ทำไมเวลาหักข้อนิ้วมือแล้วมีเสียงดัง..
ภาพที่ 1น้าๆหลายท่านอาจจะสงสัยผมเลยหา เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆมาฝากครับ
เวลาเราเมื่อยๆมือ หลายคนชอบหักข้อนิ้วมือให้มันดังกร๊อบ..แกร๊บ... ใช่ไหมครับ จริงๆแล้วเสียงที่ดังนั้นมันเป็นเสียงของอะไรกัน?
มีหลายอย่างที่เรายังอธิบายได้ไม่ชัดถึงที่มาและสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นทุกๆวันกับตัวของเราเอง เช่นเดียวกับเรื่องเสียงที่เกิดเมื่อเราหักข้อนิ้วนี้ด้วย แต่ก็มีการศึกษาวิจัยที่พยายามจะอธิบายที่มาของเสียง"ลั่น"นี้ครับ ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับก็คือ เสียงนั้น เกิดจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า cavitation
ข้อต่างๆของร่างกายเรา รวมถึงข้อนิ้ว จะมีช่องว่างเล็กๆที่บรรจุน้ำไขข้อซึ่งเป็นของเหลวข้นคอยทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่อทั้งหลาย และหุ้มไว้อย่างมิดชิดด้วยสารพัดเนื้อเยื่อครับ เมื่อเวลาเรายืดข้อนิ้ว ช่องว่างนี้ก็จะถูกยืดออก และเมื่อช่องว่างขยายขึ้น ความดันในช่องว่างนั่นก็ลดลง (นึกถึงเวลาเอานิ้วอุดปลายกระบอกฉีดยาแล้วดึงก้านสูบขึ้นนั่นแหละครับ) ซึ่งเรื่องน่าจะเกิดตอนนี้... เมื่อน้ำไขข้อ(รวมถึงของเหลวทุกชนิดบนโลกนี้)มีความดันลดลงเพราะถูกดึงออกจากกันอย่างรวดเร็ว จะเกิดฟองขึ้นในน้ำไขข้อ ทีนี้ก๊าซต่างๆที่เคยละลายอยู่ในนั้นก็จะแยกตัวออกมาอยู่ในฟองที่เกิดขึ้นนั่นแหละครับ ในกรณีของน้ำไขข้อก็จะเป็นฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากแยกออกมา ปรากฏการณ์การเกิดฟองแบบนี้เราเรียกว่า cavitation หรือการเกิด"ช่องว่าง"ในเนื้อของเหลวนั่นเองครับ... แต่ ยังครับ เสียงยังไม่ได้เกิดตอนนี้...
เมื่อน้ำไขข้อความดันลดลงจนมีพรายฟองคาร์บอนไดออกไซด์แยกปนอยู่ ตอนนี้น้ำไขข้อก็จำเป็นจะต้องปรับสมดุลของความดันตัวเองเสียใหม่ กระบวนการปรับสมดุลนี้เองที่จะบีบเอาพรายฟองเล็กๆรวบเข้ากันไว้เป็นฟองที่ใหญ่ขึ้น การยุบตัวของฟองคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำไขข้อนี่เองที่คาดว่าเป็นที่มาของเสียงที่เกิดขึ้น แต่น้ำไขข้อก็ข้นเกินกว่าที่คาร์บอนไดออกไซด์จะละลายกลับเข้าไปได้ใหม่ในทันที ยังคงค้างเป็นฟองอยู่เช่นนั้น และใช้เวลาอีกซักพักหนึ่งก็จะละลายหายไปในที่สุด เป็นที่มาว่า ทำไมเราถึงหักข้อนิ้วให้ดังติดๆกันไม่ได้ครับ เพราะเราต้องรอให้ฟองเหล่านี้หมดไป จึงจะสามารถเกิด cavitation ได้ใหม่อีกนั่นเอง
หลายๆคนที่ชอบการหักข้อนิ้วอาจสงสัยว่ามันมีผลเสียกับข้อไหม จากการศึกษายังไม่พบความเสื่อมของข้อที่เกิดจากการหักข้อนิ้วครับ แต่มีผลวิจัยบางชิ้นพบว่า ในบางกรณี ผู้ที่ชอบหักข้อนิ้วมือจะมีแรงกำมือลดลง แต่ไม่ได้ถึงกับหมดแรงหรือพิการ...
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://guru.sanook.com/