บันทึกจากความทรงจำในอดีต ตอนอินทรีใหญ่ที่ไม้รูด ตอนที่ 2
1 พ.ย. 58, 02:00
1
คลิปที่ 1
บันทึกจากความทรงจำในอดีต “ อินทรีใหญ่ที่ไม้รูด” ตอนที่ 2
หลังจากฝูงปลาอั้งเก่ยหยุดฉวยตอนฟ้ามืดพอดี เราก็จอดเรือตรงนั้น รอเดือนขึ้น ระหว่างรอก็สำรวจความเสียหายจากการโจมตี วิดน้ำใต้ท้องเรือให้แห้ง เพราะไม่งั้นเวลาเรือโยกตามคลื่น รำคาญหูเสียงน้ำกระจอก เช็ดพื้นเรือให้แห้งพอนั่งได้ไม่ให้คันก้น สำรวจสายเบ็ดที่เป็นขุยจากฟันปลา ตัดต่อใหม่ ผมถาม
“หมึกเหลือเยอะไหม” เพื่อนตอบว่า”หมดไปครึ่ง เดี๋ยวเดือนขึ้น จะลองอ้อมไปกู้ลอบขอหมานุมัน น่าจะมีตัว” “กินข้าวกันก่อนนะพี่ เดี๋ยวเดือนขึ้น แล้วไปกัน” ผมพยักหน้ารับปิ่นโตสี่เถาถอดมาวางบนพื้นเรือ แกงป่าไก่เหนียว แห้งๆใส่มะเขือพวง กับหมึกแดดเดียว ทอดเหลืองๆก็ส่งกลิ่นหอมฉุยชวนให้หิวขึ้นมา ผมนั่งเคี้ยวข้าวอย่างอร่อย ตามองพื้นน้ำทะเลที่มีคลื่นเล็กน้อย ลมบกพัดเอื่อยๆ มาทางยอดเขาบรรทัด ได้บรรยากาศสุดๆ ใครที่เคยออกเรือ แล้วไปนั่งทานข้าวกลางทะเล จะรู้ว่าความรู้สึกเป็นอย่างไร หาไม่ได้ไม่ว่าจะร้านอาหารที่ไหนๆ อิ่มแล้วผมนอนหงายหัวหนุนโฟมสายเบ็ด มองดูเพื่อนกำลัง ต่อสายเบ็ดทำเบ็ดลากปลา โดยใช้เบ็ดเบอร์ 8/0 สามตัว สลิงนิ่มเบอร์ 11 ต่อกับเบ็ด สั้นยาวไล่เลี่ยกันปลาย สลิงทั้งสามเส้นผูกกับลูกหมุนขนาดครึ่งนิ้ว เพื่อนพูดออกมาว่า”ทำเอาไว้ให้พี่ลากหมึกตอนเช้ามืด” เกี่ยวหมึกหัว กลาง ท้าย เวลาลองลากกับน้ำ มองเหมือนหมึกกำลังว่ายน้ำ แอคชั่นน่าโดนสอยมาก แต่ส่วนมากหัวจะโดนก่อน ได้บ้าง ไม่ได้บ้างแล้วแต่ว่าถ้าปลากัดโดนตาเบ็ดก็ได้ตัว ถ้าพลาดกลายเป็นหมึกหัวขาด ใช้ลากไม่ได้แล้วเอากลับไปทำกับข้าว หรือหิวขึ้นมาก็แปรสภาพเป็นหมึกย่างปล่องท่อไอเสีย อร่อยไปอีกแบบ มีโอกาสลองดูครับ เรานอนรอเดือนขึ้นจนเห็นแสงสว่างเรื่อๆที่ยอดเขาบรรทัด ทางทิศตะวันออก เคยถามเพื่อนว่า ข้ามยอดเขาบรรทัดเขตแดนเขมรแล้วเป็นอะไร เพื่อนตอบว่าเดินข้ามไปแล้วมีแม่น้ำใหญ่ระหว่างร่องเขา เรียกว่า”แม่น้ำคลองคืน” น้ำลึกมาก เขียวปั๊ดมองไม่เห็นก้นแม่น้ำ ปลาชุมมาก จระเข้ขนาดใหญ่ยาวเกิน 10 ฟุต มีลอยหัวให้เห็นบ่อยๆ ข้ามเขาไปอีกหลายลูกถึงจะเจอพื้นราบ ปัจจุบันน่าจะเป็นอำเภอไพลิน จังหวัดพระตะบอง ซึ่งในอดีตสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ห้า กรณีพิพาทอาณาเขตกับฝรั่งเศส เป็นเมืองหนึ่งของไทยในสามเมือง พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ทรงแลกกับ จังหวัดจันทบุรี และตราด( ไม่ป่านนี้ผู้เขียนอาจจะเป็นเขมรแก่ๆ ไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้มาเขียนเรื่องให้อ่านกัน) นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้ แก่ราษฎร 2 จังหวัด คือ จันทบุรี และตราด มาจนถึงปัจจุบัน
“ไป..พี่ เดือนขึ้นแล้ว ถอนสมอ(หิน) เดี๋ยวไปลองกู้ลอบหมึกกัน” เพื่อนพูดพรางเตรียมติดเครื่องเรือ ผมลุกไปหัวเรือ ค่อยๆสาวเชือกสมออันแสนหนัก แต่ตาพลันมองไปในน้ำทะเลเห็นตัวแบนๆ ยาวสักเกือบเมตร ค่อยๆว่ายน้ำผ่านไป “เฮ้ย..ตัวอะไรหว่า เหมือนเต่าทะเลเลย” ผมอุทานออกมา พลางชี้มือลงไปในน้ำ เพื่อนมองตาม ขานรับว่า”เจอบ่อยพี่..แถวนี้ ติดอวนปูชาวบ้านตายเรื่อยๆ คงจะมากินปูที่ติดอวน เลยติดกับ โดนอวนพันตาย น่าเสียดาย ช่วยไม่ทัน” “เมื่อก่อนมักมาวางไข่บนหาดหน้าเขาล้าน แต่โดนคนรบกวน เลยหายไป” “เนื้อเหนียว คาวจัดมาก ต้องแกงเครื่องถึงๆไม่งั้นไม่อร่อย ไม่นิยมกินกัน”
เราวิ่งเรืออ้อมไปหลักลอบของ”หมานุ”น้องเขยเพื่อน เดือนขึ้นพ้นยอดเขาบรรทัดแล้ว สว่างโร่ แสงเดือนอาบพื้นน้ำ เหมือนแสงทองฉาบเหลืองอร่ามไปทั่ว มองเห็นหลักลอบหมึกลิบๆ ถึงหลักลอบ เพื่อนเบาเครื่องยกหางเกี่ยวกับเชือกแขวนคับบังคับ เดินมาจับหลัก ค่อยๆยกขึ้น ตามคาด หมึกสิบกว่าตัว ดิ้นน้ำพรวดพราด ขี้ดำกระจายเต็มลอบ เรากู้ประมาณ 2 อันก็พอตกปลาทั้งคืน นี่ขนาดกู้ไปตอนบ่ายแล้ว ยังมีตัวเข้ามาก แสดงว่าชุมมาก “กลับไปฉันเอาแน่ ทำซัก 20 อัน ไว้หาเหยื่อตกปลา ทำมากไม่ไหว เบื่อโดนขโมยกู้”ชาวบ้านแถบนี้มีหลายอาชีพ ทำประมง ตกปลาตอนหมดหน้าฝน วางอวนปูหน้ามรสุม ไสเคย ทำกะปิ ทำลอบปลา ลอบหมึก ไม่ก็ตัดยาง ทำสวนผลไม้ รายได้ค่อนข้างดี สม่ำเสมอ ตลอดปี มีเงินต่อเรือใหม่ๆ กันเป็นแถว ราคาต่อเรือ เพื่อนผมคนนี้เป็นช่างต่อเรือท้ายตัดด้วย ราคาตกลำละประมาณ สี่หมื่นบาท นี่มันก็มีคิวต่อเรือไว้ 3 ลำ แต่ไม่ค่อยจะทำ มัวบ้าตกปลากับผม เมียมันก็แสนดี ไม่บ่น ไม่ว่าซักคำ ยิ้มอย่างเดียว พักหลังผมไม่ค่อยไปหามัน ชวนตกปลา กลัวมันเสียงาน เกรงใจเมียมันมากกว่า
เราผละจากหลักลอบหมึก วิ่งเรือมาทางเขาล้าน มองเห็นเรือหลายลำจอดตกปลาเป็นกลุ่มๆ หลายกลุ่มมาก ยังกะมีตลาดนัดในทะเล เพื่อนชี้มือบอกนั่นเรือ”หมาเข้ง”เด็กเขาล้าน นั่นเรือ”หมาหลง”เด็กคลองม่วง ส่วนมากแถวนี้จะรู้จักกันหมด น้ำมันหมดกลางทะเลไม่ต้องกลัว อาศัยแบ่งปันกันได้ตลอด มิตรภาพของชาวบ้านนอกน่านับถือน้ำใจ แม้จะขัดสนเงินทอง หยิบยืมกันได้ตลอด ไม่เหมือนสังคมในเมืองใหญ่ แล้งน้ำใจ ต่างคน ต่างอยู่ บางบ้านรั้วบ้านติดกันแท้ๆแต่ไม่เคยพูดกัน เหมือนไม่รู้จักกัน น่าฉงนไหมครับ พอเรือเราวิ่งผ่านกลุ่มเรือที่จอดตะคุ่มๆอยู่ ก็มีแสงไฟฉายวับแวว ทักทาย บอกตำแหน่งให้รู้ว่าอยู่นี่ แสงไฟฉายบนเรือมีประโยชน์มาก โดนเฉพาะเดือนมืด เป็นสัญญานบอกตำแหน่งเรือให้รู้ เพื่อนเปิดไฟฉายสาดไฟทักทาย มรรยาทของการวิ่งเรือ จะไม่เฉียดไปเข้าใกล้ถ้ามีเรือจอดตกปลาอยู่ข้างหน้า เพราะอาจวิ่งไปโดนสายเบ็ดตกปลา หรือทำให้ปลาตกใจ หนีไป เขาอาจจะเสียโอกาสได้
“คืนนี้คงได้ปลากันหลายลำ น้ำดี เดือนแจ่มเหลือเกิน เหยื่อก็หาง่าย” เพื่อนพูดลอยๆขึ้น”เราไปหาหินท้ายๆเขา แถวๆใกล้ๆหินคลองมะนาว ไม่ฉวยก็ไล่ขึ้นมา จะได้ไม่เปลืองน้ำมันกลับบ้านนะพี่” ผมนอนฟังเฉยๆไม่ได้ตอบรับ เพราะกำลังเพลินกับแสงเดือน ที่อาบน้ำทะเลเหมือนเทวดากำลังโปรยสีทองลงมา ทะเลเรียบไม่มีคลื่นเลย สวยจริงๆ ทะเลก็แบบนี้แหละ ยามอารมณ์ดีก็น่ารัก น่าอยู่ด้วย ยามอารมณ์ร้ายก็อยากหนีไปให้ไกลๆไม่อยากเข้าใกล้..เหมือนใครก็ไม่รู้.. ผมจมภวังค์อยู่นานจนเพื่อนเรียก”พี่ๆ เอาหินนี้ละกันฉันเคยได้นวลจันทร์ใหญ่ เกือบสิบโล ต้มหวานเด็ดนัก” พลางเบาเครื่องเรือ ตาก็มองซ้าย-ขวา ฉากเขาล้านกับเขาบรรทัด ผมทึ่งมันจริงๆ ไม่รู้จำได้อย่างไรว่าหมายหินนี้ต้องฉากไหนตรงกับอะไร มีเป็นหลายสิบๆหมาย และส่วนมากตรงเป๊ะทุกหมาย ถึงหมายก็เห็นหิน ผิดพลาดไม่เกิน 10 เมตร จะลองเลียนแบบเขาก็ไม่เป็นภาษา ยึดเป็นอาชีพสงสัยอดตาย เราเวียนเรือหาหัวหิน เพราะน้ำขึ้นพัดไปทางตลาด(จังหวัดตราด) ปลากะสากลิ่นได้ไกล "หินอะไรน่ะ" ผมถามเพราะไม่ได้ใส่ใจจำหมายหิน "หินหน้าคลองมะนาว ไปอีกหน่อยก็ถึงไม้รูด พี่เห็นแหลมปลายไม้รูดต้นไม้ 2 ต้น ยื่นออกมาในทะเลไหม หมายต้องตรงกับไม้สูงเห็นเป็นแหลมเหมือนเจดีย์หยักช่องเขาขาด" เพื่อนตอบ ผมพยักหน้ารับ อือ ๆ งงๆ ไปอย่างนั้น
**ขออนุญาตพักหมดตอน 2 ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เพราะหมาเริ่มเห่ากวนประสาทมาก ต้องลงไปจัดการ สงสัยจะเลี้ยงไม่ไหว เสียงเห่ารบกวนชาวบ้านมาก..ตอน 3 จบแน่ๆครับ**
**เรื่องที่ผมเล่าส่วนมากน้ำจะมากกว่าเนื้อ เพราะตั้งใจจะนำบรรยากาศในสมัยเก่ามานำเสนอให้ได้อรรถรสในการอ่าน สอดแทรกอาชีพ สังคมของชาวบ้านนอก ที่ในปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว หากอ่านแล้ว หงุดหงิด รำคาญใจ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ**
แก้ไข 1 พ.ย. 58, 08:30