ภาพที่ 1สวัสดีครับน้าๆ-ป้าๆชาวสยามฟิชชิ่งทุกท่าน เนื่องจากมี pm สอบถามกันมาค่อนข้างเยอะ อีกทั้งการงานที่ค่อนข้างรัดตัว เลยไม่ค่อยมีเวลาตอบ หรือตอบช้าไปบ้าง เลยคิดว่าน่าจะลงบทความแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ที่สนใจ
วันนี้ กระผม BASSBERRY22 ขอนำเสนอวิธี - เทคนิคการตีเหยื่อปลอมชายฝั่งเบื้องต้น ให้แก่ผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นตีเหยื่อปลอมชายฝั่ง แต่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรในการออกทริป ซึ่งผมเองก็เคยเป็นอย่างนั้นเหมือนกันตอนเริ่มตกปลาใหม่ๆ ลองผิดลองถูกอยู่นาน ตีอยู่ 3 เดือนกว่าจะได้ปลาตัวแรก จนทำให้บ้าเหยื่อปลอมมาจนทุกวันนี้
การตีเหยื่อปลอมชายฝั่งก็มีองค์ประกอบหลายอย่างครับ เช่น อุปกรณ์ หมายที่จะไปตก ปลาที่น่าจะมี ภูมิอากาศ และอื่นๆอีกมากมาย
เริ่มกันที่อุปกรณ์ก่อนก็แล้วกันนะครับ อย่างแรกเลยคือ ชุดคัน/รอก/สาย/เหยื่อที่ใช้
สำหรับชุดที่ใช้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นชุดสปินนิ่ง หรือ เบทครับ ตามชอบเลยครับ แต่ชุดเบทต้องบำรุงรักษากันมากหน่อยเพราะเป็นน้ำเค็มครับ
ถ้าเป็นรอกสปิน ก็เบอร์ 500 ไปจนถึง 3000 กำลังดี หรือ 4000 ในกรณีที่อาจเจอผิดคิวหรือขนาดเฉลี่ยค่อนข้างใหญ่ครับ
ส่วนคัน แนะนำคันเวทปานกลางขึ้นไป ตั้งแต่ 7-14 / 10-17 / 12-21 เพราะบางครั้งต้องงัดสู้กับปลา โดยเฉพาะปลาเก๋าที่ชอบมุดรู ส่วนความยาวของคัน แนะนำว่าให้ยาวนิดนึง 7 ฟุตขึ้นไป จนถึง 9 ฟุตครึ่ง เพราะทะเลมันค่อนข้างกว้าง แม้ว่าเราจะไม่ใด้แข่งขันตีเหยื่อไกลก็ตามที เพื่อที่จะได้เพิ่ม killing field ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นครับ
ส่วนสาย แนะนำให้ใช้สาย pe ครับ ตอนนี้ราคาไม่แรงนัก แต่คุ้มกว่าเยอะ ขนาดที่แนะนำก็ 20-40 ปอนด์พร้อมกับต่อสาย shock leader ขนาด 30-40 ปอนด์ ให้สายช้อค ยาวประมาณ 50 ซม. กันสายพีอีขูดหิน
ภาพที่ 2ทีนี้เราจะมาเลือกเหยื่อกัน เหยื่อสำหรับตกชายฝั่งก็มีหลายแบบให้เราเลือกใช้กัน
ขอแนะนำแบบแรกกันเลยครับ เป็นเหยื่อแก้แห้วได้เป็นอย่างดี หนีไม่พ้นเหยื่อยางครับ ครอบจักรวาล แนะนำให้ติดไปหลายๆตัวหน่อย เพราะมีโอกาสติดหินค่อนข้างสูง ราคาค่อนข้างถูก แต่จะไม่ถูกก็ตอนติดหินติดตอ วันนึงหลายๆตัวนี่แหล่ะครับ
ภาพที่ 3ผลงานบางส่วนของเหยื่อปลายาง
ภาพที่ 4เหยื่อชนิดต่อไปคือเหยื่อมินนาวทั้งหลาย เริ่มกันที่ตัวเล็กๆกันก่อน มีหลายขนาดให้เลือกใช้ 3 / 5 / 7 / 9 ซม. ครับ มีหลายรุ่นหลายราคาให้เลือกตามร้านค้าหรือหน้าเวบทั่วไป มีทั้งเหยื่อยุโรป / จีน / ญี่ปุ่นครับ
ภาพที่ 5อันนี้ได้จากเหยื่อมินนาวขนาดเล็ก แต่ปลาไม่เล็กครับ
เหยื่อขนาด 70 มม. กับแดงเขี้ยว 3 กก.
ภาพที่ 6อันนี้เป็นเหยื่อแบบปลั๊กกลม ใช้งานได้ดีไม่แพ้กัน
ใด้ผลกับปลาเก๋า หรือปลาล่าเหยื่อขนาดเล็ก เช่น พวกข้างปาน เป็นต้น
ภาพที่ 7อย่างที่เห็นครับ
ภาพที่ 8อันนี้เป็นเหยื่อทะเลของจริงครับ ทำมาเพื่องานทะเลโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่มักจะใช้รหัส sw หรือ esg พ่วงท้าย นิยมใช้กันในหมู่นักตกปลาชายฝั่ง ทั้งเขตยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะการตกปลา sea bass
มักมีขนาดค่อนข้างใหญ่ 110 - 150 มม. ขึ้นไป เคยเห็นมีขนาด 180 มม.ด้วย แต่เหยื่อประเภทนี้ บ้านเราไม่ค่อยนิยมเท่าใดนัก ยกเว้นนักตกปลาบางกลุ่มที่ใช้ เพราะ หายาก ราคาค่อนข้างสูง และมีข้อจำกัดในการใช้งาน เพราะไม่สามารถนำไปใช้ตามบ่อกะพงทั่วไปได้หากเทียบกับเหยื่อเล็กที่ใช้งานได้ดีกว่า แต่ถ้าใช้งานชายฝั่งแบบนี้ จะเวิร์คมากครับ
3 ตัวที่อยู่ด้านบน เป็นเหยื่อชนิดที่เรียกว่า surf เหมาะกับหน้าหาดหรือเขตน้ำตื้น สังเกตุเหยื่อตระกูลนี้ได้จากลิ้นครับ จะถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็กและกินน้ำไม่ลึกมากนัก ส่วนใหญ่จะดำลงไปประมาณ 1 ฟุตจากระดับผิวน้ำ
ส่วนที่เหลือ เป็นมินนาวแบบต่างๆ มีทั้ง jerk bait และ minnow แบบปกติซึ่งจะดำลึกกว่าแบบแรก อีกทั้งยังมีแบบ float / suspend / sinking ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม
หลายท่านอาจคิดว่าเหยื่อแบบนี้ใหญ่ไปหรือเปล่าเพราะเคยใช้แต่ขนาดที่เล็กกว่า ปลาจะกล้ากินไหม ผมคอนเฟิร์มเลยครับว่า ปลาในหมายธรรมชาติแบบนี้ อย่างโหดครับ มีสัญชาติญาณนักล่าสูง เงื่อนไขมีเพียงอย่างเดียวครับ ขอให้เหยื่อเล็กกว่าปากมันเป็นใช้ได้ มันไม่ค่อยเกี่ยงคู่ต่อสู้ด้วย ร้อยทั้งร้อยไม่เคยเจอเหยื่อปลอม กัดแต่ละทีมีสะดุ้งครับ กะเอาตายกันเลยทีเดียว
ภาพที่ 9แบบนี้เป็นเหยื่อผิวน้ำชนิดต่างๆ ทั้งแบบ เพนซิล / ป๊อปเปอร์ / พร๊อบ แบบมีใบพัด
ใช้งานใด้ทั่วไป ทั้งน้ำลึกและน้ำตื้น ปลาเป้าหมายเป็นพวก กุเรา / สาก / กะมง แต่ผมเคยโดนเก๋าไซส์ 3 กก. ชาร์จเหยื่อเพนซิลในเขตน้ำลึกที่อิสราเอลเหมือนกัน
ภาพที่ 10เหยื่ออีกแบบหนึ่งที่ใช้คือประเภท salt spoon / spin jig ใช้งานในเขตน้ำลึกหรือข้างเกาะ เหมาะสำหรับ ปลาทูน่า / กะมง / อินทรีย์ครับ
ในภาพเป็นทูน่าขนาดย่อม ที่ mediteranian sea ประเทศ israel
ภาพที่ 11ทีนี้เรามาดูหมายกันบ้างครับ ว่าเราสามารถหาตกได้ที่ไหนกันบ้าง
ที่ผมแนะนำก็มีบริเวณ ปากแม่น้ำ / หน้าหาด / ตามโขดหิน / บนโป๊ะ / เสา-ตอม่อสะพาน สามารถเดินตี หรือลงเรือเล็ก/คายัค ก็ได้ครับ ตามศรัทธาเลยครับ
ภาพบนเป็นปากแม่น้ำที่เมือง ลากอส ประเทศไนจีเรีย ที่ไหลเชื่อมต่อกับ มหาสมุทรแอตแลนติก
ภาพที่ 12อันนี้เป็นตัวอย่างหมายโขดหินครับ หมายแบบนี้ต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างสูง เพราะพื้นที่จำกัด / ลื่น / อันตรายจากคลื่นทางด้านหน้า และหิน/ดินจากด้านบนที่อาจหล่นลงมาได้ครับ
หมายแบบนี้จะได้เปรียบตรงที่มีหลืบมุมให้ปลาได้ซ่อนตัว ปลาที่มีตามหมายแบบนี้มักจะเป็นเก๋า / แดงเขี้ยว / กะพงขาว ถ้าเจอหมายแบบนี้แนะนำให้ปิดเบรคเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เพราะปลามักจะกระชากเหยื่อลงรูครับ
ภาพที่ 13อันนี้เป็นหมายบนโป๊ะครับ ได้เปรียบมากกว่าโขดหินตรงที่ยื่นลงไปในน้ำที่ลึกขี้น มีระยะทำการไกลขึ้น ปลาที่ได้มักจะเป็นปลาล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เบรคแนะนำให้ปิดไว้แค่พอหนืดมือก็พอครับ ไม่ต้องแน่นมาก เพราะเสื่ยงสายขาด/เบ็ดง้างได้ค่อนข้างสูง อีกทั้งบริเวณดังกล่าวน้ำค่อนข้างลึกอยู่แล้ว ทดสอบโดยลองดึงสายออกจากรอกตรงๆครับ ปลาที่ได้ตามหมายแบบนี้มักเป็น สาก / แดงเขี้ยว / กะพงขาว อาจมีเก๋ามาดักเหยื่อด้วยในบางครั้ง
ภาพที่ 14ในภาพเป็นหมายหน้าหาดครับ ในประเทศอิสราเอล หมายแบบนี้เหมาะกับการตกปลา sea bass มาก แม้ว่าบ้านเราไม่มี sea bass แต่หมายแบบนี้มักมีปลาสากมาป้วนเปี้ยนช่วงหัวน้ำลงนะครับ
ในภาพเป็น sea bass ขนาดเล็กที่เพื่อนร่วมก๊วนตกได้
ภาพที่ 15อีกหมายที่เป็นหมายหน้าหาดกึ่งโขดหิน
ภาพที่ 16อันนี้เป็นหมายเคลื่อนที่ได้ครับ เรือคายัค / เรือเล็ก สามารถย้ายที่ได้สะดวก ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า แต่ไม่แน่ว่าจะได้เปรียบกว่าเสมอไป บ่อยครั้งที่ตีบนเรือไม่มีตัวแต่ได้บนฝั่งแทน
ที่สำคัญใส่ชูชีพไว้ด้วยนะครับ เพื่อความปลอดภัย
ภาพที่ 17การตกปลาชายฝั่ง บางครั้งก็เป็นเรื่องอันตรายได้ครับ ควรไปกันหลายๆคน มีอะไรจะได้ช่วยเหลือกันได้
ในภาพเป็นลานหินตัด ซึ่งพ้นขอบหินด้านหน้าที่ยืนกันอยู่ไปแล้ว น้ำลึกเกิน 10 ม. ผมอยู่ขวาสุดครับ
ภาพที่ 18ส่วนเรื่องภูมิอากาศ คลื่นลม ควรเช็คก่อนล่วงหน้านะครับ จะได้ไม่เสียเที่ยว
ทีนี้ก็เป็นเรื่องของ อุณหภูมิ / น้ำขึ้น-น้ำลง กับพฤติกรรมของปลากันบ้าง ผมเองก็ไม่ใด้รู้ไปซะหมด เอาที่ผมสังเกตเอาก็แล้วกันนะครับ
ถ้าอุณหภูมิของน้ำเย้น ปลาจะเคลื่อนที่ช้าลง หรือรอดักเหยื่อเท่านั้น ควรลากเหยื่อให้ช้าลงกว่าปกติ แต่ถ้าน้ำอุ่น ปลาจะกระฉับกระเฉง มักจะออกมาล่าเหยื่อ ก็ลากเหยื่อด้วยความเร็วปกติได้
ความขุ่น-ใสของน้ำ ถ้าน้ำขุ่น เก๋ามักไม่ชอบอยู่ แต่ไม่มีผลกับปลาชนิดอื่น ส่วนสีของเหยื่อที่ถกกันมานาน ว่าปลาเห็นสีไหม ผมก็ใช้ตามปกติคือ ถ้าน้ำใส ผมใช้สีที่เหมือนลูกปลาธรรมชาติไว้ก่อน ขนาดไปตกหน้าหาดมืดๆ กลางดึกคืนเดือนแรมเสียด้วยซ้ำ ใช้สีลูกปลายังได้ปลาเลย ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเห็นเหยื่อได้ยังงัย แต่ถ้าน้ำขุ่นผมจะใช้สีจัดๆ ถ้านึกอะไรไม่ออกก็ใช้สีขาวหัวแดงครับ สีหากิน 5555+
ช่วงเวลาที่ปลากินดี คือช่วงหัวน้ำขึ้น-หัวน้ำลง ใน 3 ชม.แรก จะมีโอกาศได้ปลาสูง
ภาพที่ 19กระผมคงต้องขอจบข้อมูลเบื้องต้นไว้เท่านี้ก่อนนะครับ หวังใจว่าคงเป็นประโยชน์กับน้าๆหลายๆท่านบ้างไม่มากก็น้อย ผิดพลาดประการใดก็ขออภับมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
ขอขอบพระคุณที่แวะมาชมนะครับ สวัสดีครับ