ช่วงนี้ได้ข่าวจากเครือข่ายว่าพบแมงกะพรุนกล่องเพิ่มขึ้นผิดปกติ อีกทั้งได้ลงไปสืบสวนสอบสวนผู้บาดเจ็บรุนแรงหลายรายและเสียชีวิตอีกราย แต่ยังไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเก้าสิบกัน
จนกระทั่งวันนี้มาเจอข่าวหน้า 1 ‘แมงกะพรุนกล่องระบาด พิษจู่โจมหัวใจ-กล้ามเนื้อ’
ขอชื่นชมที่ให้พื้นที่ข่าวและและขอบพระคุณผู้เชี่ยวชาญที่ใส่ใจในภัยสุขภาพของประชาชน มีประเด็นในรายละเอียดของข่าวที่อาจจะต้องทำให้กระจ่างขึ้นเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดซึ่งอาจถึงชีวิตนได้ คือประโยค
‘วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือเอาน้ำทะเลราดหรือใช้น้ำทะเลฉีด เพื่อให้เศษหนวดออกจากผิวหนังให้เร็วที่สุด’
ซึ่งคำว่า ‘น้ำทะเลราด’ อาจจะใช้ได้กับแมงกะพรุนหัวขวด (Portuguese man-of-war) ชนิดมีหนวดเส้นเดียวหรือ single tentacle
ส่วนคำว่า ‘ใช้น้ำทะเลฉีด’ นั้น อาจจะเพิ่มโอกาสให้กะเปาะแตกยิงเข็มพิษมากขึ้น (nematocyst) ถ้าเป็นแมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) ชนิดพิษร้ายแรง (Chironex fleckeri) ซึ่งพบรายงานการตายและบาดเจ็บสาหัสในไทยหลายราย
ต้องเน้นว่า ทะเลเป็นที่อยู่ของแมงกะพรุน คนบุกรุกเข้าไปบ้านเขา เหตุการณ์ที่โดนแมงกะพรุนพิษไม่ได้เกิดบ่อย ทั้งนี้โอกาสเสียชีวิตขึ้นกับปริมาณของพิษที่เข้าไปในร่างกาย เมื่อสัมผัสครั้งแรกมันยังยิงเข็มพิษไม่หมด แต่จะยิงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ากะเปาะเข็มพิษซึ่งอยู่ที่หนวดถูกกระตุ้น ดังนั้นหัวใจของการช่วยเหลือเบื้องต้นคือ ‘หยุดการยิงเข็มพิษ’ ไม่ใช่ ‘เพื่อให้เศษหนวดออกจากผิวหนังให้เร็วที่สุด’ ซึ่งกะเปาะจะแตกถ้าสั่นสะเทือนด้วยวิธีทางกายภาพ (เช่น ถู ดึง กระแทก, ฯลฯ) หรือถูกเคมี (ราดด้วยน้ำจืด เหล้า น้ำแข็ง น้ำปัสสวะ, ฯลฯ) จึงต้องราดด้วยน้ำส้มสายชูที่มีกรด 3-5% (น้ำส้มสายชูปรุงอาหาร จะแท้จะเทียมใช้ได้หมด) ดังนั้นถ้า ‘กะเปาะยิงเข็มพิษไม่ได้’ จะเอาไม่เอาหนวดออกก็ได้ ถ้ารำคาญลูกตาก็เอาออก มันจะลอกออกง่ายหลังราดด้วยน้ำส้มสายชู แต่ถ้าไม่ราดก่อน มันจะเหนียวติดหนึบดึงออกยากมาก ยิ่งเพิ่มการยิงเข็มพิษ
กรณีศึกษาเกิดที่เกาะพงันในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวที่เกาะสมุย แต่ข่าวหลังดังกลบข่าวการตายของเด็กชายชาวฝรั่งเศสอายุ ๕ ปี ที่เข้าข่ายว่าถูกแมงกะพรุนกล่องชนิดมีพิษร้ายแรง หมอระบาดวิทยาและเจ้าหน้าที่จากสำนักระบาดวิทยา ลงพื้นที่ไปสอบสวน พบว่า หนูน้อยเดินทางมาพร้อมพ่อแม่และพี่สาว ถึงเกาะพะงันวันที่ ๒๒ สิงหาคม เข้าพักที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งแถวหาดขวด ในวันที่มาถึงเป็นเวลาค่ำจึงไม่ได้ลงเล่นน้ำ วันรุ่งขึ้น ทั้งครอบครัวเล่นน้ำตลอดวันจนเย็น
ราว ๑๗.๓๐ นาฬิกา แม่ใช้ให้เจ้าหนูไปตามพี่สาวขึ้นจากน้ำ ขณะที่แกเดินลุยน้ำสูงประมาณเข่า ห่างจากฝั่ง ๑ เมตร ไปหาพี่สาว แม่สังเกตเห็นลูกชายสะบัดแขนขาและกรีดร้องเสียงดังด้วยความเจ็บปวดแล้วล้มลง จึงวิ่งเข้าไปช่วย ขณะที่อุ้มลูกขึ้นจากน้ำพบว่ามีสายแมงกะพรุนลักษณะใส พันบริเวณรอบขา จึงพยายามดึงสายหนวดออก จากนั้นเจ้าหนูมีอาการหายใจลำบาก และหมดสติภายใน ๑-๒ นาที พ่อวิ่งเข้ามาพยายามช่วยฟื้นคืนชีพโดยที่ไม่เคยได้รับการอบรมมาก่อน เจ้าของรีสอร์ทมาเห็นเหตุการณ์พยายามจะช่วยราดน้ำส้มสายชู แต่แม่ไม่ยอมและใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดความเจ็บปวด รวมทั้งใช้น้ำจืดล้างบาดแผล (ซึ่งการพยายามดึงสายหนวดออกโดยที่ยังไม่ได้ราดน้ำส้มสายชูและการใช้น้ำเปล่าหรือน้ำแข็งประคบเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยิงพิษจากหนวดแมงกะพรุนมากขึ้น) จากนั้นผู้ป่วยหยุดหายใจ ตาค้าง ไม่มีชีพจร คนที่เห็นเหตุการณ์เรียกทีมกู้ชีพเข้าช่วยเหลือโดยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางเรือจากหาดขวดไปส่งต่อรถกู้ชีพที่หาดขอม ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเกาะพะงัน ถึงห้องฉุกเฉิน เวลา ๑๘.๒๐ นาฬิกา หมอตรวจร่างกายพบว่าไม่มีชีพจร ตามตัวมีลักษณะเป็นรอยไหม้ลักษณะเป็นเส้นสีน้ำตาลดำที่ขาทั้งสองข้างจนถึงต้นขา รวมทั้งปลายแขน ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพต่ออีก ๔๐ นาที แต่เด็กน้อยเสียชีวิตในที่สุด
ขณะพ่อแม่เล่าไปก็หยุดสะอื้นเป็นพัก ๆ ใบหน้าระทมทุกข์ ยิ่งตอนเล่าว่าลูกน้อยตาค้างแล้วค่อย ๆ หมดลมต่อหน้าต่อตาในขณะที่กำลังยื้อแย่งชีวิตลูกกับพญามัจจุราชอย่างสุดชีวิตนั้น หัวใจแทบสลาย แม่เองไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีรอยไหม้เป็นลายพาดสีดำที่แขนทั้งสองข้างและขาจากการสัมผัสสายหนวดแมงกะพรุนขณะเข้าไปอุ้มลูก เนื่องด้วยหัวจิตหัวใจจ่ออยู่ที่ชีวิตลูกจนไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด แกยังหวนระลึกถึงวันที่ลูกน้อยมาถึงเกาะแล้วบอกว่า สวยมากอยากอยู่ที่นี่…
จากวันพักผ่อนของครอบครัวอันสุขสรรกลับพลิกผันไปสู่ความทุกข์ในพริบตา ยากจะทำใจในความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ที่มิมีทางย้อนคืนกลับมาได้ เหตุการณ์เช่นนี้ เราคงไม่อยากให้เกิดกับครอบครัวของผู้ใด
การนำเรื่องมาบอกเล่ามิได้กล่าวโทษใคร เพียงเพื่อเป็นวิทยาทาน และขออนิสงค์ผลบุญที่บังเกิดขึ้นถึงแก่หนูน้อยผู้ล่วงลับด้วยเทอญ
สำหรับขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่สงสัยสัมผัสแมงกะพรุนพิษ แบ่งเป็น 2 กรณี หลัก ๆ คือ
ถ้าบาดเจ็บหมดสติ ไม่หายใจ หรือไม่มีชีพจร
1. ช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นดังนี้
- เปิดทางเดินหายใจ โดยการเชยคางขึ้น
- ถ้าหยุดหายใจ ให้ช่วยโดยวิธีเป่าปาก
- ถ้าไม่มีชีพจร ทำการปั๊มหัวใจ โดยกดหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย
2. จากนั้นราดบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนด้วยน้ำส้มสายชูอย่างทั่วราว 30-60 วินาที (ห้ามราดด้วยน้ำจืดหรือน้ำเปล่า)
3. ช่วยฟื้นคืนชีพต่อ จนกว่ารถพยาบาลจะมาถึงหรืออาการดีขึ้น จากนั้น รีบนำส่งโรงพยาบาล
ถ้าผู้บาดเจ็บรู้สึกตัวดี หายใจปกติ ชีพจรปกติ
1. ราดบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนด้วยน้ำส้มสายชูอย่างทั่วถึงใช้เวลาราว 30-60 วินาที (ห้ามราดด้วยน้ำจืดหรือน้ำเปล่าเพราะจะไปกระตุ้นพิษให้กระจายมากขึ้น)
2. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดตามร่างกายออกอย่างรวดเร็ว โดยหลีกเลี่ยงการขัดถูหรือขยี้หนวดและบริเวณแผล (ถ้าไม่มีน้ำส้มสายชู ก็ยังคงนำหนวดออก)
3. ถ้าปวดมากใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผล
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก เรื่องขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่สงสัยสัมผัสแมงกะพรุนพิษFirst Aid Steps for Suspected case of Toxic Jellyfish (ไทย English)
เมื่อต้นปีมีแมงกะพรุนพิษ Portuguese Man O' War โผล่ที่ภูเก็ต ชนิดนี้ น้ำส้มสายชูช่วยไม่ได้ค่ะ และยิ่งจะทำให้อาการแย่ลง โชคดีที่เราเจอชนิดนี้ไม่บ่อยในบริเวณท่องเที่ยว แต่อนาคตไม่แน่