ภาพที่ 1ทำความรู้จักกับ ปอกะบิด หรือ ปอบิด สมุนไพรไทยที่ให้ผลผลิตครั้งเดียวในรอบปี พร้อมข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ทั้งภาพต้นปอกะบิด ผลปอกะปิด สรรพคุณปอกะบิด รวมถึงราคาขายตามท้องตลาด
กระแสสมุนไพรเพื่อสุขภาพยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีชื่อ ปอกะบิด หรือ ปอบิด โผล่มาให้เห็นอยู่เป็นระยะ บ้างก็อ้างสรรพคุณว่า รักษาได้ตั้งแต่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แก้เหน็บชา ภูมิแพ้ ไทรอยด์ ไมเกรน รวมทั้งยังมีสรรพคุณบำรุงตับ ไต แถมยังรับประทานง่าย เนื่องจากรสชาติดี แค่นำไปต้มแล้วดื่ม จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจ ปอกะบิด กันมากขึ้น แต่พืชสมุนไพรชนิดนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร สรรพคุณดีจริงอย่างที่กล่าวอ้างกันหรือไม่ และหาซื้อได้ที่ไหน วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันจ้า
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับปอกะบิด พืชสมุนไพรตัวใหม่ที่น่าสนใจนี้กันดีกว่า โดยเว็บไซต์ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้
สมุนไพร ปอกะบิด
ภาพที่ 2ชื่อ : ปอบิด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helicteres isora Linn.
ชื่อวงศ์ : STERCULIACEAE
ชื่อเรียกอื่น : ปอกะบิด ปอทับ มะปิด มะบิด ขี้อ้นใหญ่ ปอลิงไซ ลูกบิด ซ้อ และ เซ้าจี
ลักษณะ : ปอกะบิด เป็นไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ทุกส่วนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่กว้างหรือรูปรี เส้นใบแตกแขนงจากโคนใบ กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 13-17 เซนติเมตร โคนใบมนเว้าไม่เท่ากัน ปลายใบมน ขอบใบหยัก แผ่นใบสากคาย ก้านใบยาว 2 เซนติเมตร ดอกสีส้ม ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ แต่ละดอกมีใบประดับขนาดเล็กรองรับ กลีบรองดอกสีเขียวเชื่อมเป็นหลอดโค้ง ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ กลีบคู่บนมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น ขนาด 2.5-3 เซนติเมตร ปลายกลีบมน เกสรผู้สีเหลือง 10 อัน เชื่อมร่วมกับก้านเกสรเมีย ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลเป็นฝักยาวบิดเป็นเกลียว ยาว 3-4 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตก มีสีน้ำตาลดำ
การกระจายพันธุ์ : เป็นพืชที่ขึ้นเองตามริมป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ที่รกร้าง แม้กระทั่งในบริเวณกรุงเทพมหานคร พบได้ทั่วไปทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย ออกดอกและติดผลช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน
ประโยชน์ : เส้นใยจากเปลือกต้นปอกะบิด ที่มีอายุระหว่าง 1-2 ปี ใช้ทำเป็นเชือกได้ เพราะมีความทนทานมาก
สรรพคุณ :
ราก - บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิด ขับเสมหะ แก้ปวดเคล็ดบวม โรคเบาหวาน และโรคความ ดันโลหิต
เปลือกลำต้น - นำมาต้มเป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และเป็นยาบำรุงธาตุ
ผล - แก้ท้องอืด แก้ปวดเคล็ดบวม แก้เสมหะ แก้ลงแดง กระเพาะอาหารเป็นแผล อักเสบ หรือเรื้อรัง
ภาพที่ 3สรรพคุณ ปอกะบิด
ขณะเดียวกัน รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความที่กล่าวถึงสมุนไพรปอกะบิดไว้ โดยสรุปคร่าว ๆ ว่า จากข้อมูลตำรายาไทย เผยถึงการใช้เปลือกต้นและรากของปอกะบิด ในการบำรุงธาตุ ขณะที่ส่วนผล จะใช้แก้โรคบิด ท้องเสีย ขับเสมหะ หรือตำพอกแก้ปวดเคล็ด แก้บวม และจากการทดลองยังพบว่า สารสกัดของปอกะบิด ยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้ออีโคไล ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียทั่วไป และยังช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบ
ส่วนการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของปอกะบิดในโรคอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน พบว่า สารสกัดน้ำจากผลปอกะบิดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูขาวที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน และป้องกันไม่ให้ระดับไขมันสูงขึ้น แต่การทดลองเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะระบุขนาดที่ใช้ รวมทั้งยังไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง ดังนั้น ในกรณีที่ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนและยังไม่มีข้อมูลการใช้แผนโบราณสนับสนุน จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกใช้ โดยผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดบทความของ รศ.รุ่งระวี ได้ที่นี่ ปอบิด พิชิตสรรพโรคได้จริงหรือ?
ราคาขาย ปอกะบิด
ทั้งนี้ มีรายงานว่า มักพบ ปอกะบิด ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยปอกะบิดยังเป็นสินค้าโอท็อปชนิดหนึ่งของ จ.กาญจนบุรี อีกด้วย ส่วนราคาจำหน่ายในตลาดพบว่า มีราคากิโลกรัมละ 200-450 บาท หากบรรจุซองชา จะมีราคาประมาณ 125-150 บาท เป็นต้น
วิธีรับประทานปอกะบิด
1. นำฝักปอกะบิด 50 ฝัก มาล้างน้ำ แล้วจึงนำไปต้มในน้ำ 3 ลิตร โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ต้มได้ 4 ครั้ง หรือจนกว่าสีน้ำจะจาง แล้วจึงเปลี่ยนยาใหม่
2. นำฝักปดกะบิด 10 ฝัก ต้มกับน้ำสะอาดประมาณ 3 แก้ว จากนั้นเคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว ดื่มวันละ 1 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว
3. นำฝักปอกะบิด 4-5 ฝัก ใส่น้ำร้อน 1 แก้ว จิบเป็นน้ำชา เติมน้ำได้เรื่อยๆ จนกว่าสีน้ำจะจาง หรือชงในกาชงชาก็ได้
ปอกะบิดเกลียวทอง กับปอกะบิดเกลียวเพชร ?
ในเบื้องต้นยังไม่พบข้อมูลว่า เหตุใดจึงมีการเรียก ปอกะบิด หรือ ปอบิด ว่า ปอกะบิดเกลียวทอง หรือปอกะบิดเกลียวเพชร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสดงถึงสรรพคุณของสมุนไพรดังกล่าว
จากข้อมูลในข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดรองรับสรรพคุณของปอกะบิดอย่างเป็นทางการ ดังนั้นผู้ที่สนใจในสมุนไพรดังกล่าว ควรทำการศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนเลือกใช้ เพราะถึงแม้สมุนไพรจะมีประโยชน์ แต่อาจมีโทษสำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ นั่นเอง