สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 28 ธ.ค. 67
อีทุบ : ไม้ซีกงัดไม้ทุบ และสารพัดการเรียนรู้ : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความอื่นๆ
ความเห็น: 5 - [12 เม.ย. 48, 13:08] ดู: 4,910 - [28 ธ.ค. 67, 15:29] โหวต: 2
อีทุบ : ไม้ซีกงัดไม้ทุบ และสารพัดการเรียนรู้
pinto2 (230 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
10 เม.ย. 48, 20:05
1
อีทุบ เป็นเครื่องมือดักกระรอก กระแต และหนู มีการขัดลำเครื่องมือโดยไม้สำคัญ ๓ ชิ้น คือ ปิ่น ไม้ซีก และไม้ทุบ ซึ่งเป็นเทคนิคหลักที่พบในเครื่องมือดักสัตว์หลายชนิด แต่อีทุบต้องประกอบติดตั้งก่อนใช้งาน ขณะที่เครื่องมืออีกมากประกอบสำเร็จรูป ทันใจพร้อมใช้งาน

ลักษณะเด่นของอีทุบยังอยู่ที่รูปลักษณ์ทรงกระโจม และกลวิธีขัดลำเครื่องมือ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม้ทุบจะทำหน้าที่ทุบสัตว์ที่เข้ามากินเหยื่อ จึงเรียกชื่อเครื่องมือนี้จากวิธีทำงานหลักโดยการทุบตีว่าอีทุบ นอกจากนี้อีทุบยังปรับระดับความเบาเพิ่มความแรงในการทุบทำงานได้อีกด้วย

ชาวบ้านดักสัตว์ที่มากัดกินพืชไร่ อย่างเช่นหัวเผือกหัวมัน หรือข้าวโพด ด้วยอีทุบและเครื่องมืออีกหลายชนิด แสดงว่าการกัดทำลายพืชผลเกิดขึ้นซ้ำๆ เครื่องมือจัดการสัตว์รบกวนผลผลิต จึงมีหน้าที่มากกว่าแค่การจับหรือกักขังสัตว์ พบว่าโดยมากแล้วเครื่องมือมักใช้กลไกการทุบ ดีด กระแทกที่เกิดเสียงดัง เสียงจากเครื่องมือและเสียงของสัตว์ที่ถูกทุบทำลายมีผลให้สัตว์ตัวอื่นๆ แตกตื่นวิ่งออกไปจากแหล่งอาหารแถวนั้น หรือไปติดเครื่องมืออันอื่นๆ เครื่องมือที่มีเสียงขณะทำงานจึงมีส่วนผลักดันให้สัตว์ตัวอื่นติดเครื่องมืออันอื่นเร็วขึ้น มากขึ้น อีทุบและเครื่องมือกลุ่มดักหนู อาทิ ฟ้าลั่น ด้วง ฟ้าทับเหว จึงมีลักษณะร่วมกัน คือทำหน้าที่จับและมีเสียงให้สัตว์อีกมากแตกตื่น

วัสดุทำอีทุบ ได้แก่ ไม้ไผ่และเชือก

วิธีทำอีทุบ เหลาไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบของอีทุบ ได้แก่ ไม้ผ่าเป็นซีก ขนาดความยาว ๔๕ เซนติเมตร จำนวน ๓๐ ชิ้น ไม้โค้งดัดงอแล้วให้มีความกว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เมื่อปักดินให้มีความสูงประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ไม้ทุบเป็นไม้ไผ่ลำเล็ก ขนาดความยาวประมาณ ๑-๑.๒๕ เมตร ไม้ซีก ความกว้าง ๐.๕ เซนติเมตร หรือ ๑ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร และปิ่น ปิ่นหรือเดือยเป็นชิ้นไม้ขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร

การประกอบใช้งาน นำไม้ผ่าเป็นซีกจำนวน ๓๐ ชิ้น ตอกดินไล่เรียงกันเป็นทรงกระโจม ที่ด้านหน้าเปิดไว้เหมือนเป็นประตูทางเข้า ตอกไม้โค้งหน้ากระโจม นำไม้ทุบมาวางขวางหน้ากระโจม โดยต้องเป็นส่วนปลายไม้ที่อยู่หน้ากระโจมจึงจะมีน้ำหนักฟาดอย่างแรง ที่ส่วนโคนของไม้ทุบให้หาหลักขอมาปักยึดกับพื้นดินไว้ นำเชือกมามัดใกล้ๆ ส่วนยอดกระโจม ปลายเชือกด้านหนึ่งห้อยลงมาในกระโจม ปลายเชือกนี้มัดโคนปิ่นไว้

วิธีใช้งาน ดึงไม้ทุบยกขึ้นจับวางบนเชือกใกล้โคนปิ่น ไม้ทุบจึงวางอยู่ระหว่างโคนปิ่นกับเชือก นำไม้ซีกมาวางแนบไม้โค้ง ขยับขึ้นให้แตะปลายปิ่นไว้ รอเวลาทำงาน

ชาวบ้านมักติดตั้งอีทุบตามไร่ข้าวโพด ตามแหล่งน้ำใกล้แหล่งเพาะปลูก หรือตามป่าต่ำๆ ก่อนขัดลำใช้งานต้องใส่เหยื่อไว้ในกระโจม พวกกระรอก กระแต หากินกลางวัน เมื่อเห็นเหยื่อจะเข้าไปกินเหยื่อ ขามักเหยียบหรือตัวมักกดไม้ซีกต่ำลง ทำให้ปลายปิ่นไม่มีอะไรยึดไว้ ปิ่นรับน้ำหนักไม้ทุบไม่ได้ ไม้ทุบที่ถูกดึงขึ้นไว้จึงฟาดลงมาตีกลางลำตัวสัตว์ทันที สัตว์จะกระโจนไปข้างหน้าเข้าไปติดอยู่ในกระโจม

ทั้งๆ ที่มีช่องประตูสัตว์ที่เข้าไปติดน่าจะเดินออกมา แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสัตว์ออกมา ชาวบ้านอธิบายว่าเพราะสัตว์ตกใจไม่มีสติ จึงเดินเร็วๆ วนไปวนมาหาทางออกไม่ได้ หรือเป็นไปได้ว่าเมื่อถูกตีเจ็บตรงปากทางนั้น จึงไม่ยอมออกตรงนั้น

อีทุบใช้งานได้ตลอดเวลา ดักกระรอก กระแต ช่วงกลางวัน ดักหนูที่ออกหากินตอนกลางคืน

เรื่องที่กล่าวไว้ว่าอีทุบปรับระดับให้ทุบเบาทุบแรงเป็นเรื่องน่ารู้ไว้ กล่าวคือ เมื่อจะให้อีทุบทุบแรงๆ ให้ยกปลายไม้ทุบขึ้นสูงๆ หรือเขยิบหลักขอจากโคนไม้ทุบเข้ามา ตลอดจนเพิ่มหลักขอกดยึดไม้ทุบกับพื้นดินให้แน่นขึ้น ปลายไม้ทุบจะตีแรงขึ้น

การปรับระดับความรุนแรงในการตีได้ หมายความว่าสามารถเอาสัตว์อย่างกระรอก กระแต ที่ถูกตีเบาๆ ไปเลี้ยงหรือไปขายต่อ หรือได้สัตว์เป็นทั้งกระรอก กระแต หนู ที่พร้อมปรุงอาหารในเวลาที่ต้องการ หากอีทุบถูกปรับเพิ่มแรงทุบจนสัตว์ตาย สัตว์ตัวนั้น (มักเป็นหนู) คืออุทาหรณ์ของผู้รุกราน

ไม้ซีกขนาดเล็กไปงัดไม้ทุบที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองไว้ได้ เป็นเทคนิคเรื่องพลังงาน เรื่องแรง เรื่องวิชาช่าง ตลอดจนใช้สอนเรื่องการสร้างพลังใจ เรื่อง "ไม้ซีกงัดไม้ซุง"

อีทุบเป็นสารพัดการเรียนรู้

นำมาจาก พรศิริ บูรณเขตต์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=1804