ภาพที่ 1 รอกที่ได้รับความนิยมอย่างนึงในวงการตกปลาก็คือรอกเบท (baitcasting) ครับ ปัจจุบันก็มีรอกเบทหลากหลายรูปแบบหลากหลาย option แต่อย่างไรก็ตามรอกเบทก็มีลักษณะพื้นฐานซึ่งการทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานเหล่านี้ก็จะทำให้เราสามารถเลือกซื้อรอกได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของเราและคุ้มค่าเงินที่เสียไปครับ ด้วยอาศัย baitcasting buyer guide จากwww.basspro.com มาผสมผสานความรู้ประสบการณ์ที่พอมีอยู่ของผมเองมาแบ่งปันให้เพื่อนๆได้พอเป็นแนวทางกันครับ
***วัสดุตัวเรือนรอก (Reel Body)***
จะเป็นรอกทรงกลมหรือหยดน้ำนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนนะครับ ส่วนสำคัญที่จะพูดถึงในข้อนี้คือเรื่องวัสดุที่ใช้ทำโครงรอกซึ่งได้แก่ กราไฟท์กับอลูมินั่ม
- กราไฟท์จะมีน้ำหนักเบาและทนทานการกัดกร่อนของน้ำทะเลได้ดีกว่าอลูมินั่ม
- อลูมินั่มจะได้เปรียบเรื่องความแข็งแรงทนทาน และตามทฤษฎีแล้วความคงตัวของอลูมินั่มจะส่งผ่านแรงเหวี่ยงของเหยื่อไปที่สปูลได้มากกว่า ทำให้สปูลเริ่มต้นหมุนได้เร็วกว่ารอกกราไฟท์ ส่วนตัวเรือนประกอบก็จะด้อยกว่าอลูมินั่มเฟรมเดี่ยวไปเล็กน้อยครับ
สรุปว่ากราไฟท์ก็เหมาะกับเกมเบาๆ ถ้าเกมหนักๆก็แนะนำอลูมินั่มมากกว่าครับ (จะว่าไปแล้วนักตกปลาเมืองไทยก็ถือรอกเฟรมอลูมินั่มกันหมดแล้วหล่ะ)
ภาพที่ 2***ตลับลูกปืน(Ball bearing)***
ระบบรองรับจุดหมุนต่างๆของรอกเบทมีอยู่ 2 ระบบครับ ก็คือระบบลูกปืน(บอลแบริ่ง, ball bearing) กับระบบแหวนรอง(บุช, bush) ซึ่งก็แล้วแต่ดีไซน์ ตลับลูกปืนที่แกนสปูลทำให้สปูลหมุนได้นานกว่า (จะตีไกลกว่าหรือเปล่านี่มันขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยครับ) สำหรับตลับลูกปืนในตำแหน่งอื่นๆก็จะช่วยเรื่องประสิทธิภาพซึ่งก็หมายถึงออกแรงน้อยกว่าได้กำลังจากรอกมากกว่า ทำให้เบาแรงเวลาสร้างแอ็คชั่นเหยื่อหรือเวลาอัดปลา การเลือกรอกเบทก็ควรที่มีซัก 2 บอลแบริ่งเป็นอย่างน้อย จะมากกว่านี้ก็ตามกำลังทุนทรัพย์ครับ
***ระบบกันกลับ (Anti-reverse)***
ลูกปืนกันกลับ (ARB, Anti-Reverse Ballbearing หรือ ARR, Anti-Reverse Roller) นี่ถือเป็นระบบของรอกยุคใหม่เลยนะครับ ทุกยี่ห้อมี anti-reverse หมดแล้ว แทบจะให้ใช้ลูกปืนกันกลับจากโรงงานเดียวกันเลยโดยจะใส่ไว้ที่แกนมือหมุน เวลาเลือกซื้อก็เช็คดูซักหน่อยว่ามือหมุนมีระยะถอยหลังบ้างหรือเปล่า ปรับเบรคให้แน่นก่อนนะครับไม่งั้นจะเข้าใจผิดว่ามือหมุนมีระยะถอย
ภาพที่ 3***อัตราทด (Gear ratio)***
ถ้าเป็นรอกตีเหยื่อปลอมจะมีอัตราทดประมาณ 6 กว่าๆ แต่ถ้าเป็นรอกอัดปลาใหญ่ก็จะอยู่ประมาณ 4 กว่าๆ ตัวเลขนี้หมายถึงจำนวนรอบที่สปูลหมุนเทียบกับจำนวนรอบที่มือหมุนรอกหมุน เช่น ถ้าอัตราทด 6 หมายถึงมือหมุนหมุนไป 1 รอบแล้วสปูลหมุนไป 6 รอบ นอกจากนี้ยังมีรอกบิ๊กเกมอัตราทดสูงประเภทไฮสปีดสำหรับเกมจิ๊กกิ้ง ส่วนรอกตีเหยื่อปลอมประเภทที่อัตราทดสูง เช่น 7.0 หรือ 7.1 นั้น ไม่ได้ช่วยในการสร้างแอ๊คชั่นเหยื่อหรือสู้ปลาได้เท่าไรนัก แต่พวกโปรแข่งขันชอบไว้เพราะในการแข่งขันนั้นต้องแข่งกับเวลา นักตกปลาระดับโปรจะมีการกำหนดสไตรค์โซนไว้ เมื่อลากเหยื่อผ่านสไตรค์โซนมาแล้วก็จะกรอเก็บสายอย่างรวดเร็วเพื่อตีเหยื่อครั้งต่อไปซึ่งรอกอัตราทดสูงๆ จะช่วยเก็บสายได้เร็วขึ้น
ภาพที่ 4***ระบบเบรค (Drag system)***
ระบบเบรกทำให้รอกมีประโยชน์มากกว่าการเป็นแค่อุปกรณ์เก็บสาย และเป็นระบบผ่อนแรงในการสู้ปลา เวลาที่ปลาลากสายออกไประบบเบรคจะสร้างแรงหนืดต้านไว้ทำให้ปลาต้องออกแรงดึงสายจนเหนื่อยในที่สุด สิ่งสำคัญของระบบเบรคคือต้องมีแรงดึงสม่ำเสมอและราบรื่นตั้งแต่เริ่มดึงสายออกไป โดยทฤษฎีแรงเสียดทานแล้ว การทำให้วัตถุหยุดนิ่งเข้าสู่สภาวะเคลื่อนที่จะมีแรงเสียดทาน(Fs)มากกว่าแรงเสียดทานที่ต้านทำให้วัตถุที่เคลื่อนที่อยู่(Fm) ระบบเบรกที่ดีต้องมีแรง Fs กับ Fm ใกล้เคียงกันที่สุด เราสามารถทดสอบเบรกของรอกได้โดยการใส่สายเข้าไป ปรับเบรกแล้วลองดึงเบรคดูหลายๆระดับ เบรกต้องไม่สะดุด ไม่กระเด้า ไม่มีแรงสั่นสะเทือนหรือเสียงและมีแรงต้านสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มดึงจนสปูลหมุน และระบบเบรคที่มีไมโครคลิ๊กคือปรับเบรคแล้วมีเสียงก็พอจะช่วยให้เราปรับเบรคได้ละเอียดยิ่งขึ้น
ภาพที่ 5***ระบบหน่วง (Casting Control)***
สายฟู่ถือเป็นเอกลักษณ์ของรอกเบทและรอกเบททุกตัวก็จะมีระบบที่คอยช่วยลดปัญหาการเกิดสายฟู่ อย่างน้อยที่สุดก็จะมีปุ่มหน่วงสปูลที่อยู่บริเวณใกล้ๆ กับมือหมุนซึ่งถือว่าเป็นระบบพื้นฐานที่สุด มักจะมีข้อสงสัยอย่างนึงว่าสปริงที่อยู่ในปุ่มหน่วงนั้นต้องมีหรือไม่ และมีไว้ทำไม เท่าที่สังเกตจากรอกที่เคยใช้มา สปริงนั้นมีหน้าที่กดตลับลูกปืนที่รับแกนสปูลไม่ให้เคลื่อนที่ แต่รอกบางตัวก็ดีไซน์ช่องใส่ตลับลูกปืนมาอย่างดีแล้วจึงไม่มีสปริงตรงนั้น
นอกจากระบบหน่วงแกนสปูนแล้วนั้นก็จะมีระบบที่เสริมเข้ามาซึ่งหลักๆ จะมี 2 ระบบคือระบบเม็ดหน่วงและระบบแม่เหล็ก ระบบเม็ดหน่วงจะเหมาะกับเกมทอยเหยื่อ(pitching)และเกมตีเหยื่อหนักๆ ไกลๆ ส่วนระบบแม่เหล็กจะเหมาะกับการตีเหยื่อน้ำหนักเบาและกลางให้ได้ระยะและสู้กับการตีต้านลมได้ดีกว่า ส่วนรายละเอียดเรื่องนี้ขอติดเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้วจะหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังอีกครั้งครับ
ระบบหน่วงมีทั้งที่แบบปรับได้จากภายนอกและภายใน บางแบบต้องถอดสปูลออกมาปรับกัน แบบที่ปรับจากภายนอกจะสะดวกสบายกว่าแต่ปุ่มปรับก็จะโทรม ทำให้รอกดูเก่าเร็ว ปรับจากภายในก็ยุ่งยากนิดหน่อยแต่รอกจะดูไม่ค่อยช้ำ
อย่างไรก็ตามไม่มีระบบหน่วงไหนจะสมบูรณ์แบบ ต้องฝึกจนชำนาญเท่านั้นแหละครับถึงจะลดการเกิดสายฟู่ได้ดีที่สุด
***อ๊อบชั่นเพิ่มเติมอื่น***
เช่นระบบปุ่มเจิร์ค ระบบเกียร์ 2 อัตราทด ระบบฟลิบปิ้ง อันนี้ถือเป็นอ๊อบชั่นเสริม ขึ้นอยู่กับความพอใจแล้วหล่ะครับ สงสัยระบบไหนก็ถามมาก็แล้วกัน
ถ้าได้คุณสมบัติที่ถูกใจแล้วก็ลองประกอบกับคันแล้วจับดูด้วยนะครับว่าเหมาะมือหรือไม่ เข้าถึงปุ่มต่างๆ ได้สะดวกหรือเปล่า มือหมุนลื่นหรือไม่โดยเฉพาะเวลาที่เปียกน้ำ การดูแลรักษาทำได้สะดวกหรือเปล่า รอกบางตัวดีไซน์สวยเก๋แต่มีซอกมุมเยอะ ทำให้สิ่งสกปรกไปสะสมและทำความสะอาดได้ยาก และเลือกรอกให้เหมาะกับชนิดของปลาที่จะตกและขนาดสายที่จะใช้ด้วยนะครับ
ก็หวังว่าบทความนี้คงให้แนวทางให้น้าๆทุกท่านได้เลือกรอกเบทได้ถูกต้องถูกใจกันทุกท่านและมีความสุขกับการตกปลานะครับ