++ ทำไมรถพยาบาลต้องวิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม. ++
ภาพที่ 1ทำไม? ห้ามรถพยาบาลขับเร็วเกิน 80 กม./ชม.
- -
มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กรณีกระทรวงสาธารณสุขสั่งรถพยาบาล ห้ามใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. และห้ามฝ่าไฟแดง
ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัย และเป็นห่วงว่าผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาที่ล่าช้า
เรื่องนี้อธิบายได้ว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 - 2562 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 318 ราย เป็นพยาบาลและบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 129 ราย เสียชีวิต 4 รายพิการ 2 ราย ผู้ป่วยบาดเจ็บ 58 รายเสียชีวิต 3 ราย คู่กรณีเสียชีวิต 14 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลถึงร้อยละ 80
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็ว ฝ่าสัญญาณไฟจราจร และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาล กรณีนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาล จะต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.ตามประกาศของกระทรวง ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58
แต่หลายคนอาจคิดว่า ยิ่งส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์เร็วเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากเท่านั้น แถมกฎหมายจราจรก็ยกเว้นให้รถพยาบาลสามารถใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนดได้ ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ความปลอดภัยในการเดินทางก็สำคัญไม่แพ้กัน
มาตรการนี้จึงถือเป็นการเพิ่มความคุ้มครองสวัสดิภาพการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วย โดยประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงหากรถพยาบาลวิ่งช้า เนื่องจากอุปกรณ์กู้ชีพภายในรถพยาบาลมีเพียงพอ
และรถพยาบาลเองยังสามารถเปิดไซเรนหรือไฟฉุกเฉินเพื่อแจ้งให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรู้ว่าภายในรถมีผู้ป่วย เป็นการขอความร่วมมือในการเปิดทางให้กับรถพยาบาล
นอกจากนี้ มาตรการนี้ใช้เฉพาะกับรถพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่รวมถึงรถกู้ภัย กู้ชีพ หรือสังกัดอื่น ๆ และหากจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น แพทย์เจ้าของไข้จะประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ ไม่อยู่ในภาวะวิกฤต และคาดว่าจะไม่ทรุดลงรุนแรงในขณะเดินทาง
ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขยังมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยอื่น ๆ อีก ได้แก่
• โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องทำประกันภัยรถพยาบาล ชั้น 1 ภาคสมัครใจ และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร เป็นคนละ 2 ล้านบาท
• ในรถต้องมีผู้โดยสารรวมพนักงานขับทั้งหมดไม่เกิน 7 คน
• พนักงานขับรถพยาบาลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมของกระทรวงสาธารณสุข และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
• ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย
• รถพยาบาลทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS ควบคุมความเร็ว และกล้องวงจรปิดบันทึกภาพ
• ห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณี
• ไม่ทำหัตถการขณะรถเคลื่อนที่ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในรถพยาบาล หากเกิดการร้องขอจากพยาบาล ต้องรีบหาที่จอดที่เหมาะสมและปลอดภัยทันที เพื่อให้การช่วยเหลือบนรถพยาบาลขณะนำส่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีมาตรการที่เข้มงวดกับรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว แต่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนก็ควรให้ความร่วมมือในการขับขี่รถหรือเดินเท้า เมื่อเจอรถพยาบาลฉุกเฉิน
โดยคนเดินเท้าต้องหยุดหรือหลบชิดขอบทาง หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด ส่วนผู้ขับขี่รถต้องหยุดรถชิดขอบทางด้านซ้าย หรืออาจขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ชะลอความเร็ว แล้วเบี่ยงซ้ายหรือขวา เพื่อให้รถพยาบาลได้แซงผ่านไปได้สะดวก และต้องไม่ขับไปเรื่อย ๆ หรือไม่ขับตามรถพยาบาลฉุกเฉินโดยเด็ดขาด
เพียงเท่านี้..ก็ช่วยให้รถพยาบาลเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย และลดการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี