ภาพที่ 1
อาการเมารถ หรือ เมาเรือ เกิดจากประสาทการทรงตัวไม่สมดุล เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป เช่น นั่งรถที่สะเทือนนานเกินไป จนไปกระตุ้นประสาทการทรงตัวของเรา คนที่มีประสาทการทรงตัวปกติจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับบางคน ประสาทการทรงตัวอาจไวเป็นพิเศษ จึงเวียนศีรษะง่าย และมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตามมา
1 : อย่าก้มหน้า อาเจียนจะถามถึง
หากต้องนั่งรถทางไกล เงยหน้าเท่านั้น มองระยะไกลเข้าไว้ อย่าก้มหน้าอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมส์เด็ดขาด เพราะการก้มหน้าจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อย เป็นที่มาของอาการคลื่นไส้ วิงเวียน และอาเจียนจะตามมาในที่สุด
2 : ยืดเส้นยืดสาย สลายอาการวิงเวียน
ถ้าเป็นไปได้ ลงจากรถเพื่อยืดเส้นยืดสายซะบ้าง ไม่ควรนั่งรถนานถึงสิบชั่วโมงรวด ถ้ารถแวะจอดที่ปั๊ม ให้ใช้โอกาสนี้ออกกำลังแขนขา เปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวกขึ้น
3 : พริ้วไหวไปนั่งหน้า
อย่านั่งท้าย เพราะเวลารถเหวี่ยง กระเด้งกระดอน จะโค้งหักแขน หักศอก ส่วนท้ายจะได้รับผลกระทบมากกว่าส่วนไหนๆ ขืนฝืนนั่งไป อาหารที่ทานไว้จะขึ้นมาจ่อคอหอย
4 : จะเดินทาง อย่าตะกละ
หากรู้ว่าต้องเดินทางไกล กินพอให้อยู่ได้ไม่หิว ถ้ามัวห่วงว่าจะหิวโฮก รับรองได้โอ้กกันเต็มคันรถ เพราะการทานอิ่มเกินไป โดยเฉพาะอาหารรสจัด อาหารมันๆ จะทำให้ยิ่งรู้สึกคลื่นไส้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ทานเลยนะ เพราะที่จริงแล้ว ยิ่งท้องว่าง ก็จะทำให้เมารถเร็วยิ่งขึ้น
5 : ระบายอากาศเป็นครั้งคราว
ถ้าภายในรถ ที่นั่งค่อนข้างแออัด ควรเปิดหน้าต่างบ้าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พัดเอาลมข้างนอกเข้ามาในตัวรถ เพราะออกซิเจนจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ลดอาการวิงเวียนได้เป็นอย่างดี
6 : ลองใช้วิทยายุทธ กดจุดที่ข้อมือ
การกดจุด โดยใช้นิ้วมือนวดวนๆ ที่ข้อมือด้านใน บริเวณใกล้กับที่จับชีพจร วิธีนี้ยังไม่มีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ แต่ว่ากันว่าหลายคนใช้แล้วได้ผล
7 : ทานยาก่อนขึ้นรถ
กันไว้ดีกว่าพลาด รับประทานยาแก้เมารถ ก่อนออกเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง จะช่วยได้มาก แต่ยาจะมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน
8 : ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท
อย่าเครียด คือ วิธีที่ดีที่สุดหากทำได้ ทำตัวตามสบาย ยิ่งวิตกกังวล ยิ่งเมารถง่ายขึ้น ที่สำคัญหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง
ขอบคุณข้อมูลจาก :www.ocpb.go.th