สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 8 พ.ค. 67
บ้านเอื้อสมุทร 1 : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 11 - [11 ส.ค. 54, 07:11] ดู: 15,126 - [4 พ.ค. 67, 04:04] โหวต: 8
บ้านเอื้อสมุทร 1
ป.ประจิณ (232 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
23 ธ.ค. 47, 14:24
1
บ้านเอื้อสมุทร 1
ภาพที่ 1
                     
                                                              กุ้งมังกรจากทะเลอินโด

    พื้นน้ำสีครามเข้มกลางแสงแดดอุ่น ต้อนรับลมหนาวแรกที่มาเยือน ทะเลดูอ่อนโยนสวยงามยิ่งนักในวันนี้ หลังลมมอรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านมาอย่างหนักตลอดช่วงเวลาหลายเดือน ที่ทำให้ผู้ล่าต้องสะเทือนหยุดพักไปกับคลื่นยักษ์กันบ้าง
    เรือทัวน์สีขาวจอดทอดสมอเหนือกองปะการังเทียม ที่เหล่านักตกปลา ดำน้ำช่วยกันทำขึ้นจากเศษวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ้านหลังใหม่ของปลา หลังผ่านวันเวลาแห่งความขัดแย้งมาอย่างหนัก ช่วงระดมความคิดเห็น ว่าจะทำหรือไม่ ใครจะเป็นคนวาง แหล่งทุนที่จะหามา วางที่ไหน เมื่อไร ผลจะเป็นเช่นได? เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านมาปีกว่าแล้ว จนบ้านเอื้อสมุทร 1 ที่ทุกคนเรียกขาน เริ่มเบ่งบานไปด้วยฝูงปลาน้อยใหญ่
    ผมกับเพื่อนนักดำน้ำ จากการนำของคุณ อุดมชัย  เวปมาสเตอร์ สยามสคูบ้า และสยามฟิชชิ่ง.คอม เพิ่งขึ้นมาจากใต้น้ำ หลังสำรวจกองปะการังเทียม  ที่วางไว้รอบ ๆ ซากเรือประมงเก่าที่นำมาทิ้งไว้ก่อน ด้านทิศตะวันออกของเกาะแรด ช่องแสมสาร เรือลำนี้ผ่านการใช้งาน ส่งแขกตกปลามาจนโทรม เป็นตำนานของไต๋ผู้อาวุโส ที่ทุกคนเรียกกันว่าป๋าจ๋า
    เมื่อก่อนชายทะเลแห่งนี้ นับว่าเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ ชาวบ้านทั่วไปยึดอาชีพทำประมง หากินเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสุขสบาย มีเกาะใหญ่น้อยนับสิบ กองหินใต้น้ำ แนวปะการัง ซากเรือจม ล้วนเป็นแหล่งพักพิงของ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ออกเรือมาหาได้ตลอด มีเหลือพอก็ขาย เป็นชีวิตที่เรียบง่ายตามวิถีไทย แถมอยู่ในเขตทหารเรือ ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ ๆ ปลอดภัยสำหรับทุกชีวิวิตใต้พื้นน้ำแห่งนี้
    แต่ทว่าทุกวันนี้กลับเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดจากจำนวนปลา และชนิดของสัตว์น้ำที่จับขึ้นมาได้ จนชาวประมงชายฝั่งที่ออกหากินด้วยเรือขนาดเล็ก ทั้งวางลอบ ตกปลา ไดหมึกขาย แทบจะอยู่กันไม่รอด
    ไต๋นึกสัตหีบเป็นอีกผู้หนึ่งที่ผมรู้จักดี ด้วยเคยออกสำรวจทะเลด้วยกันมานาน ช่วงหลัง ๆ ออกเรือเองดูจะไม่คุ้มค่าน้ำมัน จึงหันมารับจ้างพาแขกออกตกปลา พอได้อาศัยเป็นค่าใช้จ่าย หลายปีมานี่แย่จัด ไม่มีปลาให้ตก แขกก็ไม่มาลงเรือ ไต๋ต้องทนต่อสู้กับความยากลำบาก ลูกต้องเรียน เรือก็ต้องซ่อม เงินก็ไม่มี ปัญหาต่าง ๆ ก็รุมเร้า ล้วนมีหลายสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลไทย เรามาลองไล่กันดู

 

   

บ้านเอื้อสมุทร 1
ภาพที่ 2
                                   
                                                              เรือประมงไทยในอินโดนีเซีย
   
      ภายหลังจากที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม ปรับเปลี่ยนนโยบายเข้าสู่อุตสาหกรรม เน้นการส่งออก เพื่อตอบสนอกกระแสการบริโภค ตามระบบทุนนิยม ได้เกิดการขยายตัวของโรงงาน ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรม ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดแนวชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ของภาคตะวันออก ซึ่งมีแม่น้ำ ลำคลองหลายสาย  มีผังเมืองที่เปลี่ยนไปตามแรงหนุนของระบบทุน ที่มุ่งค้ากำไรเพียงอย่างเดียว ที่ดิน แรงงานราคาถูก ถูกดูดเข้ากระบวนการผลิต ชีวิตคนเหมือนเครื่องจักร จากแรงผลักดันของเงินตรา ชาวไร่ชาวนาก็ทิ้งหรือขายที่ทำกิน มุ่งเติมฝันกับผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย  ถึงเลี้ยงควายก็ต้องใช้โทรมือถือ
    สิ่งที่ตามมาเบื้องหลังผลผลิต ที่คิดกันว่าเป็นความเติบโตของระบบเศรฐกิจคือ มลภาวะ ของเสีย คราบน้ำมัน สารเคมี  ไหลลงห้วย หนอง คลองบึง แม่น้ำ สู่ทะเล แหล่งน้ำที่เป็นเขตอาศัย และเพาะพันธ์ของสัตว์วัยอ่อน โดยเฉพาะก้นอ่าวไทยตอนบน พื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่ง
    ด้วยระบบนิเวศน์ที่เป็นเขตน้ำกร่อย ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ป่าชายเลน โดยมีแม่น้ำสี่สายหลักนำพาธุาตอาหารที่จำเป็นจากภูเขา ป่าสูง ดงทึบ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ ไหลมารวมกันที่บริเวณนี้ จึงเป็นพื้นที่เริ่มต้นของสรรพชีวิต ตามห่วงโซ่อาหาร ปลาวัยอ่อนจะอาศัยหากินแพลงตอน ซึ่งเป็นสัตว์และพืชขนาดเล็ก ลูกเคย ก่อนเติบโตแข็งแรงพอที่จะออกผจญภัยเติบใหญ่ในทะเลลึกต่อไป
    เมื่อของเสียเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะสายน้ำที่ไหลลงมาจากป่าเขา ถูกกั้นตายด้วยเขื่อนขนาดยักษ์ แยกน้ำจืด น้ำเค็มออกจากกัน โดยไม่สนใจสายใยของสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยเหล่านี้ ปลาที่เคยมีมาก ก็ลดจำนวนลง สวนทางกับความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น
    เมื่อชีวิตพ้นก้นอ่าวก็ถูกไล่ล่าจากกองเรือประมง ทั้งเรือดุน เรือลากเดี่ยว ลากคู่ พวกหากินผิดกฏหมาย วางยา ระเบิดปลาก็ยังมีอยู่ ตั่งแต่ชายฝั่ง ถึงห่างออกไปเป็นร้อยไมล์ ก็พบเรือประมงไทยได้ทุกที่ ใครคือผู้นำเข้าเครื่องมือเหล่านี้ ?
    ในปี พ.ศ. 2504 กรมประมงได้นำเรืออวนลากเข้ามาจากประเทศเยอรมัน มาทดลองจับปลาในอ่าวไทย ปรากฏว่าได้ผลดียิ่งสามารถจับปลาได้มากกว่าเดิมถึง 10 กว่าเท่า เรืออวนลากจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณว่าปัจจุบันมีเรืออวนลากหลายหมื่นลำกระจายอยู่ทั่วน่านน้ำไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 4 ของของประเทศที่จับปลาได้มากที่สุดในโลก
บ้านเอื้อสมุทร 1
ภาพที่ 3
 
                                                              ส่วนหนึ่งของปลาจากกองเรือไทย


    เมื่อปลาในท้องทะเลลึกเริ่มร่อยหรอลง เรืออวนลากบางส่วนก็รุกล้ำเข้ามาลากตามบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่หากินของชาวประมงพื้นบ้านจนทำให้เกิดปัญหาร้องเรียน ทะเลาะ ถึงขั้นไล่ยิงกันอยู่เสมอ
    ส่วนเรือประมงขนาดใหญ่ที่ลงทุนกันแบบธุรกิจ ก็ส่งกองเรือเข้าไปในน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเขมร เวียดนาม พม่า และอินโดนีเซีย ทั้งถูกต้องตามกฎหมาย และลักลอบเข้าไป เป็นปัญหาใหญ่ระหว่างประเทศ
    เมื่อสองปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสติดตามไปอินโดนีเซียกับเรือแม่ซื่อ ส.สมบูรณ์เจริญชัย 15 ควบคุมเรือ โดยไต๋ ดิษฐ์ เสาสูงยาง ซึ่งเป็นเรือแม่ขนาดใหญ่ เดินทางออกจากปากน้ำ ขนเสบียงไปให้กองเรือลูก ซึ่งทั้งหมดเป็นเรืออวนลากเดี่ยวเกือบ 20 ลำ ที่ลากปลาอยู่บริเวณอินโดเหนือ ใกล้เขตแดนของประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นเขตสัปทาน
    เราใช้เวลาเดินทาง 6 วันถึงจะถึงบริเวณที่เรือลูกกระจายทำงานอยู่ ผมพยายามเก็บข้อมูลทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ทั้งคุยกับไต๋เรือ ดูปลาที่จับมาได้ ไต๋หลายลำบอกว่าออกเรือมาปีกว่าแล้วยังไม่ได้กลับบ้านเลย ส่วนใหญ่ของไต๋เป็นคนภาคอิสาน ลูกเรือเป็นคนเขมร หรือไม่ก็พม่า
    “ ขืนอยู่หากินทะเลไทยก็ต้องอดตาย เพราะมันไม่เหลือปลาอะไรจะให้ลาก ที่นี่ตอนเข้ามาใหม่ ๆ ใต้ท้องทะเลเต็มไปด้วยป่า(หมายถึงปะการัง ) สัตว์น้ำมีมากมายแทบทุกชนิด พวกเรารวยกันทุกลำ ผมขนปลากลับปากน้ำเดือนละสองครั้ง”ไต๋ดิษฐ์บอกถึงสาเหตุที่มา
    ไต๋ยังเล่าต่อไปอีกว่าช่วง2-3ปีมานี้แถวอินโดเหนือปลาเริ่มน้อยตัวลง เนื่องจากปริมาณเรือที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้ก็มีประมาณ 800ลำ กระจายอยู่ทั่วไป จนติดเขตมาเลเซีย หมดป่าก็หมดปลา เรือบางลำทนขาดทุนไม่ไหวก็ลุยลงไปลากอวนถึงอินโดใต้ ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ต้องเสี่ยงกับการถูกทหารเรือจับกุม โดนยึดเรือ หรือไม่ก็ถูกยิงจม ถ้าเข้าไปได้ก็รวยกับมา ปลามากจริง ๆ ถึงจะต้องจ่ายภาษีเถื่อนให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ก็ยังคุ้มที่จะเสี่ยง ยังดีกว่ากลับไปทำนาที่บ้าน
    ผมมองดูปลาหลายชนิดที่วางเป็นกอง ใส่ถัง ถูกทยอยขึ้นจากเรือลูกลงเรือแม่ ปลายหลายชนิดสมควรเป็นปลาที่จะอนุรักษ์ เช่น กระเบนราหู ฉลามเสือ โรนัน ปลาสวยงาม ฯ ก็ถูกจับมาวางเกลื่อนกราดบนดาดฟ้าเรือ พวกที่ไม่มีราคาก็ถูกโกยทิ้งน้ำลอยเป็นแพ เห็นแล้วน่าอนาทยิ่งนัก
    คิดถึงน่านน้ำบ้านเรา ผมแทบไม่แปลกใจว่าทำไม่ทะเลไทยถึงวอดวายเร็วนัก เมื่อเห็นประสิทธิ์ภาพของเรือ วิธีการล่าแบบล้างผลาญ ล้วนเป็นผลมาจากเทคโนโลยี่ฯ ที่ทันสมัยทั้งอวน เครื่องมือสือสาร ดาวเทียม ที่ออกแบบมาเพื่อความสดวก ผสมเข้ากับความโลภ หลง ของคนที่อยู่เบื้องหลังชาวประมง ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภค ส่งเข้าโรงงานปลาบ่น แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ส่งออก หรืออาหารสำเร็จรูป ล้วนต้องใช้วัตถุดิบจากท้องทะเลทั้งนั้น โดยไม่มีใครสนใจว่าจะได้มาอย่างไร ?
    ผมตระเวณเที่ยวอยู่กับกองเรือประมงไทยเกือบเดือนจึงเดินทางกลับ พร้อมกับมีความคิดว่าควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของพวกเรากันเองก่อน ในฐานะผู้ใช้ทรัพยากรทางทะเลคนหนึ่ง
    จึงร่วมกับเพื่อน ๆ คอเดียวกันออกสำรวจทะเล ทั้งตกปลา ดำน้ำ เพื่อเก็บข้อมูลเท่าที่ความสามารถ และทุนของเราเองจะอำนวย ตั้งแต่ปากอ่าวบางปะกง สีชัง บางเสร่ ระยอง จัทบุรี ถึงเกาะช้างจังหวัดตราดมาเป็นเวลานานหลายปี       
    จากอดีตนักล่าคนหนึ่ง ผมนึกย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ยังเปรียบเสมือนเทพีที่งดงาม บริสุทธิ์ น้อยคนที่จะมีโอกาสไปถึง หาดทรายขาว กระท่อมกลางดงมะพร้าว น้ำก็สวยใส ฝูงปลามากมายมีให้ดูให้ตก ที่หินล่อ กองหินกลางน้ำเป็นถิ่นปลากระโทงร่ม กะมง ฉลามขนาดใหญ่ ตกกันจนไม่มีน้ำแข็งจะแช่ เอาไปแจกชาวบ้านเขาก็หัวเราะ ด้วยเห็นเป็นของธรรมดาดูด้อยค่า และไม่มีราคา ที่จะแลกเป็นเงินตราได้
    เมื่อข่าวสารกระจายออกไป นักล่า นักท่องเที่ยวมากมายก็เวียนเข้าเวียนออก ปลารอบเกาะถูกจับขึ้นมาเป็นอาหาร หินล่อกลายเป็นหินล้าง กระท่อมน้อย ๆ หายไปกลายเป็นตึกสูงเทียมยอดมะพร้าว ขุนเขายังต้องหลบ เมื่อพบคู่แข่ง ที่มาแรงแล้วก็โตเร็วกว่า ทรายสีขาวดูหมองค้ำ น้ำสีดำเข้าแทนที่ความใส เป็นเช่นนี้เหมือนกันทุกแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล ก.ช้าง ก.กูด กำลังตามมาติดๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งเศร้าใจ เรานำสินทรัพย์ในอนาคตของลูก หลาน มาใช้กันจนหมด
บ้านเอื้อสมุทร 1
ภาพที่ 4
 
                                                          ปลาฉลามหลายชนิด กระเบนนก ราหู ไม่รอดพ้นตาอวนไปได้


    “ถ้าจะให้ทะเลไทยกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม  ต้องเอาเรือประมงทั้งหมดมาจมทำปะการังเทียม” ผมพูดกับคุณ อุดมชัย  ขณะพักน้ำเตรียมดำรอบสอง
    “ไม่พอ มันต้องเอาโรงงาน รถถัง รถไฟ เครื่องบิน เรือรบเก่า มาจมด้วยถึงจะมีผล”  เพื่อนอีกคนเสนอทางออก
    “ความคิดดีมาก แล้วใครมันจะเอาด้วย ?”อุดมชัยถาม
    “งั้น ! ก็ช่วยไม่ได้ น้ำแข็งขั่วโลกกำลังละลาย เมืองหลวงใหม่ คือดอยสุเทพ ฮา ฮา”ผมว่า ถึงเราจะคุยกันเล่น ๆ แต่แนวโน้มกับเป็นจริง
    รูปภาพจากนักดำน้ำหลายคนพบว่ามี ปลานกแก้ว ข้างปาน โฉมงาม โนรี สาก โรนัน การ์ตูนเข้ามาอาศัย ตามก้อนลูกปูนมีตัวเพรียง หอยหลายชนิดเกาะติดอยู่ ปะการังอ่อน เขากวาง มีให้เห็นบ้างแล้ว
    แม้อยู่ในขั้นทดลอง แต่มองดูฟ้าก็น่าจะใส ถ้าได้ผลจริง ๆ จะเผยแพร่แนวคิดใช้วัสดุก่อสร้างที่เหลือใช้ เป็นบ้านใหม่ให้ปลา
    เป็นความภูมิใจของพวกเราทุกคน ทีรู้จักกันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งชุมชนชาวประมงแห่งหมู่บ้านแสมสาร ที่ช่วยกันทำงานนี้จนสำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แม้จะเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ทีหลายคนไม่มีส่วนร่วม 
    แต่เหล่าปลาก็รู้ว่า มีบ้านใหญ่ให้อยู่แล้ว ทั้งยังปลอดภัยจากเรืออวนลาก ได้อยู่ใกล้ชิดกับชาวประมงท้องถิ่น และนักตกปลา ดำน้ำ ที่จะคอยปกป้อง ดูแล หินกองนี้ เพราะเราเป็นพวกรวมโลกเดียวกัน
    “แล้วพวกที่อยู่โรงงานทำน้ำเสียล่ะ !  จะเป็นเพื่อนหนูมั้ยค้ะ ?”เสียงถามหาของปลาตัวน้อย จากบ้านเอื้อสมุทร1

                                                      -จบ-
                         
(เรื่องนี้เขียนขึ้นเมื่อสามเดือนก่อน และส่งไปร่วมประกวดที่รายการ “คนค้นฅน”เมื่อวาน ผมได้รับการติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่ไม่ได้รับรางวัลหรอกครับ และได้บอกเขาไปว่าพวกเราทำงานกันเป็นทีม ให้เปิดดูเบื้องหลังความสำเร็จได้ในหน้ากระทู้ และถามหาข้อมูลได้ที่พี่เวปมาสเตอร์ จึงเรียนมาให้พวกเราทราบในเบื้องต้น)
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024