ภาพที่ 1ประกันสังคม จ่ายกันทุกเดือน ๆ แต่มีใครรู้บ้างเงินที่เราจ่ายไปนั้น ไปอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วเราจะได้คืนบ้างไหม?
มนุษย์เงินเดือนคงไม่มีใครไม่รู้จัก "ประกันสังคม" เป็นแน่ ก็เพราะทุก ๆ เดือน นายจ้างจะหักเงินจากเรา 5% ของเงินเดือนนำส่งให้กับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งก็ทำให้หลายคนแอบบ่นอยู่เหมือนกันว่า ทำไมเราต้องส่งเงินที่ได้จากหยาดเหงื่อแรงงานของเราทุกเดือน ๆ ให้กับกองทุนประกันสังคมด้วยล่ะ แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากเงินส่วนนี้ ใครที่กำลังคาใจเรื่องนี้อยู่ กระปุกดอทคอมจะมาให้คำตอบว่า เงินสมทบกองทุนประกันสังคมของเราไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง ?
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า การจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนั้น เป็นข้อบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งในปี 2557 นี้ กำหนดให้ลูกจ้างต้องส่งเงินให้กองทุน 5% ของเงินเดือน ส่วนนายจ้างก็ต้องสมทบให้อีก 5% โดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างจริงต่ำสุด 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
คิดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป จะต้องถูกหักเงินส่งเข้ากองทุนประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 750 บาท แต่ถ้าใครมีเงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท ก็จะคิดคำนวณหัก 5% ตามเงินเดือนจริงที่ได้รับ
เอาล่ะ ทีนี้ก็มาดูกันว่า กรณีที่เราเป็นลูกจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 33 หรือ 39 เงิน 5% ที่เราจ่ายให้กองทุนประกันสังคมแต่ละเดือน รวมกับส่วนที่นายจ้างจ่ายให้อีก 5% จะถูกแบ่งไปเข้าส่วนไหน แล้วเราจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง?
สมมติเราส่งเงินเข้าประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ในกรณีนี้ นายจ้างจะสมทบให้อีก 750 บาทเช่นกัน ซึ่งเงินที่เราจ่ายไปในแต่ละเดือนนั้น จะถูกแบ่งสำหรับคุ้มครอง 3 กรณี คือ
ภาพที่ 21. กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ทุพพลภาพ เสียชีวิต
ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนเดือนละ 750 บาท เงินจะถูกแบ่งมาเข้าในส่วนนี้ 225 บาท สามารถใช้สิทธิ์ได้ เช่น
- เข้ารับการบริการทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษา ปลูกถ่ายไขกระดูก เปลี่ยนอวัยวะกระจกตา อวัยวะและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค บริการด้านทันตกรรม และเงินทดแทนการขาดรายได้
* ผู้ใช้สิทธิ์ต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์
ตรวจสอบหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
- เบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย ได้ 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง กรณีผู้ประกันตนเป็นผู้หญิงสามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน ทั้งนี้ หากสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรรวมกันได้ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยบุตรที่นำมาใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรแล้วไม่สามารถนำมาขอรับค่าคลอดบุตรได้อีก
* ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร จึงมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้
ตรวจสอบหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
- กรณีทุพพลภาพ สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐได้ตามจริง สามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต รวมทั้งค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ทุพพลภาพทางร่างกาย จิตใจ และอาชีพ ไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย
* ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้เป็นผู้ทุพพลภาพ และเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจนถึงขั้นทุพพลภาพ
ตรวจสอบหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
- หากถึงแก่ความตายจะได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท (ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน) และมีทายาทสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ กรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือนขึ้นไป
ตรวจสอบหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
อย่างไรก็ตาม เงินที่ถูกส่งมาสมทบในส่วนนี้ หากผู้ประกันตนไม่ใช้สิทธิ ก็จะไม่ได้รับเงินส่วนนี้คืน
ภาพที่ 32. กรณีว่างงาน
ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนเดือนละ 750 บาท เงินจะถูกแบ่งมาเข้าในส่วนนี้ 75 บาท โดยได้รับความคุ้มครอง 2 กรณี คือ
- ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น มีเงินเดือนเฉลี่ย 20,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
- ลาออก จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น มีเงินเดือนเฉลี่ย 20,000 บาท จะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน
* ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีว่างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
ตรวจสอบหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
สำหรับเงินที่สมทบในส่วนนี้ หากผู้ประกันไม่ว่างงานเลย ทำให้ไม่ได้ใช้สิทธิส่วนนี้ เงินส่วนนี้ก็จะหายไป ไม่ได้คืน
ภาพที่ 43. กรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ
ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนเดือนละ 750 บาท เงินจะถูกแบ่งมาเข้าในกรณีชราภาพ 450 บาท ซึ่งเป็นเงินออมที่จะได้รับเงินคืนเมื่ออายุครบ 55 ปี อย่างไรก็ตาม การจะได้รับเงินคืนนั้น จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
1. หากจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน ผู้ประกันตนจะได้รับ "เงินบำเหน็จชราภาพ" เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายมาเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
เช่น จ่ายประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ในจำนวนนี้จะถูกแบ่งมาเข้ากรณีชราภาพ 450 บาท หากจ่ายมาแล้ว 10 เดือน เท่ากับว่าจะได้เงินบำเหน็จชราภาพ คืนไป 450x10 = 4,500 บาท
2. หากจ่ายเงินสมทบเกิน 12 เดือน แต่ยังไม่ถึง 180 เดือน (15 ปี) ผู้ประกันตนจะได้รับ "เงินบำเหน็จชราภาพ" เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่จ่ายมาเพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ รวมกับส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบมาให้ด้วย
เช่น จ่ายประกันสังคมเดือนละ 750 บาท ในจำนวนนี้จะถูกแบ่งมาเข้ากรณีชราภาพ 450 บาท หากจ่ายมาแล้ว 5 ปี (60 เดือน) เท่ากับว่าจะได้เงินบำเหน็จชราภาพ คืนไป 450 บาท (ส่วนที่ตัวเองจ่าย) + 450 บาท (ส่วนที่นายจ้างจ่าย) x 60 เดือน = 54,000 บาท
3. หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 180 เดือน (15 ปี) ผู้ประกันตนจะได้รับ "เงินบำนาญชราภาพ" ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง โดยรับเป็นรายเดือน
เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 20,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญร้อยละ 20 คือ 4,000 บาท ไปทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต
4. หากจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน (15 ปี) ผู้ประกันตนจะได้รับ "เงินบำนาญชราภาพ" ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และยังจะได้รับโบนัสเพิ่ม 1.5% ในส่วนปีที่เกินมาจาก 15 ปี
เช่น ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 20,000 บาท จ่ายสมทบประกันสังคมมาแล้ว 20 ปี (เท่ากับมีส่วนเกิน 15 ปี ไปอีก 5 ปี) ดังนั้นจะได้รับบำนาญ (20% x 20,000 บาท) + โบนัส (1.5% x 20,000 บาท x 5 ปี) = 4,000+1,500 = 5,500 บาท คือจะได้รับเงินเดือนละ 5,500 บาทไปจนกว่าจะเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพยังไม่ครบ 5 ปี (60 เดือน) แต่เสียชีวิตก่อน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย เช่น เดือนที่แล้วรับเงินบำนาญชราภาพมา 5,500 บาท หากตอนนี้เสียชีวิต สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ 55,000 บาท
ตรวจสอบหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตรนั้น จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตร 1 คน ซึ่งจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย มีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน
* ผู้ใช้สิทธิต้องจ่ายเงินสมทบในส่วนของกรณีสงเคราะห์บุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน และต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
ตรวจสอบหลักเกณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม
ทีนี้ก็คงรู้กันแล้วว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายเพื่อเข้ากองทุนประกันสังคมถูกนำไปเก็บไว้ในส่วนใดบ้าง และนี่ก็คือประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิตต่อไป สู้ๆ