ภาพที่ 1
ตะขาบ เป็นสัตว์ขาข้อที่พบได้ในเขตร้อนชื้น อาศัยอยู่บนบก ตะขาบมีขนาดความยาวของลำตัวตั้งแต่ 3 - 8 ซม. ขนาดใหญ่ที่สุดคือชนิด Scolopendra heros มีความยาว 8 - 10 " ลำตัวแบนราบ มีปล้อง 15 - 100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ โดยมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากปล้องแรกของลำตัว เขี้ยวพิษเชื่อมต่อกับต่อมพิษ เมื่อกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมา ทำให้เหยื่อเจ็บปวด และเป็นอัมพาต
พิษของตะขาบประกอบด้วยสารก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย ได้แก่ hydroxytryptamine หรือ cytolysin ทำให้เกิดอาการบวม ปวด แดง ร้อน หากบวมมาก เช่น ที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้าอาจกดเส้นเลือด ทำให้นิ้วขาดเลือดมาเลี้ยงจนกระทั่งนิ้วดำ เนื้อตาย ต้องตัดทิ้งได้
หากถูกตะขาบกัดเข้าก็ต้องปฐมพยาบาล เนื่องจากพิษของตะขาบจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดนั้นบวมแดง รู้สึกปวด และอาจชา บางคนหากแพ้พิษมากยังจะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และซึมลง แต่พิษของตะขาบในบ้านเรามักไม่สามารถทำให้เสียชีวิตได้โดยตรง
วิธีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น หากถูกกัดบริเวณแขนและขา พยายามห้อยส่วนดังกล่าวให้อยู่ต่ำ กรณีโดนกัดที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า แนะนำให้หาเชือกหรือผ้ามารัดที่ข้อนิ้วเอาไว้ เป็นการป้องกันพิษกระจายตัว
จากนั้นให้เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยน้ำด่างทับทิมช่วยฆ่าเชื้อโรค ตามด้วยการประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัดเพื่อลดปวดบวม และกินยาแก้ปวด
ขณะที่การปฐมพยาบาลแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการแนะนำให้แช่แผลที่ถูกกัดลงในน้ำส้มสายชู หรือใช้ยางมะละกอดิบป้ายแผลจะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : เดลินิวส์ออนไลน์