตกปลา และที่สำคัญทุกคนควรจะรู้ว่าอยู่ที่ใด เพราะในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ชุลมุน คนที่รู้กลับไม่ว่าง คนที่ว่างกลับไม่รู้ เช่นนี้ บางครั้งบางคราวอาจจะเสียเพื่อน (ตกปลา) กันไปเลย ยกตัวอย่างในเรื่องอุปกรณ์ เช่น ตะขอเกี่ยวปลา เข็มขัดสู้ปลา สวิงช้อนเหยื่อ คีมปลดเบ็ด ถุงมือและเชือก เป็นต้น
อุปกรณ์เหล่านี้ เมื่อดูชื่อแล้วเพื่อน ๆ นักตกปลาบ้านเรามักไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร แต่เมื่อถึงเวลาที่เราจำเป็นต้องใช้แล้วไม่สามารถหาใช้ได้นั่นแหละจึงจะรู้ว่ามันจำเป็นเพียงใด
7. ความพร้อมของนักตกปลา
เรื่องนี้จริง ๆ แล้วคงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากมาย เพราะการที่เราลงเรือนั้นเพื่อไปตกปลากันกลางทะเล แต่ถ้าหากว่าเพื่อน ๆ ไม่อยากจะตกปลาก็จงสละสิทธิ์ของท่านนั่งรออยู่ที่ฝั่งจะเป็นประโยชน์กว่า เพราะทุกคนอยากสนุกกับเกมที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ร่วมทีมลงเรือกันไป ก็จำเป็นที่จะรู้หน้าที่ที่ตนเองต้องทำบนเรือ เช่น ใครมีหน้าที่เกี่ยวปลาหรือใครมีหน้าที่ทุบปลาเป็นต้น เช่นนี้จะช่วยให้เกิดความสนุกสนานกับเกมและเป็นการทำตัวให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ว่าพอปลาไม่กินเบ็ดของตนก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับเบ็ดของผู้อื่น
กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อทุก ๆ คนลงเรือตกปลาแล้วต่างก็ต้องรู้หน้าที่ของตน มีอะไƒต้องคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างน้อยที่สุดในโอกาสครั้งต่อไปเราจะได้มีส่วนร่วมกันอีก
สภาพร่างกายและจิตใจก็เป็นส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย นักตกปลาที่ดีควรมีสภาพร่างกายที่พร้อมเมื่อรู้ว่าจะไปตกปลา สภาพจิตใจก็เช่นกัน ควรจะลืมภาระหน้าที่การงานต่าง ๆ เอาไว้ที่ฝั่งเสียให้หมด เพราะเมื่อท่านไม่รู้สึกกระตือรือร้นที่จะได้ปลา ทุก ๆ อย่างที่ท่านกระทำไปหรือท่านกระทำผิดพลาดไปในระหว่างตกปลา อาจจะยิ่งทำให้ท่านหมดสนุก การตกปลาครั้งนั้นตัวท่านเองแหละที่จะไม่ได้รับความสุนทรีย์
8. อุปกรณ์ชุดสำรอง
หัวข้อนี้คิดว่าเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญยิ่งหัวข้อหนึ่ง นักตกปลาที่มีประสบการณ์เมื่อออกทริพตกปลาส่วนมากจะมีชุดอุปกรณ์อย่างน้อย 3 ชุด ประกอบด้วยชุด Trolling ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และมีชุด Spinning สำหรมบงานทะเลอีกหนึ่งชุด เพื่อน ๆ อาจบอกว่าแบกขนไปทำไมในเมื่อลงเรือกันตั้งหลายคน และถ้ามีกันคนละ 3 ชุด แล้วจะใช้งานกันอย่างไร
ที่บอกมาข้างต้นเป็นเพียงชุดสำรอง มิได้หมายความว่าจะนำไปใช้งานพร้อมกันทั้งหมด เพราะใครจะไปรู้ว่าจะต้องเจอปลาขนาดใดบ้างหรือต้องเจอกับสถานการณ์แบบใดบ้าง บางครั้งชุดที่เราลงเบ็ดเอาไว้อาจจะมีปลาขนาดที่เกิดพิกัดของอุปกรณ์มาฉวยเหยื่อเราก็เป็นได้
การที่มีอุปกรณ์สำรองไว้ก็เพื่อป้องกันมิให้เพื่อน ๆ ต้องหมดสนุกเพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ และอาจเป็นผลให้เพื่อนต้องนั่งดูเพื่อน ๆ ที่เตรียมอุปกรณ์สำรองมา นั่งตกปลากันอย่างสนุกสนาน ส่วนตัวเราเองต้องเป็นฝ่ายหมดสนุกและนึกเสียดายที่ รู้อย่างนี้เอามาเผื่ออีกสักชุด....ก็ดีเนอะ
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นขั้นตอนการเตรียมตัวและเตรียมอุปกรณ์ก่อนที่จะออกตกปลาซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 8 หัวข้อ หวังว่าคงมีส่วนช่วยให้เพื่อน ๆ ได้นำไปพิจารณาใช้กับตนเองได้ไม่มากก็น้อย เพื่อว่าการตกปลาจะเป็นเกมอันสุนทรีย์สำหรับเพื่อน ๆ
จาก SPORT FISHING (July/Aug 1994) คอลัมน์ Technique เรื่อง Attention to Detail แปลโดย
จิระยุทธ อำนวยผล บก.บห.นิตยสารโลกกว้างกลางแจ้ง
ถ่ายทอดโดย Mr.SHARK
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2025
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=255