ภาพที่ 1Line Retrieved Per Crank คือ อะไร? จำเป็นต้องรู้มั๊ย?
ผมมีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับ Line Retrieved Per Crank ผมเคยสอบถามผู้ขายหลายรายจากในสื่อโซเชี่ยว และเว็บไซต์ บางเจ้าถึงกันฉงนงงงวย หรือ ไม่ตอบคำถามนั้นไปซะเฉยๆ และจากที่ผมค้นหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ผู้ผลิตรอกที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ยอมรับจากนักตกปลา ก็มักจะมีข้อมูลเกี่ยวกับ Line Retrieved Per Crank อยู่ด้วย มันเป็นข้อมูลที่บอกได้ว่า ผู้ผลิตรอกให้ความสำคัญกับข้อมูลนี้เช่นกัน
ก่อนที่เราจะรู้ว่ามันคืออะไร ลองไปดูความหมายของมันก่อนเลยครับ
- ยี่ห้อ SHIMANO จะใช้คำว่า Line Retrieved Per Crank ถ้าแปลตรงๆ คำว่า Line = สาย, Retrieved = ได้กลับคืนมา และ Crank = ข้อเหวี่ยง(ในที่นี้อาจะแปลว่า การหมุน) นำความหมายทั้งหมดนี้เอามายำรวมจะกัน ก็จะได้ความหมายประมาณว่า สายที่ได้กลับคืนมา ต่อ การหมุน
- ยี่ห้อ DAIWA จะใช้คำว่า Line Per Handle Turn ถ้าแปลตรงๆ คำว่า Line = สาย, Handle = ด้ามจับ และ Turn = การหมุน นำความหมายทั้งหมดนี้เอามายำรวมจะกัน ก็จะได้ความหมายประมาณว่า สาย ต่อ การหมุนมือหมุน
ถ้าแปลให้มันสละสลวยแล้วเข้าใจง่าย คือ ระยะความยาวของสายที่เราหมุนเก็บเข้ามาในสปูลต่อการหมุนมือหมุนเพียง 1 รอบ เรียกสั้นๆ ว่า ระยะเก็บสายต่อการหมุนมือหมุน ซึ่งความยาวที่ได้จะเป็น หน่วย ที่นิยมใช้กัน คือ เซนติเมตร หรือ นิ้ว
ในยี่ห้ออื่นๆ ก็จะใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกันออก แต่จะให้ความหมายเดียวกัน
- ยี่ห้อ PENN จะใช้คำว่า RETRIEVE RATE
- ยี่ห้อ AVET จะใช้คำว่า INCHES PER CRANK
- ยี่ห้อ ACCURATE จะใช้คำว่า INCHES PER CRANK
- ยี่ห้อ ABU GARCIA จะใช้คำว่า RETRIEVE RATE
- ยี่ห้อ TICA จะใช้คำว่า LINE RETRIEVED HANDLE TURN
แล้วมันมีประโยชน์อะไร ทำไมต้องรู้?
1. ประโยชน์ในการเลือกใช้รอกให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งระยะเก็บสายต่อการหมุนมือหมุนจะมีผลต่อแอ๊คชั่นของเหยื่อ อย่างที่เราทราบกันดีว่า เหยื่อประเภท crank bait จะมีลักษณะอ้วนและสัน จะต้องกรอเก็บสายเข้าอย่างช้าๆ เพื่อให้เหยื่อออกแอ๊คชั่นได้อย่างเหมาะสม หรือ คุณต้องการตี buzz bait จะต้องเป็นรอกที่กรอเก็บสายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจะทำให้ตัวเหยื่อขึ้นน้ำเร็ว และวิ่งบนผิวน้ำอย่างราบรื่น โดยคุณไม่ต้องหมุนจนเหนื่อย คุณอาจจะคิดอยู่ในใจว่า แล้วถ้าซื้อรอกที่มีระยะเก็บสายสูงๆ แล้วมาหมุนช้าละมันก็ใช้ได้นี่หน่า แต่ถ้าลองคิดในทางกลับกัน คือซื้อรอกที่กรอเก็บสายต่ำๆ มาตีเหยื่อ buzz bait ดูซิครับ หรือไม่ก็ ตกปลาน้ำลึกประมาณ 40 เมตร แต่รอกที่คุณใช้จิ๊กเก็บสายได้แค่รอบละ 59 เซนติเมตร ตัวอย่างที่ข้างต้นพอจะนึกภาพกันออกบางแล้วใช่มั๊ยครับ?
2. ใช้ในการเปรียบเทียบระยะความยาวในการเก็บสายของรอกแต่ละตัว ไม่ว่ารอกที่จะเอามาเปรียบเทียบกัน จะต่างยี่ห้อกัน ขนาดใหญ่-เล็กไม่เท่ากัน อัตราทดไม่เท่า หรือ แม้แต่รอกคนละชนิดกัน ก็สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เช่น คุณอยากรู้ว่า รอก SHIMANO STRADIC 2500HG กับ รอก DAIWA TATULA 100HL คุณก็สามารถทำการเปรียบเทียบได้เลย
3. ลดข้อด้อยของอัตราทด นักตกปลาส่วนใหญ่จะรู้จักกันดีกับ อัตราทด ซึ่งมันสามารถบอกถึงระยะเก็บสายต่อการหมุนมือหมุนได้ทางอ้อมอย่างคร่าวๆ เช่น อัตราทด 5.5:1 กับ 9.0:1 เมื่อเห็นตัวเลขของอัตราทด คุณก็บอกได้ทันทีว่า 9.0:1 มันต้องเก็บสายได้มากกว่า 5.5:1 แน่นอน แต่คุณไม่รู้ว่ามันเก็บสายได้มากกว่าเท่าไหร่ หรือไม่ก็อาจจะทำให้คุณหลงทาง เช่น รอก spinning SHIMANO STRADIC 2500HG อัตราทด 6.0:1 เปรียเทียบกับ รอก baitcasting SHIMANO CURADO 201HG อัตราทด 7.3:1 เมื่อคุณเห็นก็จะสามารถบอกได้ทันทีเลยว่า อัตราทด 7.3:1 มันต้องเร็วกว่าแน่เลย แต่ในความเป็นจริงนั้น รอก spinning อัตราทด 6.0:1 เก็บสายได้ถึง 35 นิ้ว แต่ รอก baitcasting อัตราทด 7.3:1 เก็บสายได้เพียงแค่ 30 นิ้ว เท่านั้น
Line Retrieved Per Crank หาได้จากที่ไหน? ถ้าหาไม่เจอจะรู้ได้ยังไง?
1. หาได้จากเว็บไซต์ของผู้ผลิตรอกตัวนั้นๆ
2. หาได้จากการคำนวณ
Line Retrieved Per Crank(cm) =(πd x R)/10
π = 3.141592654 (หรือ 22/7)
d = เส้นผ่านศูนย์กลางของสปูล(mm)
R = อัตราทด
ค่าที่ได้จากสูตรด้านบนนี้จะมีหน่วยเป็นเซนติเมตร แนะนำให้วัดความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของสปูลให้มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรนะครับ เพื่อความแม่นยำ ส่วนใครที่อยากคำนวณหา Line Retrieved Per Crank ให้มีหน่วยเป็น นิ้ว ก็ใช้สูตรด้านล่างนี้ได้เลยครับ
Line Retrieved Per Crank(in) = πd x R
π = 3.141592654 (หรือ 22/7)
d = เส้นผ่านศูนย์กลางของสปูล(in)
R = อัตราทด
หมายเหตุ
- ถ้า d = ความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางของ โตนอกสปูล ค่าที่ได้ คือ ระยะความยาวสูงสุดในการเก็บสายต่อการหมุนมือหมุน 1 รอบ
- ถ้า d = ความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางของ โตในสปูล ค่าที่ได้ คือ ระยะความยาวต่ำสุดในการเก็บสายต่อการหมุนมือหมุน 1 รอบ
- ถ้า d = ความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยระหว่าง โตนอกสปูล และ โตในสปูล ค่าที่ได้ คือ ระยะความยาวเฉลี่ยในการเก็บสายต่อการหมุนมือหมุน 1 รอบ
- ค่าที่ได้จากการคำนวณ คือ ค่าจริงที่ได้จากการวัดขอบของสปูลโดยตรง
- ค่าที่ได้จากการคำนวณ อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลในเว็บไซต์ของผู้ผลิต อาจจะเนื่องมาจากข้อมูลในเว็บไซต์ผู้ผลิตได้มีการเพิ่มปัจจัยอื่นๆเข้ามาใช้ในการคำนวณด้วย
หลังจากที่คุณได้รู้จักกับ Line Retrieved Per Crank กันแล้วนะครับ ว่ามันคืออะไร? และมีประโยชน์อย่างไร? ผมหวังว่าบทความข้างบนนี้มันจะเป็นประโยชน์แก่ตัวนักตกปลา หรือ ผู้ซื้อ-ผู้ขายก็ดี เพื่อความสุขในเลือกใช้อุปกรณ์ตกปลายิ่งๆขึ้นไปนะครับ
แก้ไข 11 ธ.ค. 59, 09:43