เอามาเล่าสู่กันฟัง
จากข้อมูลการจัดอันดับผู้ต้องข้งของ www.prisonstudies.org พบว่าไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ6ของโลก ติดอันดับ3ของเอเชีย เป็นรองแค่จีนกับอินเดียซึ่งมีประชากรสูงกว่าไทยมากอีกทั้งยังเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศแถบอาเซียนด้วยกัน
ที่น่าตกใจประชากรในเรือนจำ ส่วนใหญ่ก่ออาชญากรรมไม่ร้ายแรง และไม่ว่าประเทสไทยจะเลือกใช้มาตรการลงโทษอย่างเข้มงวดเพียงใด แต่สถิติอาชญากรรมก็ไม่ได้ลดลง อัตราผู้กระทำผิดซ้ำก็ยังสูง
การแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบถูกพูดถึงมานาน แต่ก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ล่าสุดนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ “เสียงดัง” ในสังคม ต้องเผชิญชะตากรรมเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำช่วงหนึ่ง พวกเขาออกมาบอกเล่าประสบการณ์ พร้อมกับคำยืนยันว่า “ไม่ปฏิรูปไม่ได้แล้ว”
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันปฏิรูปประเทศไทย หรือ สปท. มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ปฏิรูประบบยุติธรรม เสียงสะท้อนจากเรือนจำ” โดย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการ สปท. สะท้อนประสบการณ์จากการถูกคุมขังในคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุตอนหนึ่งว่า ระบบยุติธรรมไทยยังมีปัญหา เนื่องจากมีนักโทษมากเกินไป และเกือบทั้งหมดเป็นคนยากจน ทำให้โยงไปถึงคำถามที่ว่าทำไมคนจนถึงเข้า-ออกคุกบ่อย
บทสรุปที่ได้จากการสัมผัสเองและศึกษาเรื่องนี้ก็คือ ถ้าระบบยุติธรรมไม่เป็นธรรม มีการเรียกรับผลประโยชน์ ก็จะมีคนจนเต็มคุก คนจนในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แต่ยังรวมถึงคนจนที่ไม่สามารถจ่ายได้ด้วย
นอกจากนั้น ปัจจัยที่ทำให้คนจนเข้าคุก คือไม่รู้กฎหมาย ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว และไม่มีเงินจ้างทนายเก่งๆ มีแค่ทนายอาสา ซึ่งทนายที่ไม่ดีบางคนต้องการปิดคดีเร็ว เพื่อรับเงิน 3,000-5,000 บาทต่อคดี จะได้ไปทำคดีใหม่ ก็พยายามเกลี้ยกล่อมผู้ต้องหาให้ยอมรับสารภาพ ก็ต้องเข้าคุกอีก ขณะที่ตำรวจก็มีปัญหาตั้งข้อหาเกินจริง หรือยัดข้อหา ถ้าปฏิรูประบบสอบสวนให้ดี จะช่วยให้นักโทษหายไปจากเรือนจำถึง 40%
คำถามต่อมาก็คือ คนที่เคยผ่านคุก ออกจากคุกแล้วไปไหนได้ เพราะสังคมตั้งแง่ แม้จะมีการล้างมลทิน แต่ก็ไม่มีความหมาย ยกตัวอย่างเวลาไปสมัครงาน หากไปเขียนในช่องที่ว่าเคยถูกจำคุก ก็ไม่มีบริษัทห้างร้านที่ไหนรับเข้าทำงาน ถือว่าไม่ได้รับโอกาสจากสังคม ก็เสี่ยงกลับไปก่ออาชญากรรมและกลับเข้าคุกอีก
“จากทัศนคติของสังคมที่มองแบบเหมารวม เวลาเข้าไปอยู่ในคุกก็อยู่แบบรวมๆ อย่างพวกผมติดคุกในคดีการเมือง แต่ต้องไปนอนรวมกับผู้ค้ายาเสพติด หรือผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง เพราะไม่มีคุกการเมือง ทั้งๆ ที่ควรจะแยกให้ชัด รวมไปถึงกลุ่มที่คดียังไม่ถึงที่สุดแต่ไม่ได้ประกันตัว ก็ต้องกินอยู่หลับนอนอยู่ด้วยกันกับนักโทษเด็ดขาด และไม่เห็นด้วยที่ต้องจับคนที่อายุมากๆ ไปขังในเรือนจำ เพราะบางรายป่วยหนัก นั่งรถเข็น ห้อยสายน้ำเกลือ แม้จะกระทำผิด แต่ก็อยากถามว่าเอาเข้าคุกทำไม” ผู้อำนวยการ สปท.กล่าว
ขอบคุณข้อความจาก คมชัดลึก
หัวข้อผมไม่ได้พิมพ์ผิดนะครับ
ขอความกรุณาแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรนะครับ
แสดงความคิดเห็นได้เชิงสร้างสรรนะครับ
แก้ไข 5 ก.ค. 62, 14:03