สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 23 ธ.ค. 67
รู้ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความอื่นๆ
ความเห็น: 9 - [26 ธ.ค. 56, 15:30] ดู: 4,178 - [22 ธ.ค. 67, 17:45] โหวต: 4
รู้ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
nuikeng_na (72 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
17 ก.ค. 56, 11:07
1
รู้ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
ภาพที่ 1
เรียกว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนกลัวงูเลยทีเดียว หากมีงูเข้าบ้านให้ต้องกระวนกระวายใจ เพราะเมื่องูเข้าบ้านมาแล้ว ก็อาจจะไปซุกตัวอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไม่ยอมจากไปง่าย ๆ แถมยิ่งถ้าเป็นงูที่มีพิษด้วยล่ะก็ ยิ่งเสี่ยงจะเกิดอันตรายกับคนในบ้านได้มาก โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มักมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอชุกชุมเป็นพิเศษ ดังนั้นหากใครอยากรู้ วิธีกันงูเข้าบ้าน หรือ ทำอย่างไรไม่ให้งูเข้าบ้าน วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาฝากแล้วจ้า

ลักษณะของงู

          งู เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ลำตัวยาว ไม่มีขา เคลื่อนไหวได้ด้วยการเลื้อยอย่างปราดเปรียวและว่องไว ยกเว้นงูขนาดใหญ่ที่มักเคลื่อนที่ช้า ลำตัวมีเกล็ดหุ้ม ไม่มีเปลือกตา มีลิ้นสองแฉกเพื่อใช้รับความรู้สึกทางกลิ่น ทั้งนี้ส่วนใหญ่งูมักจะกลัวคนและไม่ค่อยกัด นอกจากถูกรบกวน โดยจะออกหาเหยื่อเมื่อรู้สึกหิว และมักกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น หนู, จิ้งจก, ลูกไก่, กระต่าย ฯลฯ

          โดย งู มีอยู่จำนวนนับร้อยชนิด ทั้งแบบมีพิษ และไม่มีพิษ แต่ที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทยคือ งูเห่า (มีพิษ) งูจงอาง (มีพิษ) งูเขียว (ไม่มีพิษ หรือมีพิษน้อย) งูหลามและงูเหลือม (ไม่มีพิษ แต่เขมือบเหยื่อได้ทั้งตัว) เป็นต้น

งูเข้าบ้าน เกิดจากสาเหตุอะไร

1. มีแหล่งอาหาร

          หากบ้านหรือสถานที่แห่งนั้น มีแหล่งอาหารงูที่อุดมสมบูรณ์ เช่น มีหนูชุกชุม หรือเลี้ยงสัตว์ตัวเล็ก ๆ อย่าง นกและลูกไก่ อีกทั้งหากมีสวนที่หญ้ารกหรือต้นไม้อุดมสมบูรณ์ งูก็มักจะมาซ่อนตัวเพื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยเหมือนกัน

2. ไม่มีสุนัขหรือแมว

          บ้านไหนที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง หรือมักไม่ค่อยมีคนอยู่บ้าน งูจะชอบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากงูชอบอยู่เงียบ ๆ ไม่มีศัตรูมาคอยก่อความรำคาญ ยิ่งหากเป็นหน้าฝนหรือมีน้ำท่วมขัง งูก็จะมุ่งตรงเข้าบ้านเพื่อเลื้อยหาที่แห้ง ๆ ให้ซุกตัว

3. มีมุมอับให้วางไข่

          หากบ้านไหนมีมุมอับที่ไม่มีคนรบกวน งูมักจะเลือกเป็นพื้นที่อาศัยหรือวางไข่  เช่น ใต้ถุนบ้าน ใต้หลังคา ฝ้าเพดาน หรือในตู้ที่ไม่ค่อยเปิดใช้งาน เป็นต้น โดยงูจะเลือกบริเวณที่มีอุณหภูมิเหมาะสม มีความอบอุ่น และไม่มีกลิ่นหรือเสียงรบกวน
รู้ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย
ภาพที่ 2
วิธีป้องกันงูเข้าบ้าน

          แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้งูเลื้อยเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันแน่ ๆ ดังนั้นก่อนที่จะมีงูโผล่มาเยือนถึงในบ้าน ให้ต้องหวาดระแวง ลองมาดูวิธีป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ ดังนี้

1. น้ำมันกลิ่นฉุน

          กลิ่นแรง ๆ ของน้ำมันเครื่อง น้ำมันก๊าด น้ำมันสน หรือน้ำมันรถ จะทำให้งูไม่อยากย่างกรายเข้ามาใกล้ เพราะงูเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบกลิ่นแรง ๆ ดังนั้นในช่วงหน้าฝน หรือหากพบเห็นงูมาป้วนเปี้ยนอยู่แถว ๆ บ้าน ก็ลองเอาน้ำมันกลิ่นแรง ๆ ไปราดไว้บริเวณรอบ ๆ บ้าน ก็จะช่วยไล่งูให้หนีไปทางอื่นได้

2. กรวด

          กรวด หรือหินก้อนเล็ก ๆ หากนำมาโรยไว้รอบตัวบ้าน ก็จะทำให้งูเกิดอุปสรรคในการเลื้อย เพราะเมื่อเจอกับก้อนกรวดจนทำให้เลื้อยลำบาก งูก็จะเปลี่ยนใจไปที่อื่นในที่สุด

3. เลี้ยงสุนัข

          แม้ดูแล้วจะเหมือนให้สุนัขเสี่ยงอันตรายแทน แต่ที่จริงแล้วสุนัขมักจะไม่นิ่งเฉยหากมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใกล้ ส่วนงูก็เป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย ดังนั้นหากงูเริ่มคืบคลานเข้ามาใกล้ ๆ บ้าน สุนัขก็จะส่งเสียงเห่า ทำให้งูตกใจและหนีไปเอง บ้านไหนที่เลี้ยงสุนัขเอาไว้จึงได้เปรียบในกรณีนี้ แต่หากเป็นงูขนาดใหญ่สุนัขก็อาจเกิดอันตรายได้

4. แผ่นกันงู

          เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับติดไว้ที่ผนัง หรือเสาไฟ เพื่อดักไม่ให้งูเลื้อยผ่าน เพราะแผ่นกันงูทำจากพลาสติกที่มีความลื่นสูง จึงทำให้เป็นอุปสรรคในการเลื้อย ซึ่งอาจทำให้งูตกลงมาหรือหมดแรงไปก่อน

5. ตาข่าย

          การติดตั้งตาข่ายเอาไว้รอบบริเวณที่คาดว่าจะเป็นทางเดินของงู เพื่อเข้าสู่ตัวบ้าน ก็จะช่วยดักงูไว้ได้อีกทาง ซึ่งตาข่ายที่นำมาติดตั้งนั้น ควรเลือกที่มีตาชิด ให้งูไม่สามารถลอดผ่านได้ หรือใช้ตาข่ายดักปลาแทนก็ได้  งูก็จะติดอยู่กับตาข่าย ไม่เลื้อยเข้าไปในบ้าน

6. มุ้งลวด

          นอกจากตาข่ายแล้ว มุ้งลวดก็เป็นอีกอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันงูได้ในกรณีที่อยากใช้ในการปิดทางเดิน ไม่ให้งูเลื้อยผ่าน ซึ่งมุ้งลวดอาจมีความแตกต่างตรงที่ไม่สามารถดักให้งูติดอยู่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันขวางทางเอาไว้ได้เช่นกัน

7. กำมะถัน

          แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า กำมะถัน ใช้กันงูได้จริงหรือไม่ แต่หลายบ้านก็นิยมใช้กำมะถันผสมน้ำแล้วโรยเอาไว้รอบบ้าน เพื่อป้องกันงูเช่นกัน เนื่องจากเชื่อว่ากลิ่นฉุนของกำมะถันจะทำให้งูเลี่ยงไปทางอื่น ซึ่งในกรณีนี้อาจป้องกันงูไม่ได้ทุกชนิดและทุกตัว และอาจต้องโรยบ่อยในช่วงหน้าฝน เนื่องจากกลิ่นกำมะถันจะจางหายไปได้ง่าย

8. ทำความสะอาดบ้าน

          กำจัดหนู และสิ่งสกปรกในบ้าน ก็จะช่วยไม่ให้งูมีแหล่งอาหารและที่พักพิง ซึ่งเป็นวิธีป้องกันที่เริ่มจากต้นตอได้มากที่สุด ที่สำคัญควรหมั่นตัดหญ้าและดูแลสวนอย่างสม่ำเสมอ งูจะได้ไม่ใช้เป็นที่แฝงตัว อีกทั้งควรหาอะไรมาปิดรูท่อ หรือใส่ตะแกรงท่อระบายน้ำเอาไว้ด้วย งูจะได้ไม่เลื้อยเข้าบ้านทางท่อระบายน้ำ และอย่าลืมดูรองเท้าก่อนใส่ทุกครั้ง เพราะในรองเท้าเป็นตำแหน่งที่งูมักเข้ามาซุกซ่อนอยู่

วิธีแก้ปัญหา เมื่องูเข้าบ้าน

          หากบ้านไหนป้องกันงูเข้าบ้านแล้ว แต่เจ้างูก็ยังเลื้อยเข้ามาในบ้านจนได้ อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป ให้รีบตั้งสติให้ดี และทำตามขั้นตอนเหล่านี้

1.สังเกตประเภทของงู

          พยายามสังเกตให้ดีว่า งูที่เลื้อยเข้ามาในบ้านเป็นงูชนิดใด ลักษณะอย่างไร และมีพิษหรือไม่ โดยให้สังเกตที่หัวงู หากเป็นทรงสามเหลี่ยมแสดงว่ามีพิษ เช่น งูเห่า งูจงอาง หากเป็นทรงมนกลมแสดงว่าไม่มีพิษ เช่น งูหลาม เป็นต้น

2. อยู่นิ่ง ๆ เคลื่อนไหวช้า ๆ

          งูจะตกใจหากมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หรือมีคนไล่ ดังนั้นให้ยืนนิ่ง ๆ หรือค่อย ๆ ขยับถอยหลังช้า ๆ โดยจับตามองความเคลื่อนไหวของงูเอาไว้ด้วย ที่สำคัญต้องเว้นระยะห่างให้ปลอดภัยจากการโดนฉก

3. อย่าไล่หรือทำร้าย

          หากไม่มั่นใจว่าเป็นงูมีพิษหรือไม่ อย่าไล่หรือทำร้ายงูด้วยตัวเอง เพราะหากมีการไล่หรือทำร้าย งูอาจตกใจจนหนีหายไปซุกซ่อนอยู่ในมุมหลืบทำให้หาไม่เจอ หรืออาจพุ่งตัวเข้าฉกทันทีจนเกิดอันตรายได้

4. แจ้งขอความช่วยเหลือ

          โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อมาจับงูออกจากบ้านไป เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่มีความชำนาญมากพอที่จะจับงูต่าง ๆ ออกจากบ้านไปได้โดยไม่ทำอันตรายคนในบ้าน


          ได้รู้จักกับวิธีป้องกันงูเข้าบ้าน และวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่องูเข้าบ้านกันไปแล้ว บ้านไหนกำลังกลุ้มใจกับปัญหานี้อยู่ ก็ลองนำวิธีเหล่านี้ไปลองใช้ดูกันได้นะคะ



กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=129822